Skip to main content

17 สิงหาคม 2567 พิพิธภัณฑ์สามัญชนจัดกิจกรรม Reading under the red star อ่านออกเสียง เรื่องเล่าคนเข้าป่า ที่อาคาร All rise บ้านกลางเมืองรัชดา-ลาดพร้าว ชวนสหายขวัญ อดีตสหายจากจังหวัดพัทลุง และ คุณยี อดีตสหายนักศึกษาและเจ้าของนามปากกา จันทนา ฟองทะเล ผู้ประพันธ์หนังสือ จากดอยยาวถึงภูผาจิ มาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์เมื่อครั้งที่ทั้งสองเคยเข้าร่วมการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

สหายขวัญ: เหตุการณ์ถังแดง กับการเข้าป่าเพื่อรักษาชีวิต

บุปผา หรือชื่อจัดตั้ง “สหายขวัญ” เริ่มต้นเล่าพื้นเพของเธอว่า เธอเติบโตมาจากครอบครัวชาวนาในอำเภอศรีนครินทร์ ซึ่งในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ก่อนจะแยกตัวอำเภอศรีนครินทร์ในปี 2539 เธอเล่าว่าสภาพแวดล้อมของชุมชนที่เธออยู่ในช่วงทศวรรษที่ 2510 ยังเป็นพื้นที่ชนบททุรกันดานที่ตั้งอยู่ใกล้กับเทือกเขาบรรทัด ห่างไกลจากตัวเมือง ไม่มีน้ำประปา หรือไฟฟ้าใช้ คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำไร่ ทำสวน  และเลี้ยงสัตว์

สหายขวัญ เล่าว่าครอบครัวทางฝั่งแม่ของเธอมาจากตระกูลผู้ดีเก่า ส่วนพ่อของเธอเป็นชาวนามีนิสัยโอบอ้อมอารี ขยันทำงาน และเป็นที่รักของครอบครัวฝั่งแม่ พ่อของเธอเป็นแกนนำในหมู่บ้านมีคนรู้จักมากมาย สหายขวัญเล่าต่อไปว่าในเวลานั้นชุมชนที่เธออยู่มีโจรผู้ร้ายและเหตุรุนแรงบ่อยครั้ง แต่เจ้าหน้าที่รัฐหรือที่คนสมัยนั้นเรียกว่า “นาย” ช่วยเหลือคนในชุมชนไม่ได้ ทำให้ต้องอยู่กันด้วยความหวาดกลัวและรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

ในช่วงที่เรียนอยู่ชั้นประถม สหายขวัญสังเกตว่าพ่อของเธอมักจะออกไปนอกบ้านนั่งจับกลุ่มคุยกับเพื่อนตอนกลางคืน บางครั้งก็มีญาติของพ่อจากอำเภอเมืองมาที่บ้านแล้วชวนกันฟังวิทยุหรือช่วยกันถางป่า ครั้งแรกเธอก็ไม่รู้ว่าคนเหล่านั้นเป็นใคร มารู้ภายหลังว่าเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

พ่อของสหายขวัญเห็นว่าการเคลื่อนไหวร่วมกับพคท. น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับพื้นที่เพราะเจ้าหน้าที่รัฐดูจะพึ่งไม่ได้ เมื่อพ่อของเธอเริ่มเคลื่อนไหวจริงจังขึ้นก็เริ่มมีคนนอกพื้นที่มาที่บ้านของเธอบ่อยขึ้นจนทำให้ที่บ้านถูกเพ่งเล็ง ช่วงปี 2505-06 พ่อของสหายขวัญมักจะออกจากบ้านตอนกลางวัน จากนั้นก็เริ่มไปพักค้างคืนที่อื่นบ่อยขึ้น ก่อนจะเข้าไปอยู่ในป่าถาวรช่วงปี 2507

สหายขวัญเล่าต่อว่าหลังพ่อเข้าป่าแบบถาวร แม่และพี่ชายคนโตของเธอที่ยังอยู่ที่บ้านก็รู้สึกหวาดกลัวจึงทยอยเข้าป่ากันไปทีละคน เช่นเดียวกับคนในพื้นที่อีกหลายๆคน เพราะเหตุการณ์ในพื้นที่เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะการอุ้มฆ่าคนที่รัฐสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์แล้วเอาศพไปเผาอำพรางหรือที่รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า กรณีถังแดง สำหรับตัวของสหายขวัญเธอตัดสินใจตามคนในครอบครัวเข้าไปในช่วงปี 2515 เพราะกลัวว่าถ้าอยู่ที่บ้านต่อไปเธออาจถูกจับหรือถูกฆ่า

จากสหายชาวบ้านสู่หมอรักษาคน

สหายขวัญเล่าต่อไปว่าเข้าไปถึงในป่า กลุ่มสหายในป่าจะพยายามบอกเธอและคนที่เข้าป่าเพื่อหนีความรุนแรงจากรัฐว่าการหนีเข้ามาไม่ใช่การหนีตาย แต่เป็นการหนีมาตั้งหลัก และเมื่อมีโอกาสก็ต้องสู้กลับ แม้ความเป็นอยู่ในป่าจะไม่ได้สะดวกสบายเหมือนชีวิตที่บ้าน แต่สหายขวัญก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นอุปสรรคหรือความยากลำบาก

สหายขวัญยอมรับว่าตัวเธอเองก็ไม่ได้เข้าใจเรื่องอุดมการณ์ว่าฝ่ายซ้ายฝ่ายขวาคืออะไรอย่างถ่องแท้ แต่เธอก็สัมผัสได้ถึงความอบอุ่นและจริงใจของสหายรวมถึงแนวคิดที่ถูกย้ำกับสหายอยู่ตลอดเวลาว่าให้ทุกคนรับใช้ประชาชน ให้คิดถึงผู้อื่น และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค

สหายขวัญเล่าต่อไปว่าสำหรับตัวเธอเมื่อพรรคเรียกร้องให้ทำอะไร เธอก็รู้สึกเต็มใจที่จะทำให้เพราะเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ตัวของสหายขวัญเองหลังจากเข้าป่าก็อยากจะช่วยงานของพรรคในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตัดเย็บเสื้อผ้าชุดเครื่องแบบของสหาย แต่เมื่อเธอได้รับมอบหมายจากพรรคให้ไปทำงานด้านการแพทย์ เธอก็รับด้วยความเต็มใจ เมื่ออายุได้ 17 ปี สหายขวัญถูกส่งตัวไปเรียนด้านการแพทย์

การเรียนช่วงแรกเป็นการเรียนแพทย์พื้นฐานใช้เวลาสามเดือน ตอนที่เธอเรียนยังไม่มีเครื่องโรเนียวใช้ เธอจึงต้องตั้งใจฟังและจดทุกอย่างที่อาจารย์สอน หลังจากเรียนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เธอก็พอจะวินิจฉัยโรคพื้นฐาน ฉีดยา และให้น้ำเกลือคนไข้ได้ โรคที่พบบ่อยในขณะที่เธอเรียนพื้นฐานได้แก่ ไข้มาลาเรีย เพราะในป่ายุงเยอะ ไข้ไทฟอยด์ และ 3. ไข้ไทฟัสที่เกิดจากถูกเห็บกัด พอรักษาได้ชำนาญระดับหนึ่ง พรรคก็ส่งเธอไปเรียนต่อที่ประเทศจีน

เนื่องจากร่างกายของสหายขวัญสมบูรณ์กว่าสหายที่ไปเรียนพร้อมกัน อาจารย์จึงให้เธอเรียนด้านศัลยแพทย์ (ผ่าตัด) ส่วนสหายที่ไปเรียนด้วยกันอีกคนอาจารย์ให้เรียนอายุรแพทย์ทั่วไป สิ่งที่สหายขวัญรู้สึกประทับใจตลอดเวลาที่ไปเรียนการแพทย์ที่จีนคือการต้อนรับที่อบอุ่นรวมถึงความจริงใจและความทุ่มเทที่อาจารย์มีต่อเธอ โดยอาจารย์ไว้วางใจให้เธอเข้าร่วมการผ่าตัดเป็นระยะ เมื่อเรียนจบเธอก็เดินทางกลับเพื่อมาปฏิบัติงานที่ภาคใต้ของประเทศไทยตามเดิม

สหายขวัญเล่าว่าเมื่อกลับมาถึงประเทศไทย เธอไม่ได้มีโอกาสไปประจำในแนวหน้า ได้แต่คอยทำการรักษาสหายในแนวหลัง โดยเธอเคยมีประสบการณ์ทำการรักษา เช่น ทำหมันผู้ชายและผ่าตัด ครั้งหนึ่งที่เธอประจำการอยู่บริเวณรอยต่อของสามจังหวัดพัทลุง ตรังและสตูล ในบรรดาเหตุการณ์ทั้งหมดที่สหายขวัญเคยทำการรักษามา มีเหตุการณ์ที่เธอยังสะเทือนใจมาถึงทุกวันนี้ ครั้งนั้นสหายขวัญเคยถูกเรียกตัวให้ไปช่วยสหายที่อยู่ในเขต 3 จังหวัดพัทลุงทำคลอด แต่ด้วยระยะทางที่ห่างไกลต้องใช้เวลาเดินทางราว 4-5 ชั่วโมง กว่าที่สหายขวัญจะไปถึงคนไข้ก็สายไปแล้ว แม่ของเด็กรอดชีวิตแต่เด็กเสียชีวิต

‘งูเหลือม’ เมนูรองท้อง

เมื่อถามถึงอาหารที่เคยกินในป่าที่เธอยังคงประทับใจมาถึงวันนี้ สหายขวัญเล่าว่าครั้งหนึ่งเธอออกไปทำงานขนส่งสิ่งของระหว่างพื้นที่ ปรากฎว่าข้าวที่เอาติดไปหุงแล้วไม่พอทำให้กินไม่อิ่ม เธอนอนไปบนเปลทั้งๆที่ท้องหิว ระหว่างนั้นมีสหายคนหนึ่งหันไปเห็นงูเหลือมตัวใหญ่ เลยฆ่างูเหลือมมากิน กินแบบเปล่าๆโดยไม่มีข้าว สหายขวัญที่กำลังหิวอยู่เลยไปร่วมกินกับเขาด้วย อาหารมื้อนั้นน่าจะเป็นมื้อที่แปลกที่สุดเท่าที่เธอเคยกินมา


ยี: ชีวิตที่ระหกระเหินหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา

ยีเล่าว่าก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ยีเรียนคณะนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยที่ระหว่างเรียนก็เป็นสมาชิกวงดนตรีไทยในมหาวิทยาลัยที่ชื่อวงเจ้าพระยาด้วย ยีอยู่วงดนตรีเจ้าพระยาได้ไม่นานก็ตัดสินใจแยกตัวไปตั้งวงดนตรีต้นกล้า เพราะมีความเห็นทางการเมืองบางอย่างไม่ตรงกับสมาชิกคนอื่นๆในวงเจ้าพระยา เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ยีก็ตัดสินใจเข้าป่าเพราะสถานการณ์ในขณะนั้นคนที่เห็นต่างจากรัฐโดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาถูกบีบจนไม่เหลือทางเลือกอื่น

ยีเล่าต่อไปว่า ในบรรดานักศึกษาที่เข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาไม่ใช่ทุกคนที่จะเชื่อในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ อาจจะไม่ได้เชื่ออุดมการณ์สังคมนิยมเสียด้วยซ้ำ บางคนอาจจะเพียงแต่มีความเชื่อในเรื่องประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเป็นธรรม แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา และการรัฐประหาร ทุกอย่างก็ถูกปิดกั้น ผู้คนจึงคิดว่าทางเดียวที่จะสู้กับเผด็จการทหารคือการเข้าร่วมกับพคท. สำหรับตัวของยีเขาเชื่อเรื่องความเป็นธรรม สิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียม

ยีเล่าต่อไปว่านักศึกษาธรรมศาสตร์ส่วนใหญ่ที่หนีเข้าป่าไปมักจะลงใต้กัน แต่ตัวเขาถูกส่งขึ้นไปทางภาคเหนือกับเพื่อนอีกประมาณ 7-8 คน ซึ่งการเดินทางไปภาคเหนือทำให้เขามีโอกาสไปเรียนรู้เรื่องชาวนาและกลุ่มชาติพันธุ์ สำหรับการเดินทางของเขาก็จะคล้ายๆกับที่สหายหลายๆคนเขียนเล่าในหนังสือคือมีการนัดแนะกันในทางลับและต้องมีสัญลักษณ์ เช่น ถือหนังสือพิมพ์ ติดพลาสเตอร์ หรือมีชุดคำถามคำตอบที่ใช้เพื่อยืนยันว่าเป็นพวกเดียวกัน  

ช่วงที่ใช้ชีวิตอยู่ในป่า ยีเล่าว่าเขาต้องเข้าศึกษาในโรงเรียนการเมืองและการทหาร โดยทักษะด้านการทหารเป็นเพียงเพื่อให้พอเอาชีวิตรอดได้ในการสู้รบ หลังจากเรียนด้านการเมืองและการทหารเขาก็ถูกส่งตัวไปที่ประเทศจีนเพื่อรับการฝึกด้านดนตรีเป็นเวลาประมาณ 4 - 5 เดือน โดยในขณะนั้นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีความคิดที่จะตั้งวงดนตรีออร์เคสตราขนาดใหญ่ ทว่าในภายหลังวงดนตรีดังกล่าวก็ไม่ได้มีโอกาสแสดงต่อสาธารณะชนในประเทศไทย ได้แต่แสดงในงานวันชาติลาวและแสดงในแนวหลังให้สหายนำดูเท่านั้น จากนั้นก็มีการยุบวงขณะที่นักดนตรีก็ถูกส่งกระจายแยกย้ายไปตามพื้นที่ต่างๆ

สำหรับประสบการณ์ในเมืองจีนที่ยีประทับใจก็จะคล้ายกับของสหายขวัญที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนรับรองดูแลเขาอย่างดีในฐานะแขกบ้านแขกเมือง ยีเล่าแบบติดตลกด้วยว่าระหว่างอยู่ที่ประเทศจีนเป็นครั้งแรกที่เขาได้มีโอกาสนอนห้องแอร์ 
สำหรับอาหารที่ยีประทับใจเป็นพิเศษในช่วงที่เข้าป่า ยีเล่าว่าอาหารที่เขาประทับใจที่สุดน่าจะเป็นข้าวหมาก ยีเล่าว่าครั้งหนึ่งที่เขาได้มีโอกาสไปพบกับสหายชาชาติม้ง ก็บพบว่าสหายชานชาติม้งได้ต้มข้าวหมากไว้เป็นกะละมัง โดยวัตณธรรมการกินข้าวหมากของชาวม้งจะเป็นการกินทีละน้อยเพื่อแก้กระหายและคลายร้อน บางครั้งเวลาสหายชาวม้งไปทำไร่เขาก็จะติดข้าวมากไปจิบด้วย แต่เขากับสหายอีกสองคนที่ไปด้วยกันไม่รู้วัฒนธรรมดังกล่าว ประกอบกับพวกเขาไม่ได้กินของหวานมานาน พอสหายม้งชวนกินข้าวหมากพวกเขาสามคนก็ล้อมกะละมังตักกินกันจนหมด

บทเรียนของประชาชน กับคำถามถึงผู้มีอำนาจ

เมื่อถามว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่เขาได้เรียนรู้จากการเข้าป่า ยีระบุว่า เมื่อพิจารณาประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจะพบว่าในช่วงแรกพรรคยืนยันหนักแน่นที่จะต่อสู้ในแนวทางสันติ ทว่าเมื่อต้องเผชิญการปราบปรามอย่างรุนแรงในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พรรคก็ตัดสินใจปรับแนวทางมาต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ท่ามกลางการกดปราบอย่างรุนแรง นักศึกษาที่เข้าป่าแม้จะไม่ได้เชื่อในแนวทางของพรรคหรือไม่เชื่อในลัทธิคอมมิวนิสต์ก็ไม่มีแนวทางอื่นให้เลืแอกนอกจากเข้าป่าจับปืน ต่อมาเมื่อรัฐเปลี่ยนแนวทาง เปิดประเทศให้มีความเสรีมากขึ้น ปรับท่าทีจากการใช้กำลังกดปราบอย่างรุนแรงเป็นใช้การพูดคุย ความคิดที่จะต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธก็ค่อยๆสลายไป คนเมืองที่เข้าป่าก็ทยอยคืนเมือง

ยีกล่าวต่อไปว่าในความเห็นของเขา ถ้าถามว่าการต่อสู้ของพคท.หรือคนที่เข้าป่าประสบความสำเร็จไหม เขามองว่าสำเร็จแล้ว เพราะอย่างน้อยการลุกขึ้นสู้ในครั้งนั้นก็ทำให้ภาครัฐจำต้องทบทวนนโยบาย เปิดพื้นที่ให้มีเสรีภาพ ทำให้การเมืองเป็นประชาธิปไตยให้มากขึ้น ทำให้สุดท้ายแม้จะยังมีความขัดแย้งเห็นต่างแต่ทุกฝ่ายก็อยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ ซึ่งประชาชนเองได้เรียนรู้ข้อนี้ผ่านความสูญเสียมาหลายครั้งแล้ว แต่คำถามคือผู้มีอำนาจเรียนรู้บทเรียนนี้แล้วหรือยังว่าการใช้ความรุนแรงหรือการกดปราบจะไม่ทำให้เกิดสันติสุขอย่างแท้จริง

“หากไม่มีการต่อสู้ในวันนั้น รัฐบาลก็คงไม่คิดนโยบายเปิดประเทศเป็นประชาธิปไตย ตราบใดที่มีปิดกั้นทางความคิด ความสมาฉันท์ในสังคมก็ไม่เกิด ซึ่งเป็นบทเรียนที่ประชาชนเรียนรู้กันมาหลายครั้งแล้ว มีแต่ชนชั้นปกครองที่อาจยังไม่เรียนรู้”

 

อ่านบทสัมภาษณ์เรื่องราวของสหายขวัญ คลิก

เรื่องและภาพโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์