Skip to main content

พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ธรรมศาสตร์ ร่วมกับ Patani Artspace จัดนิทรรศการศิลปะ Dialogue of Humanity (การสนทนาของมนุษย์) ซึ่งเปิดให้ชมแล้วระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม - 30 สิงหาคม 2567  ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ภายในนิทรรศการประกอบไปด้วยผลงานศิลปะซึ่งเป็นอาภรณ์ จัดแสดงอยู่ภายในห้องจัดแสดง 2 ห้อง ของอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ  โดยนิทรรศการนี้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างบทสนทนาที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนิยาม “ความเป็นมนุษย์” และการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเคารพ เข้าใจซึ่งกันและกัน

เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงเหตุการณ์ในสามจังหวัดและสนับสนุนแนวคิดการโอบรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คนในสังคม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้

นิทรรศการนี้นำเสนอผลงานของสองศิลปินจาก Patani Artspace ได้แก่ กรกฏ สังข์น้อย และ ผศ.เจะอับดุลเลาะเจะสอเหาะ ที่ร่วมกันสรรค์สร้างศิลปะโดยนำเนื้อหาสาระของอาภรณ์หรือเสื้อผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันมาสื่อสารเป็นสัญลักษณ์ในรูปแบบศิลปะร่วมสมัย (Contemporary Art) เพื่อให้มนุษย์เห็นถึงสัจธรรมของความเป็นมนุษย์ เกิดความเห็นอกเห็นใจ แม้จะมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมทั้งเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ทัศนคติ ความเชื่อ รสนิยม ซึ่งสะท้อนผ่านลวดลายของอาภรณ์ ยกตัวอย่างเช่น

ผ้า/สี/ชีวิต – โดยกรกฏ สังข์น้อย ศิลปินผู้นับถือศาสนาพุทธชาวปัตตานีที่ได้เล่าถึงศิลปะผ้าเจ็ดสีว่าหมายถึงเรื่องราวของชีวิตอันหลากหลาย และการอยู่ร่วมกันโดยเปรียบว่าผ้าหรือเครื่องนุ่งห่มเป็นเพียงเปลือกภายนอกที่บ่งบอกถึงสถานะ อัตลักษณ์ที่แตกต่างกันอันเกิดจากจิตของมนุษย์ที่ปรุงแต่งขึ้นมาใช้เปรียบเทียบ แบ่งแยก แข่งขัน ทว่าสิ่งที่อยู่ภายใต้เสื้อผ้าคือผู้สวมใส่ซึ่งมีจุดร่วมเดียวกันคือ “ความเป็นมนุษย์”

 

อาภรณ์แห่งชีวิต  – โดยเจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ ที่บอกเล่าเรื่องราวของชีวิตที่สะท้อนถึงสัจธรรมและวิถีชีวิตของผู้นับถือศาสนาอิสลามผ่านอาภรณ์ที่สำคัญ 3 ชนิดที่มีลักษณะเป็นผ้าขาวบริสุทธิ์ ได้แก่

1.อาภรณ์แห่งการเกิด (ผ้าอ้อมสีขาวของเด็กแรกเกิด) 2.อาภรณ์แห่งการอยู่ (ผ้าเอี้๊ยะห์หรอมสีขาวที่ใช้ประกอบพิธีการทำฮัจญ์หรือการทำอุมเราะห์ หรือที่นำไปประกอบศาสนกิจที่นครเมกกะห์ ) 3.อาภรณ์แห่งการดับสูญหรือการตาย (ผ้าห่อศพสีขาว) ซึ่งอาภรณ์ทั้งสามล้วนมีลักษณะที่เรียบง่ายปราศจากการปรุงแต่งให้มีความสวยงามซึ่งสร้างความตระหนักถึงสติหรือแง่คิดเตือนใจให้มนุษย์ในการดำรงชีวิตแต่ละวัน

 

ทั้งนี้ จากคำอธิบายของภัณฑารักษ์ได้ระบุไว้ในงานเปิดตัวนิทรรศการว่า ตำแหน่งการจัดวางของงานศิลปะเราก็จะเห็นถึงการไดอาล็อกหรือการสนทนาระหว่างสองศาสนาระหว่างพุทธและอิสลามแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างและแก่นแท้ที่เป็นจุดร่วมกัน เช่น จีวรณ์ขนาดใหญ่ปักคำว่า “มนุสโสสิ” แปลว่า เป็นมนุษย์หรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามที่มาจากตำนานในสมัยพุทธกาลถึง “นาค” ที่ปลอมตัวเป็นมนุษย์มาขอบวช แล้วถูกพระถามว่าเป็นมนุษย์หรือไม่ ซึ่งไปสอดคล้องกับอาภรณ์ศิลปะที่จัดแสดงฝั่งตรงข้ามที่มีลักษณะเป็นรูปใบหน้าของชาวมุสลิม ซึ่งตรงนี่ก็สะท้อนให้เห็นว่าคำถามนี้ไม่ได้จำกัดสำหรับพุทธศาสนิกชนเท่านั้น แต่เป็นคำถามสำหรับคนทุกศาสนา 

 

อ่านเก็บตกเสวนาเปิดตัวนิทรรศการได้ที่:  เก็บตก: นิทรรศการ Dialogue of Humanity คลิก

 

นอกจากนี้ ก็มีกิจกรรมชวนผู้เข้าชมมาร่วมนิยามความหมายของ “ความเป็นมนุษย์” ด้วยการเขียนลงบนผืนผ้าสีขาวบริเวณประตูทางเข้าของห้องจัดแสดง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เน้นย้ำเนื้อหาสาระสำคัญของนิทรรศการ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เข้าชมได้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการผ่านการตีความได้อย่างอิสระ

 

และอีกส่วนที่น่าสนใจบริเวณหน้าห้องจัดแสดงคือ มุมโปสเตอร์ ภาพถ่าย และสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในสามจังหวัดที่ถูกทำเสนอให้ลักษณะของงานศิลป์ ซึ่งให้กลิ่นอายหรือบรรยากาศที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนภาคใต้ แสดงให้เห็นถึงชีวิตทางสังคมของมนุษย์ท่ามกลางความหลากหลายได้ดียิ่งขึ้น 

 

สำหรับนิทรรศการ Dialogue of Humanity บทสนทนาของมนุษย์ เปิดให้เข้าชมแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 30 สิงหาคม 2567 ทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 9:00 - 16:00 น. หยุดเสาร์-อาทิตย์และนักขัตฤกษ์ ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งสิ่งจัดแสดงจะเป็นงานศิลปะที่ประกอบไปด้วย ผ้าหรืออาภรณ์ , ภาพวาด และภาพถ่ายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถาม และนิยามความเป็นมนุษย์ และเห็นถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมท่ามกลางความหลากหลาย

 

เรื่องและภาพโดยอวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์