1 พฤษภาคม 2567 เวลา 16:00-19:00 น. พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติร่วมกับ Patani Artspace จัดงานเสวนาเปิดตัวนิทรรศการ “Dialogue of Humanity บทสนทนาของมนุษย์” ณ ห้องออดิเทอเรียม 2 อาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และศิลปินผู้ก่อตั้ง Patani Artspace, กรกฎ สังข์น้อย ศิลปิน Patani Artspace, อาจารย์อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และภัณฑารักษ์นิทรรศการ และผศ.อำพรรณี สะเตาะ สาขาศิลปะภาพถ่ายและสื่อทัศนภาพวิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยมี ผศ.ดร. อัมพร หมาดเด็น คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
เนื้อหาวงเสวนาในภาพรวมพูดถึงเมสเสจและแนวคิดเบื้องหลังของนิทรรศการ Dialogue of Humanity เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเหตุการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และเป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างสันติภาพที่นำเสนอในรูปแบบงานศิลปะซึ่งส่วนใหญ่เป็นผ้าอาภรณ์ หรือผ้านุ่งห่มหลากสีสันที่สะท้อนถึงชีวิตทางสังคมของมนุษย์และการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายของผู้คน โดยสองศิลปินที่มีพื้นเพมาจากจังหวัดปัตตานีเหมือนกันแต่ต่างศาสนา กรกฏ สังข์น้อย และผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ
กรกฏ สังข์น้อย: ความแตกต่าง หลากหลายบนอาภรณ์เจ็ดสี
กรกฏ ศิลปินผู้นับถือศาสนาพุทธชาวปัตตานีเล่าถึงแนวคิดเบื้องหลังของงานศิลปะผ้าเจ็ดสีว่าหมายถึงเรื่องราวของชีวิตอันหลากหลาย และการอยู่ร่วมกันโดยเปรียบว่าผ้าหรืออาภรณ์ เครื่องปกปิดร่างกายเป็นเพียงสิ่งภายนอกที่บ่งบอกสถานะ อัตลักษณ์ที่แตกต่างกันอันเกิดจากจิตของมนุษย์ที่ปรุงแต่งขึ้นมาใช้เปรียบเทียบ แบ่งแยก แข่งขันกัน ทว่าสิ่งที่อยู่ภายใต้เสื้อผ้า หรือเนื้อแท้ภายในของผู้สวมใส่ที่เป็นจุดร่วมเหมือนกันนั้นคือความเป็นมนุษย์
โดยเขาเลือกใช้สีที่เป็นขั้วตรงข้ามบนผืนผ้าเดียวกันเพื่อสื่อถึงความขัดแย้งที่มีอยู่ภายในทุกคน และการอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างทั้งวิธีคิด ความเชื่อความศรัทธา ภาษา ชาติพันธุ์ของผู้คนในสังคมซึ่งสะท้อนถึงเรื่องราวในพื้นที่สามจังหวัดที่ถูกมองจากสังคมภายนอกว่าเป็นพื้นที่ที่มีความต่าง และความรุนแรง
เจะอับดุลเลาะ: ศิลปะสร้างบทสนทนาที่เชื่อมร้อยความเข้าใจมนุษย์
เจะอับดุลเลาะ ศิลปินชาวมลายูผู้เกิดและเติบโตที่จังหวัดปัตตานีเริ่มต้นเล่าความรู้สึกดีใจที่ได้นำผลงานศิลปะแนว Contemporary มาร่วมสื่อสารผ่านนิทรรศการนี้ในมิติมานุษยวิทยา ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เกิดบทสนทนาอันนำไปสู่เป้าหมายของนิทรรศการที่สร้างความรู้ความเข้าใจ และสาระสำคัญของความเป็นมนุษย์ หลังได้รับการเสนอแนะให้จัดกิจกรรมจากอาจารย์ที่ทำงานในมิวเซียมสยามผู้ชื่นชอบผลงานของกรกฏจนก่อเกิดเป็นนิทรรศการนี้
นอกจากนี้ เจะอับดุลเลาะกล่าวด้วยว่ารู้สึกโชคดีที่ได้อาจารย์อนุวัฒน์มาเป็นคิวเรเตอร์
“งานของเราก็ร่วมไดอาล็อกกับกรกฏ ซึ่งเราอยู่ด้วยกันมาร่วมสิบปี อย่างน้อยที่สุดคนจะได้เห็นความต่างระหว่างศาสนิก กรกฏที่เป็นชาวพุทธ และเราที่เป็นมุสลิม อิสลาม เราก็อยู่ด้วยกันมาเป็นสิบๆปี เขาอยู่กันได้ยังไง? ด้วยบริบทอะไร? แน่นอนว่าศิลปะเป็นตัวเชื่อมระหว่างความต่างของเรา”
เจะอับดุลเลาะเล่าย้อนถึงเหตุการณ์ช่วงแรกที่เริ่มทำ Patani Artspace เกิดขึ้นมาท่ามกลางเหตุการณ์ความรุนแรงที่เข้มข้นมาก จึงทำให้เขาทำ Artspace ขึ้นมาเพื่อให้เกิดบทสนทนาสร้างความเข้าใจ เป็นปากเป็นเสียงให้ชุมชนและเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน วันหนึ่งเจ้าหน้าที่รัฐเคยมาเดินสังเกตและเห็นงานศิลปะของกรกฏที่แขวนอยู่ในสตูดิโอ ซึ่งเป็นภาพที่หยิบเรื่องราวพุทธประวัติในวัดมานำเสนอในลักษณะ Contemporary Art เจ้าหน้ารัฐตั้งคำถามว่า “คุณทำได้หรอ คุณเป็นมุสลิมไม่ใช่หรอ”
“อันนั้นเป็นงานของกรกฏเป็นลูกศิษย์ผมที่พำนักอยู่ที่นี่ ซึ่งเขาเป็นชาวพุทธ ไปบวชอยู่” เจะอับดุลเลาะตอบ
“อ้าว พุทธแล้วเขาอยู่ที่นี่ได้ด้วยหรอ”
“คีย์เวิร์ดนั้นอะ ผมโกรธมากเลยนะฮะ ผมใส่เต็มที่เลย ด้วยนิสัยตัวเองที่ชอบโต้กลับทันทีทั้งที่เขาก็มีอาวุธอยู่น่ะนะฮะ (หัวเราะ) โต้กลับทันทีว่า… นี่คุณ mindset คุณ…มีปัญหานะ เราอยู่ด้วยการเป็นมนุษย์ด้วยกัน เราไม่ได้เอาศาสนามาเป็นตัวแบ่งกั้นกำแพงตรงนี้ ก็คุยกันหลายประเด็นในวันนั้น ซึ่งมันก็ยิ่งทำให้เราจะต้องสร้าง Activity ที่สร้างบทสนทนาให้มากขึ้น ให้เกิดความเข้าใจ โดยเฉพาะกับคนที่มี mindset ในแนวดิ่้งอันนี้เป็นปัญหาในสามจังหวัด ”
“ เราได้คิดต่อและก็ได้มาขยับขยายที่นี่ เราก็ดูงานของกรกฏที่พูดถึงประเด็นอาภรณ์ ซึ่งอาภรณ์มันเป็น symbolic (สัญลักษณ์) ที่สามารถบอกสถานะผู้คนได้ ก็เลยหยิบ symbolic ในมิติของตัวเองที่สัมผัสมาตั้งแต่เล็กจนโต และสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ผ้าที่เกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนา-ชีวิต ผ้าที่เรานำไปเมกกะ ผ้าห่อศพ ผ้าอุ้มลูก ผ้าโสร่ง ผ้าถุง ผ้าปาเต๊ะ ผ้าลายพรางทหารซึ่งบอกสถานะอาภรณ์แห่งอำนาจ และก็นำรูปทรงของคนซึ่งเป็นวิธีสร้างบทสนทนา”
“ ผมมองว่าอาภรณ์ อย่างที่กรกฏบอกมันเป็นเปลือกนอก แม้กระทั่งศาสนาเอง ในท้ายที่สุดแล้ว Body ความเป็นมนุษย์มันสำคัญที่สุด ถ้าเราเอาศาสนา ตำแหน่งแห่งที่มาเป็นไม้บรรทัดมันก็จะเกิดความขัดแย้งทันที แต่ถ้าเราเอาความเป็นมนุษย์ขึ้นมา แน่นอนคนที่มีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันย่อมเห็นความสำคัญ เห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์ ”
เจะอับดุลเลาะระบุว่านิทรรศการนี้น่าจะให้แง่คิดและสร้างบทสนทนาระหว่างผู้สร้างและผู้ชม หรือศิลปินกับผู้เสพ ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นการเปิดพื้นที่ให้ตีความ เปรียบเทียบ เปรียบเปรย แง่คิด และแรงบันดาลใจที่สะท้อนกันและกันได้ผ่านงานศิลปะที่เปรียบเสมือนอาวุธที่มีพลานุภาพเชื่อมร้อยผู้คนให้เกิดการสนทนา และขับเคลื่อนสังคมได้โดยไม่ได้ทำร้ายใคร และไม่ใช่ภัยความมั่นคงอย่างที่รัฐตีตรา
อนุวัฒน์: มนุสโสสิ (เป็นมนุษย์หรือไม่)
อนุวัฒน์ ภัณฑารักษ์ (Curator) ที่ Patani Artspace และนิทรรศการนี้ เล่ามุมมองการออกแบบนิทรรศการผ่านประสบการณ์ที่ตัวเขาเองไม่ได้เป็นคนในพื้นที่ปัตตานี แต่เคยไปช่วยทำเรือพระซึ่งเป็นประเพณีของชาวไทยพุทธในจังหวัดปัตตานี ในฐานะช่างฝีมือ และได้เห็นมิติต่างๆในพื้นที่ จึงตัดสินใจมาเรียนต่อที่ปัตตานีหลังเรียนจบวิทยาลัยช่างฝีมือ
‘ความเป็นอื่น’ ในมุมของรัฐ
อนุวัฒน์เล่าต่อไปว่า ช่วงที่ไปอยู่ในพื้นที่ก็ได้เห็นกระบวนการสร้าง ‘ความเป็นอื่น’ โดยรัฐจำนวนมาก เช่น โปสเตอร์ภาพ ‘อาแบ’ (คนมุสลิม) ถีบรถสามล้อแล้วผู้โดยสารด้านหลังเป็นพระสงฆ์ เพื่อบ่งบอกถึงความสันติสุข แต่ที่จริงมันไม่ได้เป็นการสร้างสันติสุข หากแต่มีนัยยะอีกอย่างว่ามันต้องทะเลาะกัน หรือแตกแยกกันด้วยเส้นแบ่งทางศาสนา
อนุวัฒน์กล่าวว่าในฐานะคิวเรเตอร์ ก็อยากนำเสนอเรื่องราวในปัตตานีออกมาข้างนอกพื้นที่ผ่านการไปจัดแสดงนิทรรศการในพื้นที่จังหวัดต่างๆที่เคยไปมา เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น กรุงเทพ เพื่อให้มิตินี้ถูกรับรู้ผ่านบริบทของคนนอกที่พวกเขาอาจไม่เคยเห็น
สำหรับที่มาแนวคิดการออกแบบภายในนิทรรศการนี้ อนุวัฒน์เริ่มจากการวิเคราะห์ Visual Element ด้วยคำถามที่ว่าจะทำยังไงให้งานของศิลปินทั้งสองที่มีความแตกต่าง หรือมีความเป็นปัจเจค (individual) สามารถสื่อสาร หรือไดอาล็อกกันได้โดยหาจุดเชื่อมโยงเดียวกัน เพื่อสื่อว่าต่างศาสนาก็อยู่ด้วยกันได้ และมากไปกว่านั้นคือการทำให้ผู้ชมเห็นถึง ‘ความเป็นมนุษย์’
รื้อถอนโครงสร้างทลายกำแพง
อนุวัฒน์อธิบายมุมมองวิธีสื่อสารถึงการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความต่าง ด้วยการวางตำแหน่งของงานศิลปะในลักษณะที่เห็นถึงการไดอาล็อกกันระหว่างศาสนาอิสลามและศาสนาพุทธ
อนุวัฒน์ชี้ให้เห็นว่าศิลปะชุดแรกที่จะพบในนิทรรศการคือ อาภรณ์ของเจะอับดุลเลาะซึ่งเป็นผลงานชุดสีขาว และผืนผ้าสีขาวที่ใช้ในทางศาสนาอิสลามซึ่งบอกเล่าถึง ‘การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป’ ซึ่งในแง่หนึ่งก็ไปสอดคล้องกับปรัชญาทางศาสนาพุทธซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงจุดร่วมกันของสองศาสนา
ขณะเดียวกัน เมื่อเรามองในลักษณะรื้อถอน (reconstruct) คลี่คลายกำแพงศาสนาออกไป ก็จะเจอจุดร่วมอีกอย่างที่นิทรรศการต้องการสื่อสารคือ “ความเป็นมนุษย์” ที่ไดอาล็อกกันผ่านงานศิลปะ เนื่องจากห้องถัดไปตรงข้ามจะเห็นอาภรณ์ศิลปะของกรกฏที่เป็นผ้าหลากสีเสมือนว่าเป็นการสนทนาโต้ตอบกัน
โดยเฉพาะบริเวณกลางห้องจัดแสดงที่แขวนผ้าจีวรขนาดใหญ่ซึ่งปักลวดลายคำว่า “มนุสโสสิ” แปลว่า เป็นมนุษย์หรือไม่? ซึ่งเป็นคำถามที่มาจากตำนานในสมัยพุทธกาลว่าเคยมี นาค ปลอมตัวเป็นมนุษย์มาขอบวช แต่ถูกพระท่านถามว่าเป็นมนุษย์หรือไม่ โดยไดอาล็อกสอดรับกับอาภรณ์ฝั่งตรงข้ามที่เป็นผ้าลวดลายใบหน้าคนมุสลิม ซึ่งเป็นวิธีการสื่อสารและตีความที่ชวนผู้ชมตั้งคำถามที่ว่า “มนุสโสสิ- ใช่มนุษย์ หรือเปล่า” ซึ่งไม่ได้เป็นคำถามสำหรับคนที่จะบวชเท่านั้น แต่เป็นคำถามของคนทุกศาสนา
อนุวัฒน์ระบุเพราะว่าสิ่งที่สำคัญที่มากไปกว่าการ Export หรือการนำเสนอผลงานสื่อสารออกไปสู่ผู้ชม คือการ Import หรือการดึงผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมในนิทรรศการด้วยการเปิดพื้นที่ให้เกิดการตีความที่หลากหลายตามบริบทของผู้ชมที่ต่างกัน
อำพรรณี: ศิลปะคือภาษาที่มนุษย์ใช้สื่อสาร
อำพรรณี อาจารย์และศิลปินหญิงมุสลิมที่ทำงานด้านภาพถ่ายเล่าประสบการณ์สมัยไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศสกับโปรเจคภาพถ่ายชุดบูร์กา หรือชุดฮิญาบของคนที่นับถือศาสนาอิสลาม ในบริบทสังคมปี 2010 ที่มีปรากฏการณ์ Islamophobia (อาการเกลียดอิสลาม) ในยุโรปโดยเฉพาะฝรั่งเศสที่ออกกฏหมายห้ามแสดงสัญลักษณ์เชิงศาสนาอิสลามตามพื้นที่สาธารณะซึ่งนำมาสู่โปรเจค บูร์ก้า ของเธอที่เป็นงานศิลปะภาพถ่ายแบบ self-portrait สวมใส่ชุดบูรก้าลวดลายธงชาติฝรั่งเศส และหลากสีสันโดยฝีมือตัดเย็บของคุณแม่ของเธอที่ส่งไปแสดงในฝรั่งเศส
เพื่อตั้งคำถามกับสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ และตั้งคำถามกับเพดานขีดจำกัดด้านเสรีภาพในการนับถือศาสนาของผู้คนมุสสลิมในประเทศฝรั่งเศสที่ขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ
อำพรรณีเล่าต่อไปว่าเมื่อกลับมายังประเทศไทย ก็ได้มีโอกาสร่วมทำงานที่บ้านเกิดกับ Patani Artspace ในฐานะศิลปินที่ทำงานภาพถ่ายซึ่งก็ได้นำผลงานมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้ด้วย โดยมุมมองที่น่าสนใจคือเรื่องการสื่อสารของมนุษย์ที่มีหลากหลายรูปแบบนอกเหนือไปจากตัวภาษาที่เป็นอักษรแล้วก็มีภาพศิลปะ หรือภาพถ่ายที่เป็นหนึ่งในภาษาที่มนุษย์ใช้สื่อสาร ซึ่งสามารถสะท้อนเรื่องเล่าจากคนในไปสู่คนนอกและนำไปสู่การพูดคุยกันในสังคมมากขึ้น
ก่อนจบเสวนาก็ได้มีการทิ้งท้ายเชิญชวนทุกท่านชมนิทรรศการและหากมีโอกาสก็เชิญชวนทุกท่านไปเยี่ยมชม Artspace จังหวัดปัตตานี และติดตามกิจกรรมต่อไปที่จะถึงนี้ โดยบทสรุปของงานอาจไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนซึ่งเป็นเจตนาของทีมผู้จัดทำที่ต้องการเปิดให้มีพื้นที่อิสระในการตีความและนิยามความหมายของความเป็นมนุษย์ตามมุมมองของแต่ละบุคคล
สำหรับนิทรรศการ Dialogue of Humanity บทสนทนาของมนุษย์ เปิดให้เข้าชมแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 30 สิงหาคม 2567 ทุกวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 9:00 - 16:00 น. หยุดเสาร์-อาทิตย์และนักขัตฤกษ์ ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งสิ่งจัดแสดงจะเป็นงานศิลปะที่ประกอบไปด้วย ผ้าหรืออาภรณ์ , ภาพวาด และภาพถ่ายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถาม และนิยามความเป็นมนุษย์ และเห็นถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมท่ามกลางความหลากหลาย
เรื่องและภาพโดยอวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์