Skip to main content

27 มีนาคม 2567 สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทยและสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ นัดชุมนุมที่หน้ากระทรวงแรงงานในเวลา 13.00 น. เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้เท่ากันทั่วประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับอัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้นทั่วประเทศ

การชุมนุมที่กระทรวงแรงงานใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงตั้งแต่ 13.00 - 14.00 น. โดยมีตัวแทนจากสหภาพแรงงานต่างๆที่มาร่วมการชุมนุมสลับกันขึ้นปราศรัยสั้นๆ ผู้ปราศรัยคนหนึ่งระบุว่า การขึ้นค่าจ้าง คือการเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ ซึ่งหากมีการขึ้นค่าแรง ผู้ใช้แรงงานก็จะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นและเข้าไปช่วยหมุนกงล้อเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ผู้ปราศรัยอีกคนหนึ่งระบุว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญสภาวะคนเกิดน้อย คนตายมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงงานมีรายได้จำกัดทำให้ไม่มีความหวังและไม่อยากมีลูก หากมีการเพิ่มรายได้ก็จะทำให้แรงงานกล้ามีลูกซึ่งจะส่งผลให้มีการเพิ่มจำนวนประชากรให้มีความสมดุล ด้านพิธีกรบนเวทีก็กล่าวแบบติดตลกทำนองว่า ผู้ปราศรัยแต่ละคนปราศรัยกันเร็วทำให้ตัวเองไม่ทันได้หลบแดด ที่ตัวเองต้องรีบหลบแดดเป็นเพราะไม่ได้ทาครีมกันแดดมา ไม่มีเงินซื้อ เนื่องจากตัวเองทำงานในอำเภอเมืองชลบุรีที่ค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ปรับขึ้นถึง 400 บาท โดยในจังหวัดชลบุรีมีเพียงเมืองพัทยาที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน

สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทยให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งถึงการมาชุมนุมที่กระทรวงแรงงานครั้งนี้ว่า ทางสมาพันธ์ฯและกลุ่มพี่น้องแรงงานที่มาในวันนี้ มีข้อเรียกร้องคือให้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศเป็น 492 บาท โดยจำนวนดังกล่าวคำณวณจากงานวิจัยที่ระบุว่าการที่คนคนหนึ่งจะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ต้องมีรายได้อย่างน้อย 21,000 บาท ต่อเดือน

สาวิทย์ระบุว่ามติของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งมีโครงสร้างเป็นไตรภาคีคือมีตัวแทนฝ่ายรัฐ เช่น ปลัดกระทรวงแรงงาน ตัวแทนนายจ้างและลูกจ้าง มีมติให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ในบางพื้นที่ ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่สินค้าและค่าบริการต่างๆรวมถึงค่าไฟฟ้าต่างปรับขึ้นเป็นการทั่วไป ในวันนี้ทางกลุ่มผู้ใช้แรงงานจึงมายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเพื่อให้ไปนำเสนอต่อรัฐบาลว่าให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นทั่วประเทศ หากไม่สามารถปรับเป็น 492 ตามที่มีงานวิจัยออกมารองรับอย่างน้อยก็ควรปรับขึ้นเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาลเคยหาเสียงไว้ก่อนการเลือกตั้ง 2566


สำหรับของสะสมที่พิพิธภัณฑ์เก็บมาจากงานนี้ ได้แก่

1.แถลงการณ์ เรื่อง ค่าจ้างขั้นต่ำต้องเท่ากันทั้งประเทศ และคัดค้านการปรับขึ้นค่าจ้างแบบเขตพื้นที่
2.ป้ายประท้วงบนบอร์ดไวนิล "อำนาจรัฐบาลหรืออำนาจไตรภาคี ใคร? จะใหญ่กว่ากัน"

3.ป้ายประท้วงบนบอร์ดไวนิล "492 บาทเท่ากันทั้งประเทศ"

 

ไฟล์แนบ