Skip to main content

2 มีนาคม 2567 โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุจังหวัดชายแดนใต้ (The Deep South Museum& Archives - DSMA) ร่วมกับ SEA- junction จัดงานเสวนาหนังสือ ‘ลิ้มรสความทรงจำ: ตากใบ’ - Book Discussion: Taste of Memories ซึ่งเป็นกิจกรรมเปิดตัวนิทรรศการรำลึกครบรอบ 20 ปี ตากใบ ความทรงจำที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งเปิดให้เข้าชมระหว่างวันที่ 2 - 10 มีนาคม 2567 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ชั้น 4

เพื่อรำลึกและสร้างความตระหนักรู้ถึงหนึ่งในเหตุการณ์ที่เป็นโศกนาฏกรรมของผู้คนในจังหวัดชายแดนใต้ ขณะเดียวกันก็เรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายด้วยการบอกเล่าประสบการณ์และความทรงจำผ่านวัตถุที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ หรือสูญหาย สืบเนื่องจากการรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ครอบครัวของผู้เสียชีวิตในพื้นที่ตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพื่อทำให้ความเงียบได้เปล่งเสียงออกมาผ่านพยานหลักฐานที่เป็นสิ่งของ เครื่องใช้

นิทรรศการนี้กลับมาอีกครั้ง หลังจากเคยจัดแสดงไปแล้วเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมาเนื่องในครบรอบ 19 ปี ในนิทรรศการ “สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547” ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ สามารถอ่านเนื้อหาย้อนหลังพาชมนิทรรศการได้ที่ https://commonmuze.com/node/493

สำหรับนิทรรศการครั้งนี้ก็มีความแตกต่างตรงที่มีการเพิ่มวัตถุจัดแสดง เช่น กรอบรูป เครื่องชา กรงดักจับนก ข้าวเปลือก รูปภาพ และตำราเรียน ที่เติมเข้ามาอันเนื่องมาจากความไว้วางใจ (trust) ที่เพิ่มขึ้นของบรรดาประชาชนท้องถิ่นผู้เป็นญาติของผู้เสียชีวิตหลังจากที่พวกเขาได้ไปเยี่ยมชมนิทรรศการครั้งดังกล่าวด้วยตนเอง รวมไปถึงครั้งที่จัดแสดงที่ในพื้นที่ เดอ ลาแป อาร์ตสเปซ จังหวัดนราธิวาส ระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม - 10 พฤศจิกายน 2566  จนกระทั่งพวกเขาเกิดความเข้าใจวัตถุประสงค์ดังกล่าวในการจัดงานของโครงการนี้ที่ต้องการจดบันทึกและเป็นพื้นที่เรียนรู้เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของประชาชนให้กับคนรุ่นหลังในรูปแบบการจัดพิพิธภัณฑ์ (Museum) ทำให้ต่อมาพวกเขายินยอมที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานด้วยการมอบวัตถุสิ่งของสำหรับการจัดแสดงเพิ่มเติมให้กับทางโครงการ จากเดิมที่พวกเขายังรู้สึกไม่สนิทใจที่จะเปิดเผยข้อมูลให้กับทีมผู้จัดเนื่องด้วยมีความกังวลเกี่ยวกับปลอดภัยของตนเองและครอบครัว

ในส่วนของวงเสวนาหนังสือ ‘ลิ้มรสความทรงจำ: ตากใบ’ ที่เป็นกิจกรรมเปิดตัวนิทรรศการครั้งนี้มีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ นวลน้อย ธรรมเสถียร ผู้สื่อข่าวอิสระ,  ภัทรภร ภู่ทอง นักวิจัยประจำโครงการ DSMA, Nikarema Hayeeniloh นักวิจัยภาคสนามโครงการ DSMA และ ฆัสรา มุกดาวิจิตร บรรณาธิการหนังสือเล่มดังกล่าว โดยมีเอกราช ซาบูร์ เป็นผู้แปลและดำเนินรายการสองภาษาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งจากการสัมภาษณ์ทีมผู้จัดทำได้กล่าวถึงเหตุผลที่นิทรรศการนี้มีการใช้ภาษาอังกฤษเข้ามาสื่อสารเป็นหลักก็เพื่อต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่เป็นชาวต่างชาติด้วย


เนื้อหาวงเสวนาโดยสรุป เป็นการพูดคุยถึงประสบการณ์และความทรงจำในกระบวนการได้มาซึ่งข้อมูลจากมุมมองของผู้สื่อข่าวที่เผชิญกับความพยายามของรัฐในการปกปิดเหตุการณ์ตากใบ โดยนวลน้อย ผู้สื่อข่าวที่เคยทำงานกับบีบีซีเล่าว่าเธอได้ไปแสวงหาข้อมูลไกลถึงมาเลเซียเพื่อสัมภาษณ์ประชาชนและได้สนทนากับ อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมนตรีมาเลเซีย ซึ่งมีประเด็นสำคัญตรงที่เขาได้มีการบอกผ่านสื่อวิทยุบีบีซีไทยด้วยว่าขอเรียกร้องให้มีการแทรกแซง (Intervene) จากองค์พระมหากษัตริย์ไทยในขณะนั้น

ขณะเดียวกันสำหรับมุมมองของผู้วิจัยอย่าง Nikarema Hayeeniloh หรือ ‘ก๊ะมะ’ (พี่มะ- ก๊ะ ภาษาถิ่นภาคใต้แปลว่า พี่สาว) เองก็เผชิญกับความท้าทายเช่นกันในแง่ของความไว้ใจ จากการลงพื้นที่เข้าไปสัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนทางความรู้สึกที่เป็นบาดแผลในใจของญาติของผู้เสียชีวิต แม้ว่าเธอจะเป็นคนในพื้นที่ก็ตาม

ก๊ะมะ เล่าว่าในตอนแรกที่เธอเริ่มเก็บข้อมูลสัมภาษณ์ในปี 2563 พบว่าบรรดาญาติของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบต่างรู้สึกไม่สบายใจที่จะเปิดเผยข้อมูล เพราะคิดว่าก๊ะมะเป็นคนกลุ่มเดียวกับทางราชการไทย และกลัวว่าหากให้ข้อมูลไปแล้วจะไม่ปลอดภัยต่อครอบครัว บ้างก็คิดว่าให้ข้อมูลหรือสิ่งของไปก็คงไม่เกิดประโยชน์หรือไม่เชื่อว่าจะสามารถเรียกร้องความยุติธรรมได้ เพราะผ่านสิบหกปีแล้ว เรื่องที่เกิดขึ้นกลับเงียบหรือไม่มีใครมารับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความสูญเสียใดๆ ประกอบกับที่พวกเขารู้สึกยังไม่ค่อยเข้าใจคอนเซปของการจัดทำพิพิธภัณฑ์หรือหอจดหมายเหตุจึงทำให้การทำงานเชิงข้อมูลของก๊ะมะไม่ได้ราบรื่น จากการที่ติดต่อญาติของผู้เสียชีวิตไป 66 คน ปรากฏว่าได้รับความร่วมมือ 17 คนเพียงเท่านั้น ที่เป็นเรื่องราวที่ถูกบันทึกอยู่ในหนังสือเล่มนี้ด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งที่พวกเขายินยอมให้ข้อมูลเพราะเห็นว่าก๊ะมะเป็น “คนใน”


จนตอนนี้ ก๊ะมะเล่าว่าเธอรู้สึกสนิทกับผู้ให้ข้อมูลเสมือนเป็นพี่น้องครอบครัวเดียวกันแล้ว ทั้งนี้ หากพูดถึงความท้าทายในแง่ของระยะเวลาที่ผ่านมานานของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น ก๊ะมะไม่ได้มองว่าเป็นอุปสรรคต่อการเก็บข้อมูลสัมภาษณ์มากนัก เพราะการพูดถึงเหตุการณ์ในช่วงที่เวลาผ่านล่วงมานานแล้วจะเป็นผลดีกว่าการเข้าไปพูดคุยกับญาติในช่วงที่ยังผ่านเหตุการณ์ความเจ็บปวดได้ไม่นาน เพราะพวกเขาอาจยังไม่อยากพูดถึงในช่วงที่กำลังอยู่ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความโศกเศร้าในช่วงระยะแรก
อย่างไรก็ตาม ก๊ะมะเล่าว่าหลังจากทางโครงการได้ตีพิมพ์หนังสือกับจัดนิทรรศการรำลึกเหตุการณ์ตากใบ ก็พบว่ามีญาติผู้ให้ข้อมูลมาร่วมเดินชมนิทรรศการและเห็นวัตถุจัดแสดงที่ตนเองมอบให้ พวกเขาก็รู้สึกดี และเข้าใจคอนเซปของพิพิธภัณฑ์มากขึ้น เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจก๊ะมะว่าไม่ได้มีเจตนาร้าย และมองว่าเป็นประโยชน์ในแง่ของบทเรียนเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

ฆัสรา บรรณาธิการหนังสือ ‘ลิ้มรสความทรงจำ: ตากใบ’ ได้กล่าวเสริมในประเด็นการจัดนิทรรศการนี้ว่าเน้นการเล่าเรื่องความทรงจำของคนธรรมดาสามัญผ่านบทบาทของวัตถุที่เชื่อว่ามันมีพลัง หรือมีความสามารถในการคืนชีวิตให้กับคนที่เสียชีวิตไปแล้ว เช่นเดียวกับหนังสือดังกล่าวที่เป็นการรวบรวมเสียงของผู้สูญเสีย อีกทั้งยังเป็นการเคารพความทรงจำของผู้ให้ข้อมูลที่เป็นญาติผู้สูญเสียด้วยว่าพวกเขามีภาพจำของผู้วายชนม์อย่างไรอันเป็นเนื้อหาหลักของตัวหนังสือเล่มนี้ 


นอกจากนี้ ฆัสราระบุด้วยว่าที่มาของชื่อหนังสือ ‘ลิ้มรสความทรงจำ: ตากใบ’ หรือ Taste of Memories ได้มาจากอาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตรที่มาช่วยคิดชื่อหนังสือ ด้วยเหตุผลเพราะว่าเนื้อหาภายในเล่มได้ถ่ายทอดทั้งรสชาติหวานที่ได้จากมุมมองความทรงจำต่อผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นบุคคลอันเป็นที่รักของครอบครัวที่เป็น ‘คนใน’ ผสมกับรสชาติความขมขื่นที่ได้มาจากมุมมองความทรงจำของ ‘คนนอก’ เช่น นักข่าวที่มีต่อเหตุการณ์โศกนาฏกรรมนี้

ก่อนจบเสวนา รอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.พรรคก้าวไกลก็ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองความคืบหน้าของคดีตากใบในที่ประชุมรัฐสภาด้วยว่าเหตุผลที่จำเป็นต้องจัดนิทรรศการนี้เป็นเพราะว่ามีกระบวนการพยายามทำให้ลืมอย่างเป็นระบบ เนื่องจากชั้นกรรมธิการกฏหมายสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งมาจากทางตำรวจภูธรภาค9 ว่าให้เลื่อนการส่งเอกสาร สำเนาของสำนวนคดีตากใบออกไปอีก 15 วัน เมื่อ 29 กุมภาพันธ์ เลื่อนไปเป็นวันที่ 15 มีนาคม 2567 ซึ่งจะเหลืออีก 7 เดือนครึ่งที่อายุความของคดีนี้จะหมดลง

ดังนั้น นิทรรศการรำลึกเหตุการณ์ตากใบ 2547 เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่นอกจากจะชวนผู้ชมมาฟังเสียงความเงียบแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดและกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทยด้วย

สำหรับกิจกรรมต่อไปที่จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2567 นี้ พบกับนิทรรศการ "ลบไม่เลือน 20 ปี ตากใบ" โดยพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุชายแดนใต้ (DSMA) จะจัดแสดงระหว่างวันที่ 4 มีนาคม - 31 กรกฎาคม 2567ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) http://exhibition.contestwar.com/node/3568

 

ภาพโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์

เรื่องโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์