นิทรรศการ สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547 จัดขึ้นที่อาคารพรรณราย ชั้น 2 มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ระหว่างวันที่ 9 - 14 มีนาคม 2566 เพื่อรำลึกถึงโศกนาฎกรรมที่รัฐกระทำต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งแม้ว่าเหตุการณ์ตากใบจะผ่านมาแล้ว 19 ปี แต่ยังไม่มีการนำเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อเข้าสู่กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงและรับผิดชอบต่อเหตุการณ์และความสูญเสียที่เกิดขึ้น นิทรรศการนี้นับเป็นนิทรรศการชุดแรกที่จัดทำโดย โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุจังหวัดชายแดนใต้ ร่วมกับ ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
สำหรับโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุจังหวัดชายแดนใต้ เป็นโครงการที่มีเป้าหมายเพื่อการเก็บรักษาและฟื้นฟูความทรงจำของผู้คน เปิดโอกาสให้ข้อเท็จจริงได้เปล่งเสียงชนะความพยายามทำให้เงียบของรัฐ เป็นพื้นที่เรียนรู้เพื่อหลีกเลี่ยงประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ตลอดจนการเป็นพื้นที่ในการขับเคลื่อนประชาธิปไตย
ห้องที่ใช้จัดแสดงนิทรรศการ สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547 เป็นห้องที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มากนัก วัตถุจัดแสดงซึ่งส่วนใหญ่เป็นของส่วนตัวของผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบ เช่น เสื้อผ้า กระเป๋าเงิน แก้วน้ำ ของสะสม ไปจนถึงกรงนกที่ว่างเปล่า ถูกนำมาวางจัดแสดงโดยเว้นช่องไฟห่างกันไม่มากนัก ข้างๆวัตถุจัดแสดงแต่ละชิ้นยังมีเรื่องเล่าถึงตัวตนของผู้เสียชีวิตแต่ละคนผ่านมุมมองและความทรงจำของคนในครอบครัวของผู้เสียชีวิตติดตั้งไว้ให้ผู้ชมนิทรรศการอ่านด้วย เมื่ออ่านเรื่องประกอบวัตถุจัดแสดงแต่ละชิ้นจบ ผู้รับชมนิทรรศการก็อาจมองวัตถุจัดแสดงเหล่านั้นด้วยมุมมองที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่ในฐานะสิ่งของที่ผู้เป็นเจ้าของจากไปแล้ว หากแต่เป็นวัตถุพยานที่บ่งชี้ว่าครั้งหนึ่งผู้เป็นเจ้าของวัตถุจัดแสดงเหล่านี้เคยมีชีวิต มีตัวตนอยู่จริง และทุกครั้งที่คนในครอบครัวมองเห็นสิ่งของเหล่านี้ก็จะระลึกถึงบุคคลอันเป็นที่รักของพวกเขาได้โดยไม่ต้องเอื้อนเอ่ยถ้อยคำใด
ตัวพื้นที่ของนิทรรศการ แบ่งโซนจัดแสดงออกเป็นสองส่วน
ส่วนแรก คือ การฉายภาพนิ่งของตัววัตถุ และภาพวิวทิวทัศน์ที่ครึ้มฟ้าครึ้มฝนของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ผ่านเครื่องฉายโปรเจคเตอร์
ส่วนที่สอง คือ การจัดแสดงวัตถุ ของใช้ส่วนตัวและภาพถ่ายสถานที่หรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิต ที่ไม่สามารถนำตัววัตถุจริงมาแสดงในงานได้ ด้านข้างสิ่งของและภาพถ่ายทุกชิ้นจะมีรายละเอียดคำบรรยายที่เล่าว่าสิ่งของหรือสถานที่นั่นๆเกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิตอย่างไร มีเรื่องเล่าที่เป็นความทรงจำของครอบครัวที่มีต่อผู้เสียชีวิตแต่ละคนเป็นตัวเชื่อมร้อยให้ผู้ชมนิทรรศการได้รู้จักกับเจ้าของเรื่องเล่า ประหนึ่งเจ้าตัวกำลังยืนอยู่และกำลังหยิบจับของใช้ส่วนตัวของเขาอยู่ตรงนั้น โดยคำบรรยายมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อรองรับผู้เยี่ยมชมชาวต่างชาติ
นอกจากการรับชมด้วยตาแล้ว ผู้จัดนิทรรศการยังเปิดเสียงธรรมชาติในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น เสียงทุ่งนา เสียงนก เสียงขานอาซานแจ้งเตือนเวลาละหมาดของชาวมุสลิม และเสียงลมที่กระทบกับใบมะพร้าวบริเวณริมทะเลตากใบประกอบไปด้วยเพื่อสร้างบรรยากาศ (ambience) พาให้ผู้ชมประจัญหน้ากับความเงียบที่เปล่งเสียงออกมา
สา (นามสมมติ) ชาวกรุงเทพฯ วัย 22 ปี ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในผู้ร่วมชมนิทรรศการเล่าให้ทางพิพิธภัณฑ์ฟังหลังเข้าชมนิทรรศการในวันที่ 13 มีนาคม 2566 ว่า เธอเคยได้ยินข่าวเหตุการณ์ตากใบมาบ้างเล็กน้อย หลังได้ชมภาพยนตร์สั้นความยาวประมาณ 8 นาที ซึ่งจัดฉายเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ เธอสัมผัสได้ถึงบาดแผลอันทุกข์ทรมาน และความคับข้องใจของครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่รัฐไทยเป็นผู้กระทำต่อประชาชนโดยเธอเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงความป่าเถื่อนและไร้มนุษยธรรม ซึ่งเธอคิดว่าสำหรับครอบครัวของผู้สูญเสีย เงินตราคงมิอาจเยียวยา หรือชดเชยความรู้สึกที่สูญเสียไปแล้วให้ฟื้นคืนมาได้ โดยความรู้สึกเหล่านั้นสะท้อนออกมาผ่านเรื่องเล่าเบื้องหลังวัตถุจัดแสดงซึ่งอาจไม่ใช่ของเลอค่าเหมือนวัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หากแต่ประเมินค่าไม่ได้ในความรู้สึกของคนในครอบของ “อดีตเจ้าของ” วัตถุจัดแสดงเหล่านั้น
แก้วน้ำของพ่อ - “รอยะ” พ่อของลูกสาว 5 คน อาชีพกรีดยาง (รอยะเสียชีวิตตอนอายุ 50 ปี) ทุกเช้าพ่อจะตื่นนอนตอนตี 4 ตี 5 ด้วยความเคยชินของแม่จะคอยต้มน้ำร้อน เพื่อชงชาให้พ่อดื่มเสมอ โดยพ่อจะมีแก้วประจำตัวที่เอาไว้ใส่ชาของตนเอง ซึ่งเป็นแก้วที่ครอบครัวเก็บไว้ในตู้ เมื่อทุกคนในบ้านเห็นแก้วใบนี้ ก็จะหวนนึกขึ้นได้ว่านี่คือแก้วของพ่อ
กรงนก- “มาหะมะ” สามีและพ่อของลูกสี่คน ผู้มีอาชีพรับจ้างตัดไม้ เลื่อยไม้ และทำนา หลังจากที่สามีเสียชีวิต ภรรยาปล่อยนกที่สามีเคยเลี้ยงไว้อยู่ในกรง 4 ตัว ตอนที่เปิดกรงนกออก เธอพูดกับนกว่า “ออกไปเถอะนกเอ๋ย เราต่างคนต่างออกไปทำมาหากินของตัวเองเถอะ ตอนนี้เจ้าของแกไม่อยู่แล้ว”
วันเศร้า- ชุดสีน้ำเงินเข้มของ “บาบอแม” (ชื่อเรียกผู้มีความรู้ทางศาสนาอิสลาม คล้ายกับ Father ในทางศาสนาคริสต์ ) บาบอแมสวมใส่ชุดนี้ ตอนทำพิธีอาบน้ำศพ ซึ่งถูกปล่อยทิ้งให้นอนเรียงรายกลางสนามตากแดด ตากฝนบริเวณค่ายทหารทำเหมือนเขาไม่ใช่คน สภาพศพนั้นถูกทำร้ายจนแทบจำไม่ได้ บาบอแมทำพิธีอาบน้ำประมาณ 50 ศพ ตามความเชื่อทางศาสนาอิสลามที่ต้องชำระล้างร่างกายให้สะอาดหมดจดก่อนไปเข้าเฝ้าพระเจ้า ถึงทุกวันนี้ บาบอแมยังคงเก็บชุดนี้ไว้ในตู้แม้จะไม่สามารถนำมาใส่ได้อีกแล้ว
สำหรับเนื้อหาของภาพยนตร์สั้น สาเล่าว่า หนังนำเสนอภาพเหตุการณ์ความทรงจำสุดท้ายก่อนหมดลมหายใจของตัวละครซึ่งเป็นผู้ชุมนุมที่ถูกมัดมือไขว้หลังและนอนอัดรวมกันบนรถบรรทุกจีเอ็มซีราวกับพวกเขามิใช่มนุษย์ ด้วยสีหน้าของตัวละครที่กำลังร้องไห้ครวญครางอย่างทุกข์ทรมานที่ถ่ายทอดออกมาผ่านเทคนิคการนำเสนอภาพแบบมุมกล้องระยะใกล้ (Close up) กับใบหน้าของตัวละครที่แนบอยู่บนแผ่นหลังของเพื่อนผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกันตลอดทั้งเรื่อง เพื่อสร้างอารมณ์ความรู้สึกอึดอัด และเบื่อหน่ายให้กับผู้ชมตามเจตนาของผู้กำกับ
สา เล่าต่อไปว่า แม้ภาพยนตร์จะมีความยาวเพียง 8 นาทีเท่านั้น แต่เหตุการณ์ที่ปรากฏในภาพยนตร์กลับทำให้รู้สึกว่ายาวนานมาก ราวกับเป็นชั่วโมง ซึ่งนับว่าเป็นการสื่อสารที่ช่วยทำให้เกิดความรู้สึกเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจเหยื่อจากเหตุการณ์ตากใบได้อย่างลึกซึ้ง สา เกิดความรู้สึกหดหู่ สงสาร ปะปนไปด้วยความโกรธกับการกระทำของรัฐที่ทำร้ายประชาชน โดยคิดว่าหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับตนเอง หรือคนรอบข้างบ้าง ก็คงรู้สึกสะเทือนใจเหมือนกัน
นอกจากการดูนิทรรศการและชมภาพยนตร์ สายังมีโอกาสสนทนากับก๊ะมะ หรือ พี่มะ (คำว่า ก๊ะ ในภาษาถิ่นภาคใต้ แปลว่า พี่สาว) หญิงมุสลิมชาวนราธิวาส ซึ่งเป็นผู้เก็บข้อมูลภาคสนามให้กับนิทรรศการ และหนังสือ “ลิ้มรสความทรงจำ: ตากใบ 2547” ระบุด้วยน้ำเสียงที่สั่นคลอในบางช่วงบางตอนระหว่างที่สนทนาว่า มีคนในครอบครัวของเธอสองคนที่ถูกรัฐพรากชีวิตไปในเหตุการณ์เดียวกันนี้ ระหว่างที่เล่าเรื่องนี้เสียงของก๊ะมะสั่นเครือขณะที่แววตาก็เศร้าหมองลงจนสังเกตได้
สำหรับสิ่งที่เธอค้นพบจากการเก็บข้อมูลสัมภาษณ์ครอบครัวผู้เสียชีวิตในปี 2565 ก๊ะมะเล่าว่าเธอสัมผัสได้ถึงความรู้สึกหวาดกลัวของประชาชน พวกเขาไม่กล้าให้ข้อมูลเพราะเกรงว่าจะมีทหารมาคุกคามครอบครัวของพวกเขาอีก แม้ว่าจริงๆแล้วพวกเขาจะรู้สึกอยากเล่าให้เธอฟังก็ตาม นอกจากความกลัวแล้ว บางครอบครัวก็รู้สึกไม่อยากเล่าเพราะรู้สึกว่าถึงเล่าไปก็คงไม่มีใครมารับผิดชอบกับความสูญเสียในครั้งนั้น เพราะผ่านมาแล้ว 19 ปี คดียังคงเงียบ
จนเมื่อก๊ะมะบอกกล่าวกับครอบครัวผู้เสียชีวิตว่าจะเอาข้อมูลไปทำอะไร ประกอบกับที่เธอเองเป็นคนในพื้นที่ ท้ายที่สุดครอบครัวผู้เสียชีวิตจึงยอมเล่าประสบการณ์ให้ฟังด้วยความไว้ใจ และด้วยความหวังที่ความยุติธรรมจะทำหน้าที่ของมันในวันใดในหนึ่ง ตลอดจนให้ความสูญเสียของพวกเขาเป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเฝ้าระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบที่พวกเขาต้องสูญเสียอีกในอนาคต
เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส มีจุดเริ่มต้นมาจากกรณีที่เจ้าหน้าที่จับกุมตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) จำนวนหกคนที่มาแจ้งความว่าอาวุธปืนที่รัฐแจกจ่ายให้พวกเขาถูกปล้นไป แต่ตำรวจเชื่อว่าพวกเขาแจ้งความเท็จเพราะต้องการยักยอกอาวุธของทางราชการจึงทำการควบคุมตัวทั้งหกไว้ทำการสอบสวนเป็นเวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์
ต่อมาในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 วันธรรมดาวันหนึ่งในเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม ญาติมิตรเพื่อน และประชาชนที่เห็นว่าการควบคุมตัวดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ชอบธรรม ได้มาชุมนุมที่หน้าสภ.ตากใบเพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวทั้งหก เมื่อมีคนมาร่วมชุมนุมมากขึ้นเจ้าหน้าที่พยายามเจรจาให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน แต่ไม่สำเร็จและมีคนเดินทางมาร่วมสมทบในที่ชุมนุมมากขึ้น ฝ่ายรัฐเกรงว่าผู้ชุมนุมจะบุกเข้าไปที่สภ.ตากใบ แม่ทัพภาคที่สี่จึงได้รับคำสั่ง ให้สลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา อาวุธปืน ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง และมีเจ้าหน้าที่บางส่วนถูกกล่าวหาว่าใช้กำลังทุบ ต่อย กระทืบประชาชนผู้มาชุมนุม จนเบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตทันที 7 ศพ (5 ศพถูกกระสุนปืนยิงที่ศีรษะ) ความทรงจำของบาดแผลอันแสนเจ็บปวดจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุม
นอกจากเหตุการณ์ข้างต้น ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมเพศชายอีกจำนวน 1,370 คนที่ถูกควบคุมตัว ด้วยการมัดมือไขว้หลังในสภาพเปลือยท่อนบน และถูกสั่งให้นอนคว่ำหน้าซ้อนกันอย่างแออัดบนรถบรรทุกจีเอ็มซีของทหารจำนวน 24-48 คัน เพื่อเคลื่อนย้ายจากสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 150 กิโลเมตร รถแต่ละคันต้องใช้เวลาเดินทางเฉลี่ย 5-6 ชั่วโมง ส่งผลให้ผู้ชุมนุมที่อ่อนเพลียเพราะอยู่ระหว่างการอดน้ำและอาหารในเดือนรอมฎอนเสียชีวิตระหว่างเคลื่อนย้าย 77 คน และมาเสียชีวิตที่โรงพยาบาลอีก 1 คน ซึ่งในกรณีนี้ผลชันสูตรสาเหตุการตาย พบว่า“ขาดอาหารและน้ำ ขาดอากาศหายใจ ถูกกดทับที่หน้าอก ไตวายเฉียบพลัน”
เหตุการณ์การสลายการชุมนุมตากใบกลายเป็นคดีความที่มีอายุ 20 ปี ซึ่งประชาชนผู้สูญเสียสามารถร้องทุกข์ เพื่อเอาผิดย้อนหลังกับเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดได้ แต่ทว่า จนตอนนี้ผ่านมาแล้ว 19 ปี เหลืออีก 1 ปี จะหมดอายุความ ผู้กระทำผิดยังคงไม่ได้รับโทษใดๆ ไร้วี่แวว เงียบสงัด ทิ้งไว้ซึ่งรอยแผลอันปวดร้าวที่ฝังลึกในก้นบึ้งหัวใจที่แหลกสลายของผู้ที่ได้รับผลกระทบ
เรื่องโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์
ภาพโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์ อานนท์ ชวาลาวัณย์
commonmuze
21 March 2023