Skip to main content

นิทรรศการเสื้อยืดการเมือง “Resistant with Style ลวดลายแห่งการต่อต้าน” โดยพิพิธภัณฑ์สามัญชน จัดแสดงระหว่างวันที่ 19 - 23 ตุลาคม 2567 ที่ เดอะฟอร์ท ซอยสุขุมวิท 51

นิทรรศการที่เชิญชวนทุกคนมาชมดีไซน์บนเสื้อยืดการเมืองซึ่งเป็นของสะสมของพิพิธภัณฑ์สามัญชน โดยแต่ละลวดลายของเสื้อยืดที่นำมาจัดแสดงเป็นผลงานสร้างสรรค์โดยนักออกแบบในกลุ่มองค์การภาคประชาสังคม ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และประชาชนทั่วไปที่ต้องการแสดงจุดยืน การรณรงค์และข้อเรียกร้องทางการเมืองผ่านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ตั้งแต่ยุคการชุมนุมกปปส. คนเสื้อแดง และการชุมนุมของเยาวชนตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา รวมไปถึงเสื้อยืดการเมืองเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในสามจังหวัดภาคใต้

เสื้อยืดที่นำมาจัดแสดงนอกจากเราจะได้เห็นลวดลายการออกแบบแล้ว ยังทำให้เราจะเห็นถึงพลวัตการออกแบบ ทัศนคติหรือแนวคิด ความรู้สึกเบื้องหลังของผู้คนในแต่ละยุคสมัยด้วย

นิทรรศการจัดแสดงอยู่บนชั้นสี่ของอาคารเดอะฟอร์ท โดยจะมีโต๊ะลงทะเบียนต้อนรับอยู่ที่ชั้นสามรวมถึงโซนจำหน่ายของที่ระลึก เช่น เสื้อยืด สติ๊กเกอร์จากทั้งทางพิพิธภัณฑ์ฯและไอลอว์ สำหรับผู้ที่สนใจอยากสนับสนุนงานของเรา ซึ่งหากผู้อ่านท่านใดสนใจก็สามารถแวะไปดูสินค้าของเราได้ทางเพจเฟสบุ๊คของพิพิธภัณฑ์สามัญชน

เมื่อเดินเข้ามาในห้องนิทรรศการชั้นสี่ เราก็จะพบกับเสื้อยืดการเมืองที่จัดแสดงด้วยการแขวนห้อยอยู่ด้านบนของเพดานห้อง ซึ่งไม้แขวนเสื้อแต่ละตัวจะเกี่ยวอยู่กับโซ่แต่ละเส้นที่ห้อยลงมา รวมเสื้อที่นำมาจัดแสดงทั้งหมด 60 ตัว จัดแสดงโดยแขวนกับโซ่เส้นละสองตัว

มุมจัดแสดงหลักจะเป็นเสื้อยืดการเมือง Editor picks ซึ่งเราได้รับเกียรติจากสมาชิกวุฒิสภา 2567 (สว.) บัส เทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภาจากกลุ่มสื่อมวลชน อดีตผู้สื่อข่าวประชาไทมาช่วยคัดเลือกเสื้อยืดการเมืองที่เป็นภาพแทนของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองสำคัญในมุมมองของเขา ในฐานะนักข่าว นักกิจกรรมทางการเมือง และผู้ที่ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองมาอย่างยาวนาน โดยเสื้อยืดกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สว. บัส คัดเลือกนั้น ได้แก่

เสื้อยืดกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เช่น เสื้อที่เป็นภาพของสนธิ ลิ้มทองกุล, เสื้อยืดโลโก้กลุ่มพันธมิตรพร้อมข้อความ we love the king, 
เสื้อยืดกลุ่มกปปส. เช่น เสื้อคัดค้านพรบ.นิรโทษกรรม  และเสื้อกำนันสุเทพ
เสื้อยืดกลุ่มคนเสื้อแดง เช่น เสื้อ Thai say no, เสื้อยืดโค่นอำมาตย์ ทรราช
และเสื้อยืดกลุ่มคณะราษฏร 63 เช่น เสื้อยืดรูปหมุดคณะราษฏร และเสื้อยืดรูปเป็ดกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่สว.บัสได้คัดเลือกมาเป็นภาพแทน โดยรายละเอียดเหตุผลที่เลือกเสื้อยืดที่เป็นภาพแทนของแต่ละกลุ่มเคลื่อนไหวจะระบุไว้อยู่ในคำอธิบายของนิทรรศการ

อีกมุมจัดแสดงหลักจะเป็นเนื้อหาไอเดียการออกแบบเสื้อยืดรณรงค์ของกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมอย่าง องค์กร ilaw, shirtpaganda และ Insouth ที่ผู้ชมจะได้เห็นถึงการออกแบบและข้อความบนเสื้อที่อาจให้อารมณ์ความรู้สึกที่ต่างจากเสื้อขบวนการเคลื่อนไหวทั่วไป เพราะเสื้อยืดรณรงค์ส่วนใหญ่มักจะเน้นการใช้คำที่เรียกร้องให้เกิดการลงมือกระทำ (action) บางอย่าง เช่น เสื้อ อาสาจับตาเลือกตั้ง  เสื้อเขียนใหม่ทั้งฉบับเลือกตั้ง 100 % ฝีมือการออกแบบโดยฟ้าไอลอว์ นอกจากนั้นยังรวมไปถึงเสื้อที่ต้องการจะสื่อถึงการระลึกถึงเหตุการณ์ หรือข้อความชวนตั้งคำถาม เช่น เสื้อ Do you hear the people sing ที่ออกแบบโดยสร หรือชื่อที่คนทั่วไปเรียกว่า หมวย เจ้าของแบรนด์ shirtpaganda

ไปจนถึงเสื้อยืดจากเครือข่าย insouth กลุ่มที่ทำงานสื่อสารประเด็นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เช่น เสื้อยืด Takbai ที่ตั้งใจสื่อสารถึงเหตุการณ์ความรุนแรงคดีตากใบ ออกแบบโดย ฮาบีบ กูนา จากกลุ่ม insouth

เสื้อยืดผลงานการออกแบบของนักออกแบบข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างเสื้อที่เรารู้สึกสนใจในแง่ของลวดลายการดีไซน์และในฐานะเสื้อที่เคยถูกใช้ในแคมเปญที่ประชาชนมีส่วนร่วมหรือมีผู้ซื้อมาสวมใส่ตามโอกาสต่างๆ โดยทางพิพิธภัณฑ์สามัญชนได้ชวนนักออกแบบทั้งสามคนมาร่วมพูดคุยแชร์ไอเดียการออกแบบเสื้อในวันเปิดตัวนิทรรศการด้วย ผู้อ่านทุกท่านสามารถตามไปอ่านเนื้อหา เก็บตกเสวนา: ออกแบบ แบบใดห์ให้แคมเปญปังและมีพลังได้ที่นี่ (คลิก)

ในระหว่างเดินชมนิทรรศการ ผู้ชมจะได้รับสติ๊กเกอร์เพื่อนำไปแปะบนแท็กของเสื้อยืดจัดแสดงที่รู้สึกชื่นชอบเป็นพิเศษด้วย จากนั้นหลังชมนิทรรศการจบ เราก็มีบอร์ดสำหรับให้ผู้ชมได้ร่วมเขียนโพสอิทตอบคำถามเกี่ยวกับเสื้อที่ผู้ชมเคยพบเห็นมาก่อนในนิทรรศการนี้  

นอกจากเดินชมเสื้อยืดลวดลายต่างๆที่เรานำมาจัดแสดงแล้ว  ภายในนิทรรศการก็มีอีกกิจกรรมเชิญผู้ชมมาร่วมสนุกด้วยมุมโต๊ะออกแบบพร้อมปากกาเมจิ สีเทียนที่ชวนผู้ชมมาลองออกแบบเสื้อยืดการเมืองที่ใช่ของตัวเอง ซึ่งเป็นมุมที่เราต้องการเป็นมุมผ่อนคลาย หรือมุมที่อนุญาตให้ทุกคนได้ปลดปล่อยอารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์ผ่านอุปกรณ์ศิลปะที่ทีมงานของเราได้เตรียมไว้ให้

สุดท้าย นิทรรศการนี้เกิดขึ้นได้ พิพิธภัณฑ์สามัญชนต้องขอขอบคุณเดอะฟอร์ทที่ร่วมจัดงานกับเราในครั้งนี้ รวมไปถึงวิทยากรนักออกแบบ ทีมงานและผู้เข้าชมทุกท่านที่สละเวลามาเดินชมนิทรรศการ Resistant with Style ที่จบไปแล้วระหว่างวันที่ 19 -23 ตุลาคม 2567 สำหรับกิจกรรมถัดไปจะเป็นอะไร โปรดติดตามเราได้ทางเพจเฟสบุ๊คของพิพิธภัณฑ์สามัญชน

เรื่องโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์
ภาพโดย อานนท์ ชวาลาวัลย์ และวริศรา สาอุบล