Skip to main content

5 กันยายน 2567 เวลา 10.45- 12.00 น. มูลนิธิผสานวัฒนธรรมธรรม ร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (UNOHCHR) Border Voices, ALTSEAN-Burma ร่วมกับ ศูนย์เนลสันแมนเดล่าเพื่อการแก้ไขความขัดแย้ง การป้องกันความรุนแรง และความมั่นคงของมนุษย์ (คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ร่วมกันจัดงาน “แล้วเธอจะปลอดภัยที่ปลายทาง: ยุติการอุ้มหาย รับมือภัยปราบปรามข้ามชาติ" ณ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพฯ ถนนวิทยุ

โดยวงเสวนาแรกมาในหัวข้อ “สถานการณ์โลกว่าด้วยการปราบปรามข้ามชาติและการบังคับสูญหาย” ซึ่งมีเนื้อหาพูดถึงสถานการณ์ทั่วโลกเกี่ยวกับกรณีการบังคับสูญหาย กับมาตราการในการคุ้มครองและรับมือทางกฏหมายหรืออนุสัญญาสากลของสหประชาชาติที่เข้ามามีบทบาทต่อประเทศต่างๆทั่วโลก รวมถึงประเด็นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย และข้อเสนอแนะแนวทางเยียวยาเหยื่อในรูปแบบของการค้นหาความจริงซึ่งเป็นวิธีเยียวยาที่ตอบโจทย์ได้ดีกว่าการให้เงิน

ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ รศ.ดร.กษิร ชีพเป็นสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา และอดีตคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ, ฟิล โรเบิร์ตสัน ผู้อำนวยการ Asia Human Rights and Labour Advocates, พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และผู้ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อ ผู้แทนครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ โดยมี ผศ.ดร.ภาณุภัทร จิตเที่ยง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

ฟีล โรเบิร์ตสัน: การปราบปรามข้ามชาติทั่วโลก กับปรากฏการณ์ Kindergarten Syndrome

ฟีล โรเบิร์ตสัน ผู้อำนวยการ Asia Human Rights and Labour Advocates เริ่มต้นเกริ่นถึงสถานการณ์การปราบปรามข้ามชาติ (Transnational Repression) ที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆทั่วโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่สถานการณ์การปราบปรามข้ามชาติเกิดขึ้นสูงกว่าภูมิภาคอื่น อีกทั้งยังมีการร่วมมือกันระหว่างประเทศอย่างเป็นระบบ ซึ่งสำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถานการณ์การอุ้มหายก็ถือว่าน่าเป็นห่วงมากโดยเฉพาะในประเทศไทย และกัมพูชา

ฟีล โรเบิร์ตสัน ยกตัวอย่าง กรณีวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่แม้ว่าสหประชาชาติ (UN) ได้ส่งจดหมายแสดงความกังวลไปยังรัฐบาลไทย แต่ทั้งรัฐบาลไทยและกัมพูชากลับปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ทั้งที่มีหลักฐานภาพสุดท้ายของวันเฉลิมที่เผยแพร่ต่อสาธารณะพบว่าวันเฉลิมถูกจับขึ้นรถก่อนหายตัวไปซึ่งปรากฏผ่านกล้องวงจรปิดบริเวณที่เกิดเหตุในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เป็นการโยนเผือกร้อนให้กับอีกฝ่ายไปมา สร้างความยากลำบากในการตามหาความยุติธรรมของครอบครัวยิ่งขึ้นไปอีก

ฟีล โรเบิร์ตสัน เล่าต่อไปว่าถึงข้อสังเกตอีกอย่างที่พบว่าในหลายกรณีที่เกิดขึ้นเป็นผลลัพธ์จากอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจอย่างเช่น จีน รัสเซียที่ก็เคยมีการใช้วิธีการปราบปรามข้ามชาติเช่นกันก่อนที่ประเทศอื่นจะนำมาใช้ตาม หรือที่เรียกว่าปรากฏการณ์ Kindergarten syndrome ที่อธิบายว่าด้วยการเปรียบเทียบประเทศกับเด็กอนุบาลในห้องหนึ่ง เมื่อเด็กคนใดเป็นไข้หวัด เด็กคนอื่นก็จะติดไข้หวัดตามกันไปด้วย ซึ่งในที่นี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเมื่อมีการปราบปรามข้ามชาติเกิดขึ้นกับประเทศใดก็ตามจะสังเกตได้ว่ารัฐบาลของประเทศนั้นมักจะเอาตัวรอดหรือปัดความรับผิดชอบได้เสมอ

อังคณา นีละไพจิตร: วัฒนธรรมลอยนวล และข้อเสนอแนวทางปฏิบัติถึงรัฐบาล

อังคณา สมาชิกวุฒิสภา และอดีตคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตรผู้ถูกบังคับสูญหายได้ชี้ให้เห็นว่าคดีคนหายตามหลักสหประชาชาติถือว่าเป็นคดีที่ไม่มีอายุความจนกว่าจะทราบชะตากรรมของบุคคล สำหรับนิยามของการอุ้มหายมีสามประเด็นหลักว่า 1.การอุ้มหายเป็นเหตุการณ์ที่จำกัดเสรีภาพบุคคล 2.เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนรู้เห็น 3.เจ้าหน้าที่รัฐมีการปฏิเสธความรับผิดชอบ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความพยายามปกปิดชะตากรรมของเหยื่อด้วย

อังคณา กล่าวต่อไปว่าการที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยมารับผิดชอบส่วนหนึ่งเพราะเจ้าหน้าที่รัฐมักมีการแต่งกายนอกเครื่องแบบขณะก่อเหตุซึ่งเอื้อให้เกิดการลอยนวล ประกอบกับตัวอย่างในหลายประเทศ กรณีการโยกย้ายข้ามถิ่นของผู้ลี้ภัยเม็กซิโก ผู้ลี้ภัยยูเครนจำนวนมากที่ไม่ได้รับความปลอดภัยหรือเผชิญกับการค้ามนุษย์โดยพบว่าประเทศต่างๆ มีการร่วมมือกันลักพาตัวบุคคลออกนอกประเทศไปโดยไม่ได้กลับมา ซึ่งจากประสบการณ์ทำงานของเธอในฐานะคณะทำงานฯ พบว่าเป็นกรณีดังกล่าวขัดต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment - CAT)มาตรา 3 ที่ระบุว่ารัฐต้องไม่ส่งไปประเทศอื่น ซึ่งการที่รัฐมีการนำตัวส่งคนไปประเทศอื่นโดยไม่เคยผ่านศาลภายใน 24 ชั่วโมงนั้นถือเป็นการกระทำที่อันตรายมาก ขณะที่สถานการณ์การสูญหายข้ามพรมแดนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

อังคณากล่าวต่อไปว่าปฏิบัติการจำกัดหรือปราบปรามเสรีภาพของบุคคลโดยรัฐมักจะอ้างในนามของ “ความมั่นคงแห่งชาติ” หรือ “การปราบปรามก่อการร้าย” แต่รัฐกลับไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดอะไรขึ้นและนำมาสู่วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดส่งผลให้เหยื่อถูกปฏิเสธการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ นิยามคำว่า “เหยื่อ”นอกจากจะหมายถึงผู้ถูกบังคับสูญหายแล้วยังหมายรวมถึงคนในครอบครัว หรือญาติด้วย

อังคณาเสนอแนวทางปฏิบัติของรัฐบาลที่กลุ่มคณะทำงานฯพยายามผลักดันมาโดยตลอดว่ารัฐควรให้ความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ญาติควรจะต้องรู้ว่าบุคคลที่สูญหายถูกนำตัวไปที่ไหน นอกจากนั้น รัฐจะต้องให้ความปลอดภัยกับครอบครัว ไม่ให้ถูกข่มขู่หรือคุกคาม และรัฐจะต้องยุติการปฏิบัติการทำให้บุคคลสูญหายโดยอ้างนามของความมั่นคงแห่งชาติและการปราบปรามก่อการร้าย และที่สำคัญคือการรับฟังเสียงของเหยื่อ เธอระบุว่าปฏิญญา หรืออนุสัญญาใดก็ตามที่เกิดขึ้นนั้นสร้างคุณูปการต่อทั่วโลกได้เพราะกรณีศึกษาของเหยื่อหลายประเทศ ดังนั้นการให้เหยื่อได้มีพื้นที่ส่งเสียงของตนเองได้ดังมากขึ้นถือเป็นการส่งกำลังใจที่ดีที่สังคมช่วยทำได้

กษิร: ภาพรวมอนุสัญญาที่เกี่ยวกับการกดปราบข้ามชาติ และอาชญากรรมโดยรัฐ

กษิร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอธิบายถึงการกดปราบข้ามชาติ (Transnational Repression) หรือการทำให้สูญหายว่าเป็นการกระทำที่มีเจตนาทำให้สังคมเกิดความหวาดกลัว แม้สหประชาชาติกำหนดให้แต่ละประเทศมีการให้สัตยาบันอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment - CAT) และ การให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance : CPED) เพื่อให้แต่ละประเทศนำไปบัญญัติหรือกำหนดข้อกฏหมายของตนเอง  ซึ่งประเทศไทยก็ได้ลงนามให้สัตยาบันทั้งสองอนุสัญญาดังกล่าวด้วย แต่ทว่าในทางปฏิบัติก็ประเทศไทยก็ยังไม่มีการกำหนดมาตรการทางกฏหมายคุ้มครองในประเทศอย่างจริงจัง

กษิรกล่าวต่อไปว่าบทบัญญัติทางกฏหมายเกี่ยวกับการบังคับสูญหายข้ามพรมแดนที่มีอยู่ในประเทศก็ไม่ค่อยมีบทบาทมากนัก รวมถึงไม่มีกระบวนการตรวจสอบ โดยเฉพาะในการคุ้มครองเหยื่อที่เป็นชนกลุ่มน้อย (Minorities) แม้ว่ารัฐจะให้สัตยาบันกับอนุสัญญาดังกล่าวแล้ว เช่น ประเทศไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม

กษิรกล่าวต่อไปว่าอีกประเด็นที่น่ากังวลคือสถานการณ์การกดปราบ หรือการบังคับสูญหายกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันที่ผู้คนกลับรู้สึก harmless หรือรู้สึกว่าอาจไม่เกิดอันตรายและให้ความสนใจน้อย ส่วนใหญ่ผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายที่รัฐจะติดตามหรือสังเกตการณ์หลายครั้งก็เป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยการกดปราบหรือการบังคับสูญหายถือว่าเป็นอาชญากรรมที่มีความผูกโยงกับความมั่นคงของรัฐ

พรเพ็ญ: การบังคับสูญหายในรูปแบบต่างๆ และความคืบหน้าที่มีอยู่เท่าเดิม

พรเพ็ญ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเล่าข้อมูลจากมุมในฐานะภาคประชาสังคมและทนายความถึงสถานการณ์บังคับสูญหายพบว่ามีหลากหลายรูปแบบตั้งแต่อดีต เช่น การปราบคอมมิวนิสต์ การปราบปรามยาเสพติด การปราบปรามผู้ลี้ภัย การได้รับเชิญไปดื่มน้ำชากับเจ้าหน้าที่รัฐโดยไม่ได้กลับมาอีกเลย

พรเพ็ญระบุว่าสำหรับบังคับสูญหายในรูปแบบกรณีการอุ้มหายนั้นหมายความว่ามีการซ่อนศพสำเร็จซึ่งหลายกรณีตัวบุคคลก็ถูกทำให้หายไประหว่างการเดินทาง หรือหายไปพร้อมกับยานพาหนะ  เช่น  กรณีของวันเฉลิม และกรณีของบิลลี่ แกนนำชุมชนกระเหรี่ยง หมู่บ้านบางกลอย ที่พบว่าหากใครในชุมชนต้องการเดินทางออกจากพื้นที่ก็จะต้องผ่านเส้นทางที่มีด่านเจ้าหน้าที่อุทยานเฝ้าอยู่ แต่เจ้าหน้าที่อุทยานไม่ได้ให้คำตอบหรือข้อมูลเกี่ยวกับบิลลี่ในวันที่เขาหายตัวไปซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดสังเกตและชี้ให้เห็นว่ากรณีการหายตัวไประหว่างการเดินทางเป็นคดีที่ยากต่อการจัดการและค้นหา

พรเพ็ญเล่าต่อไปว่า ข้อสังเกตที่พบคือไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน การรับรู้ของผู้คนในสังคมก็ยังคงเท่าเดิม ไม่ได้พบข้อมูลใหม่ที่จะช่วยให้คดีมีความคืบหน้าเลย อีกทั้งเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่เปิดโอกาสให้ญาติรับรู้ด้วยว่าผู้ถูกบังคับสูญหายถูกนำตัวไปอยู่ที่ไหน  ทั้งนี้ พรเพ็ญเสนอด้วยว่าในขั้นตอนของการตรวจสอบค้นหาในประเทศไทยอาจยังขาดบุคคลากรที่มีทักษะหลายด้าน เช่น ในการขุดศพกรณีตัวอย่างเหตุการณ์ถีบลงเขาเผาลงถังแดงที่การค้นหาต้องใช้ผู้ที่มีทักษะความรู้ด้านมานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้พิพากษา และศาลที่มีความสามารถช่วยคลี่คลายคดีได้  

อย่างไรก็ตาม พรเพ็ญกล่าวต่อไปว่าหลักฐานอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากเช่นกันคือบันทึกเรื่องราวของผู้สูญหาย รวมไปถึงการจดบันทึกเรื่องราวและความรู้สึกของญาติผู้สูญหายเช่น บันทึกของเจน พี่สาวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ก็เป็นประโยชน์ต่อคดีและการรับรู้ของสังคม

เมื่อบ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย และการเยียวยาที่ดีกว่าการให้เงิน

ผู้ร่วมเสวนา ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อ หนึ่งในครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เล่าถึงประสบการณ์กรณีการถูกบังคับสูญหายในพื้นที่ภาคใต้ที่เกิดขึ้นเหมือนกัน เช่น จังหวัดนราธิวาส ที่พบว่าบางทีคนทำงานด้านอาสาสมัครก็ถูกเชิญไปดื่มน้ำชากับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือที่เรียกว่าเป็นการชวนไปพูดคุยซึ่งคนที่ไปร่วมมักจะไม่ได้กลับมาอีก และถ้าหากผู้ถูกเชิญปฏิเสธไม่ไปเข้าร่วม เจ้าหน้าที่ก็จะตามมาหาถึงที่ทำงาน เธอเล่าว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทำให้คนในชุมชนรู้สึกไม่ปลอดภัยโดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนใต้ที่มีการบังคับใช้ทั้งกฏอัยการศึก  พรก.ฉุกเฉิน และพรบ. ความมั่นคง

ผู้ร่วมเสวนา เล่าอีกว่าบางทีเจ้าหน้าที่ก็มีการข่มขู่ญาติ หรือญาติบางคนเคยถูกซ้อม ถูกจับไปทรมานจนทำให้รู้สึกว่าพื้นที่บ้านไม่ปลอดภัย แม้เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะมีพยานพบเห็นแต่พวกเขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้มาก ผู้คนจึงคิดว่าการหนีออกจากพื้นที่น่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า อีกทั้งรัฐไทยเองก็ไม่ได้ช่วย หรือไม่ได้พยายามค้นหาความจริง แต่พยายามจะลบข้อมูลด้วยซ้ำ เช่น บังคับให้ครอบครัวผู้สูญหายถอนชื่อผู้สูญหายออกจากกลไกสหประชาชาติ (The United Nations - UN) ซึ่งบางคนก็ไม่ทราบว่าจะมีผลอย่างไรหากถอนทุกวันนี้ก็ยังคงมีการจับกุมระหว่างเดินทางที่เกิดขึ้นเมื่อสองเดือนที่แล้ว (คาดว่าเดือน ก.ค. 2567) มีพยานพบเห็น แต่ไม่ทราบว่าถูกจับไปที่ไหน

ผู้ร่วมเสวนา กล่าวทิ้งท้ายถึงประเด็นการเยียวยาที่พบว่าส่วนมากรัฐมักจะใช้วิธีการให้เงินกับเหยื่อผู้เสียหาย แต่สำหรับในมุมของเหยื่อเองมองว่าการให้เงินไม่ได้ช่วยเยียวยา สิ่งที่ช่วยเยียวยาได้อย่างตอบสนองที่สุดคือกระบวนการค้นหาความจริง และการจัดงานแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเพื่อให้รัฐและคนในสังคมหันมาตระหนักและให้ความสำคัญมากกว่านี้


เรื่องและภาพโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์