Skip to main content

“กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ” คือหนึ่งในกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาที่ก่อตัวขึ้นหลังกระแสการเคลื่อนไหวใหญ่ในปี 2563 หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยมีสมาชิกรุ่นก่อตั้งมาจากนักศึกษามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชโดยหนึ่งในนักกิจกรรมคนสำคัญของกลุ่มได้แก่ โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือ เก็ท นักศึกษาแพทย์รังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

กลุ่มโมกหลวงริมน้ำจัดกิจกรรมเรียกร้องทางการเมืองอย่างสันติในหลายประเด็น เช่น การต่อต้านรัฐประหาร การเรียกร้องประชาธิปไตย ผู้ลี้ภัยและการยุติการบังคับสูญหาย การเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง และการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

ระหว่างทาง สมาชิกในกลุ่มต้องเผชิญกับการติดตามและคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเก็ทซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกคนสำคัญก็ถูกคุมขังเพราะถูกดำเนินคดีมาตรา 112  อย่างไรก็ตาม สมาชิกกลุ่มที่เหลือก็ยังคงตั้งใจที่จะเดินหน้าเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยต่อไปรวมถึงเรียกร้องอิสรภาพและส่งกำลังใจให้คนที่ถูกคุมขังเพราะการแสดงออกทางการเมือง

ก่อร่างสร้างกลุ่ม

ไนซ์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มโมกหลวงเล่าถึงที่มาที่ไปของการก่อตั้งกลุ่มว่า โสภณ หรือ เก็ท หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มมีความหวังอยากจะเห็นสังคมไทยที่ดีกว่าเดิม ในช่วงเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ช่วงปี 2563 เก็ทเข้าไปร่วมกิจกรรมกับกลุ่มการ์ดอาสาวีโว่ (We Volunteer) ที่มีบทบาทในการดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุม

ต่อมาเมื่อสถานการณ์การละเมิดสิทธิต่อผู้เรียกร้องทางการเมืองทวีความรุนแรงมากขึ้น เก็ทและเพื่อนจากมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชตระหนักว่าบทบาทของนักศึกษามิได้จำกัดอยู่เพียงการศึกษาเล่าเรียน แต่พวกเขายังเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและประเทศ จึงได้รวมตัวพูดคุยกันเรื่องการตั้งกลุ่มแพทย์พยาบาลอาสา เพื่อสนับสนุนด้านการแพทย์ให้กลุ่มผู้ชุมนุม


“เพื่อนที่เป็นกลุ่มนักศึกษาแพทย์ชวนกันทำหน่วยแพทย์ DNA ร่วมกับพยาบาลอาสาให้ผู้ชุมนุม แล้วต่อมาเขาก็เริ่มอยากจะเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะเรื่องของการเรียกร้องสวัสดิการขั้นพื้นฐานของนักศึกษา เรื่องเสรีภาพการแต่งกาย การแสดงออกตามเพศสภาพ รวมถึงเรียกร้องให้ลดค่าเทอมเพื่อลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจให้กับนักศึกษาในช่วงที่โควิด19 กำลังระบาด ซึ่งช่วงแรกก็จะเป็นเรื่องราวภายในมหาลัยเรื่องสิทธินักศึกษา สุดท้ายเลยมีการตั้งกลุ่มโมกหลวงริมน้ำขึ้นมา” 


สำหรับชื่อ "โมกหลวงริมน้ำ" ขึ้น ไนซ์ระบุว่า ชื่อ “โมกหลวง” มาจากต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นอันแสดงถึงความมั่นคงของอุดมการณ์ของนักศึกษา สรรพคุณเป็นยาและกลิ่นหอมขจรไกลของต้นไม้ชนิดนี้ทำให้พวกเขาอุปมาอุปไมยกับนักศึกษาจากหลายสาขาที่ล้วนมีศักยภาพที่หลากหลาย และเชื่อว่าบัณฑิตเมื่อสำเร็จการศึกษาย่อมไปประกอบอาชีพที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมได้กว้างขวาง ดังเช่นกลิ่นหอมฟุ้งของดอกโมกหลวง


โลโก้กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ

ด้วยภูมิสถานของสถานศึกษาที่พวกเขาเล่าเรียนติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา พวกเขาจึงนำคำว่า “ริมน้ำ" มาต่อท้ายชื่อกลุ่ม เปรียบสายน้ำเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตและเป็นสายธารเชื่อมโยงกับสังคม 
นอกจากนั้น พวกเขายังให้ความสำคัญกับอิสระทางความคิด โดยสะท้อนผ่านโลโก้รูปขนนกสีขาวอยู่ที่ก้านดอกโมกหลวง เพื่อสื่อว่านักศึกษามีอิสระทางความคิด เคารพการเห็นต่างให้ความสำคัญกับพูดคุยหาทางออก และการพัฒนาสังคมบนพื้นฐานของความเท่าเทียมและยุติธรรม


กลุ่ม “โมกหลวงริมน้ำ” ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 สิงหาคม 2563 

ก้าวข้ามรั้วมหา’ ลัยสู่กิจกรรม “เดินชมวัง” 


ไนซ์เล่าต่อไปว่า ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด19 กลุ่มโมกหลวงตั้งคำถามต่อรัฐบาลเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือประชาชน ที่อุปกรณ์การแพทย์ขาดแคลนในหลายพื้นที่จนส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิตเพราะไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่จำเป็นได้ ซึ่งทางกลุ่มเห็นว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวเกิดจากงบประมาณด้านสาธารณสุขที่ไม่สอดคล้องต่อการตอบสนองกับภาวะวิกฤติ ทางกลุ่มเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณของประเทศ จนท้ายที่สุดก็เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับงบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์


ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวกลุ่มโมกหลวงจัดกิจกรรม “เดินชมวัง” เมื่อ 13 สิงหาคม 2564 ซึ่งทางกลุ่มจะไปเดินเท้าบริเวณหน้ากำแพงพระบรมมหาราชวัง โดยจะเดินแบบรักษาระยะห่างเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด19 และข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  ทว่าระหว่างที่พวกเขากำลังวางพวงหรีดไว้อาลัยผู้เสียชีวิตและเตรียมอ่านจดหมายเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็มีตำรวจจากสน.พระราชวังเข้ามาจับกุมพวกเขาพร้อมกับแจ้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ และข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องห้ามชุมนุมมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงความผิดเกี่ยวกับการขัดขวางการปฏิบัติงานของหน้าที่เนื่องจากพวกเขาปฏิเสธที่จะแสดงบัตรประชาชนให้เจ้าหน้าที่ดู

ไนซ์เล่าต่อว่า หลังจากตำรวจคุมตัวพวกเขาไปที่สน. ตำรวจมีความพยายามที่จะขอให้พวกเขาลบคลิปถ่ายทอดสดกิจกรรมทั้งหมด หากยอมลบทางตำรวจจะแจ้งความผิดตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ เพียงข้อหาเดียว เนื่องจากเก็ท หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มมีภารกิจต้องปราศรัยในการชุมนุมอื่นต่อ พวกเขาจึงยอมลบคลิปและจ่ายปรับตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ 1 หมื่นบาท เพื่อที่จะได้รีบออกจากสถานีตำรวจ หลังออกมาได้พวกเขาพยายามทำกิจกรรมให้ลุล่วง ด้วยการเดินทางไปอ่านจดหมายเปิดผนึกและถ่ายทอดสดบริเวณสำนักงานองคมนตรีและอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่ก็ถูกตำรวจติดตามและสกัดกั้น ต่อกรณีนี้เก็ทที่เข้าร่วมกิจกรรมด้วยเคยให้สัมภาษณ์กับประชาไทเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 เกี่ยวกรณีที่เขาและเพื่อนถูกติดตามสกัดกั้นในการทำกิจกรรมครั้งนั้นว่า


“เวลาเราทำงาน จะมีการประเมินความเสี่ยงตลอด เรารู้สึกว่าการเดินถือพวงหรีดรอบวังรอบเดียวแล้วยื่นหนังสือมันสันติวิธีมากเลย ถ้ามาตรฐานของคำว่าความมั่นคงมันเป็นแบบสากล พวกเราน่าจะไม่โดนจับ ไม่โดนหมายอะไร”

“แต่ก็ตามคาดประเทศนี้ไม่มีความปลอดภัยขนาดนั้นอีกต่อไปแล้ว เขารักษาความปลอดภัยกับบางสิ่ง แต่ไม่ให้ความปลอดภัยกับประชาชนเลย” https://prachatai.com/journal/2021/08/94456

จิกกัด สร้างสรรค์ เผ็ดมันส์ คือสันติวิธีสไตล์โมกหลวงริมน้ำ


หลังการประท้วงใหญ่ในปี 2563 และ 2564 สถานการณ์ทางการเมืองดูไม่มีความหวัง กลุ่มโมกหลวงฯก็เคลื่อนไหวเข้มข้นขึ้น


13 สิงหาคม 2566 กลุ่มโมกหลวงริมน้ำนัดชุมนุมแบบคาร์ม็อบโดยใช้ชื่อว่า “เราจะไปไล่หนูท่อ! หมอเก๊! พ่อค้ากัญชาเถื่อน! แล้วไปดัดสันหลังเพื่อนรว๊ากส์ ที่หักเหลี่ยมกันหน้าด้านๆ” ซึ่งเป็นกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการสวมเสื้อเหลือง-แดง ขี่รถจักรยานนำหน้าขบวนคาร์ม็อบมุ่งหน้าสู่พรรคภูมิใจไทย มีการทิ้งใบปลิวรายละเอียดผู้เสียชีวิตจากการบริหารสถานการณ์โควิดเข้าไปในพรรคภูมิใจไทย สาธิตวิธีการทำกัญชาพันลำด้วยการใช้ “ขี้แมว” ห่อกระดาษแทนกัญชาจริง จากนั้นจุดไฟแล้วปาผ่านประตูเข้าไป ก่อนจะปากาวดักหนูใส่ป้ายพรรคภูมิใจไทย แล้วประกาศเคลื่อนขบวนต่อไปยังพรรคเพื่อไทยที่เคยกล่าวถึงการปิดสวิตช์ 3 ป. และแคมเปญ “ไล่หนู ตีงูเห่า” ที่ใช้เป็นเทคนิคการหาเสียง 

ภาพจากเพจเฟสบุ๊ก: โมกหลวงริมน้ำ


กิจกรรมในครั้งนั้นทางกลุ่มต้องการสื่อสารให้พรรคการเมืองทำตามเสียงประชาชนอย่างแท้จริง แต่ด้วยเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญระบุว่าให้ ส.ว. สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ทั้งที่ สว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง พวกเขาจึงมาแสดงจุดยืนว่า ส.ว.ไม่ควรโหวตสวนประชามติประชาชน

ภาพจาก The Standard

“เราว่าการเอาขี้แมวมาเป็นสัญลักษณ์แทนกัญชาก็ครีเอทดีนะ แต่ว่าผลลัพธ์ก็คือทางพรรคเขาก็ไม่ได้ออกมาเทคแอคชั่นอะไรกับสิ่งที่เราเสนอไป คือตอนนั้นเราเสนอกันไปว่าคุณจะต้องชัดเจนกับประชาชนนะ ต้องไม่ตระบัดสัตย์ มันเป็นเพียงการเตือนสติแต่อย่างน้อยพวกเราก็ได้ action ถูกไหม” ไนซ์เล่าย้อนผลลัพธ์กิจกรรมในวันนั้น และเล่าต่อถึงบทบาทการสรรค์สร้างกิจกรรมเคลื่อนไหวหลายรูปแบบ เพื่อหวังให้ก้าวเข้าใกล้สังคมแห่งความยุติธรรมที่ทางกลุ่มคาดหวัง"


ภาพจาก The Standard

“บทบาทที่มันพีคสุดส่วนใหญ่มันจะเป็นงานที่เราทำร่วมกันกับหลายกลุ่ม โดยเฉพาะช่วงเลือกตั้ง 2566 อย่างเช่นกิจกรรมปักหลักข้างสภาเมื่อวันที่13 ก.ค. 2566) เพื่อจับตา ส.ว.โหวตนายกฯ แล้วก็กิจกรรมคาร์ม็อบหน้าพรรคฯ นี่แหละ ด้วยความที่เราร่วมงานกับหลายๆ องค์กร เรามารวมหัวกัน brainstorm ก็เลยทำให้การดำเนินงานมันเรียบมันง่ายขึ้น เพราะว่าเรามีคนช่วยเยอะขึ้นแล้วการประสานงานก็ดีขึ้น การกระจายข่าวก็ดีขึ้น คนก็มาเยอะคนให้ความสนใจมาก พอเป็นงานที่เราทำกันเองมันมีกันอยู่ไม่กี่หัว สมาชิกกลุ่มเราเองก็มีพื้นที่ทำกิจกรรมกับหลายกลุ่มด้วย สมาชิกบางคนก็ทำประเด็นบางกลอย มีเรื่องเฟมินิสต์ด้วย มีสมาชิกที่คอยไปเยี่ยมเพื่อนในเรือนจำแล้วเอามาสื่อสารด้วย บางคนก็ช่วยงานสื่อสารหลังบ้าน ซึ่งแต่ละคนเขาก็จะมีหน้างานงานที่มันแตกต่างกันไปบางครั้งก็มีภารกิจอื่นๆ ด้วย พอมันมาเคลื่อนไหวด้วยกันหลายกลุ่มมันก็เลยมี Power กว่า”

“มีอันหนึ่งที่เราจำได้เกี่ยวกับโมกหลวงฯ แล้วก็รู้สึกว่ามันแปลกดี ก็คือการที่เก็ททำ “ฝืนตื่นประท้วง” อันนี้ไม่รู้ที่มาที่ไปว่ามันมาได้มายังไงทำไมถึงคิดได้แบบนี้ ถ้าให้พูดคือว่าเก็ทเป็นคนเว่อร์ มันไม่อยากทำซ้ำใคร อดน้ำอดอาหารมันก็เคยทำมาแล้ว คนอื่นหลายๆ คนเขาก็ทำอยู่ เราคิดว่าเขาน่าจะไปอ่านหรืออะไรมาสักอย่างหนึ่งแหละว่าการอดอย่างนี้มันทรมานยิ่งกว่าเยอะเลย แล้วเขาอดไป 14 วัน พอออกมาจากเรือนจำรอบนั้นด้วยความที่กินคาเฟอีนเยอะทำให้เขาติด เขาออกมาคือเขาไม่สามารถบังคับตาได้ บางทีอยู่ๆ ตาเขากรอกขึ้นไปแล้วเขาไม่สามารถบังคับให้มันกลับมาเป็นปกติได้ หรือมือของเขาสั่นตลอดเวลาเขาไม่สามารถทำให้มันเป็นปกติได้ จนเขาต้องไปหาหมอไปเจาะน้ำส้นหลังอะไรไม่รู้เยอะแยะเต็มไปหมดเลย ต้องหาหมอยาวเลยก่อนที่เก็ทจะเข้าเรือนจำไปอีกรอบหนึ่งซึ่งเขาก็ยังไม่ได้หายแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วมันมีผลต่อการทำงานเขาด้านหมอรังสี”

เก็ท โสภณ ผู้ทำกิจกรรม “ฝืนตื่นประท้วง” เพื่อสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของตะวัน-แบมและเรียกร้องอิสรภาพของนักโทษการเมืองในเรือนจำ
ภาพจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
 

“เวลามีคนจะอดอาหารหรือว่าอดอะไรก็ตา เราจะห้ามเพื่อนก่อน ทุกคนจะถามว่าคิดดีแล้วใช้ไหม ให้ชั่งน้ำหนักว่ามันไม่ได้เป็นผลดีขนาดนั้น แต่เพื่อนจะบอว่าเขาอยู่ข้างใน เขาไม่เหลืออะไรแล้ว เหลือแค่ร่างกายของเขาที่จะสู้ได้แล้วเขาก็จะยืนยันที่จะทำมัน เราก็โอเคยอมรับในสิ่งนั้นแล้วก็คอยซัพพอร์ตอยู่ข้างหลัง”


“สำหรับประชาชนที่ออกมาต่อสู้ ไม่ว่าจะออกมาปี 63-64 ปี  57 หรือยุคก่อนหน้านั้น เราคิดว่าทุกคนเริ่มต้นด้วยความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง แล้วมันไม่ควรมีใครมาโดนคดี มาโดนคุกคามมาโดนทำร้ายร่างกาย แต่เราโดนคดีกันมาไม่รู้นักต่อนักแล้ว มันเสียเวลาชีวิตเสียงานเสียทุกอย่าง บางครั้งทำให้ครอบครัวเขามันแย่ไปเลย ทุกอย่างมันเปลี่ยนชีวิตเขาไปเลย มันก็กลายเป็นว่าเหี้ยแม่งไม่มีอะไรต้องเสีย นี่ก็เป็นปัญหาและอุปสรรคในการเคลื่อนไหว รวมทั้งปัญหาเรื่องทรัพยากรในการเคลื่อนไหวก็มีจำกัดอีกด้วย” 

 

“ท้อนะแต่เรายังมีความหวัง”

ประคับประคองกันในวันที่เพื่อนถูกจองจำ


“ด้วยความที่เพื่อนเราเข้าออกเรือนจำกันบ่อยครั้ง หลายๆ คนก็บอกว่าจดหมายที่ส่งเข้าไปมันเป็นกำลังใจเดียวของเขา อย่างเพื่อนที่เพิ่งออกมาก็บอกว่าบางทีจดหมายที่เราส่งไปมันไม่มาถึงเขา เขาอยากรู้ว่าจริงแล้วจดหมายที่มีคนเขียนให้เขาเขียนอะไรบ้างเพราะเขาไม่เคยได้รับ“ 


 

เสื้อกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ

”พอเราทำกิจกรรมเขียนจดหมายให้นักโทษการเมืองเราก็จะทำสำเนาไว้ด้วยเพื่อที่มันทำให้เราเก็บหลักฐานได้ว่า จดหมายทึ่คนเขียนจริงๆมีทั้งหมดเท่าไหร่ จดหมายบางส่วนพอส่งเข้าไปก็จะถูกเซ็นเซอร์ข้อความด้วยการขีดฆ่า การที่เราเก็บสำเนาก็ทำให้เจ้าของจดหมายมีโอกาสที่จะอ่านข้อความต้นฉบับที่เพื่อนตั้งใจส่งถึงพวกเขา“


ด้วยเข้าใจดีว่า "จดหมาย" เปรียบเสมือน "ยาใจ" ที่เชื่อมร้อยคนที่อยู่ "ข้างใน" กับ "ข้างนอก" เข้าด้วยกันกลุ่มโมกหลวงริมน้ำจึงหมุนเวียนกันไปเยี่ยมนักโทษการเมือง เพื่อสื่อสารส่งต่อกำลังใจ และอัปเดตสถานการณ์ความเป็นไปของโลกนอกกำแพง ในขณะเดียวกันก็สร้างระบบจัดเก็บจดหมายและสื่อสารข้อความจากเพื่อนในเรือนจำผ่านช่องทางออนไลน์ทั้ง Facebook และ Instagram เพื่อให้คนที่ไมมีโอกาสไปเยี่ยมนักโทษการเมือง รวมถึงเพื่อนๆและญาติๆที่อยู่ไกลได้มีโอกาสทราบข่าวคราวจากโลกหลังกำแพง

 

เรื่องโดย ณัฐชลี สิงสาวแห