Skip to main content

14 - 20 สิงหาคม 2567 องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ร่วมกับกลุ่มอิสระล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดนิทรรศการ ประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย “ไม่เคยเล่า” (Thammasat History Exhibition) นิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่ปี 2476 และเรื่องราวการต่อสู้ของนักศึกษาและอาจารย์ในแต่ละยุคสมัย  จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

เมื่อพูดถึง “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” นักศึกษาและบุลคลทั่วไปก็คงจะนึกถึงสองผู้ก่อตั้งอย่าง อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ และ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เนื่องจากในทุกครั้งที่มีกิจกรรมรับนักศึกษาใหม่มหาวิทยาลัยก็มักจะกล่าวถึงอาจารย์สองท่านนี้เป็นพิเศษ อีกทั้งยังถูกนำมาตั้งเป็นชื่อสถานที่ต่างๆในมหาวิทยาลัย เช่น สวนป๋วย 100 ปี หรือ หอสมุดปรีดี ฯลฯ แต่จริงๆแล้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังเป็นสถานศึกษาที่ผลิตบุคลากรอีกหลายๆคนที่มีความสำคัญต่อหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยนับจากก่อตั้งเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน (2567)

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 ซึ่งเป็นวันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปี 2567 ทางองค์การนักศึกษาเห็นว่าที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีบทบาทอย่างมากในสังคมไทยและมีเหตุการณ์การต่อสู้ทางการเมืองมากมายที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบ จึงได้จัดนิทรรศการนี้ขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยไม่เคยเล่า ให้ผู้เข้าชมได้เห็นประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์ที่ลึกขึ้น ชวนย้อนดูวิวัฒนาการการต่อสู้ทางการเมืองของธรรมศาสตร์ และ บทบาทของธรรมศาสตร์ต่อสังคมไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ภายในนิทรรศการ ผู้ชมจะพบกับโซนจัดแสดงแรกที่เป็นการเล่าประวัติของมหาวิทยาลัยโดยไล่เรียงตั้งแต่ปี 2476 ปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอ พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองต่อสภาผู้แทนราษฎรและได้สถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในปี 2477

จากนั้น จะมีมุมจัดแสดงคอลเลคชันเสื้อยืดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในรั้วธรรมศาสตร์ เช่น เสื้อยืดลายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในอดีตแกนนำนักศึกษาธรรมศาสตร์ช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งสมศักดิ์นับเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในสังคมไทยจากการวิพากษ์วิจารณ์เชิงประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยมาอย่างยาวนาน นอกจากนั้น ยังมีเสื้อยืดรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา, 14 ตุลา รวมไปถึงวัตถุจัดแสดงอื่นที่น่าสนใจ เช่น หนังสือพิมพ์เก่าที่บันทึกภาพเหตุการณ์ 14 ตุลา และภาพถ่ายของกระดานไม้ที่นักศึกษาในยุคนั้นใช้สำหรับกระจายข่าวสารบ้านเมือง

ในส่วนแรกของนิทรรศการ จะเป็นการเล่าประวัติสมัยแรกก่อตั้งที่ใช้ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” โดยมี ตึกโดม เป็นสัญลักษณ์สำคัญของมหาวิทยาลัย และยังมีการเล่าถึงเหตุการณ์สำคัญอย่าง “ วันธรรมศาสตร์สามัคคี ” ที่เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน (29 มิถุนายน 2494) ที่รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่งกำลังทหารเข้ายึด ธรรมศาสตร์ กระทั่ง เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน นักศึกษาร่วมกันเดินขบวนไปทวงคืน มธก. จากทหารได้สำเร็จ นักศึกษาจึงพร้อมใจกันถือเอาวันที่ 5 พฤศจิกายน เป็นวันคืนสู่เหย้าของชาวธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ ก็มี ภาพถ่ายม็อบครั้งแรก ที่นำโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองที่เดินขบวนแห่เรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส  และมีการทำกิจกรรมชุมนุมหน้ากระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2483   

มุมถัดมาจะเป็นเรื่องราวของอาจารย์ บุญสนอง บุณโยทยาน อดีตอาจารย์ และหัวหน้าแผนกวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ผู้ก่อตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ที่ถูกลอบยิงเสียชีวิต โดยมีเสื้อยืดจากงานรำลึก 37 ปี การจากไปของดร. บุญสนอง บุณโยทยาน และรูปภาพในงานฌาปนกิจบุญสนอง ที่วัดตรีทศเทพ เวลา 14.00 น. วันที่ 6 มีนาคม 2519 และส่วนที่สร้างความประหลาดใจให้กับผู้เข้าชมนิทรรศการอย่างมากก็คือ “รู้หรือไม่? เพลง รำวงลอยกระทง แต่งที่ธรรมศาสตร์” ชื่อมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเริ่มตั้งแต่ปี 2477 และสิ้นสุดลงในปี 2495 และเปลี่ยนชื่อมาเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พร้อมกับการยกเลิกระบบตลาดวิชา

ส่วนที่สองของนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวหลังจากเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัย ที่ถึงแม้จะลบคำว่า “การเมือง” ออกจากชื่อมหาวิทยาลัยแต่ก็ไม่ได้ทำให้จิตวิญญาณนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาคมธรรมศาสตร์หายไปเลย ในส่วนนี้จัดแสดงอยู่บริเวณกลางผนังของห้องจัดแสดง เรื่องราวในส่วนนี้ถึงจะไม่ใช่เรื่องที่นอกกระแสแต่ก็เป็นเรื่องราวที่ไม่ควรหลงลืมมัน อย่างเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 สังหารหมู่นักศึกษาธรรมศาสตร์ มีการจัดแสดงโปสเตอร์รำลึก ป้ายผ้าจำลองศพที่ถูกแขวนคอและรายชื่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ ดังกล่าว  อีกทั้งยังมีโปสเตอร์ที่ผลิตขึ้นเนื่องในงานรำลึก 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ที่จัดขึ้นเมื่อตุลาคม 2556  นอกจากนี้ ยังมีรูปทำเนียบสมาชิกสภานักศึกษา อมธ. ปี 2-3 และคณะกรรมการบริหาร อมธ. ของพรรคพลังธรรม ยูงทอง

นิทรรศการส่วนถัดมาจะเป็นการนำเสนอเหตุการณ์ที่เริ่มเข้าใกล้ยุคปัจจุบันมากยิ่งขึ้น เช่น รูปภาพของศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงหรือบทบาททางการเมือง เช่น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, อั้ม เนโกะ, และ นักวิชาการท่านอื่นๆ ฯลฯ 


เหตุการณ์สำคัญที่นำมาเล่าในส่วนนี้ คือ “คณะนิติราษฎร์” ที่ก่อตั้งโดยกลุ่ม 5 อาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่มีข้อเสนอทางวิชาการทางด้านนิติศาสตร์ต่อสังคมไทย “ข้อเสนอ 8 ข้อเพื่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” โดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ศิษย์เก่าเเละอดีตอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาเอกประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เหตุการณ์ “ชักธงดำขึ้นสู่ยอดโดม” เพื่อประท้วงท่าทีของอธิการบดี สมคิด เลิศไพฑูรย์ ที่ดูจะสนับสนุนกลุ่ม กปปส. ต้องการประท้วงถึงการที่อาจารย์บางคน แสดงออกว่าฝักใฝ่อำนาจกลุ่มทางการเมืองมากเกินไป ด้วยการแอบอ้างธรรมศาสตร์สนับสนุนม็อบของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ดังนั้นกลุ่มสภาหน้าโดมเลยได้คิดแคมเปญการประท้วงขึ้นมาเพื่อต่อต้านการกระทำของอาจารย์ท่านนี้ เป็นการเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ประท้วงด้วยการลดธงชาติ และชักธงดำขึ้นสู่ยอดโดม เพื่อเป็นการสื่อว่า ธรรมศาสตร์ได้ตายไปแล้ว 

การแปะโปสเตอร์รณรงค์ยกเลิกการบังคับใส่ชุดนักศึกษา โดย อั้ม เนโกะ ซึ่งแสดงรูปชายหญิงแต่งชุดเครื่องแบบนักศึกษาทำกริยาเหมือนกำลังร่วมรัก เนื่องจากอั้มมองว่านักศึกษาควรมีสิทธิเสรีภาพในการเลิกใส่ชุดตามความสะดวกของตนเองได้ เสื้อผ้าไม่ได้มีผลต่อการเรียนหรือการสอบ ซึ่งเป็นเหตุการณ์จุดเปลี่ยนที่ทำให้ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ยกเลิกการบังคับใส่ชุดเครื่องแบบนักศึกษาแล้ว รวมถึงมีการจัดแสดงเสื้อเปื้อนเลือดของจ่านิว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผู้ซึ่งถูกดักทำร้ายร่างกายบริเวณบ้านที่เขาพักอาศัย

เมื่อผู้ชมเดินถัดออกมาจะพบกับบริเวณผนังด้านซ้ายสุดของห้องจัดแสดง เล่าถึงเหตุการณ์การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของนักศึกษาปี 2563  ในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างเช่นกลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์เเละการชุมนุม กับ ปรากฏการณ์ “สะท้านฟ้า” จัดแสดง “ข้อเรียกร้อง 10 ข้อ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ในเหตุการณ์การชุมนุม 10 สิงหาคม 2563 ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ซึ่งเนื้อหามีการถูกเซนเซอร์ไว้ และคอลเลคชันโปสเตอร์ #FreeOurFriends, แถลงการณ์ปิดตัวแคมเปญราษฏรยกเลิก 112,  รูปแถลงการณ์ต่างๆ และรูปถ่ายของรุ้ง ปนัสยาตอนอ่านแถลงการณ์ รวมถึงโพลจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่จัดทำขึ้นในงานวันรับเพื่อนใหม่ในปีการศึกษา 2567 และโปสเตอร์รวมแฮชแท็ก นิสิต-นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่เคลื่อนไหวทางออนไลน์แสดงพลังคัดค้านเหตุการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่

ในนิทรรศการ ยังมีการจัดแสดงป้ายผ้าจากกลุ่มอิสระล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เคยนำไปใช้ในงานฟุตบอลประเพณีสานสัมพันธ์ จุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 1 ซึ่งป้ายผ้าดังกล่าวมีร่องรอยการเซ็นเซอร์จากผู้บริหาร  มีการจัดแสดงหมุดคณะราษฎรขนาดใหญ่ จากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม รวมถึงป้ายห้อยคอของทีมงานในการชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร และหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งที่มีภาพข่าวการปักหมุดคณะราษฏร 63 บริเวณท้องสนามหลวง ในช่วงเช้าวันที่ 20 กันยายน 2563

นอกจากนั้น ยังมีการให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วมกับนิทรรศการบริเวณกลางห้องจัดแสดงด้วยคำถามที่ว่า “ที่ผ่านมาธรรมศาสตร์ให้อะไรกับสังคมบ้าง?” และเชิญชวนให้ผู้เข้าชมร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยการเขียนบนกระดาษโพสอิทในหัวข้อ “เมื่อได้ยินคำว่า ธรรมศาสตร์ แล้วจะนึกถึงอะไร ?”

ในส่วนสุดท้ายก่อนออกจากนิทรรศการมีการจัดแสดง หนังสือจากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันที่เขียนโดยนักศึกษาและอาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วารสาร อมธ. หนังสือพิมพ์ที่มีรูปการชุมนุม และซีดีงิ้วธรรมศาสตร์กู้ชาติจาก พิพิธภัณฑ์สามัญชน กับโพลทิ้งท้ายชวนตั้งคำถามว่า “ธรรมศาสตร์มีส่วนช่วยในการเปลี่ยนแปลงสังคมหรือไม่”

นอกเหนือจากการเดินชมนิทรรศการแล้ว ยังมีกิจกรรมวงเสวนาที่จะพาทุกท่านย้อนอดีตถึงเรื่องราวการต่อสู้ เหตุการณ์ที่ทั้งน่าจดจำและจำไม่ลืม และบทบาททางการเมืองของธรรมศาสตร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในวันที่ 17 สิงหาคม เวลา 14:00 -15:00 น. พูดคุยในหัวข้อ “ธรรมศาสตร์ผ่านเลนส์แต่ละ Generation” 
กับวิทยากร 4 ท่าน 4 รุ่น ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ ประกอบไปด้วย วัฒนา ชัยชนะสกุล อดีตรองนายก อมธ. ปี 2519 อดีตเลขาธิการ อมธ. ปี 2518, ทนายกฤษฎางค์ นุตจรัส อดีตนายก อมธ. ปี 2519, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการไอลอว์ และเสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์ จากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

หลังจากจบวงเสวนาจะเป็นการบรรยาย ในหัวข้อ ประวัติศาสตร์และการเคลื่อนไหวทางสังคมของธรรมศาสตร์” โดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ก่อนปิดท้ายด้วยการอ่านแถลงการณ์โดยอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อยืนยันถึงจุดยืนทางการเมืองขององค์การนักศึกษาฯ ต่อจากนี้เป็นต้นไป


สำหรับนิทรรศการประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย “ไม่เคยเล่า ”จะจัดแสดงให้เข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 14 - 20 สิงหาคม 2567 ณ พิพิธภัณธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งสิ่งของจัดแสดงจะประกอบไปด้วย เสื้อยืด  ป้ายผ้า ภาพถ่ายและสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองและบทบาทของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

เรื่องและภาพโดย มู่หลาน