Skip to main content

หมูบ = หมอบ

ใจกลางเมืองขอนแก่นมีพื้นที่แสดงงานศิลปะเล็กๆแห่งหนึ่งซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่เล็กๆที่ดูเผินๆเหมือนจะเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่เต็มไปด้วยต้นไม้ ที่ดินผืนเล็กขนาดสามงานในซอยธารทิพย์ 2/1 ของอาจารย์พยุงศิลป์ เปศรี อดีตอาจารย์ประจำศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถูกปรับปรุงให้เป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ "เขตงานธารทิพย์ โอเอซิสขอนแก่น"

พื้นที่แห่งนี้คือสถานที่จัดกิจกรรมและพื้นที่สร้างสรรค์งานศิลปะของ "คณะที่ลาบสูง" กลุ่มคนทำงานศิลปะที่เรียกตัวเองว่า "นักปฏิบัติการศิลปะ" เพราะต้องการท้าทายขนบและตั้งคำถามต่อสถานะของงานศิลปะ และศิลปิน ที่ถูกนิยามหรือให้คุณค่าโดยผู้มีอำนาจ ทั้งผู้มีอำนาจรัฐ และผู้หลักผู้ใหญ่ในแวดวงศิลปะ ผลงานศิลปะที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นที่นี่จึงไม่ได้เน้นความสูงส่งหรือสวยงามของตัววัตถุ หากแต่เน้นให้ตัวชิ้นงานเป็นเครื่องมือในการสะท้อนแนวคิดบางอย่างหรือชวนให้ผู้รับชมงานตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่ในสังคม

                                                                                   รูปปั้นปูนพลาสเตอร์ ถนอม ชาภักดี ที่เขตงานธารทิพย์ โอเอซิสขอนแก่น

การรวมตัวของนักปฏิบัติการศิลปะชาวอีสาน

ถนอมศักดิ์  ไชยคำ หรือ อาจารย์เป้า จากสถาบันการสอนวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งคณะที่ลาบสูง เล่าให้พิพิธภัณฑ์สามัญชนฟังว่า การก่อตัวของคณะที่ลาบสูงต้องย้อนไปถึงการจัดงานศิลปะ Khon Kaen Manifesto ในปี 2561 ที่อาจารย์ถนอม ชาภักดี ผู้ล่วงลับ ซึ่งเป็นอาจารย์ศิลปะคนอีสาน และเป็นผู้ริเริ่มใช้คำว่า ”นักปฏิบัติการศิลปะ“ เป็นโต้โผในการรวบรวมคนทำงานศิลปะนอกขนบในพื้นที่ภาคอีสานมาทำงานศิลปะร่วมกันที่ตึกร้างแห่งริมถนนมิตรภาพ อาจารย์เป้าเล่าต่อไปว่าตึกร้างที่ทางคณะผู้จัด Khon Kaen Manifesto เช่าเพื่อใช้จัดงานเคยเป็นอาคารสถาบันการเงินเก่าแต่ได้ปิดตัวลงไปเพราะวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 สำหรับการเลือกจัดงานศิลปะในตึกร้าง อาจารย์เป้าระบุเป็นเพราะทางผู้จัดต้องการท้าทายสิ่งที่กำลังเป็นอยู่กล่าวคืองานศิลปะจะอยู่ในพื้นที่เฉพาะอย่างแกลเลอรีจนทำให้ศิลปะกลายเป็นสิ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สูงส่งและมีคนที่เข้าถึงได้เพียงไม่กี่กลุ่ม ทางกลุ่มจึงเลือกที่จะเข้ามาใช้ตึกร้างซึ่งดูจะเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับแกลเลอรีเป็นสถานที่จัดงาน 

หลังประสบความสำเร็จในการจัดงานครั้งแรก อาจารย์ถนอมและคณะได้ร่วมการจัดงาน Khon Kaen Manifesto ครั้งที่สองในปี 2563 โดยในครั้งนี้ทางผู้จัดเลือกใช้ตึกที่เคยเป็นสถานบันเทิงเก่าหรือ "เฮือนแม่จ้าง" เป็นสถานที่จัดงาน อาคารดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณใจกลางเมืองขอนแก่น สำหรับงาน Khon Kaen Manifesto ครั้งที่สองเน้นตั้งคำถามเรื่องการพัฒนาและการรวมศูนย์อำนาจ โดยอาจารย์เป้าขยายความเพิ่มเติมว่า สถานบันเทิงหรือเฮือนแม่จ้างเองก็เป็นผลิตผลของการพัฒนา เพราะเส้นทางคมนาคมได้ทำให้ขอนแก่นกลายเป็นเมืองศูนย์กลางของภาคอีสาน เกิดความเจริญต่างๆ มีผู้คนหลั่งไหลเดินทางมา เฮือนแม่จ้างจึงได้เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชากรชายที่หลังไหลหรือเดินทางเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น

อาจารย์เป้าเล่าต่อไปว่าหลังการจัดงาน Khon Kaen Manifesto ครั้งที่สอง สิ้นสุดลงทางกลุ่มก็เริ่มมองความจำเป็นว่าน่าจะต้องมี Collective Hub หรือสถานที่ที่ใช้เป็นฐานสำหรับทำงานร่วมกัน เพื่อนำไปสู่งาน Manifesto ในครั้งต่อไป ทางกลุ่มจึงได้เช่าอาคารแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ๆกับสถานที่จัดงาน Manifesto ครั้งที่สองเพื่อเป็นฐานในการทำงานศิลปะร่วมกัน แต่สุดท้ายก็มีข้อจำกัดเรื่องทุนและอีกหลายๆอย่าง ทำให้ต้องเลิกเช่าไป อย่างไรก็ตามการหาพื้นที่ทำงานศิลปะร่วมกันยังเป็นสิ่งที่อยู่ในใจของนักปฏิบัติการศิลปะในพื้นที่ ท้ายที่สุดนักปฏิบัติการศิลปะสี่คนที่จังหวัดขอนแก่นซึ่งเคยมีส่วนร่วมในงาน Khon Kaen Manifesto ก็ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่ม "คณะที่ลาบสูง" โดยอาจารย์ถนอม ก็ได้มีส่วนร่วมในการพูดคุยก่อตั้งกลุ่มขึ้นมาด้วย สำหรับชื่อ "คณะที่ลาบสูง" เกิดจากการที่คนในกลุ่มพยายามหาสิ่งที่สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นอีสานมาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อซึ่งทั้ง "ที่ราบสูง" และ "ลาบ" ต่างก็เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอีสาน ทั้งในแง่ลักษณะทางกายภาพ และวิถีชีวิต  





                                                                                                          
                                                                                                          บรรยากาศภายในเขตงานธารทิพย์

"เขตงานธารทิพย์" พื้นที่ศิลปะนอกขนบกลางเมืองขอนแก่น    

การหาพื้นที่ทำงานศิลปะร่วมกันเป็นหนึ่งในโจทย์ใหญ่ที่ชาวคณะที่ลาบสูงต้องทำร่วมกันหลังเลิกเช่นพื้นที่เดิม อ.พยุงศิลป์ เปศรี อดีตอาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งคณะที่ลาบสูงได้เสนอให้ใช้ที่ดินของเขาซึ่งอยู่ใจกลางเมืองขอนแก่นในซอยธารทิพย์ 2/1 เป็นพื้นที่ส่วนกลางให้นักปฏิบัติการศิลปะในกลุ่มใช้ทำงานร่วมกัน รวมทั้งใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมของทางกลุ่ม "เขตงานธารทิพย์ โอเอซิสขอนแก่น" จึงถือกำเนิดขึ้น อาจารย์เป้าเล่าให้ฟังเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาที่ไปของชื่อ "เขตงานธารทิพย์ฯ" ว่า การใช้คำว่า "เขตงาน" ดูจะไปพ้องกับศัพท์แสงของฝ่ายซ้ายหรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ใช้เรียกการแบ่งพื้นที่ปฏิบัติการ แต่จริงๆแล้วความหมายที่พวกเขาต้องการสื่อคือพื้นที่นี้เป็น เขตการทำงานศิลปะร่วมกันของเหล่านักปฏิบัติการศิลปะในกลุ่ม ส่วนคำว่า โอเอซิส หมายถึงความเป็นพื้นที่สีเขียวเพราะเขตงานธารทิพย์ถือเป็นพื้นที่สีเขียวที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองขอนแก่น

                                                                                                            อาจารย์เป้า ถนอมศักดิ์  ไชยคำ




                                                                                   คณะที่ลาบสูง อ.นิพนธ์ ขันแก้ว (ซ้าย) ช่างก้อย (กลาง) อาจารย์เป้า (ขวา)

อาจารย์เป้าเล่าต่อไปว่า นักปฏิบัติการศิลปะที่เป็นคนทำงานหลักของคณะที่ลาบสูงได้แก่ตัวเขา อ.พยุงศิลป์ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ อ.นิพนธ์ ขันแก้ว อดีตครูสอนศิลปะ และช่างก้อย นักปฏิบัติการศิลปะชาวขอนแก่น อาจารย์ถนอมเองก็มาช่วยทางกลุ่มตั้งไข่ในช่วงแรกแต่เนื่องจากตัวอาจารย์ถนอมมีภารกิจค่อนข้างมากและต้องเดินทางเป็นระยะ จึงได้แต่เพียงคอยให้คำแนะนำและช่วยเชื่อมร้อยคณะที่ลาบสูงกับนักปฏิบัติการศิลปะกลุ่มอื่นๆทั้งในอีสานและในภูมิภาคอื่นๆ แต่ไม่ได้เป็นคนทำงานหลัก สำหรับแนวคิดในการทำงาน อาจารย์เป้าระบุว่าคณะที่ราบสูงทำงานศิลปะโดยมีแนวคิดว่า งานศิลปะไม่ใช่สิ่งสูงส่ง ไม่ใช่ของที่จำกัดการเข้าถึงอยู่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทางกลุ่มยังมองงานศิลปะในฐานะวิธีการแสดงออกซึ่งการตั้งคำถามต่ออำนาจ หรือความศักดิ์สิทธิ์บางอย่าง

อาจารย์นิพนธ์ นักปฏิบัติการศิลปะอีกคนหนึ่งในคณะที่ลาบสูงยกตัวอย่างชิ้นงานของเขาที่มีลักษณะเป็นการตั้งคำถามต่อคุณค่าบางอย่างที่สังคนไทยถือเป็นคุณค่าที่สำคัญ เช่น เรื่องศาสนาและการทำบุญ อาจารย์นิพนธ์นำตู้บริจาคแบบมีกระจกใสที่พบเห็นได้ตามวัดมาทำเป็นงานศิลปะโดยนำหัวเสียม มีดพร้าและเคียวซึ่งเป็นอุปกรณ์ทำมาหากินของเกษตรกรไปใส่ไว้ในตู้เพื่อชวนตั้งคำถามต่ออำนาจด้านศาสนาและความเชื่อที่ว่า การบริจาคจะทำให้ได้บุญและในวัดก็จะมีตู้บริจาคให้คนทำบุญ แต่ในสภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ ข้าวยากหมากแพง ชาวบ้านไม่เหลืออะไรให้ทำบุญแล้วนอกจากเคียวและมีดพร้าที่เป็นเครื่องมือทำมาหากิน

                  
                                                                                                                ตู้บริจาค ผลงานของอาจารย์นิพนธ์

ทั้งอาจารย์เป้าและอาจารย์นิพนธ์ยอมรับว่า การทำงานศิลปะที่ไม่ได้เน้น "ความงาม" ตามขนบแต่มุ่งตั้งคำถามต่อสิ่งที่เป็นอยู่และเป็นไปในสังคม ทำให้เป็นเรื่องยากที่ทางคณะที่ลาบสูงจะเข้าถึงการสนับสนุนหรือแหล่งเงินทุนที่มักอิงแอบแนบชิดกับอำนาจนำในสังคม การทำงานที่ผ่านมาชาวคณะต้อง "ควักเนื้อ" นำเงินส่วนตัวมาใช้ทำงานในนามกกลุ่ม ด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากรคณะที่ลาบสูงจึงไม่สามารถจัดงานได้บ่อยดังที่เคยตั้งใจว่าจะจัดงานอย่างน้อยเดือนละครั้งได้

ล่วงถึงเดือนมิถุนายน 2565 อาจารย์ถนอมถึงแก่กรรมด้วยอาการเส้นเลือดในสมองตีบ อาจารย์เป้ายอมรับว่าการเสียชีวิตของอาจารย์ถนอมส่งผลต่อการทำงานของชาวคณะที่ลาบสูงพอสมควรเพราะที่ผ่านมาอาจารย์ถนอมคือผู้ที่คอยประสานงานและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการรวมนักปฏิบัติการศิลปะจากหลายพื้นที่เพื่อสร้างสรรค์งานหรือทำกิจกรรมทางศิลปะบางอย่างร่วมกัน อย่างไรก็ตามทางคณะที่ลาบสูงก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์งานต่อไปโดยยึดแนวคิดเรื่องการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการตั้งคำถามหรือท้าทายต่ออำนาจบางอย่างที่กดทับสังคมอีสาน

ผลิตผลแห่งการตั้งคำถามและท้าทาย

เขตงานธารทิพย์มีลักษณะเป็นพื้นที่โล่งที่เต็มไปด้วยต้นไม้ พื้นที่ร่มภายในเขตงานมีเพียงกระต็อบเล็กๆที่ถูกปลูกสร้างขึ้นมาอย่างง่ายๆเพื่อเก็บชิ้นงานและเครื่องมือ งานสร้างสรรค์หลายๆชิ้นที่อยู่ในเขตงานธารทิพย์จึงถูกสร้างขึ้นมาให้พร้อมย่อยสลายหรือถูกทำลาย ขณะเดียวกันก็มีผลงานอีกจำนวนหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยวัตถุแสนจะธรรมดาที่สามารถทนต่อสภาพอากาศทั้งความร้อน ฝน และความชื้นได้โดยไม่หยี่หร่ะ ซึ่งจุดนี้อาจารย์เป้าเล่าว่าคณะที่ลาบสูงให้คุณค่ากับแนวคิดที่ทางกลุ่มต้องการสื่อสาร มากกว่าการทำชิ้นงานให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นของล้ำค่าที่ต้องอยู่ในตู้กระจก งานบางชิ้นยังถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ถูกทำลายเพื่อท้าทายหรือตั้งคำถามบางอย่าง เช่น

ทางกลุ่มเคยนำหนังสือเกี่ยวกับศิลปินแห่งชาติหรือหนังสือเกี่ยวกับศิลปะกระแสหลักบางเล่มมาวางบนพื้นและชั้นหนังสือที่อยู่กลางแจ้งพร้อมทั้งประกาศว่าใครที่ต้องการสามารถเข้ามาหยิบได้ฟรีๆที่เขตงาน ซึ่งปรากฎว่าไม่มีใครมาหยิบ ขณะที่หนังสือหลายๆเล่มที่อยู่บนชั้นกลางแจ้ง ก็ถูกความร้อนและฝนจนเกิดความเสียหายทั้งอาการบวมน้ำหรือขึ้นราเพราะถูกฝน หรือกระดาษกรอบเพราะโดนแดด อาจารย์นิพนธ์ขยายความว่าการจัดวางงานศิลปะชุดนี้ทางกลุ่มต้องการแสดงออกว่าพวกเขาไม่ให้คุณค่ากับสิ่งที่อยู่ในหนังสือเหล่านั้น



                                                                                                  ภาพเขียนถนอม ชาภักดี ในเขตงานธารทิพย์ฯ




                                                                         หนังสือศิลปะแห่งชาติที่ถูกทิ้งไว้ในฐานะศิลปะจัดวางบนชั้นหนังสือกลางแจ้ง

นอกจากผลงานข้างต้น ที่เขตงานธารทิพย์ยังมีผลงานที่น่าสนใจชิ้นอื่นๆ เช่น "กูบ่หมูบ" ศิลปะจัดวางที่มีไหปลาร้าวางอยู่ด้านล่างโดยมีลำโพงเก่าที่ด้านนอกมีเนื้อเพลงชาติไทยเขียนด้วยหมึกสีเหลืองครอบอยู่ด้านบน อาจารย์นิพนธ์ขยายความงานชิ้นนี้ว่า "หมูบ" เป็นภาษาลาวแปลเป็นคำไทยว่า "หมอบ" ไหปลาแดก (ปลาร้า) ในงานชิ้นนี้ คือสิ่งที่เป็นตัวแทนของภาคอีสาน ส่วนลำโพงที่ถูกนำมาครอบเป็นลำโพงเก่าที่เคยใช้กระจายเสียงตามสายตามหมู่บ้าน ถือเป็นสัญลักษณ์การควบคุมจากส่วนกลาง หากดูชิ้นงานด้วยตาเปล่าก็จะสะท้อนว่าอีสานถูกกล่อมเกลาหรือครอบงำไว้โดยส่วนกลาง อย่างไรก็ตาม ชิ้นงานนี้ยังมีองค์ประกอบอีกหนึ่งอย่างได้แก่กล้องไลกาเก่าซึ่งถูกดัดแปลงโดยนำภาพถ่ายภาพหนึ่งไปสอดไว้ด้านใน กล้องตัวนี้จะถูกตั้งโดยเล็งโฟกัสไปที่ชิ้นงาน กูบ่หมูบ เมื่อผู้ชมจ้องดูชิ้นงานผ่านทางช่อง Viewfinder ของกล้องที่ถูกนำมาตั้งไว้ (ช่องเล็งบนตัวกล้อง) ภาพที่มองเห็นผ่านช่องเล็จะเป็นภาพตรงข้ามกับภาพด้านนอก คือลำโพงจะถูกคว่ำไว้ด้านล่าง ส่วนไหปลาแดกจะอยู่ด้านบน เป็นการแสดงออกซึ่งการไม่ยอมรับต่อการครอบงำโดยส่วนกลาง ศิลปะจัดวางชิ้นนี้ถูกนำออกจัดแสดงระหว่างงานแสดงศิลปะภายใต้ชื่อเดียวกันซึ่งจัดขึ้นที่เขตงานธารทิพย์ในเดือนธันวาคม 2566 สำหรับผลงานชุดนี้แม้จะเพิ่งถูกนำออกจัดแสดงภายหลังจากที่คณะที่ลาบสูงก่อตั้งขึ้นมาพักใหญ่ๆแล้ว และยังถูกนำออกแสดงได้ไม่ถึงปี แต่ความหมายเบื้องหลังชิ้นงานก็น่าจะสะท้อนถึงแนวคิดเบื้องหลังที่ขับเคลื่อน คณะที่ลาบสูง ได้เป็นอย่างดี  



                                 
                                                                                                   ลำโพงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชิ้นงานกูบ่หมูบ





จั๊กจั่นฮำฮอน เสียงเพรียกจากเพื่อนที่จากไป

แม้นักปฏิบัติการศิลปะคณะที่ลาบสูงจะต้องทำงานภายใต้ข้อจำกัดทั้งด้านทรัพยากรและเวลา แต่ขณะที่พิพิธภัณฑ์สามัญชนมีโอกาสพูดคุยกับพวกเขา (23 กรกฎาคม 2567) พวกเขาก็กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมโปรเจคหนึ่งที่น่าสนใจ อ.นิพนธ์เล่าว่าเนื่องจากในเขตงานมีต้นไม้อยู่เยอะ พอตกเย็นก็จะได้ยินเสียงแมลงโดยเฉพาะจั๊กจั่นส่งเสียงร้องกันดังระงม ชาวคณะที่ลาบสูงที่กำลังนั่งคุยกันก็เกิดความสงสัยและตั้งคำถามกันเล่นๆว่าถ้าจั๊กจั่นเหล่านั้นพูดได้พวกมันน่าจะกำลังคุยอะไรกันอยู่ แล้วก็เกิดคิดงานกันขึ้นมาได้ว่า ถ้าเสียงจั๊กจั่นคือเสียงจากมิตรสหายที่จากไปหรือคนที่ร่วงหล่นไประหว่างทางของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหรือสิทธิเสรีภาพ เช่น อาจารย์ถนอม ครูครอง จันดาวงศ์ หรือบุ้ง ทะลุวัง พวกเขากำลังพูดคุยอะไรกันอยู่ ทางคณะจึงพัฒนาคอนเซ็ปงานจากแรงบันดาลใจดังกล่าว เป็นงานแสดงภาพวาดประกอบบทกวี "จั๊กจั่นฮำฮอน" โดยทางคณะที่ลาบสูงจะวาดภาพขึ้นมาจำนวนหนึ่ง ใช้จั๊กจั่นเป็นสัญลักษณ์แทนภาพของมิตรสหายและนักเคลื่อนไหวที่ร่วงหล่นไประหว่างการต่อสู้ เช่น ภาพครูครอง จันดาวงศ์ที่ถูกประหารชีวิตโดยการยิงเป้าด้วยอำนาจตามมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 ถูกแทนด้วยภาพจั๊กจั่นที่ทั้งลำตัวและปีกพรุนไปด้วยกระสุนปืน ดังเช่นที่ร่างกายของครูครองที่ต้องคมกระสุนจากอำนาจเผด็จการ นอกจากนั้นก็จะเชิญ "เมฆ ครึ่งฟ้า" กวีและนักกิจกรรมชาวร้อยเอ็ดมาอ่านบทกวีเพื่อฮำฮอนเชื่อมโยงกับเสียงร้องของจักจั่นและรูปจักจั่นบนภาพเขียนนักต่อสู้แต่ละภาพ  อีกทั้งยังเป็นการปฏิสัมพันธ์กับผู้ร่วมชมงาน ซึ่งจะได้รับรู้ทั้งภาพเขียน/ภาพกวีที่กำลังร่ายเสียงและสัมผัสกับเสียงจั่กจันที่ส่งเสียงร้องบนต้นไม้อันรายรอบของพื้นที่จัดงาน 



                                                                                                              โปสเตอร์งานจั๊กจั่นฮำฮอน





                                                                                                              ตัวอย่างภาพวาดในชุด จั๊กจั่นฮำฮอน

เบื้องต้นทางคณะที่ลาบสูงวางแผนจะจัดงานนี้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2567 แต่ด้วยข้อขัดข้องบางประการงานต้องถูกเลือ่นออกไปโดยยังไม่มีกำหนดวันจัดงานให้ อาจารย์เป้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานนี้ว่า คำว่าฮำฮอน หมายถึง การร้องแบบคะนึงหา งานนี้จั๊กจั่นฮำฮอนจึงเป็นงานที่ค่อนข้างโรแมนติด โดยมีเป้าหมายสำคัญเป็นการตั้งคำถามถึงเพื่อนร่วมทางหลายๆคนที่ยังคงมีชีวิตอยู่ว่าในสภาวะที่ทุกอย่างดูจะเงียบงันเช่นนี้ ทุกคนยังจะพร้อมขับเคลื่อนและสู้ไปด้วยกันหรือไม่

เรื่องและภาพ โดย อานนท์ ชวาลาวัณย์ 
ยกเว้นภาพชิ้นงานกูบ่หมูบระหว่าง Art Performace ในชื่อเดียวกัน ภาพโปสเตอร์งานกูบ่หมูบ และโปสเตอร์งานจั๊กจั่นฮำฮอน จากเพจคณะที่ลาบสูง