Skip to main content

หลังเสร็จสิ้นการเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับประเทศ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ณ Impact Forum เมืองทองธานี พิพิธภัณฑ์สามัญชนชวน เทวฤทธิ์ มณีฉาย หรือ บัส ว่าที่สมาชิกวุฒิสภาพูดคุยถึงชีวิตและตัวตนของเขานับจากจุดเริ่มต้นในครอบครัวผู้ใช้แรงงาน การเข้าศึกษาด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยในจังหวัดปัตตานีซึ่งไกลจากบ้านเกินของเขาที่อัมพวาเกือบ 1,000 กิโลเมตร การเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่างเรียนต่อระดับปริญญาโทที่กรุงเทพฯ และการทำงานในวิชาชีพสื่อมวลชน ก่อนจะถึงวันที่เขาได้รับเลือกเป็นสว.ภายใต้กติกาและระบบการเลือกที่ออกแบบมาอย่างซับซ้อน ในบทสัมภาษณ์ชุดนี้ทางพิพิธภัณฑ์ยังชวนเทวฤทธิ์สะท้อนถึงมุมมองที่เขามีต่อระบบการเลือกสว.และทิศทางการทำงานของเขาในบทบาทใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น

ตัวตนที่ถูกหล่อหลอมในย่านโรงงานอุตสาหกรรม

“ถ้าพูดถึงชีวทัศน์ของผมก็มาจากชนชั้นกรรมชีพ พ่อผมทำงานในโรงงาน ส่วนแม่ก็เป็นคนงานในโรงงานทอผ้าที่กรุงเทพฯ เดิมทีทั้งคุณพ่อกับคุณแม่เป็นแรงงานภาคเกษตรในจังหวัดภาคกลางที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะการสร้างเขื่อนที่ทำให้น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นพอระยะเวลานานเข้าก็ส่งผลให้น้ำในพื้นที่มีความเค็มจน ต้นไม้โดยเฉพาะต้นมะพร้าวที่เป็นพืชเศรษฐกิจเสียหาย ครอบครัวผมเลยต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตไปเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรม”

“คุณพ่อผมมาจากราชบุรี ส่วนคุณแม่มาเป็นคนสมุทรสงคราม พวกเขามาเจอกันระหว่างทำงานในภาคอุตสาหกรรมที่กรุงเทพฯ และได้สร้างครอบครัวกัน”

“ลักษณะการจ้างงานในยุคนั้นบีบคั้นให้ทั้งพ่อกับแม่ต้องทำงานตลอดเวลา ก่อนที่แม่จะคลอดผม แม่ต้องทำงานในโรงงานทอผ้าทั้งๆที่ท้องแก่มาก ซึ่งก็เป็นเพราะครอบครัวของเราไม่ได้มีทรัพยากรมากพอที่จะทำให้แม่ได้มีโอกาสพักและเตรียมตัวคลอดในโรงพยาบาล วันที่คลอดแม่ยังต้องไปทำงาน ระหว่างที่ทำงานแม่ก็เกิดปวดท้องมาก ตอนแรกก็นั่งรถเมลไปโรงพยาบาลก่อน แต่ปรากฎว่ารถมันติดมากสุดท้ายก็เลยเปลี่ยนไปนั่งรถแท็กซี่ ปรากฎว่าแม่ยังไม่ทันไปถึงโรงพยาบาลก็คลอดผมบนรถแท็กซี่นั่นแหละ (หัวเราะ)”

“ด้วยพื้นฐานทางครอบครัวแบบที่เป็นอยู่ สมัยเด็กๆผมเลยไม่เคยมีจินตนาการว่าจะได้เรียนระดับมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ  พอจบม.3 ผมก็มองถึงเรื่องอาชีพแล้ว แต่ตอนที่ต้องเลือกว่าจะเรียนต่อสายสามัญหรือสายอาชีพดี ปรากฎว่า โรงเรียนที่ผมอยู่มีนักเรียนน้อย และผมก็เป็นคนที่ครูเรียกใช้ง่าย และทำคะแนนได้ค่อนข้างดี ครูก็เลยชักชวนต่อให้เรียนทางสายสามัญ ผมเลยกู้กยศ. เรียนเพื่อให้รบกวนพ่อแม่น้อยลง จนได้สอบ Entrance เข้ามหาวิทยาลัย”

“ที่จริงครูยุให้ผมไปเรียนคณะวิศวะ แต่พอไปสอบก็ไม่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผมไม่ได้เรียนพิเศษเพราะการเรียนพิเศษมีค่าใช้จ่ายมากพอสมควร ตัวผมเองก็คิดด้วยว่าไอ้เราก็มีพลการเรียนดีพอสมควรคงพอสอบได้ ปรากฎว่าพอไปลงสนามจริงก็ได้เห็นเลยว่าการเข้าถึงโอกาสในการเรียนพิเศษมันสร้างความแตกต่างได้ไม่น้อยเพราะข้อความรู้ที่เราเรียนจากโรงเรียนรัฐในต่างจังหวัดมันก็ยังตามไม่ทันความรู้ที่สอนในโรงเรียนดังๆ หรือในโรงเรียนกวดวิชา แต่ก็ยังดีที่คะแนนของผมยังเพียงพอที่จะไปเข้าเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานีได้”

“ตอนไปเรียนที่ปัตตานี ผมต้องนั่งรถไฟชั้นสามไปลงที่สถานีโคกโพธิ์ เรียกได้ว่านั่งกันจนก้นชาเลย  การไปเรียนไกลบ้านครอบครัวห่วงเป็นธรรมดา แต่ก็ยังดีที่เขาให้อิสระกับเรา ให้เราได้เดินในทางที่เราเป็นคนเลือกเอง”
“การไปเรียนที่ปัตตานีเป็นประสบการณ์ชีวิตที่หล่อหลอมให้ผมเป็นผมทุกวันนี้ แม้ว่าสมัยเรียนที่อัมพวาผมก็ได้เรียนกับเพื่อนที่นับถือศาสนาอื่นด้วย แต่การไปเรียนที่ปัตตานีทำให้ผมได้รู้ว่านอกจากพรมแดนด้านศาสนาแล้วมันยังมีพรมแดนด้านภาษาและวัฒนธรรมอยู่ด้วย มีภาษาที่ผมเข้าไม่ถึง สมัยอยู่ที่นั่นผมก็เคยรู้สึกไม่ปลอดภัยเวลามีคนรอบข้างพูดภาษายาวีซึ่งมุมหนึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์จะกลัวในสิ่งที่ตัวเองไม่เข้าใจ ความไม่เข้าใจยังทำให้เรารู้สึกว่ากลายเป็นคนนอกไปด้วย แต่สุดท้ายสิ่งที่ผมได้เรียนรู้คือการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับความหลากหลายในพื้นที่นั้น”

“อีกประเด็นที่สำคัญคือการเรียนวิชารัฐศาสตร์ มันทำให้เรามีโลกทัศน์และคิดได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น สมัยเด็กๆผมเคยเห็นพ่อบ่นเรื่องหัวหน้างาน เรื่องสภาพการจ้างงาน ซึ่งตอนนั้นแล้วก็ได้แต่คิดว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับสภาพไป แต่พอมาเรียนรัฐศาสตร์ผมก็ได้รู้ว่าเรื่องที่พ่อมาบ่นจริงๆแล้วมันมีที่มาจากระบบ จากโครงสร้างทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ทำให้เราเห็นภาพใหญ่มากขึ้น และทำให้เห็นว่าสิ่งที่พ่อต้องเผชิญมันไม่ใช่แค่เรื่องธรรมชาติหรือเรื่องปกติ”

หัวข้อวิทยานิพนธ์และการเข้าสู่แวดวงนักกิจกรรมทางการเมือง

“ผมเรียนจบปริญญาตรีในปี 2548 และทุนมาเรียนต่อระดับปริญญาโทที่นิดา ประเด็นที่ผมสนใจเป็นพิเศษในเวลานั้นคือเรื่องรัฐสวัสดิการ หัวข้อวิทยานิพนธ์ของผมคือการศึกษาเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐสวัสดิการซึ่งในทางหนึ่งหากรัฐสวัสดิการเกิดขึ้นจริงในสังคมไทยผมและคนที่อยู่ในชนชั้นเดียวกับผมก็น่าจะได้รับประโยชน์อยู่ไม่น้อย”

“ในยุคนั้น (ปลายทศวรรษที่ 2540 ถึงต้นทศวรรษที่ 2550) ข้อเสนอเกี่ยวกับสวัสดิการจะมีอยู่สองสามแบบ แบบหนึ่งคือนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ อีกแบบหนึ่งคือระบบสังคมสงเคราะห์ซึ่งเป็นระบบหลักที่ถูกใช้ในรัฐราชการไทยมาอย่างยาวนาน ข้อเสนอเรื่องรัฐสวัสดิการถือเป็นข้อเรียกร้องทางเลือกที่ขบวนการภาคประชาชนในยุคนั้น เช่น พรรคแนวร่วมภาคประชาชนและขบวนการแรงงานนำมาเสนอท้าท้ายกับแนวคิดทั้งประชานิยมและแนวคิดแบบสังคมสงเคราะห์ โดยเราต้องการเสนอว่า สวัสดิการที่ประชาชนพึงได้ ควรเป็นสิทธิที่เขาพึงได้รับในฐานะพลเมือง ไม่ใช่เรื่องน้ำทิพย์ชโลมใจหรือบุญคุณความเมตตาจากผู้มีอำนาจ เพราะเอาเข้าจริงโภคผลต่างๆในประเทศนี้ล้วนเกิดจากการสร้างสรรค์ของผู้ใช้แรงงาน รัฐจึงต้องมีหน้าที่จัดสรรมูลค่าที่เกิดจากโภคผลเหล่านั้นส่วนหนึ่งกับคือสู่พลเมือง

“ระหว่างที่ทำวิทยานิพนธ์ ผมมีโอกาสอ่านงานของ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ (อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ซึ่งสมัยนั้นเรียนปริญญาเอกอยู่ที่จุฬา พอลองติดต่อไปพูดคุยเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมเก่งกิจก็เลยชวนมาทำกิจกรรมจนสุดท้ายผมก็ได้เข้ามาอยู่กับกลุ่มประกายไฟ แล้วก็มีโอกาสไปร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนการแรงงานอย่างตอนที่สหภาพแรงงานไทร์อัมพ์มาชุมนุมค้างคืนที่กระทรวงแรงงานช่วงปี 2552 ผมก็ไปร่วมชุมนุมค้างคืนอยู่ที่นั่นด้วย ตอนหลังการทำกิจกรรมกับกลุ่มประกายไฟกลายก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผมถูกคสช.เรียกเข้าค่ายหลังรัฐประหารปี 2557

สวมหมวกประชาไท

“เรื่องการทำงานข่าวนี่ผมไม่ได้วางแผนมาก่อนเลยนะ ประชาไทนี่ตอนที่ผมเป็น Activist ผมยังเป็นแหล่งข่าวให้เขาอยู่เลย (หัวเราะ) ครั้งแรกที่มีคนติดต่อมานี่ผมไปอยู่ในการนัดหยุดงานของกลุ่มคนงาน ก็มีคนโทรมาจากประชาไทขอสัมภาษณ์ผม ทีนี้พอมาถึงช่วงปี 2553 ที่สถานการณ์ทางการเมืองมันแหลมคม สื่อบางเจ้าเลือกที่จะไม่เสนอข่าวของคนเสื้อแดงหรือถ้าเสนอข่าวก็จะมาใน narrative หรือมีชุดคำอธิบายที่วาดภาพให้คนเสื้อแดงเป็นผู้ร้าย แต่ก็มีประชาไทที่ปักหลักรายงานข้อเท็จจริงไปตามที่มันเป็น ตัวผมเองซึ่งไปอยู่ในที่ชุมนุมด้วยก็เลยใช้ประชาไทเป็นช่องทางการนำเสนอสิ่งที่ผมได้ให้จากที่ชุมนุมในฐานะนักข่าวพลเมือง จนตอนหลังคงมีคนเห็นว่าผมพอจะมีหน่วยก้านที่จะทำงานข้อมูลก็เลยชักชวนให้ผมมาทำงานกับ ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53 (ศปช.) ซึ่งก็ใช้ประชาไทเป็นสำนักงาน ทำให้รู้จักมักคุ้นกับคนที่ประชาไทพอสมควร”

“ช่วงหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 อีกประเด็นที่แหลมคมขึ้นมาก็คงหนีไม่พ้นเรื่องมาตรา 112 ซึ่งกระแสสังคมเวลานั้นมองว่ามาตรา 112 เป็นประเด็นที่ taboo ไม่ควรถูกพูดถึง สื่อหลายสำนักก็ไม่อยากรายงานข่าว สถานการณ์มันไม่เหมือนตอนนี้เลย มีแต่บรรยากาศของความกลัว ผมที่ได้ไปทำงานกับ ครก.112 (คณะรัฐธรรมนูญแก้ไขมาตรา 112 ”) ช่วงที่มีการรณรงค์ประมาณปี 2555 ก็อาศัยประชาไทเป็นช่องทางในการสื่อสารเรื่องมาตรา 112 ผ่านการเขียนข่าวให้ฟรีในฐานะนักข่าวพลเมือง พอเสร็จงานกับครก.112 ประชาไทก็ดึงผมเข้ามาทำงานด้วยแล้วผมก็อยู่กับประชาไทเรื่อยมาตั้งแต่เดือนมิถุนาปี 55 จนกระทั่งถึงปีนี้ (2567)

“ช่วงแรกที่ทำงาน ผมรับผิดชอบโต๊ะข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม งานชิ้นแรกๆที่ผมทำและเป็นชิ้นที่ผมภูมิใจคือการติดตามการไต่สวนการตายของคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตระหว่างการขอคืนพื้นที่แยกราชประสงค์และพื้นที่ใกล้เคียงในปี 2553 ปี ตอนนั้นผมต้องไปฟังและรายงานข่าวการไต่สวนที่ศาลตั้งแต่เช้าถึงเย็น งานนี้ถือเป็นหนึ่งในงานแรกๆของผมในฐานะนักข่าวประชาไท ผมกับทีมพยายามเล่ากระบวนการในศาลให้คนทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยภาษาง่ายๆ ในงานชุดนั้นเรายังไปรวบรวมภาพถ่ายต่างๆมาใส่ในรายงานด้วยรวมถึงภาพถ่ายเปรียบเทียบสถานที่ต่างๆขณะเกิดเหตุ เช่น เซ็นทรัลเวิลด์ที่ถูกไฟไหม้ กับภาพถ่ายเซ็นทรัลเวิลด์ในห้วงเวลาที่รายงานถูกเผยแพร่ประมาณปี 2556 โดยเป้าหมายหนึ่งที่เราพยายามจะสื่อสารในเวลานั้น คือความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับตึกหรือสิ่งปลูกสร้างมันถูกฟื้นฟูคืนสภาพแล้ว แต่ความสูญเสียที่เกิดกับชีวิตคนคงไม่มีทางถูกฟื้นคืน ขณะที่การเรียกร้องความเป็นธรรมผ่านกระบวนการศาลก็ใช้เวลายาวนานท บางคดีแม้ศาลจะสั่งว่าผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากกระสุนที่ยิงจากฝั่งเจ้าหน้าที่ แต่สุดท้ายก็ไม่มีการนำไปสู่การเอาตัวเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดคนไหนมาลงโทษ”

“ผลงานอีกชิ้นที่ผมภูมิใจคือรายงานเรื่องงบสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นชิ้นที่ผมและทีมงานลงทุนลงแรงอ่านเอกสารงบประมาณและเอกสารประกอบอื่นๆเยอะมาก โดยเราต้องการนำเสนอว่างบประมาณต่างๆที่ถูกเกี่ยวข้องถูกจัดสรรและใช้ไปเพื่ออะไรบ้าง ซึ่งต้องย้ำว่ารายงานชุดนี้ไม่ได้เป็นการพูดถึงองค์พระมหากษัตริย์ในแง่ตัวบุคคลแต่เป็นการพูดถึงงบประมาณที่ใช้ในกิจกรรมและกิจการต่างของบุคคลหรือหน่วยงานทั้งหมดที่ประกอบขึ้นเป็นสถาบัน ซึ่งในทางหนึ่งการศึกษานี้ก็ย้ำให้เห็นมุมมองและความสำคัญที่รัฐมีให้กับสถาบันฯ”

“บทบาทการทำงานกับประชาไทก็ถือเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมถุกคสช.เรียกไปเข้าค่ายหลังการรัฐประหาร เพราะนอกจากคำถามเกี่ยวกับการทำกิจกรรมกับกลุ่มประกายไฟแล้ว การทำงานกับประชาไทก็เป็นคำถามอีกส่วนหนึ่งที่ทหารเอามาใช้พูดคุยกับผมตลอดเวลาสามวันสองคืนที่ผมต้องไปอยู่ที่ค่ายมทบ.11”

“เรื่องการถูกปรับทัศนคติเนี่ย หลังกระบวนการผมก็ต้องเซ็น MOU ห้ามฝ่าฝืนคำสั่งคสช. ไม่งั้นจะถูกระงับธุรกรรมทางการเงิน และห้ามออกนอกประเทศจนว่าจะได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช.ซึ่งก็คือพล.อ.ประยุทธ์ ตอนที่อยู่ที่ค่ายทหารผมก็คิดว่าคงไม่ถึงขั้นที่เขาจะเราเอาไปฆ่าแกงอะไรหรอก แต่น่าจะเป็นเรื่องการสร้างความกลัวและการทำให้รู้ว่า ข้าดูเอ็งอยู่นะ เพราะหลังจากออกมาจากค่ายก็จะมีทหารไปที่บ้านผมที่อัมพวาเป็นระยะ ซึ่งแม้เขาจะมาด้วยท่าทีที่เป็นมิตร แต่มันก็เป็นการส่งสัญญาณให้ผมได้รู้ว่าผมถูกจับจ้องอยู่นะ ทหารเพิ่งมาเลิกไปบ้านผมช่วงหลังเลือกตั้ง 62 นี่เอง”

“ถ้าจะถามว่ามีครั้งไหนที่ผมรู้สึกว่าตัวเองมีความผิดพลาดในฐานะการทำหน้าที่สื่อมวลชนคงหนีไม่พ้นกรณีสหพันธรัฐไทย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการเผยแพร่แนวคิดเรื่องระบอบการปกครองที่พวกเขาอยากจะเห็น ซึ่งผมก็เคยได้ยินเรื่องราวของพวกเขามาบ้างแต่ก็ไม่ได้ติดตามพวกเขาอย่างจริงจังเพราะคิดว่าพวกเขาน่าจะมีแค่ตัวตนบนโลกออนไลน์ แต่สุดท้ายก็มามีข่าวว่ามีคนถูกจับจากที่สาธารณะโดยใช้อำนาจพิเศษเพราะไปใส่เสื้อที่มีสัญลักษณ์ของกลุ่มสหพันธรัฐไท ซึ่งถ้าเราติดตามรายงานข่าว เอาพวกเขาเข้ามาอยู่ในแสง ให้เป็นที่รู้จักในทางสาธารณะมากกว่านั้นอย่างน้อยก็อาจช่วยทำให้คนกลุ่มนั้นมีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งสำหรับผมการตัดสินใจไม่ติดตามข่าวกลุ่มสหพันธรัฐไทอย่างจริงจังน่าจะเป็นหนึ่งในการตัดสินใจและประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาดในการทำงานสื่อของผม

ความรับผิดชอบใหม่ในฐานะบรรณาธิการ

“ถึงปี 2562 มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประชาไท เอาจริงๆตั้งแต่ก่อนหน้านั้นนักข่าวอาวุโสหลายคนก็ทยอยออกไปทำงานที่อื่น หลังจากนั้นพี่ๆที่เป็นบรรณาธิการก็เริ่มขยับขยายด้วยการปรับลดบทบาทของตัวเองก่อนจะลาออกไป ประชาไทเข้าสู่ช่วงผลัดใบในช่วงนั้น ตัวผมเองซึ่งเป็นนักข่าวที่อายุงานค่อนข้างเยอะอยู่กับองค์กรมานานก็เลยได้ขึ้นมารับตำแหน่งบรรณาธิการพ่วงตำแหน่งนักข่าวอีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งเอาจริงๆการเป็นบก.มันก็ไม่ได้มีอำนาจอะไรขนาดนั้นเพราะวิธีการทำงานของประชาไทจะมาจากการประชุมภายในกอง”


ตลอดห้าปีที่อยู่ในฐานะบก. ผมถือว่าเป็นอีกหนึ่งในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความท้าทาย เพราะบรรยากาศในบ้านเมืองมีความแหลมคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ในยุคนี้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผยตรงๆไปตรงมาในที่สาธารณะมากขึ้น”

“ในช่วงนี้เองผมกับทีมงานต้องตัดสินใจเรื่องที่อ่อนไหวหลายครั้ง อย่างเช่นตอนที่เราทำรายงานเรื่องงบประมาณสถาบันเสร็จ มันก็เป็นช่วงเวลาที่ผู้ชุมนุมกำลังยกระดับข้อเรียกร้องไปพูดถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเราคุยกันในกองหนักมากว่าจะออกรายงานเลยดีไหม เพราะมุมหนึ่งถ้าเราออกไปในช่วงที่สถานการณ์กำลังเข้มข้นก็จะกลายเป็นว่าพวกเราจะถูกเพ่งเล็งหรือถุกกล่าวหาว่าเติมฟืนในเชื้อไฟหรือเปล่า ซึ่งเอาจริงๆเราก็แค่ทำรายงานเสร็จช่วงนั้นพอดี และช่วงที่เราเริ่มทำรายงานสถานการณ์ก็ยังไม่ได้มีความตึงเครียดหรือเข้มข้นเหมือนช่วงปี 2563 สุดท้ายเราก็คุยกันว่าจะออกรายงานไปตามเดิม”

“อีกประเด็นที่อ่อนไหวและคุยกันหนักก่อนการตัดสินใจก็คือการเผยแพร่คำปราศรัยม็อบแฮรีพอตเตอร์ของทนายอานนท์นำภาและแถลงการณ์แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมแบบลงตัวเต็ม ด้วยความอ่อนไหวของเนื้อหาที่ประชุมกองคุยกันหนักว่าเรามีทางเลือกที่จะรายงานแบบไหนบ้าง ลงตัวเต็ม หรือเอามา paraphrase สรุปความแล้วลงเป็นภาษาของเราเอง แต่สุดท้ายกองก็ตัดสินใจว่าจะลงตัวเต็มเพราะเราต้องการรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นจริงต่อสาธารณะอย่างตรงไปตรงมาเพราะเราเชื่อว่ามันจะเป็นประโยชน์กับคนอย่างน้อยสามฝ่าย ทั้งกับตัวคนที่เคลื่อนไหว กับวงการสื่อด้วยกันซึ่งจะเป็นการยืนยันเพดานการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน หากที่อื่นเห็นว่าเรานำเสนอบ้างในอนาคตพวกเขาก็จะนำเสนอบ้าง และสุดท้ายตัวผู้รับสารที่จะได้รับทราบเหตุการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วน ส่วนจะเห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรือไม่คงเป็นเรื่องที่ผู้รับสารจะต้องไปตัดสินใจ”

The Battle Ground

“เรื่องการลงสมัครสว. นี่ จริงๆผมเองก็ติดตามประเด็นนี้มาระยะหนึ่ก็ได้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองส่วนใหญ่มักจะติดขัดในด่านสว. พอมีแคมเปญชวนคนสมัครสว.ของ Senate67 ผมก็เลยคิดว่าอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญทั้งเพราะตัวเองก็รู้จักนักเคลื่อนไหวหลายๆคนและตัวผมเองก็เพิ่งจะอายุ 40 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ลงสมัครได้ในขณะที่เพื่อนๆอีกหลายคนยังไม่มีสิทธิ”

“แรกเริ่มผมหวังแค่จะเป็นโหวตเตอร์เพราะประเมินว่าคงยากที่ตัวเองจะไปถึงปลายทาง ซึ่งสำหรับผมเพียงแค่การเป็นโหวตเตอร์ก็ทำอะไรได้หลายอย่างแล้ว เพราะในขณะที่เรามีโอกาสพบปะผู้สมัครคนอื่นเราก็จะมีโอกาสนำเสนอจุดยืนและทำงานทางความคิดกับผู้สมัครคนอื่นได้ ในช่วงที่มีโอกาสแนะนำตัวผมหรือมีคนมาขอคะแนนสนับสนุน ผมก็จะประกาศเลยว่าผมมีจุดยืนอะไร ต้องการอะไร เช่น ต้องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือต้องการนิรโทษกรรมประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองทุกคดี แล้วก็ถามผู้สมัครอีกคนว่าเขามีจุดยืนแบบไหน ถ้ามาทางเดียวกันผมก็จะเก็บไปพิจารณาเรื่องการลงคะแนน”  

“ผมไปลงสมัครกลุ่ม 18 ที่บ้านอำเภออัมพวา พอสมัครแล้วผู้สมัครในสมุทรสงครามเขาก็ตั้งกลุ่มไลน์ระดับจังหวัดกันแล้วค่อยแยกมาทำความรู้จักเป็นรายอำเภอเพราะจังหวัดเรามีคนสมัครไม่มาก ในกลุ่มไลน์ผมมักจะส่งข่าวสารที่คิดว่ามีประโยชน์โดยเฉพาะพวกข่าวสารความคืบหน้าเกี่ยวกับกฎหมายต่างๆจนผมถูกแปะป้ายว่าเป็น สว.สีส้ม (หัวเราะ) บางคนก็มองว่าการที่ผมไปฟ้องศาลปกครองเรื่องระเบียบการแนะนำตัวว่ามันทำให้กระบวนการยุ่งยาก”

“ที่ผมเข้ามาถึงรอบระดับประเทศได้ อาจเป็นเพราะผมมาจากทุ่งลาเวนเดอร์ที่ไม่ต้องไปฟาดฟันกับใครหลายๆคน กติกานี้คนที่อยู่คนสุดท้ายมันคือผู้รอด มันไม่ใช่ผู้ชนะหรือผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดนะ อำเภอหรือจังหวัดที่ผมลงสมัคร คู่แข่งมันน้อย ถ้าผมอยู่ในทะเลแดงเดือดอย่างกรุงเทพ ผมคงไม่รอด และจุดยืนชัดๆของผมที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับเนี่ย แม้ว่าในกลุ่มผู้สมัครจะมีจุดยืนคล้ายกันก็อาจจะไม่ได้มีมากจนเป็นหลักประกันว่าคุณจะได้เข้าไปรอบลึก ถ้าอยู่กรุงเทพ คุณอาจต้องฟาดฟัน หรือหักหลังคนอื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนหรือเอาตัวรอด ซึ่งระดับอำเภอกับจังหวัดผมไม่ได้ผ่านกระบวนการแบบนั้น”

“บรรยากาศรอบเลือกไขว้ระดับประเทศวันนั้นเข้มงวดมาก เจ้าหน้าที่ไม่ให้มองหน้า สบตากัน ให้เวลาอ่านใบแนะนำตัวหนึ่งชั่วโมง  จำได้ว่ากลุ่มของผมไปไขว้กับ กลุ่ม 1 ข้าราชการ, กลุ่ม 4 สาธารณสุข, กลุ่ม 6 ทำสวน ประมง และกลุ่ม 17 ภาคประชาสังคม พอรู้ว่ามีกลุ่ม 1 ด้วยเราก็โอเค ไม่คาดหวังละเพราะผมเขียนในใบแนะนำตัวว่า “ตรวจสอบอำนาจรัฐและทุน” ถ้าเขาอ่านใครเขาจะมาเลือกเรา นึกออกมะ (หัวเราะ) ส่วนภาคประชาสังคมเราก็รู้สึกพอมีความหวังขึ้นมาหน่อย”

“แม้จะทำการบ้านมาแล้วนะว่าจะเลือกใครดี แต่กลุ่ม 6 นี่ไม่รู้ว่าใครเป็นใครจริงๆ เลยคิดว่าจะไปคุยหน้างาน แต่เจ้าหน้าที่ไม่ให้คุย ก็พยายามหาคีย์เวิร์ดจากใบแนะนำตัวว่ามีใครเขียนอะไรที่ยึดโยงกับประชาชนบ้าง หรือส่งเสริมประชาธิปไตย ก็เจออยู่สองสามคนที่พออนุมานได้”
“พอผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายระดับประเทศ ผมได้จับสลาก เพราะคนที่ได้คะแนนเป็นอันดับที่สิบของกลุ่มมีอยู่สองคนที่ได้คะแนนเท่ากัน ตอนนั้นพี่คนหนึ่งที่รู้จักกับผมตั้งแต่การเลือกระดับอำเภอที่ผ่านเข้ารอบไปแล้วได้ยื่นพระมาให้ผม อันนี้ขอบอกเผื่อสายมู (หัวเราะ) เลยว่าที่เขาให้ผมยืมมาถือเป็นหลวงพ่อบ้านแหลม วัดเพชรสมุทรวรวิหาร และก็ท้าวเวสสุวรรณ วัดจุฬามณี"

"เรื่องที่เล่ามามองมุมหนึ่งก็เป็นเรื่องโชคลาง เรื่องพลังศักดิ์สิทธิ์บางอย่าง แต่สำหรับผมพลังที่แท้จริงมันมาจากคนที่ยื่นพระให้ เพราะมันแสดงถึงความเชื่อมั่นและพลังที่เพื่อนผู้สมัครอีกคนหนึ่งส่งพลังมาให้ผม และหากมองย้อนกลับไปมันก็เป็นพลังของผู้สมัครที่เป็นโหวตเตอร์อีกหลายๆคนที่ส่งให้ผมได้เข้ามาถึงรอบสุดท้ายและมีคะแนนมากพอที่จะมีโอกาสได้จับสลาก”

“ตอนแรกจับมา ผมยังไม่รู้ว่าผมได้ แต่เห็นอีกคนที่จับก่อนก็เปิดแล้วเขารู้ว่าเขาไม่ได้ เราก็เลยโอเคเราได้แหละ แต่เอาจริงๆนะ ความรู้สึกของผมตอนนั้นจริงๆเลยคือ ง่วง (หัวเราะ) คือไม่ไหวละ ถ่านจะหมดนึกออกปะ แล้วเราก็นั่งจดคะแนน เราก็พยายามจดทุกคะแนน คือมันไม่ไหว เราไปตั้งแต่7 โมงเช้า จบอีกเช้าของอีกวัน”

ให้ Digital Footprint และภาคประชาสังคมเป็น "ปฏัก" กำกับทิศทาง

“ผมพูดตั้งแต่ครั้งแรกที่ผมเสนอตัวลงสมัครเลยว่า ผมไม่ได้มาด้วยตัวของผมเองร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่หมายถึงว่ามีคนจ้างผมลงสมัครนะ แต่ผมหมายถึงว่าในการเลือกสว.ด้วยระบบที่เป็นอยู่การจะได้รับเลือกเพียงเพราะคุณสมบัติส่วนตัวของผู้สมัครเนี่ยมันแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะระบบมันออกแบบให้ผู้สมัครต้องหาพวก”

“การที่ผมได้รับเลือกในครั้งนี้ ผมระลึกเสมอว่ามันไม่ใช่เพราะผมเจ๋ง หรือผมเก่ง แต่เป็นเพราะมีภาคประชาสังคมเช่นแคมเปญ Senate67 ที่รณรงค์ให้ประชาชนที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ลงสมัครสว.ให้เยอะที่สุด ผมชนะเพราะเพื่อนผู้สมัครบางส่วนให้ความเชื่อมั่นและลงคะแนนให้ บางคนก็ลงคะแนนชนิดที่เรียกว่า “พลีชีพ” คือเข้ามาเพื่อเป็นโหวตเตอร์โดยเฉพาะ”

“ผมจึงระลึกเสมอว่าชัยชนะที่ผมได้รับมันคือชัยชนะของทุกๆคน ไม่ใช่ชัยชนะของผมในฐานะปัจเจกเพียงคนเดียว เมื่อถึงวันที่ผมจะต้องเดินเข้าสภา การทำตามอำนาจหน้าที่ในฐานะสมาชิกวุฒสภาของผมจะไม่ใช่เจตจำนงเสรีที่ผมจะโหวตอะไรก็ได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบกับใคร แต่จะเป็นไปตามเจตจำนงร่วมของผู้คนที่ร่วมกันส่งพลังให้ผมเข้ามาตรงนี้ เพื่อสานต่อภารกิจแทนพวกเขา เช่นการลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การออกกฎหมายนิรโทษกรรม รวมถึงการทำหน้าที่นิติบัญญัติอื่นๆในลักษณะที่จะเป็นการปกป้องและขยายพื้นที่สิทธิเสรีภาพของประชาชน”

“ตลอด 20 ปีที่ผมอยู่ในเส้นทาง Activist และเป็นนักข่าว ผมระลึกเสมอว่าการทำหน้าที่ของผมจะถูกตรวจสอบโดยสาธารณะและผมก็ครองตนภายใต้จรรยาบรรณเรื่อยมา แต่ผมก็คงไม่สามารถรับประกันได้ 100% ว่าเมื่อเข้าสภาไปแล้วผมจะไม่เปลี่ยนไป หรือผมจะไม่กลายเป็นสว.ที่เฉื่อยชา ดังนั้นสิ่งที่ผมพยายามจะทำในวันนี้คือการโพสต์เงื่อนไขและจุดยืนต่างๆต่อสาธารณะเพี่อให้สิ่งเหล่านั้นได้กลายเป็น digital footprint ที่บันทึกเจตนาและคำมั่นสัญญาของผมไว้คอยย้ำเตือนในวันที่ผมอาจจะเดินออกนอกเส้นทางและผมก็ขอฝากให้ภาคประชาสังคมช่วยติดตามการทำหน้าที่ของผมและคอยเป็นปฏักคอยทิ่มแทงเพื่อย้ำเตือนหากมีวันที่ผมได้ใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่เคารพเจตนารมณ์และพันธะสัญญาที่เคยให้ไว้ก่อนได้รับตำแหน่ง"
 

เรื่องและภาพโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์