Skip to main content

23 มิถุนายน 2567 เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ อีสาน ร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น จัดการเดินขบวนเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเดือนแห่งความหลากหลาย โดยเริ่มต้นเดินขบวนจากหน้า Khon Kaen Innovation Center ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น ไปสิ้นสุดขบวนที่ห้างเซ็นทรัลขอนแก่นเป็นระยะทางประมาณ 800 เมตร โดยนอกจากองค์กรภาครัฐและเอกชนแล้วยังมีตัวแทนพรรคการเมืองทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคไทยสร้างไทยมาร่วมเดินขบวนด้วย 






สำหรับป้ายที่ถือในงานส่วนใหญ่เป็นป้ายที่พูดถึงสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศและความเสมอภาคทางเพศ ขณะเดียวกันก็มีนักกิจกรรมเช่นกลุ่ม เฟมะนิดเฟรนด์มีต ที่นำป้ายเขียนข้อความเกี่ยวกับประเด็นสงครามในกาซาและป้ายที่มีข้อความคัดค้านการฟอกรุ้งหรือการนำสัญลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศไปหาประโยชน์มาถือด้วย

นักกิจกรรมกลุ่มดังกล่าว พูดคุยพิพิธภัณฑ์สามัญชนฟังว่า พวกเธอรู้สึกว่า การมาร่วมเดินไพรด์ครั้งนี้เหมือนการมาเดิน "กีฬาสี" พวกเธอจึงอยากเข้ามาร่วมเดินในธีม The First Pride was Riot เพื่อชวนให้ผู้ทีมาร่วมเดินย้อนรำลึกถึงที่มาของการเดินไพรด์ครั้งแรกว่ามีจุดกำเนิดจากการลุกขึ้นสู้ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่ผับ Stone Wall ในนิวยอร์กหลังพวกเขาต้องถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังและปฏิบัติด้วยความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 1969 (2512) 
นักกิจกรรมของกลุ่มเฟมะนิดเฟรนด์มีตเล่าต่อไปว่า ก่อนมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ พวกเธอนัดพบกันและทำป้ายอย่างง่ายๆ โดยใช้สีพ่นหรือเขียนบนป้ายที่ทำมาจากลังกระดาษ สำหรับป้ายที่มีข้อความต่อต้านสงครามในปาเลสไตน์ 










พวกเธอเห็นว่าคนในปาเลสไตน์กำลังเผชิญวิกฤตจากการถูกทิ้งระเบิดใส่จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก 
แม้ชาวปาเลสไตน์ส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลามและในกลุ่มคนเหล่านั้นอาจจะมีคนบางส่วนที่มีทัศนคติในเชิงลบหรือมีอคติกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศแต่พวกเขาก็ไม่ควรถูกทิ้งระเบิดใส่หรือต้องเผชิญชะตากรรมดังที่เป็นอยู่ นอกจากนั้นในพื้นที่ปาเลสไตน์ก็มีกลุ่มคนหลากหลายทางเพศทำงานเป็นอาสาสมัครอยู่และพวกเขาก็ไม่ได้ถูกทำร้ายโดยชาวมุสลิม พวกเธอจึงไม่อยากให้ประเด็นดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นเพื่อจำกัดไม่ให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศแสดงออกเพื่อคัดค้านการฆ่าหรือทำร้ายเพื่อนมนุษย์
























นักกิจกรรมกลุ่มเฟมะนิด เฟรนด์มีต ระบุด้วยว่าแม้ขระนี้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะผ่านแล้วแต่ก็ยังมีอีกหลายๆประเด็นที่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศในไทยยังต้องเผชิญปัญหาหรือต้องต่อสู้เรียกร้องต่อไปอยู่ ทั้งเรื่องคำนำหน้านาม รวมถึงเรื่องการรับเลี้ยงบุตร โดยเฉพาะในประเด็นหลังที่มีกลุ่มคนหลากหลายทางเพศหลายๆคู่ที่พร้อมรับอุปการะเด็กแต่ไม่สามารถทำได้เพราะกฎหมายยังไม่เอื้ออำนวย
เรื่องและภาพโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์