Skip to main content

ต้นปี 2567 ประชาชนในตำบลดงลาน อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น ได้รับจดหมายจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น เชิญให้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อโครงการทำเหมืองหิน หลังได้รับจดหมายดังกล่าว ธา ชาวตำบลดงลานได้ตั้งสร้างเพจเฟซบุ๊ก "กลุ่มรักษ์ดงลาน" และได้โพสต์ภาพจดหมายดังกล่าวเพื่อส่งข่าวกับประชาชนและลูกหลานชาวดงลาน หลังโพสต์ภาพจดหมายได้ไม่นานก็มีประชาชนในดงลานเข้ามาแสดงความคิดเห็นท้ายโพสต์เป็นจำนวนมากรวมทั้ง อินเตอะ บ้านเดิ่น คนเลี้ยงวัวชาวดงลานวัย 43 ปี โดยอินเตอะได้บอกกับธาว่าเธอไม่เห็นด้วยกับการขอประธานบัตรของบริษัทเพื่อเข้ามาทำเหมืองในพื้นที่ทั้งสองฉบับ อิเตอะเห็นว่าหากปล่อยให้มีการสร้างเหมืองชาวดงลานจะได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง เธอจึงจุดธูป 21 ดอก เดินวนรอบเขาดิน ซึ่งเป็นหนึ่งในภูเขาที่เป็นพื้นที่ที่ทำเหมืองหินเพื่อขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิให้ช่วยบันดาลให้การคัดค้านเหมืองประสบความสำเร็จพร้อมอธิษฐานว่า หากการเคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างเหมืองสำเร็จ เธอจะบวชชีพราหมณ์เพื่ออุทิศบุญแก่เจ้าป่าเจ้าเขาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย 

หลังตั้งจิตอธิษฐานได้เพียงครู่เดียวธาก็ติดต่อเธอมาเพื่อชวนให้เดินทางไปอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนในพื้นที่ก่อสร้างเหมืองสามารถรวมตัวคัดค้านการก่อสร้างเหมืองหินในพื้นที่ได้สำเร็จ การเดินทางนั้นครั้งนั้นธาต้องเซ็นเชื่อเพื่อเติมน้ำมันรถเป็นเงิน 500 บาท แต่ก็ถือเป็นการเดินทางที่คุ้มค่าเพราะคนที่บ้านซำผักหนาม อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิได้ให้คำแนะนำต่างๆเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหว หลังเดินทางไปจังหวัดชัยภูมิอินเตอะและสุธามองเห็นความจำเป็นที่จะต้องขยายแนวร่วมในพื้นที่ออกไปให้กว้างขวางซึ่งนำไปสู่การเชื่อมร้อยกับกลุ่ม "เที่ยววิถีสีชมพู" ลูกหลานชาวดงลานที่เริ่มทำงานท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ในพื้นที่จนทำให้อำเภอดงลานเป็นที่รู้จักของคนภายนอกตั้งแต่ปี 2563 ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้คัดค้านการก่อสร้างเหมืองเพื่อปกป้องวิถีชีวิตและระบบนิเวศน์ของชุมชน ท้ายที่สุดกลุ่มรักษ์ดงลานจึงก่อกำเนิดขึ้น



 

                                                 หนังสือเชิญประชาคมเพื่อให้ความเห็นต่อการสร้างเหมืองหินที่ชาวบ้านในหมู่ 8 และ หมู่ 11 ตำบลดงลานได้รับ




                                                                                   อินเตอะ ขณะนำทีมงานพิพิธภัณฑ์สามัญชนขึ้นไปสำรวจผาแต้ม

เค้าลางการสร้างเหมือง

อินเตอะเล่าให้พิพิธภัณฑ์สามัญชนฟังว่า ก่อนหน้าที่จะมีการสร้างเหมือง เธอก็เป็นชาวบ้านธรรมดาทั่วไปที่ประกอบอาชีพเลี้ยงวัว อินเตอะเป็นคนรักสันโดษ เธอมักเลี้ยงวัวอยู่ที่เถียงนาซึ่งอยู่ใกล้กับภูเขาที่ต่อมาจะกลายเป็นพื้นที่เป้าหมายของบริษัทเหมือง ทั้งตัวอินเตอะและคนในชุมชนต่างไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะมีการทำเหมืองในพื้นที่ โดยก่อนหน้านี้ในช่วงทศวรรษที่ 2530 เคยมีนายทุนเข้ามาซื้อที่ดินในหมู่บ้าน โดยคนที่เข้ามาอ้างกับคนในพื้นที่ว่า ตามกฎหมายรัฐอนุญาตให้ประชาชนถือครองที่ดินไม่เกินคนละ 7 ไร่ 2 งานเท่านั้น คนในพื้นที่หลายคนไม่รู้เรื่องเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริงก็เลยพากันขายที่ดินส่วนที่เกินเจ็ดไร่สองงานออกไปเพราะคิดว่าอย่างน้อยๆก็ได้เงินคืนมาบ้าง ครั้งนั้นคนที่เข้ามาซื้อที่ดินยังไม่ได้พัฒนาหรือใช้ประโยชน์จากที่ดินแต่อย่างใด



                                                                                        พื้นที่ใกล้เคียงกับที่มีบริษัทเข้ามาขอประทานบัตรเหมือง

ล่วงมาจนถึงปลายปี 2566 อินเตอะเริ่มสังเกตว่าบริเวณใกล้เคียงกับเถียงนาที่เธอปลูกไว้เฝ้าวัว เริ่มมีคนแปลกหน้าเข้ามาทำงานในลักษณะใช้เครื่องมือวัดระยะอะไรบางอย่าง อินเตอะเข้าใจว่าบุคคลดังกล่าวน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ก็เลยเข้าไปสอบถามเขาทำนองว่ามาเพื่อปรับปรุงสภาพป่าให้ดีขึ้นใช่หรือไม่ ชายคนดังกล่าวก็ได้แต่ยิ้มแต่ก็ไม่ได้ตอบอะไร สุดท้ายเธอก็ได้แต่ถามเขาว่ามีข้าวมีน้ำกินเรียบร้อยแล้วใช่หรือไม่แล้วก็ผละออกมา

อินเตอะเล่าต่อไปว่าหลังเหตุการณ์ดังกล่าวก็มีชายคนหนึ่งลักษณะแต่งตัวดีขับรถเข้ามาในพื้นที่ แล้วก็ถามเธอทำนองว่า “จะอาศัยอยู่ในพื้นที่นึ้อีกนานไหม” อินเตอะตกใจว่าเหตุใดชายคนดังกล่าวจึงถามเธอในลักษณะนั้น เธอจึงถามกลับไปว่าแล้วชายคนดังกล่าวเป็นใคร เหตุใดจึงมาถามคำถามลักษณะนี้ สุดท้ายก็ได้คำตอบว่าชายคนดังกล่าวมาจากบริษัทเหมือง จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์เรื่องทั้งหมดจึงกระจ่างออกมาเมื่อคนในบ้านหมู่ 8 รวมทั้งตัวอินเตอะและบ้านหมู่ 11  ได้รับจดหมายเรื่องการประชาคม




                                  ทางขึ้นไปชมภาพเขียนสีบนผาแต้มที่ยังเป็นทางธรรมชาติเกือบ 100% มีเพียงบางจุดที่มีการนำเชือกไปมัดเพื่อให้ปีนขึ้นได้อย่างสะดวกขึ้น

กลับบ้านเกิด ก่อรูปวิถีสีชมพู

ก่อนที่เค้าลางแห่งเหมืองจะปรากฎในช่วงต้นปี 2567 พื้นที่ตำบลดงลานเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวมาบ้างแล้วตั้งแต่ช่วงหลังปี 2563 ในเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดี มีการค้นพบภาพเขียนสีของมนุษย์โบราณรวมถึงซากฟอสซิลกระจายตัวอยู่ตามภูเขาหินขนาดเล็กหลายๆลูกในพื้นที่ โดยจุดที่เป็นไฮไลท์ได้แก่ภาพเขียนสีการประกอบพิธีขอฝนที่อยู่บนผาแต้ม แต่ในช่วงแรกคนในพื้นที่ก็ยังไม่ได้ทำกิจการด้านการท่องเที่ยว ได้แต่ทำการเกษตรเลี้ยงสัตว์ตามวิถีชีวิตเดิม

อีฟ ชาวตำบลดงลานวัย 40 ปี ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม “เที่ยววิถีสีชมพู” เล่าให้พิพิธภัณฑ์ฟังว่าตัวเธอเป็นคนที่ตำบลดงลาน แต่ได้ไปใช้ชีวิตนอกพื้นที่อยู่ระยะหนึ่ง โดยเธอได้ไปเรียนปริญญาตรีด้านการตลาดที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา ก่อนจะไปทำงานอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกและกรุงเทพ แต่เมื่อไปใช้ชีวิตต่างถิ่นได้ราว 9 ปี เธอก็ตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านในปี 2561 เพราะรู้สึกอิ่มตัวกับการเป็นลูกจ้างที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ



ทัศนียภาพที่สวยงามของพื้นที่ตำบลดงลาน มองจากบนผาแต้ม

                                                                      นักท่องเที่ยวเดินทางด้วยรถอีแต๋นของชาวบ้าน รูปแบบการท่องเที่ยวที่ริเริ่มโดยกลุ่มเที่ยววิถีสีชมพู

หลังกลับมาอยู่บ้านเธอตัดสินใจว่าจะทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่โดยเปิดร้านอาหารและโฮมสเตย์ ล่วงมาถึงปี 2563 เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด19 ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจหลายๆประเภทต้องหยุดทำการจนนำไปสู่การปลดหรือเลิกจ้างพนักงาน คนอายุรุ่นราวคราวเดียวกับอีฟหรือคนที่อายุน้อยกว่าอีฟส่วนหนึ่งตัดสินใจกลับบ้านในช่วงเวลาดังกล่าว

เมื่อประตูบานหนึ่งปิดลง ประตูบานใหม่จะเปิดออกเสมอ กลุ่มคนดงลานพลัดถิ่นที่กลับบ้านเพราะสถานการณ์โควิดส่วนหนึ่งตัดสินปักหลักที่บ้านเกิดและร่วมกันสร้างกลุ่ม เที่ยววิถีสีชมพูขึ้นมาเพื่อให้บริการการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วิถีชุมชนอย่างแท้จริง







   ตัวอย่างภาพเขียนสีบนผาแต้มที่ค้นพบโดย บุญชู ซึ่งเป็นคนในตำบลดงลาน จากการสัมภาษณ์อินเตอะไม่ทราบปีที่คนพพบ ทราบเพียงว่ากรมศิลปากรเข้ามาสำรวจพื้นที่นี้แล้วเมื่อประมาณปี 2558

ด้วยความสามารถในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ และการตลาด กลุ่มเที่ยววิถีสีชมพูสามารถใช้การเล่าเรื่องและการสื่อสารดึงศักยภาพในฐานะแหล่งท่องเที่ยวของตำบลดงลานออกมาได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันทางกลุ่มเองก็คำนึงถึงการสร้างการมีส่วนร่วมให้กับคนในชุมชนด้วยการให้คนในชุมชนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนของการเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทั้งการป้อนวัตถุดิบ การให้บริการด้านอาหาร บริการพาหนะในการนำเที่ยวด้วยรถอีแต๋น รวมถึงการเป็นไกด์ชุมชน ส่งผลให้คนในชุมชนมีทางเลือกในทางอาชีพมากขึ้น

                                                                                              สติกเกอร์โลโกกลุ่มเที่ยววิถีสีชมพู (มุมขวาแถวบนสุด)

ลุกขึ้นสู้เพราะวิถีชีวิตถูกสั่นคลอน

ข่าวการประชาคมเพื่อสำรวจความเห็นเกี่ยวกับการทำเหมืองหินส่งผลให้คนทั้งรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่ในหมู่ดงลานต้องรวมตัวกันเพื่อปกป้องวิถีชีวิตของตัวเอง กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เข้ามาช่วยวางแผนการทำงานสื่อสาร เพื่อทำให้ประเด็นปัญหาของคนในตำบลดงลานถูกสื่อสารไปสู่คนภายนอก

อินเตอะให้ข้อมูลว่าคนในกลุ่มเที่ยววิถีสีชมพูซึ่งเป็นที่รู้จักของคนภายนอกและมีผู้ติดตามบนเฟซบุ๊กเป็นจำนวนมาก (จากการสำรวจในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 เพจเที่ยววิถีสีชมพูมีผู้ติดตาม 9.7 หมื่นบัญชี) ได้เข้ามาช่วยกลุ่มรักษ์ดงลานในการทำงานสื่อสารสาธารณะ









ตัวอย่างป้ายคัดค้านเหมืองหินที่ชาวบ้านหมู่แปดขึ้นในชุมชนและที่ศาลากลางของหมู่บ้านตั้งแต่ก่อนวันประชาคม 15 มีนาคม 2567

ในส่วนของประชาชนในพื้นที่เอง อินเตอะก็ระบุว่าหลายๆคนมีความตื่นตัวที่จะเข้ากิจกรรมและแสดงออกซึ่งการคัดค้านการทำเหมืองในพื้นที่ สำหรับเหตุผลหลักที่ทางกลุ่มรักษ์ดงลานยกมาใช้เป็นข้อต่อสู้ในการคัดค้านการทำเหมือง ได้แก่เหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งในบริเวณใกล้เคียงกับจุดที่จะมีการทำเหมืองมีตาน้ำซึ่งเป็นต้นน้ำที่คนในพื้นที่ใช้อุปโภคบริโภค อินเตอะให้ข้อมูลด้วยว่าน้ำจากตาน้ำดังกล่าวยังไหลไปถึงลำน้ำพองซึ่งอยู่ในจังหวัดเลยด้วย ข้อต่อสู้อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาต่อสู้ได้แก่ประเด็นที่มีการค้นพบภาพเขียนสีของมนุษย์โบราณและซากฟอสซิลในพื้นที่ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ตำบลดงลานมีแหล่งโบราณคดีที่สำคัญซึ่งทั้งสองข้อทำให้พื้นที่ที่จะมีการทำเหมืองเข้าข่ายพื้นที่ยกเว้นไม่ให้มีการทำเหมืองตามมาตรา 17 วรรค 4 ของพ.ร.บ.แร่ ปี 2560 โดยในข้อหลังอินเตอะระบุว่าแม้จะยังไม่มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีบนภูเขาที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่ทำเหมืองหนึ่งในสองลูก แต่ภูเขาลูกดังกล่าวก็ห่างจากภูเขาที่มีการค้นพบภาพเขียนสีของมนุษย์โบราณไปราว 300 เมตรเท่านัันจึงกังวลว่าหากมีการอนุญาตให้ทำเหมืองบนพิ้นที่ดังกล่าวแรงสั่นสะเทือนจะส่งผลกระทบมาถึงจุดที่มีภาพเขียนสี

ตั้งแต่ก่อนวันที่ 15 มีนาคมซึ่งเป็นวันที่จะมีการประชาคมเพื่อรับฟังความคิดเห็นกลุ่มรักษ์ดงลานมีการพูดคุยกันว่าจะคัดค้านไม่เข้าร่วมการประชาคม นอกจากนั้นยังแสดงออกด้วย การเขียนป้ายข้อความคัดค้านการทำเหมืองไปติดตามที่ต่างๆในชุมชนหมู่แปดด้วย ในช่วงแรกคนในชุมชนยังไม่มีเงินที่จะใช้ซื้อผ้าขาว พวกเขาจึงนำวัสดุเหลือใช้อย่างถุงปุ๋ยมาทำเป็นป้ายจำเป็น อินเตอะเล่าด้วยว่าในช่วงที่มีการติดป้ายมีผู้ใหญ่บ้านหรือฝ่ายปกครองบางคนมาพูดกับคนที่ติดป้ายทำนองว่าติดไม่ได้ ผิดกฎหมาย แต่คนในชุมชุนก็ยืนยันว่าการติดป้ายเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพของพวกเขา

อีฟเล่าว่าในวันที่มีการประชาคม กลุ่มรักษ์ดงลานเตรียมลำโพงตัวเล็กๆไว้ใช้ปราศรัยที่หน้าศาลาประชาคมแต่ทางฝ่ายผู้จัดการประชาคมได้เตรียมเครื่องเสียงขนาดใหญ่มาใช้จนกลบเสียงลำโพงที่คนในชุมชนเตรียมมา แต่เนื่องจากคนในชุมชนหมู่แปดมีการรวมตัวอย่างเข้มแข็ง สุดท้ายก็ไม่มีคนในชุมชนเข้าไปร่วมการประชาคม




         ศาลาเอนกประสงค์วัดบรรพตวารีราษฎร์ สถานที่จัดการประชุมระหว่างกลุ่มรักษ์ดงลานกับเจ้าหน้าที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ขอนแก่นที่ถูกขัดจังหว่ะโดยฝ่ายปกครองท้องถิ่น

นอกจากการต่อสู้คัดค้านในวันประชาคม กลุ่มรักษ์ดงลานยังต่อสู้เพื่อปกป้องชุมชนของพวกเขาด้วยวิธีการอื่นๆด้วย ทั้งการไปยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รวมถึงกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนั้นกลุ่มรักษ์ดงลานยังประสานงานกับองค์กรภาคประชาสังคมนอกพื้นที่ รวมถึงชุมชนอื่นๆที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองเพื่อทำงานรณรงค์สาธารณะและเชิญให้มาเยี่ยมที่ชุมชนด้วย

ครั้งหนึ่งทางกลุ่มรักษ์ดงลานจัดประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ศาลาวัดในชุมชนซึ่งได้สร้างความไม่พอใจให้กับผู้บริหารท้องถิ่นถึงขั้นเข้ามาต่อว่า ว่าทางกลุ่มใช้พื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต ก่อนที่เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจะช่วยไกล่เกลี่ย อินเตอะยังเล่าด้วยว่าในการประชุมหมู่บ้านครั้งหนึ่งเคยมีคนจากฝ่ายบริหารท้องถิ่นพูดถึงขั้นว่า จะไปคัดค้านเขาทำไม ยังไงการสร้างเหมืองก็จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว ที่สำคัญ ลูกปืนก็ราคาลูกละแค่สามสิบถึงสี่สิบบาท มันคงไม่คุ้มที่จะเอาชีวิตไปเสี่ยง ซึ่งอินเตอะก็ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดคนจากฝ่ายบริหารท้องถิ่นจึงพูดในลักษณะนั้นแทนที่จะปกป้องผลประโยชน์ของชุมชน


                                                                         เสื้อที่ทางกลุ่มรักษ์ดงลานจัดทำขายเพื่อระดมทุนสำหรับทำกิจกรรมคัดค้านเหมือง

สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับการก่อสร้างเหมืองขณะนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหวเนื่องจากอยู่ระหว่างการชี้ขาดว่าพื้นที่ที่จะมีการทำเหมืองอยู่ในอำเภอใดระหว่างอำเภอสีชมพูหรืออำเภอชุมแพ โดยทางบริษัทเหมืองเคยยื่นขอประทานบัตรไว้กับอำเภอชุมแพ หากมีข้อสรุปว่าพื้นที่อยู่กับอำเภอชุมแพทางบริษัทก็จะสามารถดำเนินการเพื่อจัดตั้งเหมืองต่อไปได้เลย แต่หากพื้นที่ทำเหมืองอยู่กับอำเภอสีชมพูทางบริษัทก็จะต้องเริ่มกระบวนการทางเอกสารใหม่ทั้งหมด ซึ่งทางกลุ่มรักษ์ดงลานก็ยืนยันว่าทางกลุ่มจะต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิและวิถีชีวิตของชุมชนให้ถึงที่สุด

เรื่องและภาพโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์