Skip to main content

ภาพศิลปะบอดี้แม็พ หรือแผนที่ร่างกาย 14 ชิ้น ที่รังสรรค์ขึ้นระหว่างทำเวิร์กชอปศิลปะบำบัดร่วมกับผู้ลี้ภัยจากปากีสถาน ศรีลังกา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โซมาเลีย ซิมบับเว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันระหว่างองค์การด้านสิทธิมนุษยชน Asylum Access Thailand (AAT) และศิลปินชาวสวิส Gerda Liebman โดยภาพศิลปะแต่ละชิ้นที่วาดขึ้นโดยผู้ลี้ภัยเป็นการถ่ายทอดภาพเหมือนของตนเองในอดีตทางด้านซ้าย และความหวังในอนาคตทางด้านขวา

จัดแสดงที่ TK cafe  ชั้น 8 เซ็นทรัลเวิร์ล ระหว่างวันที่ 11- 20 มิถุนายน 2567

ภายในนิทรรศการนี้ นอกจากผู้ชมจะได้เห็นประสบการณ์บาดแผลและความฝันที่ผู้ลี้ภัยสื่อสารผ่านภาพวาดศิลปะแล้ว ยังได้เห็นถึงสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นด้วยเหตุจากภัยความขัดแย้ง การถูกประหัตประหาร และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆในประเทศบ้านเกิดของเขา จนทำให้ต้องหลบหนีมาอยู่ในประเทศไทยที่เป็นบ้านอีกหลังสำหรับผู้ลี้ภัยด้วย อย่างไรก็ตาม การขาดสถานะทางกฏหมายและการคุ้มครองได้บีบให้เขากลายเป็นคนชายขอบในสังคมไทยและต้องอยู่อย่างหลบซ่อน ด้วยความหวาดกลัวและความเสี่ยงที่จะถูกส่งกลับประเทศไปเผชิญอันตรายอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น AAT จึงดำเนินโครงการปฐมพยาบาลทางจิตใจด้วยการใช้ศิลปะบำบัดเพื่อช่วยให้กับผู้เข้าร่วมหรือผู้ลี้ภัยได้หันมาสำรวจสภาพจิตใจ สร้างความตระหนักรู้ในตนเอง จัดการความเครียด และฟื้นความเชื่อมั่นในตนเอง

สำหรับวัตถุประสงค์ของนิทรรศการนี้ มีเป้าหมายเพื่อถ่ายทอดงานศิลปะของผู้ลี้ภัยสู่สาธารณะเพื่อให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างและแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากการถูกบีบบังคับให้พลัดถิ่น (Force displacement) นอกจากนี้ ยังมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของกรอบทางกฏหมาย และการนำหลักการด้านสิทธิมนุษยชนไปปฏิบัติใช้สำหรับการบริหารจัดการของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ 


 เรื่องและภาพโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์