Skip to main content

15 มิถุนายน 2567 พิพิธภัณฑ์สามัญชนจัดนิทรรศการและกิจกรรม “อ่านออกเสียง อภิวัฒน์สยาม Reading before the dawn of June 24” ชวนมาอ่านหนังสือ ฟังเสวนา และชมคอลเลคชันการอภิวัฒน์สยาม

เนื่องในวาระครบรอบ 92 ปี ประชาธิปไตยในประเทศไทยตั้งแต่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อเดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2475  ณ อาคาร All rise บ้านกลางเมืองรัชดา-ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

นิทรรศการนี้ นอกจากจะชวนทุกคนย้อนมองประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อชวนพูดคุย ถึงหลักฐานที่น่าสนใจที่สามารถต่อยอดไปได้ไกลกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่เดิมจากหนังสือหรือวรรณกรรมที่ผ่านมาด้วยมุมมองในบริบทยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ที่อาจทำให้เราได้เห็นข้อค้นพบใหม่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนเพื่อเฉลิมฉลองระบอบประชาธิปไตยไทยที่อยู่มานานถึง 92 ปี

เช่น หนังสือเรื่อง “หลังบ้าน”  โดยชานันท์ ยอดหงส์ ที่มีเนื้อหาว่าด้วยบทบาทของผู้หญิงในความสัมพันธ์และการปฏิวัติยุคคณะราษฏร  หรือหนังสือเรื่อง “ขุนศึกศักดินา พญาอินทรีย์”  โดยณัฐพล  ใจจริง ที่เคยเป็นวิทยานิพนธ์ก่อนถูกกลายมาตีพิมพ์เป็นหนังสือซึ่งชวนเปิดมุมมองเนื้อหาเกี่ยวกับขั้วอำนาจการเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 2490 รวมถึงหนังสือเรื่อง “สี่แผ่นดิน” โดยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช วรรณกรรมการเมืองที่พูดถึงตัวละครที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5-8  และหนังสืออีกจำนวนหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาอ่านออกเสียงในนิทรรศการ

ภายในนิทรรศการ นอกจากจะจัดแสดงหนังสือแล้ว ยังมีเสื้อยืด ของสะสม และของที่ระลึกเกี่ยวกับอภิวัฒน์สยามด้วย เช่น โมเดลอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญจำลอง, โมเดลพระยาพหลพลพยุหเสนาจำลองที่ในอดีตเคยตั้งอยู่ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จังหวัดลพบุรีก่อนจะหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุเมื่อเดือนมกราคม 2563, ป้ายฟิวเจอร์บอร์ดรูปจอมพล ป. พิบูลสงครามในลักษณะมีมล้อเลียนการเมือง 

รวมไปถึงหมุดคณะราษฏร และภาพถ่ายการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่เคยตั้งอยู่ที่วงเวียนหลักสี่ เขตบางเขน ซึ่งถ่ายโดยศรัญญู เทพสงคราะห์ หนึ่งในวิทยากรที่มาเล่าประสบการณ์ตอนถ่ายภาพดังกล่าวในช่วงเสวนา

เมื่อผู้ชมเดินเข้ามาในตัวนิทรรศการ จะพบกับมุมแรกที่มีความโดดเด่นและเป็นมุมที่ใช้ทำกิจกรรมอ่านหนังสือ ที่ตกแต่งด้วยภาพการ์ตูนศิลปะการเมืองและความทรงจำในชื่อชุด THE 2475 VANGAURD คณะราษฏร ออกแบบโดย The Art District 86 เนื่องในวาระครบรอบ 90 ปี อภิวัฒน์สยาม เมื่อปี 2565 โดยมีอาจารย์นริศ จรัสจรรยาวงศ์เป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์ผลงาน นอกจากนี้ ยังมีแถลงการณ์ประกาศคณะราษฏรที่ถูกโปรยลงบนพื้นบริเวณมุมนี้ด้วย เป็นการจำลองบรรยากาศบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าสถานที่ที่คณะราษฏรใช้ก่อการโดยสันนิษฐานว่าอาจมีเอกสารดังกล่าวที่พิมพ์แจกประชาชนตกหล่นตามพื้นถนนในวันนั้น

หลังจากเดินชมคอลเลคชันในนิทรรศการแล้ว ก็มีกิจกรรมฉายภาพยนตร์สั้นรางวัลชนะเลิศ “ความทรงจำของสามัญชน” (Memorial of the commoner) โดยกลุ่มนักเรียนจากอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ก่อนจะเข้าสู่ช่วงกิจกรรมอ่านออกเสียง อภิวัฒน์สยาม เวลา 17.00 น. และวงเสวนากับอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่ อาจารย์สิทธารถ ศรีโคตร ที่แต่งตัวจัดเต็มมาในชุดทหารยุค 2475 และอาจารย์ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ที่ได้ร่วมพูดคุยในประเด็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์วันชาติ เพลงชาติไทยมรดกจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ช่วงหลังจากเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม ”เป็น  “ไทย” เมื่อพุทธศักราช 2482 ซึ่งเปิดให้ฟังผ่านเครื่องเล่นแผ่นเสียงในช่วงแรกของเสวนาด้วย

ไปจนถึงประเด็นของหนังสือที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง และกราฟิกโนเวลที่นำเสนอคณะราษฏรในรูปแบบภาพการ์ตูนเรื่อง "2475 นักเขียนผีแห่งสยาม" เขียนโดย สะอาด  โดยอาจารย์ศรัญญูให้มุมมองว่าเป็นวรรณกรรมนี้ที่มีกลิ่นอายคล้ายงานของอาจารย์นริศ จรัสจรรยาวงศ์  

นอกจากนี้ อีกหนึ่งเล่มที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ "ศิลปวัฒนธรรม" ฉบับเดือนมิถุนายน 2567 ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับประเด็นในนิทรรศการนี้ด้วยคำถามที่ว่า ประวัติศาสตร์การอภิวัฒน์สยาม 2475 เป็นเรื่องที่ถูกศึกษามาอย่างยาวนานจนอาจกลายเป็นเรื่องเก่าหรือหมดประเด็นที่จะศึกษาต่อแล้วหรือไม่ ซึ่งอาจารย์ศรัญญูให้คำตอบว่า ยังไม่หมด ประวัติศาสตร์อภิวัฒน์สยามยังเป็นประเด็นที่สามารถศึกษาต่อยอดไปได้อีก เพราะเมื่อกลับไปทบทวนงานหรือวรรณกรรมเก่า เราก็ยังจะพบกับหลักฐานใหม่ หรือหากแม้ไม่พบหลักฐานใหม่ ก็อาจมองเห็นปรากฏการณ์อภิวัฒน์สยาม 2475 ด้วยมุมมองใหม่ในบริบทใหม่ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

นอกจากนี้ อาจารย์ศรัญญูยังได้เล่าถึงประสบการณ์ขณะบันทึกภาพการเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญบริเวณวงเวียนหลักสี่ เขตบางเขน เมื่อช่วงดึกวันที่ 3 - เช้าวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 พร้อมคลิปวิดีโอบรรยายประกอบที่เปิดภายในวงเสวนาด้วย ซึ่งผู้อ่านสามารถหาชมได้ทาง TikTok และ Facebook ของพิพิธภัณฑ์สามัญชน

ก่อนเข้าสู่ช่วงกิจกรรมอ่านหนังสืออีกหนึ่งเล่มเรื่อง “ก้าวสุดท้ายจากแผ่นดินไทย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ” ที่เขียนโดย ประดาป พิบูลสงคราม และส่งท้ายกิจกรรมด้วยการเป่าเค้กที่ระบุความ "Democracy Since 1932" เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 92 ปี ประชาธิปไตยไทย

 

เรื่องและภาพโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์