Skip to main content

25 พฤษภาคม 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมร่วมกับ Asia Justice and Rights  จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “คำบอกเล่าจากศิลปะ: ประวัติศาสตร์จากประชาชน” ในนิทรรศการไดอารีสามัญชน: อดีต ปัจจุบัน ความฝันของเรา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “ความหวังหลังความเจ็บปวด วังวนความรุนแรงทางการเมืองผ่านเรื่องเล่าจากผู้ได้รับผลกระทบ” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 - 25 พฤษภาคม 2567 ที่ The Jim Thompson Art Center  

โดยเนื้อหาเสวนาว่าด้วยการพูดคุยถึงภาพศิลปะแต่ละชิ้นโดยเจ้าของผลงานที่เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองและนักวิชาการผู้เข้าร่วมกิจกรรมศิลปะบำบัด  Art Therapy  “ให้อาร์ตมันฮีล” เมื่อเดือนธันวาคม 2566 เพื่อใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางให้ผู้ร่วมได้สะท้อนความรู้สึก ประสบการณ์ส่วนตัว รวมไปถึงความหวังและความฝันอันเป็นหนึ่งในวิธีฟื้นฟูสภาพจิตใจและเสริมกำลังใจในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความยุติธรรม

ทั้งนี้ หนึ่งในผู้เคยเข้าร่วมกิจกรรมศิลปะบำบัดอย่างบุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้งทะลุวัง นักโทษคดีการเมืองผู้เสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมาก็ได้ถูกพูดถึงในงานโดยเพื่อน พี่น้อง หรือคนสนิทของเธอที่ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อรำลึกถึงการจากไปของบุ้งผ่านเรื่องเล่าถึงช่วงเวลาที่เธอเคยมีชีวิตอยู่ ตลอดจนรณรงค์ให้รัฐเดินหน้าออกกฏหมายนิรโทษกรรมประชาชนในคดีการเมือง เพื่อยุติความรุนแรงทางการเมืองและไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับกรณีของบุ้งอีก

นอกจากศิลปินจะได้นำเสนอความหมายและที่มาของภาพศิลปะอย่างเต็มไปด้วยอารมณ์และความรู้สึกแล้ว บางส่วนก็ได้หยิบยกวัตถุจัดแสดงที่เกี่ยวข้องและเป็นหลักฐานความรุนแรงทางการเมืองที่ทางพิพิธภัณฑ์สามัญชนมีส่วนร่วมนำไปจัดนิทรรศการด้วย อย่างเช่น

เจน - สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์
พี่สาวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ถูกบังคับสูญหายวัย 51 ปี ได้เล่าถึงความรู้สึกผ่านคอลเลคชันวันเฉลิมที่พิพิธภัณฑ์นำไปจัดแสดงแต่ละชิ้น อย่างชิ้นแรก โปสเตอร์ประกาศตามหาวันเฉลิมที่ตีพิมพ์และถูกกระจายไปทั่วประเทศในช่วงแรกที่วันเฉลิมหายตัวไป ซึ่งเธอเล่าด้วยความรู้สึกตื้นตันและภูมิใจที่คนไทยมีการตื่นรู้ถึงปรากฏการณ์การบังคับสูญหายในไทย

นอกจากนี้ เธอได้เล่าถึง ‘โปสการ์ดวันเฉลิม’ ที่ทำเป็นภาพเคลื่อนไหวโดยให้ภาพตัววันเฉลิมขยับเลือนหายบริเวณที่ลงสีแดงซึ่งเธอให้คนออกแบบวาดให้ โดยต้องการสื่อว่าการบังคับสูญหายเป็นภัยใกล้ตัวของทุกคน เช่นเดียวกับชิ้นจัดแสดงถัดมาที่เป็น ‘หน้ากากใบหน้าวันเฉลิม’ จัดทำโดยแอมเนสตี้ เพื่อสื่อว่าทุกคนคือวันเฉลิม ทุกคนสามารถถูกทำให้หายไปได้ตลอดเวลา

ภาพวาดอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ภาพที่ 1 การออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมในประเทศไทย ที่สุดท้ายแล้วรัฐกลับมองว่าเราเป็นศัตรู

ภาพที่ 2 สื่อถึงอุปสรรคมากมายที่พบเจอตลอดเวลา 3-4 ปีที่เธอออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม

ภาพที่ 3 สื่อถึงความหวังในอนาคตที่จะได้เห็นประชาธิปไตยอย่างเต็มใบในประเทศไทย ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่

อ็อกฟอร์ด - ชาญชัย น้อยวงศ์
นักกิจกรรมทางการเมืองวัย 19 ปี ผู้ซึ่งหลงใหลในการร้องเพลงและการเต้น และมีความชื่นชอบส่วนตัวคือ สัตว์โลกน่ารัก  

อ็อกฟอร์ดเป็นนักกิจกรรมที่ผลักดันเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชน นอกจากนี้ เขายังเคยมีประสบการณ์ถูกเจ้าหน้าที่รัฐอุ้มออกจากร้านแมคโดนัลด์ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขณะนั่งรับประทานอาหาร เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2565 ด้วยข้อกล่าวหาว่าก่อกวนขบวนรับเสด็จฯ หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวก็ทำให้อ็อกฟอร์ดถูกตีตราว่าเป็นภัยความมั่นคงของรัฐตั้งแต่อายุ 17

ภาพวาดอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ภาพที่ 1  ภาพอดีตที่วาดด้วยโทนสีชมพูพาสเทล สื่อถึงคุณแม่ผู้เปรียบเสมือนเป็นสุดยอดมนุษย์และเป็นความรักอันบริสุทธิ์สำหรับอ็อกฟอร์ด ประกอบกับรูปแมวพันธุ์เปอร์เซียซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงของคุณแม่

ภาพที่ 2  ภาพสีโทนร้อนสื่อถึงโทนสีในอดีตที่ต่อเนื่องมาจากโทนสีในภาพแรก ตัดกับสีฟ้าซึ่งเป็นสีโทนเย็นที่สื่อถึงปัจจุบัน พร้อมกับฝูงนกที่กำลังโบยบินฝ่าฟันตัวสีน้ำตาลที่เปรียบเสมือนอุปสรรค ขวากหนามที่เหล่าเสรีชนกำลังเผชิญอยู่ เพื่อมุ่งหน้าไปสู่จุดหมายปลายทางที่พวกเขาวาดหวังไว้

ภาพที่ 3 ภาพภูเขา ลำธาร  และฝูงนกที่กำลังโบยบินถูกวาดขึ้นด้วยความรู้สึกของอ็อกฟอร์ดที่คิดถึงเพื่อนๆของเขาที่ขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำหรือถูกดำเนินคดีทางการเมือง  ซึ่งภาพนี้สื่อถึงความหวังในอนาคตว่าปลายทางสุดท้ายของการเคลื่อนไหว คือการที่ทุกคนจะได้รับอิสรภาพ และได้ออกมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน และได้อยู่บ้านเลี้ยงแมว

ไนซ์ - วชิรญา วชิระอังกูร 
นักกิจกรรมทางการเมืองวัย 18 ปี หนึ่งในสมาชิกกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ งานอดิเรกที่เธอชื่นชอบคือการวาดรูปและเล่นเกม เธอเป็นคนรักสัตว์โดยเฉพาะแมวซึ่งเลี้ยงไว้ที่บ้านทั้งหมดสามตัว ได้แก่ พี่เรโอ,  มานะ และเนโกะ

กิจกรรมที่เธอเคยทำคือ การเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิและเรียกร้องความยุติธรรมให้กับนักเรียนที่ถูกคุกคามจากครูในโรงเรียน รวมไปถึงกิจกรรมเคลื่อนไหวการเมืองภาพใหญ่ เช่น ม็อบโหวตฟังสภา คาร์ม็อบที่ไปตามพรรคการเมืองต่างๆ การจัดทำโพลความคิดเห็นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเกี่ยวกับยกเลิกม.112 และขบวนเสด็จฯ  ในวัย 17 ปี เธอเคยถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงขณะจัดกิจกรรมโหวตไม่ไว้วางใจรัฐบาลประยุทธ์จนกระทั่งเธอได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย และมีอาการ PTSD (กลัวเสียงฟ้าร้องเพราะวันนั้นมีฝนตก) นอกจากนี้ช่วงม็อบ APEC เธอยังผ่านประสบการณ์การถูกทำร้ายและถูกคุกคามทางเพศ

ภาพวาดอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ภาพที่ 1 ส่วนด้านบนของภาพสื่อถึงการเป็นเด็ก - ครอบครัวที่อบอุ่น และการถูกเลี้ยงดูมาอย่างดี ส่วนด้านล่างสื่อถึงการเข้าสู่วัยรุ่น ความสับสนในชีวิต อุปสรรคที่ผ่านเข้ามาโดยไม่มีวิธีการรับมือ

ภาพที่ 2 ปัจจุบันที่กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนของชีวิต ทั้งในรูปแบบของคดี การถูกคุกคาม ความสัมพันธ์กับเพื่อน และคนรัก ฯ ซึ่งมีทั้งช่วงเวลาที่ยากลำบาก และช่วงที่มีความสุข

ภาพที่ 3 อนาคต ความใฝ่ฝันที่จะทำงานในสายนิติวิทยาศาสตร์ ต้องการให้ในตัวตนของเธออนาคตยังคงมีความเป็นตัวเอง อยากให้ตัวเองภาคภูมิใจกับสิ่งที่เลือก และอยากให้แมวทั้ง 3 ตัวมีชีวิตอยู่เคียงข้างเธอต่อไปอีกนาน ๆ

ณัฐ - ณัฐชนน ไพโรจน์ 
นักกิจกรรมทางการเมืองวัย 24 ปี กิจกรรมยามว่างชอบทำ คือ ขับรถเล่น เล่นดนตรี ฟังเพลง และเล่นเกม  รวมถึงการได้ออกไปใช้เวลากับเพื่อนๆ ของเขา

ณัฐเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ปี 2561 ช่วงที่เรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งเขาถูกดำเนินคดีหลายคดีที่รวมไปถึงม.116 และ ม.112 และเคยมีประสบการณ์ถูกจับเข้าเรือนจำทั้งหมดสองครั้ง

ภาพวาดอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ภาพที่ 1 เรื่องราวของต้นไม้ต้นเล็กที่เปรียบเทียบเป็นชีวิตของเขาในวัยเด็ก กับดอกไม้น้อยที่เติบโตบริเวณใกล้เคียงเปรียบถึงคนรอบข้างที่ให้กำลังใจและถนนที่เป็นเส้นทางชีวิตของเขา ท่ามกลางบรรยากาศของทุ่งหญ้าและโรงงานที่เปรียบเทียบถึงสภาพแวดล้อมที่เขาเติบโตมา และความฝันมากมายที่เขาอยากจะทำซึ่งถูกเปรียบเทียบกับดวงดาวสีขาวบนท้องฟ้าที่สื่อถึงเป้าหมายในชีวิตของเรา และพระอาทิตย์ที่เป็นตัวแทนบอกเวลาช่วงเช้าซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของวันหรือเริ่มต้นของชีวิต

ภาพที่ 2 ต้นไม้ต้นเดิมที่เติบโตขึ้นพร้อมกับรอยแผลจากการถูกทำร้ายพาให้คิดถึงช่วงเวลาที่ผ่านมาของเขาที่ถูกดำเนินคดี อุบัติเหตุ หรือเรื่องร้ายๆ ส่วนสภาพแวดล้อมที่เป็นเมืองและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสื่อถึงสภาพแวดล้อมในชีวิตของเขาในช่วงปัจจุบันที่ทำงานขับเคลื่อนประชาธิปไตยในกรุงเทพฯ ซึ่งก็เป็นรสชาติชีวิตของเขา อีกจุดสังเกตคือรูปดาวที่มีจำนวนลดน้อยลงกว่าภาพแรกซึ่งก็สื่อถึงความฝันที่ลดน้อยลง

ภาพที่ 3 บ้านคือสิ่งที่สะท้อนถึงความต้องการของเขาที่อยากอยู่บ้านอย่างสบายๆ ในอนาคต โดยมีทิวทัศน์เป็นภูเขาที่ให้ความรู้สึกสงบใจ กับบรรยากาศท้องฟ้ายามเย็นที่สื่อถึงช่วงชีวิตที่ใกล้จบแล้ว ส่วนดวงดาวก็เปรียบถึงสิ่งที่เขาใฝ่ฝันที่กว่าจะถึงวันนั้นบางความฝันก็อาจถูกเด็ดลงมาเก็บไว้หลังบ้าน กับบั้นปลายสุดท้ายของต้นไม้ต้นเดิมที่ แม้ว่าจะเต็มไปด้วยบาดแผลและกิ่งไม้ที่หักไปบ้าง แต่เขาก็หวังว่าต้นไม้ต้นนี้จะให้ความร่มเย็นกับคนอื่นได้โดยโอบอุ้มนกตัวน้อยที่สื่อถึงเสรีภาพมาอาศัยบนกิ่งไม้ ด้วยความหวังที่ว่านกตัวนี้จะไม่เดินทางไปไหนอีก

ครูก้อย - กฤติกา โภคากร
อดีตนายกสมาคมครูเพศวิถีศึกษา (ประเทศไทย) และประธานก่อตั้งชมรมทักษะชีวิตและเพศศึกษากรุงเทพมหานคร เมื่อมีเวลาว่าง ครูก้อยจะชอบปลูกป่า พืชสมุนไพรอินทรีย์ให้กับลูกหลานที่ลพบุรี ซึ่งถือเป็นการฝึกสมาธิและเยียวยาชีวิตจิตใจไปด้วยในตัวเวลาที่ต้องการพักผ่อนออกจากสังคม

ครูก้อยเป็นครูที่ทำงานเชิงรุกด้านสิทธิเรื่องเพศมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี และลาออกมาทำงานกับ NGO ด้าน Gender หลังจากผ่านวัยเกษียณ ครูก้อยก็ได้เปิดเผยว่าตัวเองเป็น Non-Binary  ปัจจุบัน ครูก้อยเป็นหนึ่งในสมาชิกองค์การ Amnesty International Thailand และที่ปรึกษากลุ่ม Non-Binary Thailand ในทีม Democracy Unit  รวมถึงเป็นกรรมการสมาคมพราวที่ช่วยเหลือด้านการศึกษาของศูนย์เด็กและเยาวชนของแรงงานข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาคร

ภาพวาดอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ภาพที่ 1 เหตุร้ายในอดีตของเธอที่ถูกคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศในพื้นที่ชายแดนที่สร้างบาดแผลฝังลึกในจิตใจในชีวิตหลายครั้ง จนเธอตัดสินใจเลือกใช้กิจกรรมขับเคลื่อนด้วยการให้ความรู้เรื่องเพศ

ภาพที่ 2 กิจกรรมการขับเคลื่อนเรื่องเพศและการเยียวยาจากการถูกละเมิดสิทธิเนื้อตัวร่างกายของผู้คนในสังคมโดยเฉพาะเด็กและผู้หญิงที่เป็นเหมือนขุมพลังที่ทำให้ครูก้อยมีแรงทำงานต่อไป

ภาพที่ 3 อนาคตของครูก้อยที่ยังคงต่อสู้เรื่องสิทธิเพื่อเด็กและผู้หญิง

กาญ- พุทธิมา  พุทธนุกูล
หรืออีกชื่อเรียกว่า “พุทพุท” เคยเป็นผู้ประสานงานกลุ่มนักกฏหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้  Law Long Beach กิจกรรมยามว่างคือชอบจุดเทียนอ่านหนังสือเงียบๆหรือในทางตรงข้ามคือชอบอ่านหนังสือในที่ที่คนพลุกพล่าน เช่น ฟู้ดคอร์ท สวนสาธารณะ ลานใต้คณะ

กิจกรรมที่เธอทำส่วนใหญ่จะเป็นการขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงออก ห้องเรียนเพศ เคยร่วมงานกับคณะนิติศาสตร์ ม.อ. และ AI TH ด้วยการตั้งโต๊ะในลักษณะบูธกิจกรรมร่วมกับผลักดันแคมเปญต่างๆบริเวณใต้คณะซึ่งเป็นช่วงที่เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่เข้ามาคุกคามถ่ายรูป เยาะเย้ย นอกจากนี้ เธอยังเคยมีประสบการณ์เป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์คดีและผู้ช่วยทนายความของศูนย์ทนายฯ แล้วถูกคนในกระบวนการยุติธรรมพูดจาเหยียดหยามว่าเป็นผู้หญิงทำงานทนายไม่ได้หรอก อีกทั้ง เธอยังเคยถูกตำรวจท้าต่อยและปิดประตูใส่หน้าด้วย

ภาพวาดอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ภาพที่ 1 อดีตของเธอที่หม่นหมองและเป็นทุกข์ มีเพียงแต่แมวที่อยู่ข้าง ๆ เป็นเพื่อนที่ดีของเธอ ซึ่งไว้ทรงผมนักเรียนหญิงที่ต้องตัดสั้นถึงติ่งหู

ภาพที่ 2 กาญเปรียบเทียบตนเองเสมือนเป็นต้นไม้ที่กำลังร่วงโรย ด้วยตอนนั้นเธอเคยเป็นคนที่มีไฟแรง หรือมีพลังมากแต่ทว่าสิ่งที่เธออยากทำ ทำแล้วรู้สึกหนื่อยและไม่สดใสเหมือนเคย จนคนรอบข้างสามารถรับรู้ได้ถึงความสดใสที่แผ่วลงของเธอ ส่วนภาพคลื่นน้ำด้านล่างสื่อถึงกลุ่ม Law Long Beach ที่เป็นกลุ่มคนที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยและคนที่ทำให้เธอเติบโต คอยซัพพอร์ตสิ่งที่เธออยากทำ

ภาพที่ 3 อนาคตของกาญที่อยากกลับมาสดใส มีแรงและเชื่อมั่นหรือมีความมั่นคงในตัวเอง จากต้นไม้ที่เคยโอนเอนร่วงโรย กลับมาเป็นต้นไม้ที่มั่นคงและสดใส

สำหรับภาพรวมเสวนานี้ นอกจากเราจะได้เห็นมิติความเป็นมนุษย์ของศิลปินที่เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านคำบอกเล่าทั้งส่วนที่เป็นความทรงจำ บาดแผล และความหวังที่มีอย่างแตกต่างหลากหลายของแต่ละบุคคลแล้ว เรายังจะได้เห็นทางออกของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย นั่นคือ การผลักดันกฏหมายนิรโทษกรรมประชาชนในคดีการเมืองที่เป็นผลกระทบจากการทำรัฐประหารมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อเยียวยาบาดแผลของประชาชนและบรรเทาความขัดแย้งทางการเมืองด้วยความร่วมมือจากภาครัฐต่อไป

 

เรื่องและภาพโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์