Skip to main content

พิพิธภัณฑ์บ้านครูกังเป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนขนาดเล็กตั้งอยู่ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง โดยตั้งอยู่ห่างจากอนุสาวรีย์สุนทรภู่ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของอำเภอแกลงไม่มากนัก ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์เป็นบ้านไม้สองชั้น แม้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะไม่ได้มีขนาดที่ใหญ่มากนักแต่ภายในก็อัดแน่นไปด้วยของสะสมที่บอกเล่าบรรยากาศของสังคมไทยในอดีตโดยได้นำของสะสมมาจัดแสดงเป็นร้านค้าต่างๆ เช่น ร้านตัดผม ร้านถ่ายรูป ร้านตัดเย็บ และร้านขายของชำ จนทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนได้ย้อนไปเดินอยู่ในย่านการค้าเมื่อประมาณห้าสิบถึงหกสิบปีก่อน 




ตั้งแต่บริเวณทางเข้าพิพิธภัณฑ์ ผู้ชมจะถูกพาย้อนกลับไปสู่บรรยากาศของวันวานด้วยวัตถุจัดแสดงต่างๆในอดีตทั้งรถโบราณ ป้ายโฆษณาและหัวจ่ายน้ำมันของปั้มป์น้ำมันสามทหาร องค์การเชื้อเพลิง ขณะที่ในโรงจอดรถก็จะมีป้ายโฆษณาโคคาโคลาขนาดใหญ่ที่เป็นรูปวงดนตรีคาราบาวซึ่งเคยถูกติดอยู่ตามร้านอาหารในอดีต

พื้นที่จัดแสดงชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ ส่วนที่อยู่ในตัวบ้านและส่วนต่อขยายด้านหลัง ในตัวอาคารหลักมีการแบ่งห้องจัดแสดงย่อยเป็นห้องต่างๆ แต่ละห้องจำลองร้านค้าสมัยอดีตทั้งร้านตัดผมชาย ร้านตัดผมหญิง ร้านถ่ายรูป ร้านตัดเสื้อ ร้านขายของเล่น และโรงภาพยนตร์ ขณะที่ส่วนต่อขยายด้านหลังมีการจำลองห้องนอนในบ้านเรือนสมัยก่อน ห้องเรียนในอดีตและร้านขายของชำ














เมื่อผู้ชมเดินเข้าไปในห้องจัดแสดงย่อยแต่ละห้องก็จะรู้สึกเหมือนตัวเองได้หลุดเข้าไปอยู่ในร้านค้าหรือสถานที่ในอดีต เช่น เมื่อเข้าไปในร้านถ่ายรูปก็จะพบกับคอลเลคชันกล้องถ่ายรูปรุ่นเก่าที่อัดแน่นอยู่ในตู้กระจก รวมถึงป้ายโฆษณาบริษัทฟิล์ม Agfa ซึ่งน่าจะกลายเป็นความทรงจำที่เลือนรางของคนในยุคปัจจุบัน (2567) หรือเมื่อเข้าไปสู่ห้องจัดแสดงร้านตัดผมหญิงนอกจากจะได้เห็นอุปกรณ์ตัดผมย้อนยุคแล้วภายในร้านยังสร้างบรรยากาศด้วยการนำรูปถ่ายดาราไทยในอดีตรวมถึงดาราอเมริกันผู้เลื่องชื่ออย่างมาริลีน มอนโร มาประดับไว้ด้วย












สำหรับส่วนจัดแสดงบนชั้นสองของอาคารไม่ได้มีการจัดแสดงเป็นห้องแยกเฉพาะแต่มีการนำของสะสมต่างๆมาวางเรียงเป็นหมวดหมู่ทั้งแสตมป์ ธนบัตร สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องพิมพ์ดีด และเครื่องเล่นแผ่นเสียง เป็นต้น












ครูกังหรือครูบุญเกียรติ บุญช่วยเหลือ อดีตข้าราชการครูชาวตำบลกล่ำผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เล่าให้ฟังว่าเขาเริ่มสะสมของเก่ามานานแล้ว โดยเขาเริ่มรู้สึกหลงใหลในของเก่ามาตั้งแต่อายุสิบกว่าขวบเพราะเขาเติบโตในบ้านครอบครัวกงสีที่เต็มไปด้วยของเก่า ครูกังเริ่มสะสมของเก่ามาตั้งแต่สมัยยังรับราชการครู เขาตระเวนไปทั่วประเทศเพื่อรวบรวมสิ่งของต่างๆ จนเมื่อถึงปี 2559 เขาก็ตัดสินใจเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้นมา


แม้จะไม่เคยเรียนรู้งานด้านพิพิธภัณฑ์มาโดยตรง แต่ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครูที่เชื่อในการเรียนรู้ด้วยตัวเองกับความทรงจำในวัยเด็ก ครูกังก็ได้จำลองร้านรวงในอดีตขึ้นมาเป็นห้องจัดแสดงต่างๆในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ด้วย passion และความตั้งใจจริงในการทำงาน ในปี 2563 พิพิธภัณฑ์บ้านครูกังได้รับรางวัลพิพิธภัณฑ์ดีเด่นด้านการอนุรักษ์และสืบสาน สาขาพิพิธภัณฑ์ด้านชุมชนและท้องถิ่น  

เมื่อถามถึงความท้าทายสำคัญในการทำงานพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ครูกังสะท้อนว่าเรื่องจำนวนผู้เข้าชมน่าจะเป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญเพราะพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเอกชนหลายๆแห่งต่างต้องปิดตัวไปเพราะปัญหาด้านงบประมาณ สำหรับพิพิธภัณฑ์ของครูกังแม้เขาจะเก็บค่าเข้าชมแต่ก็ไม่ได้เก็บในอัตราที่สูงมากนัก เด็กคนละ 30 บาท ผู้ใหญ่คนละ 80 บาท แต่ค่าใช้จ่ายส่วนนั้นก็ถูกนำมาหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายประจำเช่นภาษี ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ขณะที่การบำรุงรักษาและการดูแลพิพิธภัณฑ์ในภาพรวมต้องอาศัยงบประมาณที่มากกว่านั้น อย่างไรก็ตามครูกังก็ยืนยันว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะมีคนมาชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มากน้อยสักเพียงใด เขาก็ยืนยันที่จะทำพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ต่อไปเพราะเป็นสิ่งที่เขารัก