Skip to main content

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวีตั้งอยู่ที่ค่ายเนินวง จังหวัดจันทบุรี แม้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะไม่ได้มีขนาดใหญ่มากนักแต่ก็มีวิธีการจัดแสดงที่น่าสนใจเพราะได้มีการจำลองเรือสำเภาขนาดเท่าของจริงขึ้นภายในพิพิธภัรณฑ์ให้ผู้ชมได้มีโอกาสปีนป่ายขึ้นไปดูวิถีชีวิตของชาวเรือด้วยตัวเอง นอกจากนี้ทางพิพิธภัณฑ์ยังชวนผู้ชมไปเรียนรู้เบื้องหลังการทำงานสำรวจและเก็บกู้วัตถุโบราณที่จมอยู่ใต้ท้องทะเล ทำให้ผู้เข้าชมไม่เพียงได้เรียนรู้ว่าวัตถุจัดแสดงที่อยู่ในห้องเคยถูกใช้เพื่ออะไรหากแต่ยังมีโอกาสได้เรียนรู้ด้วยว่า กว่าที่วัตถุจัดแสดงจะมีโอกาสมาต้องแสงไฟในห้องจัดแสดง นักโบราณคดีมีขั้นตอนการทำงานอย่างไรในการเก็บกู้วัตถุจัดแสดงเหล่านี้จากใต้ท้องทะเลลึก










พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพาณิชย์นาวีอยู่ห่างจากเทศบาลเมืองจันทบุรี (ปักหมุดจากศาลากลางจังหวัด) ออกไปประมาณ 5.6 กิโลเมตรในค่ายเนินวงซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่สามเพื่อรับการศึกจากฝั่งญวณ พื้นที่จัดแสดงส่วนแรกบอกเล่าเรื่องราวของการเดินเรือสำเภาในอดีตโดยวัตถุจัดแสดงหลักได้แก่เรือสำเภอจำลองขนาดเท่าของจริงที่ตั้งอยู่กลางโถงของห้องจัดแสดงแรก โดยผู้เข้าชมสามารถปีนขึ้นไปบนดาดฟ้าเรือเพื่อดูวิถีชีวิตของลูกเรือโดยทางพิพิธภัณฑ์ได้ทำหุ่นจำลองไต้ก๋งเรือที่กำลังตะโกนสั่งลูกเรือ รวมถึงลูกเรือที่ถูกจำลองอยู่ในอิริยาบทต่างๆ เช่น กำลังนอนพักผ่อนอยู่ที่ใต้ท้องเรือ กำลังดึงเชือกเพื่อปรับทิศใบเรือ รวมถึงกำลังแบกกระสอบบรรจุสินค้าขนาดใหญ่ บนพวงมาลัยเรือที่ติดตั้งอยู่บนดาดฟ้าเรือยังมีการจัดทำคำอธิบายที่ควรรู้เกี่ยวกับเรือสำเภาติดตั้งไว้ด้วยทำให้ผู้ชมสามารถทดลองหมุนพวงมาลัยบังคับเรือไปพร้อมๆกับการอ่านข้อมูลประกอบที่น่าสนใจ ที่บริเวณใต้ท้องเรือยังมีการจำลองคลังสินค้าของเรือไว้โดยผู้ชมสามารถมองเห็นการจัดวางสินค้าประเภทต่างๆ ทั้งเครื่องปั้นดินเผา เครื่องเทศ และสินค้าอื่นๆบริเวณใต้ท้องเรือผ่านกระจกใสที่ติดไว้บริเวณด้านนอกของใต้ท้องเรือ ในห้องจัดแสดงนี้ยังมีการจัดแสดงตัวอย่างข้าวของหรือวัตถุต่างๆที่ถูกขุดค้นเก็บกู้ขึ้นมาจากใต้ท้องเรือด้วย



ส่วนจัดแสดงต่อมาพาผู้ชมไปดูเบื้องหลังการทำงานของนักโบราณคดีที่ทำการขุดค้นทางโบราณคดีใต้ท้องทะเลเพื่อเก็บกู้วัตถุโบราณรวมทั้งสินค้าและสิ่งของอื่นๆที่จมอยู่ใต้น้ำบริเวณที่มีซากเรืออัปปาง โดยทางพิพิธภัณฑ์ได้จำลองโมเดลของนักโบราณคดีในชุดนักประดาน้ำกำลังทำงานขุดค้นอยู่บริเวณซากเรือโบราณ ในส่วนจัดแสดงนี้ทางพิพิธภัณฑ์สร้าง "กล่องลับ" ใส่สิ่งของลงไปให้ผู้ชมทดลองสัมผัสพื้นผิวก่อนเปิดดูเฉลยว่าทายถูกหรือไม่ โดยคาดว่ากิจกรรมนี้น่าจะออกแบบมาเพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์ของนักโบราณคดีใต้น้ำที่ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่มืดมิดใต้ท้องทะเล ซึ่งการจัดแสดงในส่วนนี้น่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เข้าชมรุ่นจิ๋วหันมาสนใจงานด้านโบราณคดีได้พอสมควร






ส่วนจัดแสดงอีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคือส่วนจัดแสดงโมเดลเรือต่างๆ ที่มีทั้งเรือโบราณที่คนทั่วไปใช้เป็นพาหนะหลักในการเดินทาง เรือสำเภาขนาดใหญ่ เรือรบโบราณและเรือที่ใช้ในพระราชพิธี รวมถึงโมเดลจำลองเรือใบซุปเปอร์มดที่รัชกาลที่เก้าเคยทรงข้ามอ่าวไทยจากพระราชวังไกลกังวัลหัวหิน ไปที่หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน สัตหีบ ในปี 2509 สำหรับส่วนจัดแสดงสุดท้ายเป็นส่วนจัดแสดงพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสิน รวมทั้งพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดจันทบุรี  










ในวันที่พิพิธภัณฑ์สามัญชนไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ทางพิพิธภัณฑ์ไม่ได้เปิดไฟในที่จัดแสดงไว้อย่างเพียงพอ ทำให้การเข้าชมนิทรรศการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่จัดแสดงการขุดค้นโบราณคดีใต้ทะเลไม่สามารถชมของจัดแสดงได้อย่างครบถ้วน นอกจากนั้นในส่วนจัดแสดงโมเดลเรือพระราชพิธีจำลองก็ไม่ได้มีการเปิดไฟทำให้ไม่สามารถเห็นคอลเลคชันเรือจำลองได้อย่างชัดเจน

ในส่วนของการจัดแสดงวิถีชีวิตบนเรือสำเภาจำลอง ทางพิพิธภัณฑ์ออกแบบประสบการณ์ผู้ชมให้ต้องปีนดาดฟ้าเรือขึ้นไปดูซึ่งน่าจะช่วยสร้างอารมณ์ร่วมให้กับผู้ชมมากขึ้น แต่หากทางพิพิธภัณฑ์นำมัลติมีเดียเช่นการนำเสียงคลื่น เสียงลม หรือเสียงคนบนเรือตะโกนใส่กันมาเปิดประกอบก็น่าจะช่วยสร้างประสบการณ์ผู้ชมให้ดียิ่งขึ้น

อีกหนึ่งประเด็นที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ทำได้ดีคือการออกแบบโครงสร้างโดยคำนึงผู้ที่ต้องใช้รถเข็น โดยในอาคารจัดแสดงทุกๆส่วนจะมีทางลาดให้รถเข็นเข้าถึงได้