Skip to main content

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จัดนิทรรศการศิลปะ “วิสามัญยุติธรรม Murdered Justice”  เนื่องในวาระครบรอบ 10 ปี การทำรัฐประหารและ 10 ปี การก่อตั้งศูนย์ทนายสิทธิฯ (ปี 2557 - 2567) ที่นำเสนอเรื่องราวการดำเนินคดี จับกุม และทำร้ายประชาชนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิและต่อต้านการทำรัฐประหารและบทบาทของศูนย์ทนายสิทธิฯในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาบนผนังทางโค้งภายในอาคารหอศิลป์วัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร BACC ชั้น 5  จัดแสดงระหว่างวันที่ 21- 26 พฤษภาคม 2567

นิทรรศการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยในรอบสิบปีเพื่อทบทวนเหตุการณ์และผลกระทบจากการทำรัฐประหาร พร้อมข้อเสนอการนิรโทษกรรมประชาชนซึ่งเป็นก้าวต่อไปที่ศูนย์ทนายสิทธิฯหนึ่งในเครือข่ายนิรโทษกรรมภาคประชาชนพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ตลอดจนการก่อร่างสร้างหลักการนิติรัฐหรือกฏหมายที่มีความยุติธรรมอย่างที่ควรจะเป็นซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของศูนย์ทนายฯ

ภาพรวมภายในนิทรรศการ จัดแสดงอุปกรณ์ที่รัฐใช้จัดการกับประชาชนผู้มีความคิดเห็นต่างทางการเมืองด้วยวิธีการลงโทษทางกฏหมายและความรุนแรง เช่น กระสุนยาง ถุงดำ กระสอบ สายรัดข้อมือ รวมถึงสิ่งของที่ประชาชนใช้เคลื่อนไหวและรับมือในกิจกรรมชุมนุมปี 2563 - 64 เช่น หมวกกันน็อก ร่ม แว่นตากันแก๊ส ประกอบกับข้อมูลสถิติผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหารมาจนถึงปัจจุบันตั้งแต่ปี 2557- 2567 ที่ศูนย์ทนายสิทธิฯได้รวบรวมนำมาจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการศิลปะในหัวข้อธีม “วิสามัญยุติธรรม”

นอกจากนี้ ทางเดินบริเวณที่เป็นจุดเริ่มต้นของเนื้อหานิทรรศการมีบูธถ่ายรูปชวนผู้ชมมาลองสวมบทบาทคล้ายอาชญากรผู้ถูกคดีการเมืองกับฉากประกอบข้อความ “เพราะเราทุกคนคือเหยื่อ” พร้อมมีแผ่นป้ายข้อความคดีต่างๆหรือป้ายข้อความรณรงค์ที่เป็นพร้อพเสริมสำหรับถ่ายรูปที่ผู้เข้าชมอย่างเราสามารถเลือกได้ตามต้องการ เช่น มาตรา 112, มาตรา 116, อายุน้อยร้อยคดี, นิรโทษกรรมประชาชน เป็นต้น

Land of Compromise ศิลปะสะท้อนสังคม "ความเป็นไทย"

ผลงานศิลปะที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ไอคอนที่เด่นสุดในนิทรรศการนี้คงหนีไม่พ้นภาพศิลปะ Land of Compromise ที่เมื่อมองจากระยะไกลจะเห็นเป็นลักษณะภาพของผู้หญิงใส่ชุดสไบกำลังพนมมือไหว้ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม และเมื่อเดินเข้าไปดูเชิงรายละเอียดระยะใกล้ก็จะพบว่าเป็นภาพที่สร้างขึ้นจากการประกอบกันของวัตถุแห่งความรุนแรง หรือวัตถุที่ใช้ก่อความรุนแรงในม็อบระหว่างรัฐกับประชาชน เช่น กระสุนยาง กระป๋องสี  เป็ดเหลือง หมวก หน้ากากกันแก๊ส ถุงดำที่เคยนำมาใช้คลุมศีรษะของจ่านิว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือแม้กระทั่งถุงกระสอบที่เคยใช้ห่อศพของผู้ลี้ภัยซึ่งถูกพบบริเวณริมแม่น้ำ  พร้อมวลีเด็ด “Land of Compromise”

ธนพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน หนึ่งในทีมงานสำคัญที่รับหน้าที่ออกแบบนิทรรศการให้กับศูนย์ทนายสิทธิฯ ได้เล่าถึงแนวคิดเบื้องหลังของผลงานชิ้นนี้ว่าต้องการสื่อให้เห็นถึง “ความเป็นไทย” โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนึ่งในอัตลักษณ์เด่นของประเทศไทยที่ชาวต่างชาติให้นิยามว่าเป็น  Land of smile (สยามเมืองยิ้ม) ขณะเดียวกันก็ต้องการสื่อให้เห็นถึงปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอให้สังคมได้รับรู้ถึงเหตการณ์การทรมานผู้ต้องหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยซึ่งทีมงานตั้งใจถ่ายทอดผ่านผลงานศิลปะที่สามารถดึงดูดสายตาในสถานที่จัดแสดงอย่างหอศิลป์ฯ เพื่อชวนให้ผู้ชมได้ซูมออก และซูมเข้าตัวรายละเอียดผลงานศิลปะที่สะท้อนถึงสภาพสังคม “ความเป็นไทย” ภายใต้รอยยิ้มที่แอบซ่อนความรุนแรง

สำหรับวัตถุแห่งความรุนแรงดังกล่าวที่นำมาใช้ประกอบสร้างเป็นผลงานศิลปะชิ้นนี้ ธนพลระบุว่าส่วนใหญ่เป็นของที่ Mock up หรือจำลองขึ้นมาตามต้นแบบของจริงที่ดูได้จากพิพิธภัณฑ์สามัญชนที่บันทึกประวัติศาสตร์และเก็บสะสมวัตถุสิ่งของที่ใช้ในการชุมนุม เช่น ปลอกกระสุนยาง แก๊สน้ำตา ซึ่งการได้เห็นต้นแบบของจริงนอกจากจะมีประโยชน์ต่อการนำมาจำลองจนเกิดเป็นนิทรรศการนี้แล้ว ยังช่วยทำให้สิ่งที่ต้องการสื่อสารนั้นมีพลังมากขึ้นด้วยอย่างเช่น เสื้อของจ่านิว และ ลำโพงของเอกชัย หงส์กังวาล ที่เป็นของที่ผ่านอยู่ในเหตุการณ์จริงซึ่งได้รับความเอื้อเฟื้อจากพิพิธภัณฑ์สามัญชนนำมาจัดแสดง



วิสามัญยุติธรรม ความชอบธรรมเกินขอบเขต

ส่วนธีมนิทรรศการที่ใช้คำว่า “วิสามัญยุติธรรม” ธนพลให้เหตุผลว่าเป็นการนำเสนอเหตุการณ์การทำรัฐประหารที่นอกจากจะครองประเทศอยู่มาอย่างยาวนานแล้ว ยังเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้ว่าคณะรัฐประหารภายใต้การนำของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา มักจะทำผิดกฏหมายแต่ก็อ้างกฏหมายในการจัดการประชาชนผู้เห็นต่างได้อย่างภาคภูมิใจเช่น การวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งเป็นคำศัพท์ทางกฏหมายที่ทหารและตำรวจบางกลุ่มมักจะใช้อ้างความชอบธรรมในการฆ่าคนว่าเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ ทั้งที่คนผู้ตายควรได้มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม  จึงเป็นที่มาของชื่อนิทรรศการ วิสามัญยุติธรรม ที่แปลว่า การฆาตกรรมกระบวนการยุติธรรมอย่างเลือดเย็น โดยบรรดาองค์การทางกฏหมายที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล รวมถึงราชทัณฑ์ เพื่อรับใช้อำนาจที่เหนือกว่าความยุติธรรมในสังคม

ดีไซน์พาดหัวข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์

เมื่อเดินชมนิทรรศการจะเห็นได้ว่าข้อมูลที่ศูนย์ทนายสิทธิฯได้รวบรวมถูกนำมาจัดแสดงบนสองผนังกำแพงซึ่งประกอบด้วย กำแพงแรกจัดแสดงสถิติจำนวนลูกความของศูนย์ทนายสิทธิฯ โดยขีดเป็นเส้นสีดำแสดงถึงปริมาณคนที่ถูกละเมิดสิทธิในแต่ละปีตั้งแต่ 2554 ไปจนถึง 2567 โดยในปี 2564 มีจำนวนคนที่ถูกละเมิดสิทธิมากที่สุดอย่างเห็นได้ชัดจนทะลุยาวจากด้านบนกำแพงไล่ลงมาจนถึงพื้นทางเดิน ซึ่งทางศูนย์ทนายสิทธิได้ระบุว่าจำนวนที่เห็นในนิทรรศการนั้นเป็นเพียงจำนวนขั้นต่ำที่ได้เก็บรวบรวมมาซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกความ ประกอบกับข้อมูลที่เก็บมาจากข่าว ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าบางคดีเองก็อาจเล็ดรอดสายตาหรือไม่ได้เป็นข่าวเนื่องจากศูนย์ทนายสิทธิอาจไม่ได้เป็นที่รู้จักจากประชาชนบางกลุ่มด้วย

ทั้งนี้ คดีที่เห็นชัดเจนที่สุดในนิทรรศการ ได้แก่ คดีของจ่านิว สิรวิชญ์ และคดีของเอกชัย หงส์กังวาลที่ถูกลอบทำร้ายมากถึง 7 ครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งก็จะเล่ารายละเอียดวันเวลาที่เกิดเหตุการณ์ประกอบ

ส่วนกำแพงถัดมา จัดแสดงประมวลเหตุการณ์เรียงลำดับแต่ละช่วงในรอบสิบปี ตั้งแต่การใช้อำนาจรัฐประหารอย่างเต็มรูปแบบ การพยายามทำประชามติที่ไม่ที่ฟรีและไม่แฟร์, การเว้นวรรคการใช้ 112 ,การผลิบานของกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือม็อบเยาวชน และประชาชนในช่วงปี 2563-2564, การต่อสู้คดีความนับพันและบทบาทของศาลในปี 2565-2566 และการเรียกร้องการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองลบล้างผลพวงรัฐประหารในปี 2567    โดยธนพลเล่าว่าในส่วนนี้ตั้งใจดีไซน์ออกมาให้มีลักษณะคล้ายหน้าหนังสือพิมพ์ต่างประเทศที่มีการแบ่งช่องเนื้อหาการรายงานที่มีภาพใหญ่และภาพเล็ก และการพาดหัวข้อแต่ละพาร์ทเป็นตัวแทนยุคสมัย พร้อมกับวัตถุจัดแสดงประกอบซึ่งเป็นการ Visualize ข้อมูลดิบที่ได้มาจากศูนย์ทนายฯ ให้เป็นภาพเพื่อให้ง่ายต่อการอ่านทำความเข้าใจสำหรับประชาชนที่มาเข้าชม นอกจากนี้  ก็มีรายชื่อผู้ถูกดำเนินคดี หรือเอกสารคำสั่งเรียกบุคคลมารายงานตัวที่นำเสนอในรูปแบบม้วนกระดาษคล้ายม้วนทิชชู่ซึ่งเป็นเทคนิคการนำเสนอที่พยายามทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึง และจับต้องได้ง่าย เน้นความเรียบด้วยการใช้สีขาวดำในการสื่อสาร

เสื้อจำลอง “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์ ”

สำหรับวัตถุจัดแสดงประกอบข้อมูลในนิทรรศการบริเวณกำแพงดังกล่าวเมื่อเดินชมมาถึงเนื้อหาในช่วงปี 2563 จะพบกับเสื้อสหพันธรัฐไทยที่เคยถูกดำเนินคดี และอีกชิ้นที่น่าสนใจคือ ม็อคอัพเสื้อของทิวากรที่ระบุข้อความ  “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์ ” ที่ไม่ได้ใช้เสื้อยืดของจริงมาจัดแสดงแต่ถูกจำลองหรือม็อคอัพในลักษณะของสติ๊กเกอร์

ทนายเมย์ - พูนสุข พูนสุขเจริญ จากศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชนเล่าถึงเหตุผลการจัดแสดงเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์” ที่เป็นถูกม็อคอัพแทนการใช้เสื้อยืดของจริงว่าสืบเนื่องมาจากในขั้นตอนการติดตั้งนิทรรศการ ศูนย์ทนายได้รับการร้องขอจากหอศิลป์ว่าให้นำเสื้อดังกล่าวออกไป เพราะถ้าหากใช้เสื้อยืดจริงมาจัดแสดงจะทำให้เข้าข่ายลักษณะของการรณรงค์ อย่างไรก็ตาม หลังจากได้เจรจาเรื่องการติดตั้งก็นำมาสู่ข้อสรุปตรงกลางว่าเราสามารถทำเป็นม็อคอัพที่เป็นสติ๊กเกอร์แสดงข้อความหรือรูปลักษณ์ของเสื้อได้ ซึ่งในประเด็นนี้ก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

แม้ในแง่หนึ่ง หอศิลป์จะเคยเป็นพื้นที่ที่ถูกปิดกั้นการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชนจากเหตุการณ์ที่เคยมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจเข้ามาควบคุมตัวนักศึกษาในช่วงบริบทที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวดโดยคณะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทว่าในปัจจุบันการจัดนิทรรศการวิสามัญยุติธรรมที่เป็นประเด็นแหลมคมในพื้นที่หอศิลป์นั้นก็ถือได้ว่าบรรยากาศความตึงเครียดทางการเมืองมีความผ่อนเบาลงและเปิดกว้างมากขึ้นประมาณหนึ่ง เพราะอย่างน้อยก็สามารถพูดถึงประเด็นการเมืองบางอย่างได้อย่างตรงไปตรงมา เนื่องด้วยสังคมเราในตอนนี้ไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารแบบเต็มรูปแบบแล้ว แต่ถึงกระนั้น การใช้ม็อคอัพเสื้อมาจัดแสดงในนิทรรศการดังกล่าวก็สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลถึงความละเอียดอ่อนในประเด็นต่างๆ และเรื่องสถาบันกษัตริย์ของเจ้าของสถานที่หอศิลป์ฯอยู่ไม่มากก็น้อย

ครบรอบ 10 ปีรัฐประหาร และ 10 ปี แห่งการก่อตั้งศูนย์ทนายฯ

ทนายเมย์เล่าว่าเนื่องจากศูนย์ทนายสิทธิฯ ก่อตั้งขึ้นภายหลังรัฐประหารสองวัน คือ รัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ส่วนศูนย์ทนายก่อตั้งขึ้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2557 ซึ่งตลอดทศวรรษที่ผ่านมา 2554- 2567 สังคมไทยเผชิญกับความแปรผันทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ในสถานการณ์ที่คณะรัฐประหารมีการเรียกรายงานตัวบุคคลและจับกุมผู้ประท้วงต่อต้าน ทำให้งานการให้ความช่วยเหลือทางกฏหมายต่อผู้ใช้เสรีภาพกลายเป็นสิ่งจำเป็น ศูนย์ทนายจึงมีความตั้งใจสื่อสารออกมาให้สังคมได้เห็นถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอดสิบปีที่ผ่านมาในรูปแบบนิทรรศการ และหนังสือ “ผู้ต้องหาเสรีภาพ” ซึ่งรวมบทสัมภาษณ์ของผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองไว้ในเล่ม

สำหรับจุดเริ่มต้นของนิทรรศการนี้ ทนายเมย์ระบุว่าทางศูนย์ทนายฯมีแพลนโดยคร่าวว่าจะจัดนิทรรศการในวาระครบ 10 ปี ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566 จนเริ่มเป็นภาพชัดเจนขึ้นช่วงต้นปี 2567 และเนื่องด้วยภาระงานจำนวนมากของศูนย์ทนายฯ จึงได้ทำการติดต่อร่วมงานกับสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเพื่อมาช่วยออกแบบนิทรรศการที่จะจัดขึ้นที่หอศิลป์ฯ  


โดยก่อนหน้านิทรรศการนี้ ทางศูนย์ทนายฯ เคยจัดนิทรรศการเนื่องในครบรอบ 5 ปี ของคณะรัฐประหาร อย่างนิทรรศการ Never Again ที่จัดขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2562 ที่ WTF Cafe &Gallery กรุงเทพฯ  และนิทรรศการว่าด้วยพยานหลักฐานในคดีที่จัดแสดงที่จังหวัดเชียงใหม่

ในส่วนกิจกรรมของนิทรรศการวิสามัญยุติธรรมในครั้งนี้ที่จัดขึ้นตั้งแต่ 21 - 26 พฤษภาคม 2567 ล้วนเป็นกิจกรรมที่เลือกสรรโดยอ้างอิงจากคดีที่เคยเกิดขึ้นที่สถานที่เกิดเหตุอย่างหอศิลป์ฯ  เช่น กิจกรรมนำทัวร์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม โดยรังสิมันต์ โรมในคดีครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร, 
วันที่ 23 พฤษภาคม นำทัวร์โดยช่อ พรรณิกา ในคดี “ไม่ถอยไม่ทน” เมื่อช่วงปลายปี 2562, 
วันที่ 24 พฤษภาคม นำทัวร์โดยจ่านิวและวรรณเกียรติ ในคดี “เลือกตั้งที่ลัก” เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2558 และวันที่ 25 พฤษภาคม นำทัวร์ป้านก มวลอิสระและผองเพื่อนในคดี “คนอยากเลือกตั้ง”

กระบวนการสร้างนิติรัฐ ภารกิจเป้าหมายของศูนย์ทนายฯ

ทนายเมย์เล่าถึงกระแสตอบรับในภาพรวมว่าเป็นไปในทิศทางบวก โดยเฉพาะวันที่ 22 พฤษภาคมที่ตรงกับวันครบรอบการทำรัฐประหารและเป็นวันหยุดพอดีจึงทำให้มีคนมาเข้าชมจำนวนมาก อีกทั้งวันที่ 21 พฤษภาคมที่เป็นวันเปิดนิทรรศการอย่างเป็นทางการก็ได้เชิญสถานทูตต่างๆมาร่วมชมด้วยซึ่งพบว่าหลายคนก็มีความรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์ต่างๆที่ได้นำมาจัดแสดงและตระหนะกได้ ส่วนผู้ชมบางส่วนที่ไม่เคยรู้มาก่อนก็ถือว่าเป็นการทบทวนเพื่อเรียนรู้ต่อไป

สุดท้าย ทนายเมย์ระบุว่าสิ่งที่อยากสื่อสารฝากไปยังผู้ชมผ่านนิทรรศการครั้งนี้ คือภาระงานหรือสิ่งที่ศูนย์ทนายฯดำเนินอยู่ในขณะนี้นั้นเป็นเรื่องที่ยังไม่จบหรือหมดไปจากสังคม เราจะเห็นได้ว่าสถานการณ์ที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดรัฐประหารยังคงมีร่องรอยและส่งผลกระทบต่อสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบันด้วยยอดจำนวนของผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้น สิ่งแรกที่อยากให้เกิดขึ้นคือ การยุติการดำเนินคดีกับประชาชนผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองด้วยการนิรโทษกรรมที่จะเป็นทางออกให้กับก้าวต่อไปของสังคมไทย

ยิ่งไปกว่านั้น อีกหนึ่งเป้าหมายในอนาคตที่ศูนย์ทนายฯปราถนาให้เกิดขึ้นในสังคมไทยก็คือ การก่อร่างสร้างนิติรัฐ หรือ การทำกฏหมายให้เป็นกฏหมายแบบที่ควรจะเป็นซึ่งเริ่มจากขั้นตอนของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นนิทรรศการนี้นอกจากจะต้องการนำเสนอให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในรอบสิบปีแล้ว ยังต้องการให้ผู้ชมได้ตระหนักรู้ถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในสังคมไทย และรู้ว่าตนเองอยู่จุดไหนของสังคม เพื่อเป็นการทบทวนและเรียนรู้ว่า สิ่งที่ถูกทำลายมากที่สุดจากการทำรัฐประหารนั้น คือหลักการนิติรัฐ
 

เรื่องและภาพโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์