Skip to main content

1 มิถุนายน 2024 มีการเดินขบวนเฉลิมฉลองเสรีภาพความหลากหลายทางเพศ รวมถึงในประเทศไทยเองที่เพิ่งดำเนินเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียมในสภาเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้บรรยากาศในงานเต็มไปด้วยสีสัน ทั้งยังมีกลุ่มคนที่หลากหลายทั้งเพศ วัย การแต่งกายและรสนิยมมาร่วมกันแสดงความยินดีกับกฎหมายนี้ รวมถึงแสดงความยินดีที่ในปัจจุบันเพศหลากหลายถูกมองว่าเท่าเทียมมากขึ้น

 

สิ่งที่น่าสนใจในงานเฉลิมฉลองเสรีภาพครั้งนี้คือขบวนพาเหรดที่เสนอประเด็นสิทธิและเสรีภาพ โดยในขบวนได้มีผู้เข้าร่วมถือป้ายขนาดใหญ่ที่เขียนว่า ”At Least 107 Journalists are Killed in Gaza” (มีนักข่าวอย่างน้อย 107 คนถูกฆ่าในกาซา) หรือป้าย “Happy Pride to all those who are unable to celebrate openly and safely, you are loved and seen.” ซึ่งเป็นการแสดงกำลังใจและความรักต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ไม่สามารถเฉลิมฉลองได้อย่างเปิดเผย แสดงให้เห็นว่ายังมีกลุ่มคนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งขบวนพาเรดในลำดับที่สี่ได้พูดถึงผู้คนกลุ่มนี้

ในประเด็นแรก ขบวนสิทธิเสรีภาพใช้พื้นที่ในงาน Bangkok Pride พูดถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปาเลสไตน์ ซึ่งปัจจุบันพลเมืองในราฟาห์ และพื้นที่ในค่ายของผู้ลี้ภัยทั่วกาซา ภาพของความรุนแรงได้ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกจนมีแฮชแทค #AllEyeOnRafah หลังจากเด็ก ผู้หญิง รวมถึงกลุ่มผู้บาดเจ็บที่รวมตัวเพื่อช่วยเหลือกันนั้นถูกทหารอิสราเอลไซออนิสต์เผาพื้นที่เพื่อสั่งอพยพ กลุ่ม Thais for Palestine จึงใช้พื้นที่งาน Bangkok Pride เพื่อสื่อสารให้คนที่มาร่วมงานทราบว่ายังมีเควียร์ และผู้ที่มีความหลากหลายทั้งเพศ เชื้อชาติ รวมถึงร่างกาย ไม่สามารถร่วมเฉลิมฉลองได้ เพราะยังอยู่ในสภาวะสงครามที่ต้องรักษาชีวิต โดยประเด็นความรุนแรงและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในอิสราเอลถูกพูดถึงตลอดมาตั้งแต่มีการเรียกร้องให้หยุดใช้อาวุธสงคราม #Ceasefirenow #Freepalestine 

 

ในขบวนเดียวกัน กลุ่มพันธมิตรชานม ที่เคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการในเอเชีย ทั้งฮ่องกง ไต้หวัน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เดินขบวนร่วมกับชาวเมียนมาร์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเผด็จการมิน อ่อง ลาย ยุติเหตุการณ์ความรุนแรงต่อประชาชน และคืนอำนาจการปกครองให้ประชาชน เพื่อยุติความรุนแรงที่รัฐบาลใช้ปราบปรามกลุ่มต่อต้านเผด็จการ เนื่องจากปัจจุบันมีพลเมืองที่บาดเจ็บ เสียชีวิต รวมถึงไม่มีที่อยู่อาศัย ซึ่งเผด็จการทหารเป็นประเด็นที่คนไทยก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ตั้งแต่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นหลายครั้ง ซึ่งทางกลุ่มตั้งใจให้เรื่องความรุนแรงถูกจับตาทั่วโลก ไม่ใช่เพียงปัญหาของแต่ละประเทศเท่านั้น #FreeMyanmar #milkteaaliance

 

อีกด้านหนึ่งของขบวนสิทธิและเสรีภาพ มีผู้ร่วมขบวนที่ถือป้าย “หิวเมื่อไหร่ก็แวะมาหากินกับเพศหลากหลาย” และ “Pride Parade is Not a Place for Marketing, วันนี้นายทุนเยอะกว่า LGBT+ อีกมั้ง“ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของผู้ร่วมขบวนที่สื่อสารไปถึงผู้จัดงาน Bangkok Pride 2024 ที่ใช้พื้นที่ของกลุ่มเพศหลากหลายเพื่อทำการตลาดและโฆษณาสินค้าของตนเองมากเกินไป จนภาพของแบรนด์ ป้ายโฆษณาสินค้า รวมถึงกิจกรรมโปรโมทโมเดลธุรกิจของสปอนเซอร์งานไปซ้อนทับและกลบตัวตนของเพศหลากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่มีประเด็นที่ต้องการพื้นที่ในขบวนเพื่อแสดงออก ดังที่ผู้ร่วมขบวนได้ถือป้ายผ้าสื่อสารว่า “Let Ours Identity Shine พี่สื่อจ๋าอย่าลบตัวตนหนู” และ พี่ๆนายทุนเห็นหนูเป็นลูกค้าแค่เดือนไพรด์หรอคะ“ ซึ่งเป็นเสียงหนึ่งที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับกลุ่มทุนที่ใช้ขบวนพาเหรดความหลากหลายทางเพศเพื่อเป็นทางผ่านให้สินค้าและบริการของตนมีภาพลักษณ์ที่ดีจากการสนับสนุน Pride Month หรือเดือนแห่งความหลากหลาย โดยที่นโยบายการสนับสนุนอาจไม่ชัดเจนจนเกิดการตั้งคำถามขึ้น ซึ่งมีขบวนจากสหภาพคนทำงานร่วมตั้งคำถามถึงกลุ่มทุนด้วยเช่นกัน

 

บางครั้งผู้ที่มีความหลากหลายและอยากแสดงออก อาจไม่ถูกมองเห็น ไม่ตรงตามบรรทัดฐานความสวยงาม และอาจถูกกีดกันไม่ให้มีตัวตนในขบวนไพรด์ตามที่ตั้งใจ เช่นการแต่งกาย ”Drag“ ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักอีกอย่างใน Bangkok Pride 2024 ซึ่งมีคนตั้งข้อสังเกตว่าผู้ที่สามารถแต่ง Drag ได้ต้องมาตรฐานความงามตามบรรทัดฐานหรือไม่ “Bad Drag“ หรือผู้ที่ชื่นชอบการแต่งกายแบบนี้ แต่ยังไม่ตรงบรรทัดฐานความสวยงาม ไปจนถึงไม่มีทุนทรัพย์พอที่จะหาชุดและเครื่องประดับที่อลังการแบบที่กลุ่มทุนจัดหาให้ได้ยังมีสิทธิ์ในขบวน pride ด้วยหรือไม่ ดังที่เห็นในป้าย ” Protect Bad Drag” ที่เสนอให้ปกป้องทุกคนที่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรมรวมถึงแต่ง Drag ในชีวิตประจำวัน

 

ภาพรวมของ “ขบวนสี่” ที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพนั้นมีความหลากหลาย จนเป็นขบวนที่สามารถสื่อสารประเด็นที่แม้แต่ในการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศเองก็ยังถูกมองข้าม ทั้งยังมีคนที่รู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมอยู่ ทั้งด้านเชื้อชาติ ฐานะ ร่างกาย ตลอดจนน้ำหนักของเสียงหรือคำพูดที่พวกเขาต้องการสื่อสารออกไปยังสังคม ทั้งนี้พิพิธภัณฑ์สามัญชนจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการเก็บภาพของการเรียกร้องเหล่านี้ไว้ เพื่อให้เสียงของทุกคนถูกบันทึก โดยไม่มีใครถูกหลงลืมในงานเฉลิมฉลองครั้งนี้ #BangkokPride2024

 

เรื่องและภาพ วรกมล องค์วานิชย์