เมษายน 2567 วงการฟุตบอลได้รับข่าวเศร้าอีกครั้งเมื่อมีการรายงานข่าวการเสียชีวิตของจิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม และนายกสมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย ซึ่งเสียชีวิตด้วยอาการป่วย ในช่วงที่มีการประกาศมรณกรรมของจิรัฏฐ์ สื่อหลายสำนักเรียกเขาว่าคัมภีร์ลูกหนังซึ่งน่าจะมีที่มาจากการที่จิรัฎฐ์เป็นคนที่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับวงการฟุตบอลไทยอย่างลึกซึ้ง ทั้งในแง่ข้อมูลสถิติต่างๆ รวมถึงข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยามที่มีหน้าที่ดูแลของสะสมซึ่งแต่ละชิ้นล้วนมีเรื่องราวของมันเอง
การเสียชีวิตของจิรัฏฐ์นับว่าเกิดขึ้นในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของพิพิธภัณฑ์ ทางหนึ่งพิพิธภัณฑ์เพิ่งสิ้นสุดการได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทางมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 สร้างผลกระทบกับทุกภาคส่วนรวมทั้งแวดวงพิพิธภัณฑ์ อีกทางหนึ่งพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยามก็มีความจำเป็นที่จะต้องย้ายที่ตั้งเป็นการชั่วคราวจากพระตำหนักทับแก้วในเขตพระราชวังสนามจันทร์ไปอยู่ที่เรือนสามภายในศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากรวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งมีพื้นที่เล็กกว่าที่ตั้งเดิมอยู่มาก เนื่องจากพระราชวังสนามจันทร์ถูกปิดปรับปรุง ปี 2567 จึงนับเป็นปีสำคัญที่ทางพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยามต้องเผชิญกับสารพัดความท้าทายที่ถาโถมเข้ามา ทว่าในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความท้าทายนี้ ภูสิฏฐ์ ศรีโรจนภิญโญ เลขาธิการสมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทยซึ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งรักษาการนายกสมาคมหลังการเสียชีวิตของจิรัฏฐ์ก็ยืนยันว่าทางสมาคมในฐานะผู้ดูแลรับผิดชอบพิพิธภัณฑ์ยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะสานต่อภารกิจการบันทึกประวัติศาสตร์วงการฟุตบอลไทยที่จิรัฏฐ์ได้เริ่มไว้
ภูสิฏฐ์ ศรีโรจนภิญโญ รักษาการนายกสมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลไทย
The First Impression
ภูสิฏฐ์เล่าว่าเขารู้จักกับจิรัฏฐ์สมัยที่เรียนปริญญาตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) สมัยนั้นเป็นยุคที่อินเตอร์เน็ตเพิ่งเริ่มตั้งไข่ในประเทศไทย ทางมหาวิทยาลัยได้มีการสอนนอกเวลาแก่ผู้สนใจ ภูสิฏฐ์ได้เข้าเรียนเรื่องการทำเว็ปไซค์ และเลือกเนื้อหาหัวข้อฟุตบอลไทยเพื่อนำเขียนเป็นเว็ปไซค์เนื่องจากจากได้เข้าไปเห็นเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับฟุตบอลเจลีก และในขณะนั้นยังไม่มีเว็ปไซต์ที่รายงานเรื่องราวเกี่ยวกับฟุตบอลไทยในเชิงลึก เมื่อเขาเริ่มค้นคว้าหาข้อมูลเขาก็ได้รู้จักชื่อของจิรัฏฐ์ จันทะเสน ผ่านหนังสือเล่มหนึ่งจึงได้ติดต่อไปเพื่อขอข้อมูลโดยที่ตัวเขาเองก็ไม่อาจรู้ได้เลยว่านั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำร่วมกันที่สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลไทยในเวลาต่อมา
ในยุคที่ภูสิฏฐ์จะทำเว็บไซต์ข้อมูลข่าวสารบนโลกอินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลายเหมือนในยุคหลัง (บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกปี 2567) ในเวลานั้นยังไม่มีเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับฟุตบอลไทยอย่างเป็นระบบ ภูสิฏฐ์จึงต้องเริ่มหาข้อมูลจากหน้ากระดาษ ระหว่างการหาข้อมูลภูสิฏฐ์ได้ไปพบหนังสือเกี่ยวกับทีมชาติไทยที่เขียนโดยจิรัฏฐ์ซึ่งมีข้อมูลสถิติเชิงลึกเกี่ยวกับนักฟุตบอลและทีมชาติไทยอย่างละเอียด เขาจึงลงมือเขียนจดหมายไปหาจิรัฏฐ์เพื่อขอข้อมูลมาใช้ หลังส่งจดหมายไปได้ไม่นานภูสิฏฐ์ก็ได้รับโทรศัพท์จากจิรัฏฐ์ อนุญาตให้เขานำข้อมูลไปใช้ได้โดยมีข้อแม้ว่าต้องนำข้อมูลไปเรียบเรียงใหม่ก่อนนำไปใช้ เว็บไซต์ของภูสิฏฐ์จึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ภูสิฏฐ์ยังเคยได้รับการติดต่อจากกรรมการสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ว่าจ้างให้ทำงานพาร์ทไทม์เพื่อทดลองทำเว็ปไซค์ของสมาคมด้วย แต่ภูสิฏฐ์ทำในส่วนนั้นได้ไม่นานก็เลิกไป เนื่องจากได้งานประจำ
ก่อกำเนิดสมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลไทย
หลังขอข้อมูลมาทำเว็บไซต์ภูสิฏฐ์ก็มีโอกาสพูดคุยกับจิรัฏฐ์เป็นระยะ ทำให้เขาได้รู้จักตัวตนของจิรัฏฐ์ในฐานะคนบ้าบอลมากขึ้น ตั้งแต่สมัยรับราชการที่รัฐสภาซึ่งสมัยนั้นยังตั้งอยู่ที่ถนนอู่ทองหลังพระที่นั่งอนันตสมาคม จิรัฏฐ์มักหาเวลาแวะเวียนไปที่หอสมุดแห่งชาติ เทเวศน์เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับแวดวงฟุตบอลไทย จิรัฏฐ์ยังหมดเงินส่วนตัวไปไม่น้อยในการถ่ายเอกสารผลฟุตบอลหรือข้อมูลอื่นๆจนทำให้เขาเป็นคนที่รู้ลึกเกี่ยวกับฟุตบอลไทย
ภูสิฏฐ์เล่าต่อไปว่าหนึ่งในการค้นพบครั้งสำคัญจากการค้นคว้าข้อมูลของจิรัฏฐ์ คือการค้นพบ "ถ้วยทองหลวง" ถ้วยฟุตบอลทำด้วยทองคำแท้ที่ทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่หก ซึ่งอยู่ในความครอบครองของโรงเรียนนายเรือ ถ้วยรางวัลดังกล่าวหายไปจากความรับรู้ของสาธารณะเป็นเวลานาน เมื่อจิรัฏฐ์ทราบถึงการมีอยู่ของถ้วยดังกล่าวเขาได้ไปติดต่อกับทางโรงเรียนนายเรือเพื่อสอบถาม ซึ่งปรากฎว่าผู้บังคับบัญชาโรงเรียนนายเรือในขณะนั้นไม่ทราบถึงการมีอยู่ของถ้วยดังกว่า อย่างไรก็ตามคำพูดของจิรัฏฐ์ได้ไปสะกิดใจของผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือจนไปเปิดดูตู้เซฟของทางโรงเรียนในภายหลังและได้พบกับถ้วยทองขนาดเล็กซึ่งอยู่ในสภาพดำคล้ำ ผู้บังคับการจึงให้นำถ้วยที่พบไปทำความสะอาดและเชิญจิรัฏฐ์ไปดูพร้อมทั้งทำการพิสูจน์ทราบจนพบว่าถ้วยดังกล่าวคือถ้วยทองหลวงจริงๆ
ถ้วยทองหลวง
หลังใช้เวลาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับฟุตบอลเป็นงานอดิเรกมาพอสมควร จิรัฏฐ์ก็ตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อทำตามความฝันของเขาในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวงการฟุตบอลไทยอย่างเป็นระบบด้วยการจัดตั้งสมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลไทยในปี 2545 ร่วมกับพลเอกประเทียบ เทศวิศาล อดีตผู้จัดการทีมชาติไทยชุดโอลิมปิก ที่เม็กซิโก ปีคศ.1968 และพลตรีสำเริง ไชยยงค์อดีตนักฟุตบอลทีมชาติชุดโอลิมปิกชุดดังกล่าว ผู้เคยถวายการฝึกสอนศาสตร์ฟุตบอลให้รัชกาลที่สิบเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์
สำหรับตัวของภูสิฏฐ์ที่เคยมีประสบการณ์ทำเว็บไซต์มาก่อนรวมถึงเคยทำเว็บไซต์ให้สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยเป็นงาน part time ก็ถูกจิรัฏฐ์ทาบทามให้มาช่วยทำเว็บไซต์ของทางสมาคม โดยได้จดโดเมนเนม siamfootball.com ภูสิฏฐ์ให้ข้อมูลด้วยว่าก่อนที่จะจดโดเมนดังกล่าว จิรัฏฐ์ได้สอบถามไปยังบริษัท Siam Sport ว่าจะขอใช้ชื่อดังกล่าวได้หรือไม่เพราะชื่ออาจใกล้เคียงกันรวมทั้งสยามสปอร์ตเองก็มีวารสารฟุตบอลสยามรายสัปดาห์ที่ยังตีพิมพ์เผยแพร่อยู่ ซึ่ง Siam Sport ก็ไม่ได้ทักท้วงหรือคัดค้านแต่อย่างใด
สำหรับการทำงานของสมาคมในช่วงแรกยังไม่มีที่ทำการถาวร พล.ต.สำเริง ปรารภกับจิรัฏฐ์ว่า ควรหาที่ทำการถาวรให้กับทางสมาคมเพื่อที่จะได้ใช้จัดเก็บและจัดแสดงของที่ได้รับจากนักฟุตบอลทีมชาติ ที่สุดพล.ต.สำเริงได้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (พระยศในขณะนั้นของรัชกาลที่สิบ) เพื่อขอใช้พระตำหนักทับแก้วในพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เป็นที่ตั้งสมาคมและจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ภูสิฏฐ์เล่าต่อว่าในชั้นแรกดูเหมือนจะเป็นเรื่องบังเอิญที่พิพิธภัณฑ์ได้สถานที่ตั้งในพระราชวังสนามจันทร์ อาจเป็นเพราะสถานที่ดังกล่าวว่างลงพอดี ทว่าเมื่อจิรัฏฐ์ทำการค้นคว้าข้อมูลก็พบว่า พระตำหนักทับแก้วในพระราชวังสนามจันทร์มีความผูกพันอย่างลึกซึ้งกับประวัติศาสตร์วงการฟุตบอลไทยเพราะเคยเป็นที่ทำการของคณะฟุตบอลแห่งสยามหรือสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยมาก่อน
ในปี 2548 เมื่อสมาคมได้เริ่มกระบวนการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยามในฐานะงานสาขาหนึ่งของสมาคม และสามารถรวบรวมของสะสมจากอดีตนักฟุตบอลทีมชาติได้จำนวนหนึ่ง โดยได้เริ่มเปิดพิพิธภัณฑ์ให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมในปี 2550
พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม กระจกเงาสะท้อนความทรงจำอดีตทีมชาติ
ในส่วนของงานพิพิธภัณฑ์ ภูสิฏฐ์เล่าว่า หลังมีอดีตนักฟุตบอลทีมชาติกลุ่มแรก ๆ นำของสะสมมามอบให้แก่พิพิธภัณฑ์ ได้มีการพูดแนะนำกันปากต่อปากในหมู่อดีตนักฟุตบอลทีมชาติทำให้มีคนนำของมามอบให้มากขึ้นตามลำดับ เนื่องจากพวกเขาอยากให้ทางพิพิธภัณฑ์บันทึกเรื่องราวของพวกเขาไว้ว่าครั้งหนึ่งพวกเขาเคยเป็นนักฟุตบอลทีมชาติ ซึ่งหากในอนาคตเมื่อพวกเขาแก่ตัวไป หากลูกหลานของพวกเขาได้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ก็จะได้เห็นเรื่องว่าในอดีตว่าบรรพบุรุษของพวกเขาเคยโลดแล่นอยู่บนสนามหญ้าในฐานะนักฟุตบอลทีมชาติ ขณะเดียวกันก็มีข้าวของบางส่วนที่ผู้นำมามอบเป็นภริยาหรือลูกหลานของอดีตนักฟุตบอลทีมชาติผู้ล่วงลับ โดยหวังว่าทางพิพิธภัณฑ์จะบอกต่อเรื่องราวของคนที่พวกเขารักผ่านการนำชุดที่เคยใส่ทำการแข่งขัน รองเท้าสตั๊ด หรือรางวัลเกียรติยศที่นักฟุตบอลผู้วายชนม์เคยได้รับไปจัดแสดง ภูสิฏฐ์เล่าแบบติดตลกด้วยว่าเมื่อไม่นานมานี้เขาเพิ่งได้ไปที่บ้านของ "เดอะตุ๊ก" ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน เบื้องต้นปิยะพงษ์บอกกับ คุณจิรัฏฐ์ ว่าหากทางสมาคมฯต้องการนำถ้วยรางวัลใดของเขาไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ ก็สามารถหยิบไปได้เลย แต่พอภูสิฏฐ์ บอกว่าจะขอรับไปทั้งหมด เดอะตุ๊กก็เปลี่ยนใจขอเก็บถ้วยรางวัลเกียรติยศบางส่วนไว้กับตัว แต่ถึงกระนั้นถ้วยรางวัลที่ปิยะพงษ์มอบให้ทางพิพิธภัณฑ์มาจัดแสดงก็ยังคงมีจำนวนไม่น้อย
รางวัลเกียรติยศของปิยะพงษ์ ผิวอ่อน อดีตตำนานกองหน้าทีมชาติไทย
ภูสิฏฐ์เล่าว่าในขณะที่จิรัฏฐ์ยังมีชีวิตอยู่ เขาคือผู้รับผิดชอบในการทำงานของพิพิธภัณฑ์เป็นหลัก ทั้งในแง่ของการจัดหาของสะสม การจัดแสดง รวมถึงการจัดทำข้อมูลประกอบของสะสมแต่ละชิ้น โดยเขามักจะประจำอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ทุก ๆ วันยกเว้นในช่วงที่ทางสมาคมไปออกงานตามที่ต่างๆ ภูสิฏฐ์เล่าต่อไปว่าเมื่อทางสมาคมจัดทำเสื้อที่ระลึก 100 ปี ทีมชาติสยาม ทางสมาคมได้ประกาศเชิญชวนให้เฉพาะอดีตนักฟุตบอลทีมชาติมารับเสื้อได้ฟรีที่พิพิธภัณฑ์ ซึ่งเมื่อนักฟุตบอลทีมชาติเหล่านั้นมาที่พิพิธภัณฑ์พวกเขาก็มักจะมีข้าวของติดไม้ติดมือมามอบให้กับทางพิพิธภัณฑ์ด้วย ภูสิฏฐ์เล่าด้วยว่าหลังจากที่พิพิธภัณฑ์เริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่อดีตนักฟุตบอลทีมชาติก็เริ่มมีคนนำสิ่งของมอบให้เป็นจำนวนมากในระยะเวลาไล่เลี่ยกันจนบางครั้งก็เกือบบริหารจัดการไม่ทัน
เสื้อที่ระลึก 100 ปี ทีมชาติสยาม
สำหรับงบประมาณที่นำมาใช้ดำเนินกิจการพิพิธภัณฑ์ภูสิฏฐ์เล่าว่าในช่วงแรกของการก่อตัังพิพิธภัณฑ์ทางสมาคมใช้งบประมาณของตัวเองดำเนินการโดยยังไม่ได้รับความสนับสนุนจากองค์การภายนอก ต่อมาช่วงประมาณปี 2553 ทางสมาคมได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากทางมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่เห็นความสำคัญและเห็นผลงานของทางสมาคม ทำให้มีงบประมาณเพียงพอที่จะจัดหาเจ้าหน้าที่ประจำมาช่วยจิรัฏฐ์ทำงานที่พิพิธภัณฑ์ได้จำนวนหนึ่ง ภูสิฏฐ์เล่าด้วยว่าจิรัฏฐ์เองก็พยายามหารายได้เข้าสมาคมด้วยการจัดทำของที่ระลึกมาขาย โดนสินค้าที่เป็นไฮไลท์น่าจะเป็นเสื้อที่ระลึก 100 ปี ทีมชาติสยามและแสตมป์ที่ระลึกทีมฟุตบอลหญิง ทีมชาติไทยที่ผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกหญิง ปี 2558 ที่ประเทศแคนาดา อย่างไรก็ตามเงินจากการขายสินค้าที่ระลึกก็ไม่ได้มากเพียงพอที่จะพยุงค่าใช้จ่ายของทางพิพิธภัณฑ์
สำหรับบริการของทางพิพิธภัณฑ์ ภูสิฏฐ์เล่าว่านอกจากจะเปิดสถานที่เป็นแหล่งเรียนรู้แล้ว ยังมีการจัดนิทรรศการนอกสถานที่เป็นครั้งคราวด้วยเมื่อได้รับการร้องขอหรือชักชวน อาทิ ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ทางสมาคมก็ได้นำของสะสมของพิพิธภัณฑ์ไปจัดนิทรรศการ 100 ปีฟุตบอลทีมชาติไทยที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน หรือล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2566 ทางสมาคมก็ได้นำของสะสมส่วนหนึ่งไปจัดแสดงในงาน Thailand Football Shirt Festival ครั้งที่สอง ที่ห้างสรรพสินค้า Seacon Square โดยภูสิฏฐ์ระบุว่าในขณะที่ไปร่วมงานครั้งนั้นจิรัฏฐ์ล้มป่วยแล้วไม่ค่อยมีเสียงและไออยู่เป็นระยะ ตัวเขาซึ่งเตรียมเสื้อวอร์มของสโมสรชลบุรีเอฟซีไปมอบให้ทางพิพิธภัณฑ์ยังได้นำเสื้อดังกล่าวไปสวมให้กับจิรัฏฐ์ด้วยเนื่องจากอากาศในสถานที่จัดงานค่อนข้างเย็น โดยครั้งนั้นนับเป็นครั้งสุดท้ายที่ ภูสิฏฐ์ ได้พบกับจิรัฏฐ์
การเปลี่ยนแปลงในสภาวการณ์ที่ท้าทาย
ภูสิฏฐ์เล่าว่า ในช่วงที่สมาคมได้รับเงินสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ค่อนข้างมีความคล่องตัว ทว่าในปี 2563 โครงการสนับสนุนจากมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยครบกำหนดสิบปีทำให้ทางสมาคมไม่มีเงินอุดหนุนที่จะนำมาใช้บริหารงานสมาคมรวมถึงบริหารพิพิธภัณฑ์ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นก็เป็นช่วงเวลาที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด19 จึงเป็นเรื่องยากที่ทางสมาคมจะแสวงหาผู้ให้การสนับสนุนรายอื่น การขนาดหายไปของเงินสนับสนุนจากมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทำให้การบริหารจัดการบางส่วนของพิพิธภัณฑ์เริ่มเผชิญกับข้อจำกัด โดยเฉพาะด้านกำลังคนที่ทางสมาคมไม่สามารถจ้างเจ้าหน้าที่ประจำที่เคยมีอยู่สามคนไว้ได้ทั้งหมด “คุณเมย์” เจ้าหน้าที่ประจำที่เป็นญาติกับจิรัฏฐ์กลายเป็นเจ้าหน้าที่ประจำเพียงคนเดียวที่ยังทำงานต่อกับทางพิพิธภัณฑ์ ขณะที่ตัวจิรัฏฐ์ก็ไม่ได้รับเงินจากการทำงานที่พิพิธภัณฑ์
ล่วงมาถึงปี 2565 พิพิธภัณฑ์ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อพระราชวังสนามจันทร์มีความจำเป็นต้องปิดปรับปรุง พระตำหนักทับแก้วซึ่งอยู่ภายในเขตพระราชวังจันทร์ก็มีความจำเป็นต้องปิดเพื่อทำการปรับปรุงด้วยเช่นกัน ระหว่างที่พระตำหนักทับแก้วถูกปิด พิพิธภัณฑ์ย้ายไปอยู่ในพื้นที่จัดแสดงชั่วคราวที่เรือนสาม ภายในศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งมีพื้นที่จำกัดกว่าพื้นที่จัดแสดงเดิมมาก ภูสิฏฐ์เล่าว่า จิรัฏฐ์เป็นคนดูแลการย้ายข้าวของด้วยตัวเองในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การห่อข้าวของเพื่อกันการกระแทก การจัดเก็บข้าวของลงกล่องรวมถึงขั้นตอนการขนย้าย เนื่องจากเขารักและหวงแหนข้าวของทุกชิ้นที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ ข้าวของของทางพิพิธภัณฑ์ถูกกระจายไปสามที่ ส่วนแรกถูกนำมาติดตั้งที่เรือนสามซึ่งเป็นที่ตั้งชั่วคราวของพิพิธภัณฑ์ ส่วนที่สองถูกนำไปเก็บรักษาที่บ้านพักของจิรัฏฐ์ที่จังหวัดนครปฐมเป็นการชั่วคราว ส่วนที่สามซึ่งส่วนใหญ่เป็นเสื้อทีมฟุตบอลรุ่นเก่า ถูกนำไปไว้ที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรีซึ่งจิรัฏฐ์ใช้เงินส่วนตัวมากกว่าหนึ่งแสนบาทไปสร้างอาคารเล็กๆแห่งหนึ่งเพื่อเตรียมสร้างเป็น พิพิธภัณฑ์นักเลงฟุตบอล
อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปี 2566 จิรัฏฐ์ก็เริ่มมีอาการไอ ภูสิฏฐ์เล่าว่าช่วงแรกๆ จิรัฏฐ์ยังไม่ยอมไปหาหมอ ได้แต่หายาแก้ไอมากินบรรเทาอาการ ช่วงหลังๆเวลาที่จิรัฏฐ์ต้องไปร่วมงานอีเวนท์ต่างๆจิรัฏฐ์มักเลี่ยงที่จะขึ้นพูดเพราะเขาไอจนไม่มีเสียง ในภายหลังเมื่ออาการป่วยเริ่มหนักขึ้นจิรัฏฐ์ก็ต้องเข้าไปรับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ในช่วงเดือนเมษายน ภูสิฏฐ์ ได้รับโทรศัพท์จากภรรยาของจิรัฏฐ์ว่าขณะนี้อาการของจิรัฏฐ์ทรุดหนักแล้ว แต่ในช่วงสงกรานต์ภูสิฏฐ์มีธุระกับครอบครัวทำให้ยังไม่มีโอกาสไปเยี่ยมจิรัฏฐ์จนกระทั่งในวันที่ 24 เมษายน 2567 จิรัฏฐ์ก็จากไปอย่างไม่มีวันกลับ โดย ภูสิฏฐ์ตั้งข้อสังเกตว่าการทำงานกับเอกสารเก่าซึ่งอาจมีฝุ่นหรือละอองบางอย่างที่มองไม่เห็นอาจมีผลไม่น้อยต่อสุขภาพของจิรัฏฐ์
พื้นที่จัดแสดงชั่วคราวที่เรือนสาม ภายในศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
ภูสิฏฐ์ซึ่งได้ขึ้นมาเป็นรักษาการนายกสมาคมเป็นการชั่วคราวยอมรับว่าการเสียชีวิตจิรัฏฐ์ส่งผลกระทบต่อการทำงานของทั้งสมาคมและพิพิธภัณฑ์อยู่พอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนงานพิพิธภัณฑ์ที่องค์ความรู้หลายๆอย่างเกี่ยวกับของสะสมได้ตายไปพร้อมกับจิรัฏฐ์ ซึ่งหลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ของทางสมาคมที่จะต้องไปทำการสืบค้นและบันทึกข้อมูลหลายๆอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเกี่ยวกับของสะสมให้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้การทำงานสามารถดำเนินไปได้โดยสะดวกไม่ว่าใครจะเข้ามาทำงานในพิพิธภัณฑ์
ภูสิฏฐ์ยังกล่าวขึ้นด้วยความเสียดายด้วยว่า เขาเคยเปรยกับจิรัฏฐ์ว่าถ้ามีโอกาสก็อยากจะพากันไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ฟุตบอลที่ประเทศอังกฤษเพื่อจะได้นำองค์ความรู้มาพัฒนาของของพิพิธภัณฑ์ฯ ทว่าก็คงไม่มีโอกาสแล้ว อย่างไรก็ตามงานพิพิธภัณฑ์ที่จิรัฏฐ์ได้ริเริ่มไว้ก็เป็นภารกิจสำคัญที่เขาและทางสมาคมจะสานต่อ โดยเบื้องต้นในช่วงที่พระราชวังสนามจันทร์ยังปิดปรับปรุงอยู่ ทางสมาคมอาจจะต้องเริ่มทำงานข้อมูลและคำอธิบายวัตถุจัดแสดงให้พร้อมเพื่อที่เมื่อพระราชวังสนามจันทร์กลับมาเปิดให้เข้าชมอีกครั้งและพิพิธภัณฑ์ได้ย้ายกลับที่ตั้งเดิมพิพิธภัณฑ์จะมีความพร้อมในการให้บริการผู้เยี่ยมชมอย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกันก็จะดำเนินการรวบรวมวัตถุจัดแสดงบางส่วนที่ยังกระจัดกระจายอยู่ทั้งที่บ้านของจิรัฏฐ์ในนครปฐมและคอลเลคชันเสื้อที่จิรัฏฐ์ตั้งใจจะนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์นักเลงฟุตบอลที่อำเภอสองพี่น้อง กลับมาจัดแสดงที่พระตำหนักทับแก้วด้วย
ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสนับสนุนการทำงานของสมาคมและพิพิธภัณฑ์ สามารถสอบถามรายละเอียดทั้งการสมทบทุนหรือซื้อสินค้าที่ระลึกไปที่เพจเพซบุ๊กของพิพิธภัณฑ์หรือสมาคมได้โดยตรง
เรื่องและภาพโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์ ยกเว้นภาพ ถ้วยทองหลวง ได้รับจาก ภูสิฏฐ์