Skip to main content

25 พฤษภาคม 2567 เวลา 17:00 - 18:30 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม Cross Cultural Foundation (CrCf)  ร่วมกับ Asia Justice and Rights (AJAR) จัดเสวนาหัวข้อ “จับตานิรโทษกรรม ยุติธรรมที่ยังมาไม่ถึง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “ความหวังหลังความเจ็บปวด วังวนความรุนแรงทางการเมืองผ่านเรื่องเล่าจากผู้ได้รับผลกระทบ” ที่จัดระหว่างวันที่ 24-25 พฤษภาคม 2567 ที่ The Jim Thompson Art Center

เนื้อหาของวงเสวนาจะพูดถึงความเคลื่อนไหวล่าสุดของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนที่เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งยื่นต่อสภาผู้แทนในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 รวมถึงความคืบหน้าในการทำงานของคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม 

ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการไอลอว์, ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและผู้ถูกดำเนินคดีม.112, ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและหนึ่งในคณะกรรมาธิการด้านกฏหมาย  และผศ.ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี นัสรี พุ่มเกื้อ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ยิ่งชีพ: ความเมินเฉยต่อคดีทางการเมืองของคนในสังคม

ยิ่งชีพเริ่มต้นเล่าถึงสภาพบรรยากาศทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน (2567) นับว่าเป็นยุคที่รัฐมีการใช้กฏหมายดำเนินคดีต่อประชาชนที่ออกมาแสดงออกทางการเมืองมากที่สุดในประวัติศาสตร์กว่า 2,000 คดี และมีคนอยู่ในเรือนจำราว 40 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ ด้วยจำนวนตัวเลขที่สูงและบ่อยเกินไปทำให้คนในสังคมตามไม่ทัน จนบางส่วนเลิกแชร์ เลิกส่งต่อข่าวสาร ส่งผลให้คดีหรือเหตุการณ์ทางการเมืองได้รับความสนใจน้อยลง

ยิ่งชีพระบุว่าหากเปรียบเทียบความสนใจคดีการเมืองในยุค 2553-54 เช่น คดีของอากงจำเลยผู้ถูกดำเนินคดี112 ก็จะสังเกตได้ว่ายุคนั้นความถี่ของการดำเนินคดีการเมืองต่อประชาชนมีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับปัจจุบัน จึงทำให้ความสนใจของคนในสังคมยุคนั้นมีมากกว่า

กระแสตอบรับทีดี และการผลักดันความคืบหน้าแคมเปญนิรโทษกรรมประชาชน

เมื่อพูดถึงกระแสความสนใจต่อแคมเปญรณรงค์เสนอร่างกฏหมาย นิรโทษกรรมประชาชนที่จัดขึ้นโดยเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เมื่อ 1-14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ยิ่งชีพระบุว่าเป็นแคมเปญที่ใช้พลังกายและใจมาก เพราะจัดกิจกรรมติดต่อกันทุกวันเป็นเวลาสองสัปดาห์ รวม 44 อีเว้นท์ เพื่อชวนคนมาลงชื่อซึ่งรวบรวมได้ตัวเลขประมาณ 39,000 รายชื่อ ซึ่งถือว่าแคมเปญประสบผลสำเร็จ เแต่ทว่ายังไม่จบ เพราะหลังจากยื่นเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นของกระบวนการทำงานที่ต้องผลักดันกันต่อไป

ภารกิจ “ตีนขัดประตู” และเส้นทางความหวังที่กำลังเป็นจริงที่ละขั้น

ยิ่งชีพเล่าประสบการณ์เมื่อเดือนมีนาคม 2567 ที่ได้ไปนำเสนอร่างกฏหมายนิรโทษกรรมในที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่เปรียบเทียบว่าเป็นภารกิจ “เอาตีนขัดประตู” เนื่องจากในวันที่เขาไปประชุมร่วมกับกมธ.ได้มีการนำเสนอร่างกฏหมายนิรโทษกรรมประชาชนที่รวมคดีมาตรา 112 ก็เป็นเวลาเกือบจะปิดการประชุมพอดี ในวันนั้นเขาพบว่าบนโต๊ะมีเอกสารสถิติคดีของศาลยุติธรรมที่เริ่มต้นด้วยคดีตั้งแต่มาตรา 113 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าที่ประชุมมีธงในใจอยู่แล้วว่าจะไม่แตะหรือไม่พูดถึงคดีมาตรา 112  

ยิ่งชีพเล่าว่าหลังเขาได้นำเสนอและอภิปรายปัญหาและความจำเป็นของการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ก็พบว่าคนในที่ประชุมหลายคนมีความเข้าใจมากขึ้น เช่น เจือ ราชสีห์ ชัยชนะ เดชเดโช จากพรรคประชาธิปัตย์ ในชั้นแรกก็ไม่ต้องการพูดถึงมาตรา 112 ได้ออกความคิดเห็นหลังฟังจบว่า “คุณยิ่งชีพกำลังเรียกความเป็นธรรมให้กับผู้เสียหายนะ” ขณะที่ พิชัย นิลทองคำก็กล่าวในที่ประชุมว่าควรต้องขอสถิติคดีมาตรา 112 มาด้วย ซึ่งหมายความว่า แม้ภาพลักษณ์ท่าทีของนักการเมืองบางคนที่แสดงออกผ่านสื่อจะเป็นในทางตรงข้ามกับมาตรา 112 ก็พร้อมที่จะรับฟังและพูดคุย แต่คณะกรรมธิการบางคนยังคงมีท่าทีไม่สนับสนุนการรวมคดีมาตรา 112 อยู่ในร่างกฏหมายนิรโทษกรรมเช่น ไพบูลย์ นิติตะวันที่ให้เจ้าหน้าที่บันทึกไว้ว่าตนขอไม่เห็นด้วย

ยิ่งชีพระบุต่อไปว่าถ้าหากสุดท้ายแล้ว พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชนที่ออกมาโดยไม่รวม มาตรา112 ก็คงเหมือนการนิรโทษกรรมที่ไม่ได้นิรโทษกรรม ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะยังคงมีนักกิจกรรมเข้าคุกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดิม ขณะเดียวกันนักโทษคดีมาตรา 112 คนอื่นๆ ทั้งทนายอานนท์ เก็ทหรือขนุนก็ยังอยู่ในเรือนจำ รวมถึงตะวัน ที่กำลังจะตายจากการอดอาหารประท้วง 

ยิ่งชีพกล่าวต่อไปว่าเขาเคยพูดคุยกับทนายอานนท์ ซึ่งมีความเห็นว่าครั้งนี้การผลักดันนิรโทษกรรมประชาชนในคดีการเมืองที่รวม  มาตรา 112 อาจไม่สำเร็จ แต่ในอีก 10 - 20 ปีข้างหน้ามันจะสำเร็จ เขาจึงอยากสื่อสารไปถึงคนที่ยังอดอาหารอยู่ในเรือนจำว่าอยากให้กลับมากินข้าวและดูแลตัวเองก็เพราะความสำเร็จของการนิรโทษกรรมอาจจะต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม หากสุดท้ายแล้วร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชนไม่ผ่านการพิจารณาของสภาก็จะมีการเสนอยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อไป

ยิ่งชีพทิ้งท้ายว่า กาลเวลายังคงเดินต่อไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง อีกไม่นานศาลรัฐธรรมนูญก็จะหมดวาระ  เช่นเดียวสว.ที่กำลังอยู่ระหว่างการเลือกชุดใหม่ ขณะเดียวกันการเลือกตั้งหน้าก็ยังคงมีความหวัง ด้วยประสบการณ์การเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา หากพรรคใดเคยกล่าวอะไรไว้แล้วไม่ได้ทำตามที่พูด ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป ประชาชนก็มีสิทธิเลือกรัฐบาลใหม่ได้

ศศินันท์: การจัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณามาตรา 112 ที่ต้องจับตามอง

ศศินันท์ระบุถึงความคืบหน้าล่าสุดในการทำงานของอนุกรรมาธิการฯว่า ยังคงวนเวียนอยู่ที่การค้นข้อมูลสถิติคดีจากที่ต่างๆ เช่น ข้อมูลสถิติจากศาลยุติธรรม ศาลอัยการ ตำรวจ ศูนย์ทนายสิทธิฯ เพื่อที่จะหาเหตุผลมาอ้างว่าคดี 112  มีเพียง 300 คดี จึงควรไปเร่งนิรโทษกรรมความผิดอื่นๆที่จะมีคนได้รับประโยชน์มากกว่า นอกจากนั้นก็ยังมีความพยายามที่จะบ่ายเบี่ยงว่า มาตรา 112 เป็นคดีที่มี “ความเปราะบาง” และ “อ่อนไหว” ซึ่งในข้อนี้ตัวศศินันท์พยายามเสนอต่ออนุกรรมาธิการฯว่า ต้องกล้าที่จะพูดเรื่องมาตรา 112 เพราะต่อให้หลีกเลี่ยงที่จะพูดสุดท้ายก็จะมีคำถามจากสื่อมวลชนอยู่ดี จนกระทั่งได้ข้อสรุปในที่ประชุมว่าจะให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการที่ทำเรื่องการนิรโทษกรรมเพิ่มเติมซึ่งจะเกิดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 2567

ศศินันท์กล่าวต่อไปว่าท่ามกลางอุปสรรคที่กำลังเป็นอยู่ สิ่งที่ประชาชนสามารถทำได้คือการช่วยกันพูดหรือไปแสดงความคิดเห็น เห็นด้วย กับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน ที่ภาคประชาชนเป็นผู้เสนอซึ่งรวมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย เพื่อช่วยกันผลักดันให้การนิรโทษกรรมประชาชนคดีการเมืองรวมทั้งมาตรา 112 ตั้งแต่ 2549 - 2567 โดยคำนึงถึงประชาชนทุกกลุ่มอย่างไม่อคตินั้นเกิดขึ้นจริงได้ทางเว็บไซต์   https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=385

ภาพลักษณ์ที่ดีต่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทย หากรวม 112 ในพ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ศศินันท์กล่าวต่อไปว่า การนิรโทษกรรมที่ไม่รวมมาตรา 112 เป็นการนิรโทษกรรมที่ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ได้ช่วยขจัดความขัดแย้งในสังคม และเป็นการละเลยประชาชนที่ยังคงถูกขัง ถูกดำเนินคดีอยู่ หากจะนิรโทษกรรมคดีการเมือง ก็ควรรวมคดี มาตรา 112 ไปด้วย ซึ่งนอกจากจะสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่ดีแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความใจกว้าง ส่งเสริมภาพลักษณ์ทางบวกของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย อีกทั้งยังเป็นภาพลักษณ์ที่ดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อีกด้วย

ศศินันท์กล่าวด้วยว่า คดี มาตรา 112 ถือเป็นคดีการเมืองโดยแท้ เพราะในแต่ละครั้งที่มีประชาชนถูกฟ้องกล่าวโทษด้วยมาตรา 112 ก็มักจะมาในรูปแบบแพคเกจที่รวมมาตราอื่นไปด้วยเช่น มาตรา 116 , พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, พ.ร.บ.ความสะอาด และอื่นๆ ซึ่งการพิจารณาคดีก็ไม่ได้ตรงไปตรงมา หากพิจารณาภาษาคำในกฏหมายก็ดูจะมีความน่ากลัวมาก เช่น “ประทุษร้ายต่อองค์รัชทายาท” ขณะที่เมื่อพิจารณาเทียบกับการกระทำรายบุคคลนั้นอาจไม่ได้มีอะไรร้ายแรงดังเช่นสำนวนภาษาในข้อกฏหมาย ซึ่งการละเลยพิจารณาเนื้อหา รายละเอียดของพฤติกรรมก็แสดงให้เห็นว่าคดีมาตรา 112 ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองกลั่นแกล้งต่อผู้ที่มีความคิดเห็นต่างอยู่บ่อยครั้งซึ่งเป็นปมปัญหาความขัดแย้งสำคัญในสังคมไทย

ผศ.ดร.เข็มทอง: ปัญหาความคลุมเครือในการตีความมาตรา 112

เข็มทองชี้ให้เห็นว่านอกจากนี้ พบว่าปัญหาของประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 ยังมีเรื่องของการตีความด้วย กรณีศึกษาคือการแจ้งความคดีเล็กน้อยด้วยมาตรา 112  เช่น กรณีโน๊ต อุดม และกรณีละครคุณธรรมที่มีฉากตอนที่ตัวละครนั่งทับธนบัตรซึ่งมีรูปในหลวง รัชกาลที่ 10 และ รัชกาลที่ 9 ซึ่งนอกจากแสดงให้เห็นว่ายังมีคนจำนวนหนึ่งเต็มใจนำกฎหมายมาใช้จัดการกับฝ่ายตรงข้ามแล้ว ยังมีประเด็นการตีความด้วยว่าสรุปแล้วมาตรา 112 ครอบคลุมพระมหากษัตริย์องค์ไหนบ้าง หลายครั้งศาลตัดสินว่าให้นับแค่เฉพาะองค์ปัจจุบัน แต่ทว่าในช่วงหลัง ศาลชั้นต้นมักตัดสินให้ความผิดมาตรา 112 ครอบคลุมพระมหากษัตริย์องค์ที่สวรรคตด้วย โดยให้เหตุผลว่าความเสียหายสามารถส่งผลกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ที่กำลังครองราชย์อยู่ ซึ่งการสั่งฟ้องและความไม่ชัดเจนในการตีความข้อกฏหมายดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่ไม่น้อย

ท่าทีพรรคเพื่อไทยในการออกกฏหมายนิรโทษกรรมประชาชน และภาพลักษณ์ที่ถูกสั่นคลอน

ในส่วนของความร้ายแรงของมาตรา 112 เข็มทองระบุว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีได้รับบทลงโทษจำคุก 30 ปีหรือ 50 ปี ทั้งที่เมื่อพิจารณาดูรายละเอียดแล้ว การกระทำของพวกเขาเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น  คนแจ้งความก็ไม่ได้ดูรายละเอียดให้ถี่ถ้วนเพียงแต่อ้างเหตุผลเชิงหลักการและทำให้กฏหมายดูราวกับว่าไม่สามารถเจรจาต่อรองได้ หรือเป็นความผิดที่ห้ามให้อภัย ห้ามนิรโทษจนกลายเป็นเครื่องมือที่ง่ายต่อการกลั่นแกล้ง ดังนั้นมาตรา 112 จึงเป็นเรื่องที่ต้องเปิดพื้นที่พูดคุยพิจารณากันในระดับสภาไม่พอ แต่ต้องคุยในขั้นคณะกรรมาธิการเพื่อให้ทุกคนดูภาษาในตัวเงื่อนไขกฏหมายและให้เกิดการปฏิบัติจริง 

เข็มทองกล่าวต่อไปว่า ร่างพ.ร.บ นิรโทษกรรมประชาชนที่เสนอโดยภาคประชาชนจะถูกพิจารณาอย่างรวดเร็วขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำรัฐบาลเสนอร่างกฏหมายนิรโทษกรรมฉบับของตนเอง เพราะตามขั้นตอนกระบวนการนิติบัญญัติกฏหมายแล้ว พ.ร.บ.ที่ร่างโดยรัฐบาลจะถูกลัดคิวพิจารณาก่อน พ.ร.บ.ฉบับที่เสนอโดยพรรคอื่น หรือฉบับประชาชนที่มักต่อคิวอยู่ท้ายๆ

เข็มทองกล่าวต่อไปว่า แม้สถานการณ์ทางการเมืองจะดูคลี่คลายหลังจากผ่านพ้นรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทยแล้ว แต่แนวโน้มคดีทางการเมืองกลับไม่ได้ลดน้อย หรือชะลอลง ทำให้การคาดการณ์ถึงท่าทีของพรรคเพื่อไทยในการร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมว่าจะไม่รวมคดีมาตรา 112 มีน้ำหนัก เพราะภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของพรรคเพื่อไทยได้ถูกสั่นคลอนไปแล้วตั้งแต่ตอนจัดตั้งรัฐบาลแบบข้ามขั้วที่ไปผสมกับพรรคการเมืองฝั่งที่ทำรัฐประหาร ซึ่งขัดกับสิ่งที่พรรคเพื่อไทยได้สัญญาไว้ตอนหาเสียง

คนรุ่นใหม่ อาจเป็นสลิ่มที่น่าสงสารที่สุดในประวัติศาสตร์

เข็มทองระบุว่าหากมาตรา 112 ไม่ถูกรวมอยู่ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คนรุ่นใหม่ก็อาจกลายเป็น “สลิ่ม” คล้ายกับกลุ่มพันธมิตรที่มีความรู้สึกสูญเสียความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย มีภาพจำว่านักการเมืองเป็นคนโกหก เชื่อถือไม่ได้ แต่เป็นสลิ่มที่น่าสงสารที่สุดในประวัติศาสตร์เพราะไม่มีแบคอัพหนุนหลัง

เข็มทองทิ้งท้ายว่า เขาหวังว่ากฏหมายนิรโทษกรรมจะมาตรา 112 ด้วย เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศในสังคม ซึ่งจะส่งผลบวกให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาล และผู้อำนาจว่ามีความใจกว้าง พร้อมให้อภัยและเจรจาพูดคุยได้อย่างสร้างสรรรค์ แต่หากผู้มีอำนาจยังคงห้ามพูดถึง ห้ามแตะ มาตรา 112 ก็จะยิ่งชี้เป้าให้สังคมพูดถึงและมองมาตรา 112 ว่าเป็นปัญหามากขึ้นกว่าเดิม และท้ายที่สุดแล้วความพยายามปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จะกลายเป็นการทำลายอย่างแท้จริง

ภัสราวลี: รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ไม่แตะคดี 112 เพราะไม่กล้า

ภัสราวลีหรือ มายด์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและผู้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหามาตรา 112 ระบุว่าขอปรามาสรัฐบาลเพื่อไทยว่าร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับของรัฐบาลเพื่อไทยคงไม่มีมาตรา 112 รวมอยู่ด้วย เพราะเพื่อไทยไม่กล้า แม้ลึกๆแล้วคนในพรรคเองก็รับรู้ว่า มาตรา 112 เป็นต้นตอสำคัญของปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย หากรัฐบาลเพื่อไทยต้องการจะลบคำปรามาสของเธอ ก็ควรนำ มาตรา 112 รวมเข้าไว้ใน ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทยด้วย ถ้าทำได้ก็จะเป็นข้อพิสูจน์ว่าพรรคเพื่อไทยเห็นความสำคัญและกล้าที่จะปกป้องสิทธิของประชาชนจริงๆ

ภัสราวลีกล่าวเพิ่มเติมว่า หารผ่านร่างกฏหมายนิรโทษกรรมไม่รวมมาตรา 112 ก็ไม่ต้องทำดีกว่า เพราะเสียดายเวลา และงบประมาณ เพราะการออกกฏหมายนิรโทษกรรมเช่นนี้คงจะเป็นเพียงแค่ “พิธีกรรม” ที่มาพร้อมกับข้ออ้างว่ามีความพยายามรวมมาตรา 112 แล้วแต่ว่าไม่สำเร็จ

ภาระค่าใช้จ่าย และเวลา ที่ต้องเสียไปเมื่อถูกดำเนินคดีทางการเมือง

ภัสราวลีเล่าประสบการณ์และผลกระทบในฐานะหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ว่า เธอต้องแบกรับภาระเรื่องการเดินทางไปศาลเพื่อรายงานตัวตามที่อัยการนัดต่อเดือนราว 4-5 คดี เพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์ ต้องเสียทั้งเงินค่าเดินทาง และเวลา เพราะกว่าจะเดินทางไปถึงศาลต้องเสียเวลาไปแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง บางทีต้องรอดูว่าอัยการจะสั่งฟ้องอย่างไรซึ่งต้องเผื่อเวลาไป 1 วัน ทำให้เวลาทำงานก็หายไป รวมถึงรายได้ที่ขาดไปด้วย ขณะที่ประชาชนบางคนที่ถูกแจ้งความด้วยมาตรา 112 จากพื้นที่ห่างไกลก็จะมีภาระมากขึ้น

ภัสราวลีระบุว่าผลกระทบสำคัญอีกเรื่องคือ สภาพจิตใจ กรณีของเธอยังโชคดีที่แม่และคนรอบข้างมีความเข้าใจ แต่ว่าผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีการเมืองก็ส่งผลให้แม่ของเธอถูกฝ่ายตรงข้ามต่อว่าว่า “เลี้ยงลูกยังไงให้เป็นเด็กชังชาติ” จนแม่ของเธอซึ่งเคยเป็นที่รักของคนมากมาย ถูกตีตราว่าเป็นภัยความมั่นคงหรือมีส่วนกับความวุ่นวายในสังคม จนถูกคนบางส่วนในสังคมมองด้วยสายตาที่มีอคติ โดยที่คนที่ต่อว่าแม่ของเธอก็แทบไม่รู้รายละเอียดคดีของเธอแม้แต่น้อย

ความศรัทธาในสังคมไทยที่ถูกสั่นคลอน คำเตือนฝากถึงรัฐบาล

ภัสราวลีระบุว่า การรวมมาตรา 112 ไว้เป็นส่วนหนึ่งของกฏหมายนิรโทษกรรมจะจุดชี้วัดว่ากฏหมายที่ออกมามีความชอบธรรม เพราะแสดงให้เห็นว่าผลกระทบเกิดจากมาตรา 112 ถูกนำมาพิจารณาอย่างจริงจังในฐานะผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน ภัสราวลีระบุด้วยว่ากรณีบุ้ง เนติพรนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความผิดปกติในสังคมไทยที่อ้างว่าเป็นสังคมประชาธิปไตยว่าเหตุใดมาตรา 112 จึงเป็นกฏหมายที่มีสิทธิพิเศษในการขังคนจนเสียชีวิต

ภัสราวลีกล่าวต่อไปว่าขณะที่รัฐบาลเพื่อไทยมีท่าทีพยายามบ่ายเบี่ยงประเด็น หรือปัดความรับผิดชอบในการแก้ปัญหานี้ให้ประชาชนไปพูดคุยกันเองนอกสภา ปล่อยให้พูดบนท้องถนน ซึ่งการไม่เปิดพื้นที่พูดคุยอย่างปลอดภัยเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวก็ยิ่งทำให้สังคมตั้งคำถาม กับความศรัทธามากยิ่งไปกว่าเดิมอย่างแน่นอน และสังคมอาจไม่ได้แค่วิจารณ์รัฐบาลเท่านั้น แต่รวมไปถึงต้นตอผู้มีอำนาจด้วย ถ้าหากรัฐบาลจะไม่รวมมาตรา 112 ใน กฎหมายนิรโทษกรรมก็จะส่งผลให้ไม่สามารถขจัดความขัดแย้งในสังคมได้ สร้างผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพต่อไป รัฐบาลจะมาโอดครวญภายหลังไม่ได้เพราะถือว่าเตือนแล้ว

ภัสราวลีระบุด้วยว่าสุดท้ายแล้วคำถามเกี่ยวกับปมปัญหามาตรา 112 เป็นเรื่องที่รัฐบาลหนีไม่พ้น หากไม่จัดการหรือแก้ไขในช่วงที่มีโอกาสบริหารประเทศ การเลือกตั้งครั้งถัดไปของพรรคเพื่อไทยอาจไม่ได้รับความนิยมเท่าเดิมแล้ว เพราะถือว่ารัฐละทิ้งประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งไป ในทางตรงข้าม ถ้ารัฐบาลรวมมาตรา 112 ไว้ในกฏหมายนิรโทษกรรมได้สำเร็จจะถือว่ารัฐได้คืนความปกติ ให้กับสังคม ขจัดความขัดแย้งและสร้างบรรยากาศที่ดีในสังคมไทย

ผลักดันนิรโทษกรรมประชาชนโดยประชาชน

ภัสราวลีเล่าถึงประสบการณ์ช่วงกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมาที่ได้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดงานแคมเปญนิรโทษกรรมประชาชนด้วยว่า แม้จะมีความเหน็ดเหนื่อยในการเดินทางทั่วประเทศเพื่อไปรณรงค์แต่ก็เป็นความตั้งใจที่อยากผลักดันให้มาตรา 112 รวมอยู่ในกฏหมาย ซึ่งร่างพ.ร.บ.ส่งถึงสภาเรียบร้อยแล้วและกำลังอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนบนเว็บไซต์ของสภา ระหว่างวันนี้ 13 พฤษภาคม- 12 มิถุนายน 2567 นี้ จึงอยากเชิญชวนให้ประชาชนไปร่วมแสดงความเห็นเพื่อให้การนิรโทษกรรมประชาชนที่มีความชอบธรรมโดยไม่ทิ้งประชาชนกลุ่มใดไว้ข้างหลังเกิดขึ้นจริง

เรื่องและภาพโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์