19 พฤษภาคม 2567 ที่บริเวณแยกราชประสงค์ มีการจัดกิจกรรมไว้อาลัยผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ล้อมปราบการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงบริเวณสี่แยกราชประสงค์ รวมถึงภายในวัดปทุมวนาราม ตรงข้ามสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 99 ศพ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีทั้งผู้ชุมนุมแล้ว หน่วยแพทย์สนามรวมถึงช่างภาพที่ปฏิบัติหน้าที่ในบริเวณนั้น
สำหรับกิจกรรมรำลึก 14 ปี เหตุการณ์การล้อมปราบที่แยกราชประสงค์มีการจัดรวมทั้งสิ้นสามกิจกรรม เป็นกิจกรรมปราศรัยสองเวที เวที “รำลึก 14 ปี เมษา-พฤษภา 53” โดยคณะประชาชนทวงความยุติธรรม 53 ตั้งเวทีบริเวณใต้สะพานลอยหน้าห้างเซ็นทรัลเวิล์ดฝั่งตรงข้ามห้างเกสร ส่วนกลุ่มแดงเสรีชนตั้งเวทีต่อท้ายเวทีของคณะประชาชนทวงความยุติธรรม 53 ย้อนขึ้นมาทางฝั่งป้ายรถเมล์ตรงข้ามห้างบิ๊กซีราชดำริ เนื้อหาการปราศรัยทั้งสองเวทีพูดถึงประเด็นที่มีประชาชนถูกยิงหรือถูกทำร้ายจนเสียชีวิตกลางกรุงแต่ไม่มีเจ้าหน้าที่หรือบุคคลในรัฐบาลขณะนั้นต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ที่บริเวณสะพานลอยหน้าห้างเกสรกลุ่มล้อการเมืองมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้นำป้ายเขียนข้อความ “99ศพไม่พบฆาตกร” และ “คนตายกลางเมืองนักการเมืองสั่งยิง” มาแขวนไว้ ส่วนเวทีของกลุ่มแดงเสรีชนก็มีการจัดกิจกรรมวางพวงหรีดลำลึกถึงผู้เสียชีวิตที่บริเวณหน้าเวทีการปราศรัย
ส่วนที่บริเวณป้ายแยกราชประสงค์ มีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งมาจัดกิจกรรมจุดเทียนรำลึกโดยมีการนำเทียนมาจุดเรียงเป็นตัวเลข 14 เพื่อสื่อถึงการครบรอบ 14 ปี ของเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะที่คณะราษฎรัมก็จัดแสดง Art Performance จำลองภาพการสลายชุมนุมเมื่อ 14 ปีก่อน โดยอ่านชื่อผู้เสียชีวิตทีละคนจากนั้นผู้ที่แสดงเป็นบุคคลดังกล่าวจะเดินออกมาล้มลงนอนเสียชีวิตซึ่งการแสดงรูปแบบนี้เคยจัดมาแล้วระหว่างการชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎรที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563
ในเวลาประมาณ 20.00 น. ผู้ร่วมชุมนุมที่บริเวณป้ายแยกราชประสงค์ยังทำกิจกรรมไว้อาลัยให้ บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม นักเคลื่อนไหวปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และจำเลยคดีมาตรา 112 ที่เสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เนื่องจากการอดอาหารเรียกร้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและคัดค้านการคุมขังประชาชนด้วยข้อหาทางการเมือง และได้มีพิธีฌาปนกิจศพไปเมื่อเวลา 16.00น. ของวันเดียวกัน
เรื่องและภาพโดย วรกมล องค์วานิชย์