Skip to main content

พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม พิพิธภัณฑ์เล็กๆที่อัดแน่นไปด้วยประวัติศาสตร์และเรื่องราวมของแวดวงฟุตบอลไทย ตั้งอยู่ในพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ซึ่งรัชกาลที่หกมักจะเสด็จมาประทับเพื่อประกอบพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับกิจการเสือป่าซึ่งการแข่งขันกีฬาฟุตบอลก็ได้เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เกิดขึ้นที่นี่

จิรัฏฐ์ จันทะเสน อดีตข้าราชการรัฐสภา ผู้มีความคลั่งไคล้ในกีฬาฟุตบอลคือผู้ที่ริเริ่มก่อตั้งสมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย ตั้งแต่สมัยเป็นข้าราชการจิรัฏฐ์มักใช้เวลาว่างไปค้นหาข้อมูลและสถิติเกี่ยวกับฟุตบอลไทยเป็นระยะ พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยามคือหนึ่งในผลิตผลของทางสมาคมฯและเป็นงานที่จิรัฎฐ์ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการไปเฟ้นหาและรวบรวมของสะสมทั้งรูปถ่าย เสื้อรองเท้ากีฬา รวมถึงรางวัลเกียรติยศของอดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย มาไว้ที่พิพิธภัณฑ์จนอาคารหลังเล็กๆอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวของวงการฟุตบอลไทย



                                                                                    พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบทรงกีฬาฟุตบอล



                                                                                          คอลเลคชันผ้าพันคอสโมสรฟุตบอลต่างๆ

ในปี 2565 พระราชวังสนามจันทร์มีการปิดปรับปรุงใหญ่ พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยามจำเป็นต้องย้ายที่ทำการชั่วคราวมาอยู่ที่เรือนสาม ภายในศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากรวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งมีพื้นที่เล็กกว่าที่ตั้งเดิมอยู่มาก ข้าวของหลายชิ้นจึงไม่มีโอกาสถูกนำออกจัดแสดง ล่วงมาถึงช่วงปลายเดือนเมษายน 2567 จิรัฏฐ์ จันทะเสน ถึงแก่กรรมอย่างกระทันหันด้วยอาการป่วยเกี่ยวกับทางเดินหายใจ อนาคตของพิพิธภัณฑ์ดูจะตกอยู่ในความไม่แน่นอนเมื่อต้องสูญเสียผู้ก่อตั้งและหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ อย่างไรก็ตาม ภูสิฏฐ์ ศรีโรจนภิญโญ รักษาการนายกสมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทยก็ยืนยันว่าทางสมาคมจะสานต่อการทำงานพิพิธภัณฑ์ของพิพิธภัณฑ์ต่อไป

เยี่ยมยามพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม สวรรค์ของคนบ้าบอล



                                                      พระตำหนักทับแก้ว ในพระราชวังสนามจันทร์ ที่ตั้งเดิมของพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม

                                                                   กัปตันอุ้ม ธีรธร บุญมาทันขณะรับถ้วยพระราชทาน King's Cup ในปี 2559

ช่วงประมาณปี 2561 หรือ 2562 ผมมีโอกาสเดินทางไปทำกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยศิลปากรวิทยาเขตสนามจันทร์ ระหว่างที่กำลังรอเวลาเข้าร่วมกิจกรรมผมถือโอกาสใช้เวลาว่างเดินไปที่พระราชวังสนามจันทร์ ตั้งใจจะว่าจะแค่เข้าไปเดินเล่นแล้วรีบไปทำภารกิจ แต่ทันทีที่เดินเข้าประตูพระราชวังสายตาของผมก็พลันไปสะดุดกับอาคารไม้สองชั้นหลังหนึ่งที่มีป้ายชื่อ "พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์คณะฟุตบอลแห่งสยาม" ติดไว้ ผมเดินเข้าไปทันทีด้วยความสนใจ เพราะไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับฟุตบอลอยู่ในประเทศนี้ด้วย ทันทีที่ผมเข้าไปผมก็ต้องตื่นตาตื่นใจกับข้าวของที่จัดแสดงอยู่ข้างใน ทั้งรองเท้าสต๊ดของอดีตนักฟุตบอลทีมชาติ เสื้อฟุตบอล ถ้วยและเหรียญรางวัลต่างๆ ที่น่าสนใจคือในพิพิธภัณฑ์ยังมีคอลเลคชันที่เป็นสิ่งละอันพันละน้อย อย่างกระป๋องโค๊กรุ่นพิเศษที่ออกมาในช่วงก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 2545 (2002) ที่ประเทศญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ซึ่งตัวผมเองก็เคยมีสะสมไว้ในห้องนอนเป็นเวลาหลายปีก่อนจะที่บ้านเก็บทิ้งเพราะเห็นว่ามันเป็น "ขยะ" ที่ถูกทิ้งไว้ให้ฝุ่นเกาะด้วย



น่าเสียดายที่ในการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ในครั้งแรกเป็นแบบ "ชะโงกทัวร์" เพราะผมมีภารกิจที่ต้องรีบกลับไปทำในมหาวิทยาลัย ผมได้แต่ตั้งเป้าไว้ในใจว่าซักวันจะต้องกลับไปที่พิพิธภัณฑ์แห่งนั้นและจะใช้เวลากับมันให้มากขึ้น เมื่อใกล้ถึงวันที่ผมจะได้กลับไปเยือนพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยามอีกครั้งผมนั่งมองตั๋วฟุตบอลหลายๆใบที่เคยเก็บไว้ ทั้งตั๋วฟุตบอลกระชับมิตรสโมสรลิเวอร์พูลกับทีมชาติไทยที่ผมเคยแอบปีนรั้วจากโรงเรียนประจำในอำเภอสามพรานเข้ากรุงเทพกับเพื่อนอีกสองคนเพื่อไปหาตั๋วผีหน้างานเชียร์ทีมรัก ตั๋วฟุตบอล GSM Thai League ซึ่งเป็นการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกในช่วงปี 2544 - 2545 ที่สโมสรยุคเก่าอย่างสินธนา องค์การโทรศัพท์ ยังมีลมหายใจ ก่อนตัดสินใจนำตั๋วฟุตบอลที่เต็มไปด้วยความทรงจำเหล่านั้นพร้อมทั้งสมุดโปรแกรม Match Day ที่สโมสร Bangkok United เคยทำแจกที่หน้าสนาม ไปมอบให้กับทางพิพิธภัณฑ์ด้วยความเชื่อว่าหากสิ่งของเหล่านั้นได้ไปอยู่ที่พิพิธภัณฑ์น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าการซุกอยู่ใต้กระจกบนโต๊ะทำงานของผม

พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยามที่พระตำหนักทับแก้วแบ่งการจัดแสดงออกเป็นสองชั้น ส่วนจัดแสดงหลักจะอยู่ที่ชั้นล่าง ส่วนชั้นที่สองซึ่งมีพื้นที่เล็กกว่าจัดแสดงเสื้อฟุตบอลทีมชาติรุ่นเก่าพร้อมถ้วยรางวัลต่างๆ แต่น่าเสียดายที่ผมไม่ได้บันทึกภาพส่วนจัดแสดงชั้นบนมา โดยหนึ่งระหว่างที่เดินชมส่วนจัดแสดงบนชั้นสองทางผู้นำชมยังได้ชี้ให้ดูเตาผิงโบราณด้วยพร้อมเล่าให้ฟังว่าในอดีตพระราชวังสนามจันทร์และพระตำหนักทับแก้วแห่งนี้เคยเป็นพระราชวังที่รัชกาลที่หกมักเสด็จมาประทับในฤดูหนาว ซึ่งหากดูมองในบริบทปัจจุบันคงเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการว่าครั้งหนึ่งอากาศที่นครปฐมเคยเย็นถึงขั้นต้องใช้เตาผิงบรรเทาความหนาวเย็น

เมื่อผู้ชมมาถึงที่บริเวณชั้นล่างของพระตำหนักทับแก้วก็จะได้รับการต้อนรับโดยภาพถ่ายขนาดใหญ่ของ "กัปตันอุ้ม" ธีราทร บุญมาทัน ขณะรับถ้วยพระราชทาน King's Cup ที่ทีมชาติไทยเป็นแชมป์ในปี 2559 เมื่อเข้าไปด้านในพิพิธภัณฑ์ผู้ชมก็จะพบกับข้าวของที่เกี่ยวข้องกับแวดวงฟุตบอลไทยหลากหลายประเภท ทั้งเสื้อผ้า รองเท้า เหรียญและถ้วยรางวัลของอดีตนักฟุตบอลที่นำมามอบให้ทางพิพิธภัณฑ์ ตั๋วฟุตบอล เสื้อ และผ้าพันคอของสโมสรหรือทีมชาติที่แฟนฟุตบอลนำมามอบให้ นอกจากนั้นก็มีภาพถ่ายเก่าของอดีตนักฟุตบอล รวมถึงภาพถ่ายของรัชกาลที่สิบเมื่อครั้งทรงกีฬาฟุตบอล ภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีบอร์ดนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวงการฟุตบอลไทยและพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอลไทยโดยเฉพาะรัชกาลที่หกซึ่งเป็นยุคสมัยที่เริ่มมีการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในสยามและมีการตั้งคณะฟุตบอลแห่งสยามซึ่งต่อมากลายเป็นสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย

                                                                                        ตั๋วฟุตบอลที่ผู้เขียนนำไปมอบให้ทางพิพิธภัณฑ์

                                                                         คอลเลคชันแผ่นพับ ศึกฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน King's Cup

ระหว่างที่เดินชมพิพิธภัณฑ์ ผมได้แจ้งความประสงค์กับเจ้าหน้าที่ของทางพิพิธภัณฑ์ว่ามีความประสงค์ที่จะมอบตั๋วฟุตบอล ผ้าพันคอ รวมถึงสมุดโปรแกรมการแข่งขันฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกของสโมสรแบงคอก ยูไนเต็ด ให้ทางพิพิธภัณฑ์ เจ้าหน้าทีจึงแจ้งว่าหากผมไม่รีบขอให้รอสักครู่หนึ่งเพื่อจะได้มอบให้ผอ.ด้วยตัวเอง ผมจึงได้มีโอกาสพบกับคุณจิรัฏฐ์ จันทะเสน ผู้อำนวยการของทางพิพิธภัณฑ์ หลังมอบของและถ่ายภาพเพื่อเป็นที่ระลึกเรียบร้อยแล้ว คุณจิรัฏฐ์ยังให้เกียรตินำผมชมพิพิธภัณฑ์โดยรอบอีกครั้งหนึ่งพร้อมกับบอกเล่าเรื่องราวที่อัดแน่นอยู่เบื้องหลังของสะสมหลายๆชิ้นโดยละเอียด น่าเสียดายที่บทสนทนานั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2562 แล้ว ผมจึงจำรายละเอียดไม่ได้แล้วว่าวันนั้นคุณจิรัฏฐ์เล่าถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของข้าวของชิ้นไหนบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ผมจำได้คือ passion ที่ถูกถ่ายทอดออกมาตลอดการนำชมและบทสนทนาของคุณจิรัฏฐ์ และสิ่งหนึ่งที่น่าจะยืนยันถึง passion ของคุณจิรัฏฐ์ในการทำพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยามได้เป็นอย่างดีน่าจะเป็นเรื่องที่เขาสามารถจดจำเรื่องราวเบื้องหลังข้าวของแทบทุกชิ้นได้อย่างไม่มีตกหล่นและสามารถเล่าให้ผู้เข้าชมฟังได้อย่างมีพลัง ก่อนลาจากคุณจิรัฏฐ์ชวนผมเข้าไปนั่งคุยที่ห้องทำงานต่ออีกนิดหน่อยและได้มอบเสื้อที่ระลึกของทางพิพิธภัณฑ์มาให้หนึ่งตัว หลังบทสนทนาในวันนั้นเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็ค่อยๆไปจากความทรงจำของผม

                                                            ภาพพร้อมลายเซ็น โอ่ง ดุสิต เฉลิมแสน อดีตแบ๊กซ้ายทีมชาติไทยดีกรีดาราเอเชียปี 2540

ย้ายบ้านชั่วคราวและอนาคตที่ยังไม่แน่นอน

ล่วงมาถึงช่วงปลายปี 2567 ผมหวนกลับมานึกถึงพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยามอีกครั้ง ทว่าด้วยภารกิจต่างๆผมก็ผัดผ่อนวันที่จะไปเยี่ยมชมและบอกเล่าเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้กระทั่งในเดือนเมษายน 2567 ก็มีข่าวว่าคุณจิรัฏฐ์ได้เสียชีวิตลงหลังมีอาการป่วยเกี่ยวกับระบบหายใจ หลังได้ทราบรับข่าวร้ายผมตัดสินใจย้อนกลับไปที่พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลสยามอีกครั้งหลังจากผัดวันประกันพรุ่งมานาน พิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลสยามที่ผมไปเยี่ยมชมในปี 2567 ต่างจากพิพิธภัณฑ์ที่ผมเคยไปในปี 2562 เพราะมีการย้ายอาคารจัดแสดงจากพระตำหนักทับแก้วภายในเขตพระราชวังสนามจันทร์ออกมาที่เรือนสามภายในศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบฯ มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นการชั่วคราวตั้งแต่ช่วงปี 2565 เนื่องจากมีการปิดปรับปรุงพื้นที่ภายในพระราชวังสนามจันทร์ทั้งหมด



เรือนสามซึ่งเป็นสถานที่ตั้งชั่วคราวของพิพิธภัณฑ์มีขนาดเล็กกว่าพระตำหนักทับแก้วซึ่งเป็นที่ตั้งเดิม การจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ในช่วงที่ผมไปเยี่ยมชมรอบนี้จึงยังไม่ใช่การจัดแสดงเต็มรูปแบบ เรือนสามเป็นอาคารชั้นเดียวใต้ถุนสูง ชั้นบนแบ่งการจัดแสดงออกเป็นสองห้อง ห้องทางขวามือ(จากทางเข้า)จัดแสดงเสื้อฟุตบอลเก่า รางวัลเกียรติยศของอดีตนักฟุตบอลทีมชาติ รวมถึงเสื้อสูทและเสื้อทีมชาติไทยรุ่นเก่า วัตถุจัดแสดงที่น่าจะเป็นไฮไลท์ในห้องจัดแสดงในส่วนนี้ได้แก่ ตั๋วฟุตบอลที่อัดกรอบรวมกับภาพถ่ายและผ้าพันคอที่มีลายเซ็นนักฟุตบอลทีมชาติไทยชุดแชมป์  AFF Suzuki Cup ปี 2022 ซึ่งแฟนฟุตบอลทีมชาติไทยเป็นผู้จัดทำและมอบให้ทางพิพิธภัณฑ์ นอกจากนั้นก็มีกลองขนาดใหญ่ที่ พยุริน งามพริ้ง ซึ่งเคยเป็นประธานกลุ่มเชียร์ไทยพาวเวอร์และเป็นอดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในปี 2566 นำมามอบให้ ซึ่งกลองนี้เคยถูกใช้ในสนามเวลาที่ทีมชาติไทยลงแข่ง ในส่วนจัดแสดงนี้ ยังมีรางวัลเกียรติยศและภาพถ่ายของอดีตนักฟุตบอลทีมชาติบางส่วนจัดแสดงไว้ด้วย


                                                                                        
                                                                                          เสื้อสูท สโมสรฟุตบอลธนาคารกรุงไทย

                                                                                              เสื้อสูทสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย

                                                                                       กลองที่เคยใช้ในการเชียร์ทีมชาติไทย บริจาคโดยพยุริน งามพริ้ง




                                                         คอลเลคชันตั๋วฟุตบอล AFF Suzuki Cup ปี 2565 อัดกรอบพร้อมผ้าพันคอมีลายเซ็นนักฟุตบอลทีมชาติ

สำหรับห้องจัดแสดงฝั่งซ้ายมือจากทางเข้าจัดแสดงของสะสมที่เกี่ยวข้องพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อวงการฟุตบอลไทยโดยเฉพาะรัชกาลที่หกและรัชกาลที่สิบ โดยในส่วนนี้มีการจัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบเมื่อครั้งทรงกีฬาฟุตบอลและพระบรมฉายาลักษณ์ที่รัชกาลที่หกทรงฉายกับคณะนักฟุตบอลพร้อมกับลูกฟุตบอลด้วย ของสะสมที่น่าจะเป็นไฮไลท์อีกส่วนหนึ่งในห้องนี้คงหนีไม่พ้นถ้วยพระราชทานควีนส์คัพ ซึ่งถือเป็นถ้วยรางวัลขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ได้ขอยืมจากสโมสรบางกอกกล๊าสซึ่งเป็นแชมป์ทีมสุดท้าย ในห้องนี้ยังมีการจัดแสดงคอลเลคชันหนังสืออัตชีวประวัติของ"ไข่มุกดำ" หรือ เปเล่ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบราซิลซึ่งเคยมาเยือนเมืองไทยในปี 2517 ไว้ด้วย



                                                                                                ถ้วยพระราชทาน Queen's Cup



                                                                                    คอลเลคชันภาพรัชกาลที่สิบขณะทรงกีฬาฟุตบอล





บริเวณพื้นที่ว่างระหว่างห้องจัดแสดงทั้งสองห้องมีชั้นจัดแสดงถ้วยรางวัลจำนวนมากจัดแสดงไว้ซึ่งเป็นถ้วยรางวัลที่ "เดอะตุ๊ก" ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน อดีตนักฟุตบอลทีมชาติเคยได้รับในช่วงที่ยังค้าแข้งอยู่ นอกจากนั้นก็ยังมีการจัดแสดงรองเท้าสตั๊ดของอดีตนักฟุตบอลทีมชาติทั้งชายและหญิง รวมทั้งของซิโก เกียรติศักดิ์ เสนาเมืองจัดแสดงไว้ด้วย โดยหนึ่งในวัตถุจัดแสดงที่หน้าสนใจได้แก่ชุดแข่งขันฟุตบอลของนักกีฬาฟุตบอลผู้พิการทางสายตาซึ่งจะมีอุปกรณ์เพิ่มเติมไปจากอุปกรณ์ของนักฟุตบอลทั่วไป เช่น ผ้าปิดตาเพื่อป้องกันดวงตาและป้องกันการมองเห็นในกรณีของนักฟุตบอลที่ไม่ได้สูญเสียการมองเห็น 100% และลูกฟุตบอลที่มีเครื่องส่งเสียงอยู่ข้างไหนที่ช่วยให้ผู้เล่นรู้ว่าลูกฟุตบอลอยู่ตรงไหน





                                                                         คอลเลคชันชุดกีฬาและอุปกรณ์ของนักฟุตบอลทีมชาติผู้พิการทางสายตา



                                                                                        รองเท้าสตั๊ดของ ซิโก เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง



                                                                                   คอลเลคชันถ้วยรางวัลของ เดอะตุ๊ก ปิยพงศ์ ผิวอ่อน

เนื่องจากผมมาชมพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้ในวันที่คุณจิรัฏฐ์ได้จากโลกไปแล้ว พี่เมย์เจ้าหน้าที่ที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวของพิพิธภัณฑ์จึงเป็นคนที่คอยอำนวยความสะดวก พี่เมย์เล่าให้ฟังว่าในช่วงปี 2565 พิพิธภัณฑ์ต้องย้ายที่ตั้งมาเป็นการชั่วคราวเพราะพระราชวังสนามจันทร์ถูกปิดเพื่อทำการปรับปรุง เนื่องจากพื้นที่จัดแสดงชั่วคราวมีขนาดเล็กกว่าพิพิธภัณฑ์เดิม ข้าวของหลายๆชิ้นจึงยังไม่ได้ถูกแกะหรือนำออกมาจัดแสดง ได้แต่เอาไปซุกหรือเก็บไว้ตามตู้หรือพื้นที่ว่างของในจัดแสดง 

พี่เมย์สะท้อนว่าปัญหาอุปสรรค์สำคัญในการทำงานของพิพิธภัณฑ์ในเวลานี้คือเรื่องงบประมาณ โดยในอดีตพิพิธภัณฑ์เคยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากทางมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ แต่ช่วงประมาณปี 2563 การสนับสนุนดังกล่าวสิ้นสุดลง ทางพิพิธภัณฑ์จึงต้องหารายได้ด้วยการผลิตของที่ระลึกขายแต่เงินที่ได้เข้ามาบางครั้งก็ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายประจำเดือน สุดท้ายเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ก็ทยอยลาออกไปหางานใหม่จนเหลือพี่เมย์ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์เพียงคนเดียวโดยต้องทำหน้าที่หลายอย่าง ทั้งการดูแลความเรียบร้อยของพิพิธภัณฑ์ ทั้งการอำนวยความสะดวกให้กับผู้มาเข้าชม รวมทั้งต้องเป็นคนแพคและจัดส่งสินค้าที่ระลึกเพื่อหารายได้เข้าพิพิธภัณฑ์

สำหรับทิศทางของพิพิธภัณฑ์ในอนาคตหลังสิ้นคุณจิรัฏฐ์ ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของทางพิพิธภัณฑ์ พี่เมย์ตอบว่าคงต้องให้ทางผู้หลักผู้ใหญ่ในสมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่บริหารจัดการพิพิธภัณฑ์เป็นผู้กำหนดและตัดสินใจต่อไป พี่เมย์เล่าด้วยว่าคุณจิรัฏฐ์รักพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มาก สมัยที่ยังมีชีวิตอยู่เขามักจะเป็นคนที่รับมอบคอลเลคชันจากผู้บริจาคด้วยตัวเอง รวมทั้งเป็นคนที่คอยบรรยายในการนำชมด้วยตัวเอง ในช่วงเวลาที่พิพิธภัณฑ์จำเป็นต้องย้ายที่ทำการคุณจิรัฏฐ์ยังเป็นคนที่ลงมาเก็บและห่อข้าวของเพื่อเตรียมการขนย้ายด้วยตัวเองเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดการเสียหาย

ตลอดระยะเวลาการเข้าชมผมได้แต่รู้สึกเสียดายที่เรื่องราวของฟุตบอลไทยหลายๆเรื่องยังไม่มีโอกาสถูกบอกเล่าบนชั้นจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านสถานที่ทำให้สิ่งของหลายๆชิ้นยังคงถูกเก็บรักษาไว้ในกล่อง ไม่เพียงเท่านั้นเรื่องเล่าเบื้องหลังข้าวของอีกหลายที่ยังไม่ถูกจดบันทึกก็อาจหล่นหายไปพร้อมๆกับการเสียชีวิตของคุณจิรัฏฐ์อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นผู้รับมอบสิ่งของเหล่านั้น ซึ่งจากนี้คงเป็นหน้าที่ของสมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย ว่าจะมีทิศทางการดำเนินกิจการพิพิธภัณฑ์ต่อไปอย่างไร

เรื่องและภาพโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์