17 พฤษภาคม 2567 เวลา 16.00 น. พิพิธภัณฑ์สามัญชนร่วมกับ The Deep South Museum & Archives และโครงการตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา และโครงการจัดเก็บเอกสารของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในประเทศไทย จัดเสวนาเปิดตัวนิทรรศการ “พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุอิสระ” ณ The Fort ซอยสุขุมวิท 51 กรุงเทพฯ
โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ อานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน, ภัทรพร ภู่ทอง ผู้ร่วมก่อตั้ง The Deep South Museum & Archives และโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา และ ดร.นฤพล ด้วงวิเศษ หัวหน้าทีมวิจัยโครงการจัดเก็บเอกสารของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในประเทศไทย โดยมี ศิลปปชัย กุลนุวงศ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ก่อนเข้าสู่เสวนา มีการประชาสัมพันธ์บริการการใช้พื้นที่ของ The Fort สำหรับผู้ที่กำลังมองหาพื้นที่จัดกิจกรรม workshop และ อีเวนท์ต่างๆ และเนื้อหาภาพรวมวงเสวนานี้ที่จะพูดถึงโครงการบันทึกประวัติศาสตร์ภาคประชาชน ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในเมืองไทย
ภัทรพร: ประวัติศาสตร์ความรุนแรง เนื้อหาที่หาชมยากในพิพิธภัณฑ์เมืองไทย
ภัทรพร เล่าจุดเริ่มต้นการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับแรงบันดาลใจสมัยตอนที่เธอไปศึกษาต่อ และได้มีโอกาสไปดูงานที่ต่างประเทศ และทำธีสิสเรื่องพิพิธภัณฑ์สันติภาพ เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น รวมถึง Peace Museum อีกหลากหลายแห่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ความรุนแรงซึ่งไม่ค่อยพบเห็นในเมืองไทยมากเท่าไหร่ ประกอบกับความหลงใหลส่วนตัวของเธอที่สนใจมิวเซียม
ภัทรพรเล่าต่อไปว่า กระทั่งเมื่อกลับไทยก็ได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในทีมงานของโครงการบันทึก 6 ตุลา และได้รู้จักกับอาจารย์หลายคนที่ให้คำปรึกษา จึงทำให้เห็นความเป็นไปได้ที่จะทำให้พิพิธภัณฑ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นในไทย โดยเธอระบุว่าข้อสังเกตหนึ่งที่พบคือส่วนใหญ่พิพิธภัณฑ์ลักษณะดังกล่าวมักจะถูกสร้างขึ้นหลังจากความขัดแย้งจบลง
แต่ยังไม่มีพิพิธภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างที่มีความขัดแย้งอยู่อย่างเช่นพื้นที่ในสามจังหวัดภาคใต้ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอเลือกสนใจประเด็นนี้ในแง่ที่ว่าเรื่องราวความขัดแย้งยังดำเนินอยู่นั้นจะถูกนำเสนอในรูปแบบพิพิธภัณฑ์หรือถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมืออย่างไร ทั้งนี้ ภัทรพรระบุว่าแต่จริงๆแล้วจุดเริ่มต้นแนวคิดวัฒนธรรมชายแดนใต้ ไม่ได้มาจากเธอ แต่มาจากคนในพื้นที่ที่เป็นคนช่วยเสนอด้วย
โดยสิ่งของที่เก็บในพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ ภัทรพรระบุว่าเธอตั้งใจที่จะเก็บทุกอย่างที่เป็นตัวแทนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา เช่น หนังสือ ภาพถ่าย รวมไปถึงประตูแดง (สัญลักษณ์ความรุนแรงก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาเมื่อวันที่ 26 กันยา ที่มีช่างไฟฟ้าซึ่งเป็นนักกิจกรรมถูกนำไปแขวนคอที่ประตูแดงจังหวัดนครปฐม) ตลอดจนการเก็บวัตถุที่เป็นตัวแทนของความทรงจำในช่วงเหตุการณ์ตากใบ
เก้าอี้ หมวกแก๊ป และ หนังสติ๊ก เรื่องเล่าจากสิ่งจัดแสดง
ภัทรพรเล่าถึงตัวอย่างสิ่งจัดแสดงภายในงานนี้แต่ละชิ้น ที่สะท้อนเรื่องราวความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เมื่อปี 2547 โดยเริ่มจาก ‘เก้าอี้’ ที่ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่หนีออกมาจากโรงเรียนซึ่งถูกไฟเผา โดยก่อนที่เด็กคนจะวิ่งออกมาเขาก็ไปคว้าเก้าอี้ในโรงเรียนออกมาด้วย
ส่วนหมวกแก๊ปสีชมพูลายแพนด้าของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง คือตัวแทนของที่ระลึกจากกองทัพไทยที่ปลอบขวัญเด็กๆหลังจากเหตุการณ์ที่โรงเรียนถูกเผา โดยทหารพาขึ้นเครื่องบินไปดูหมีแพนด้าที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหลักฐานที่นำไปสู่คำถามหนึ่งของภัทรพรระหว่างรวบรวมสิ่งของด้วยว่าเด็กๆวันนั้นรู้สึกยังไง
ภัทรพรเล่าต่อไปถึงอีกสิ่งจัดแสดงคือหนังสติ๊กที่ว่าด้วยประสบการณ์สมัยเด็กของคนหนึ่งที่เก็บหนังสติ๊กชิ้นนี้ไว้ สัญลักษณฺ์บ่งบอกช่วงเวลาก่อนเกิดเหตุการณ์ต้นหยงลิมอ(กราดยิง) ในหมู่บ้านปี 2548 ที่แสดงให้เห็นว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อยเคยออกมาวิ่งเล่นในหมู่บ้าน จนกระทั่งเด็กเหล่านั้นถูกห้ามออกนอกบ้านช่วงที่จะเกิดเหตุ ซึ่งก็เป็นเรื่องราวที่สะท้อนถึงความทรงจำของแต่ละบุคคลที่ผ่านประสบการณ์ความรุนแรงในลักษณะต่างๆ
ความท้าทายด้านทุน ความไว้ใจ และข้อควรคำนึงในการจัดทำพิพิธภัณฑ์
ภัทรพรเล่าถึงระบบการจัดการพิพิธภัณฑ์ที่มีอุปสรรค นอกเหนือจากเรื่องปัญหาพื้นที่ในการจัดเก็บของแล้ว ก็มีเรื่องเงินทุนสำหรับทำนิทรรศการซึ่งใช้เงินจำนวนไม่น้อย บางนิทรรศการอย่างแกลเลอลี่ทั้งของโครงการ 6 ตุลา และโครงการหอจดหมายเหตุตากใบที่ผ่านมาก็ทำให้เธอติดหนี้เป็นล้านบาท ซึ่งหากมีผู้ชมคนใดที่บริจาคเงินสมทบทุนด้วยเพราะเห็นคุณค่าในสิ่งที่เธอทำอยู่ ก็จะเป็นเหมือนเชื้อเพลิงที่เติมเต็มกำลังใจในการทำงานของเธอต่อไปได้เป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ ภัทรพรระบุว่าเพราะประเด็นหลักของการทำพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่แค่เรื่องการเก็บของเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องการสื่อสาร ว่าจะสื่อสารออกไปยังไง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชมที่เราอยากสื่อสารมากที่สุดคือ กลุ่มคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากเรา หรือคนที่มีความคิดเห็นต่าง คนที่ยังไม่รู้จักภาคใต้ เพื่อให้เขาได้มาเห็นหน้าตาของผู้ได้รับผลกระทำว่าคนเหล่านี้ผ่านประสบการณ์มายังไง
ภัทรพรเล่าความรู้สึกว่าเนื่องด้วยต้นทุนที่สูงในการจัดทำพิพิธภัณฑ์ บางครั้งเธอก็รู้สึกบั่นทอนกำลังใจเหมือนกัน คิดอยู่ว่าจะทำต่อ หรือพอแค่นี้ เธอทบทวนในสิ่งที่กำลังทำอยู่ ตั้งคำถามว่าเราได้อะไรจากสิ่งที่ทำ
“แต่เมื่อเห็นว่ามีบางครอบครัวที่เก็บภาพพี่ชายของเขาที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ ฉันรู้แล้วล่ะว่าฉันกำลังทำอะไรอยู่ ดังนั้นการสื่อสารความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันก็อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ อย่างน้อยมันก็ช่วยให้สังคมได้ตั้งคำถามมากขึ้น ซึ่งแค่ตั้งคำถามก็ถือว่าเป็นก้าวแรกที่เราแฮปปี้แล้ว”
ความทรงจำ และความไว้ใจของญาติผู้ได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ เมื่อพูดถึงการเก็บของความทรงจำผู้คน ภัทรพรระบุด้วยว่าอีกสิ่งที่เป็นความท้าทาย คือความไว้วางใจของญาติผู้ที่ได้รับผลกระทบ ที่อาจจะไม่มั่นใจในตอนแรก หรือไม่กล้าให้สิ่งของที่เกี่ยวข้องกับผู้วายชนม์เพราะไม่ไว้ใจพิพิธภัณฑ์ที่เธอทำอยู่ แต่เมื่อเวลาผ่านและญาติได้รับรู้ เข้าใจมากขึ้น ก็มีคนมาให้บริจาคเพิ่มขึ้นตามมา
อานนท์: จิ๊กซอว์เติมเต็มหน้าประวัติศาสตร์
อานนท์เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นพิพิธภัณฑ์สามัญชนผ่านช่วงชีวิตของเขาว่าเกิดขึ้นมาจากตนที่เรียนจบในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ และด้วยนิสัยส่วนตัวที่ชื่นชอบเก็บของอยู่แล้ว จนกระทั่งช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยได้รู้จักกับฝรั่งคนหนึ่งผู้ชื่นชอบเก็บของตั้งแต่ปี2556 ในประเทศเนเธอแลนด์ และอานนท์ก็ได้มาทำงานกับไอลอว์ที่ขณะนั้นเขาเก็บรวบรวมข้อมูลช่วงที่มีการทำรัฐประหาร ทั้งยังได้ไปนั่งฟังพิจารณาคดีต่างๆในศาล ซึ่งเขารู้สึกว่าการอ่านเอกสารอย่างเดียวเหมือนมันขาดมิติบางอย่างไป
อานนท์ระบุว่าทั้งนี้พิพิธภัณฑ์ของรัฐเองเท่าที่เขาเคยไปมาก็พบว่าไม่ค่อยนำเสนอมิติทางการเมือง หรือไม่มีชีวิตทางการเมืองของประชาชนสักเท่าไหร่ เขาจึงเริ่มเก็บข้าวของเครื่องใช้จากม็อบต่างๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมือง โดยมองมันในฐานะหน้าประวัติศาสตร์ของประชาชน จึงเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์สามัญชนในปี 2561 ที่เริ่มจากเงินทุนส่วนตัวของเขาเอง
วัตถุพยานทางประวัติศาสตร์
ทั้งนี้ อานนท์ระบุด้วยว่าในแง่ของบทบาทของวัตถุสิ่งของชิ้นๆหนึ่งมันสามารถเล่าเรื่องต่างๆได้ ไม่ได้ถูกทำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวครั้งเดียวแล้วจบภารกิจ หากแต่มันยังสามารถสร้างประโยชน์ต่อยอดในเชิงวิชาการ หรือในบริบทของการจัดนิทรรศการ ตลอดจนช่วยสร้างประสบการณ์เติมเต็มการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ในห้องเรียนได้
อานนท์ชี้ให้เห็นว่าเหตุผลที่เป็นพิพิธภัณฑ์สามัญชน เพราะมีความหมายกว้างและสื่อถึงประวัติศาสตร์ของคนธรรมดา ซึ่งก็จะมีความแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ของรัฐส่วนใหญ่ที่มักจะเก็บรักษาสิ่งของของบุคคลสำคัญ หรือกลุ่มคนชนชั้นสูง อย่างไรก็ตาม อานนท์ระบุว่าเจตนาของพิพิธภัณฑ์ไม่ได้ต้องการจะไปท้าทาย หรือโต้แย้งกับประวัติศาสตร์กระแสหลักที่เขียนขึ้นโดยรัฐ หากแต่มีเจตนาต้องการต่อยอดนำเสนอชุดข้อมูลประวัติศาสตร์อีกชุดหนึ่งในฐานะทางเลือกในการศึกษาเสมือนจิ๊กซอว์หนึ่งที่อาจตกหล่น หรืออาจถูกละเลยในการจดบันทึกไปในหน้าประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ตู้เสื้อผ้าและชีวิตทางสังคมของมนุษย์
อานนท์ระบุว่าเพราะชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งมีหลากหลายบทบาท ทั้งบทบาทของการเป็นสมาชิกในครอบครัว เจ้านาย ลูกน้อง ซึ่งล้วนมีการปฏิสัมพันธ์กัน รวมไปถึงปฏิสัมพันธ์ที่เรามีกับรัฐในฐานะ Political Actor ด้วย อย่างเช่นเมื่อเราไปม็อบ แล้วสวมเสื้อผ้าที่เกี่ยวกับม็อบในวันนั้น หลังจบกิจกรรม เสื้อดังกล่าวก็อาจถูกแขวนทิ้งไว้ในตู้เสื้อผ้าที่แสดงให้เห็นถึงประสบการณ์ส่วนตัวทางการเมืองของแต่ละบุคคล แต่เมื่อเอามารวมกันกับเสื้อผ้า หรือสิ่งของของคนอื่นที่ไปร่วมม็อบมาด้วยเหมือนกัน เช่น ป้ายผ้า อุปกรณ์เคลื่อนไหว ก็จะทำให้เราเห็นถึงประวัติศาสตร์การเมืองในภาพใหญ่มวลรวมได้มากขึ้น
อานนท์เล่าต่อไปว่า ดังนั้น เสื้อผ้า หรือสิ่งของที่เคยใช้เป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนก็นำมาสู่อีกโจทย์หนึ่งที่พิพิธภัณฑ์ต้องการสื่อสารว่าจะทำยังไงให้คนรู้สึกไว้ใจว่าสิ่งของดังกล่าวของเขามันจะมีประโยชน์อย่างในสังคมเมื่อถูกเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์หรือสร้างคุณค่าบางอย่างได้ดีกว่าเก็บไว้กับตัวเอง บ่อยครั้งก็รู้สึกดีใจที่มีป้าอดีตคนเสื้อแดงนำเสื้อ อุปกรณ์ในม็อบมาบริจาคเป็นถุงใหญ่ เพราะพิพิธภัณฑ์ไม่ควรจะเป็นเพียงแค่โกดังเก็บของเท่านั้น
ความท้าทายด้านพื้นที่จัดเก็บของพิพิธภัณฑ์ และความเป็นกลาง
สำหรับอุปสรรคที่ท้าทายการจัดทำพิพิธภัณฑ์ที่นอกจากเรื่องหาทุนแล้วก็มีเรื่องพื้นที่จัดเก็บ อานนท์ระบุว่าเนื่องด้วยพื้นที่จัดเก็บพิพิธภัณฑ์ที่มีอย่างจำกัด เขาจึงใช้วิธีถ่ายรูป หรือสแกนเป็นไฟล์ดิจิทัลเก็บไว้แทน ตัวอย่างเช่น กราฟิตี้แถวถนนราชดำเนิน ศิลปะการเมืองบางอย่างที่ไม่สามารถเก็บได้ก็จะอาศัยการถ่ายรูปเก็บไว้โดยเฉพาะหลักฐานที่ไม่สามารถจับต้องได้
อีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น ภาพมีมบนโลกอินเทอร์เน็ตซึ่งจากประสบการณ์ที่เขาเคยจัดนิทรรศการเกี่ยวกับมีมการเมืองก็พบว่ามีความยาก และท้าทายในการจัดเก็บเหมือนกันเพราะภาพมีมที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตมันมีการแชร์ข้อมูลอย่างรวดเร็ว และจำนวนที่มาก
อานนท์เล่าต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงความเป็นกลางทางการเมือง แน่นอนว่าพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งไม่สามารถที่จะ “เป็นกลาง” ทางการเมืองได้อย่างครบถ้วนอยู่แล้ว เพราะการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ก็ต้องผ่านการเลือกสรร ส่วนที่แสดง และเลือกไม่จัดแสดงที่ล้วนประกอบสร้างความเป็นพิพิธภัณฑ์นั้นๆ เนื่องจากเป้าหมายของงานพิพิธภัณฑ์ไม่เป็นไปเพื่อแสวงหาผลกำไร หากแต่มีเป้าหมายเรื่องอุดมการณ์
สำหรับสิ่งของที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการก็จะเป็นใบปลิวหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 เนื่องจากครบรอบ 1 ปี
นฤพล: ความหลากหลายทางเพศ LGBT กลุ่มคนที่ถูกผลักให้เป็นชายขอบ
นฤพลเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่มาและความสำคัญในการจัดเก็บเอกสารกลุ่มหลากหลายทางเพศไทย หรือ Thai Rainbow Archive ว่าเกิดขึ้นมาจากอาจารย์ Peter Jackson ที่ชื่นชอบสะสมนิตยสารชายรักชาย เกย์ เลสเบี้ยนและได้มาทำวิจัยในไทยช่วงทศวรรษ 1980 เพราะเล็งเห็นประโยชน์ทางวิชาการและขอทุนจาก British Library และเป็นพาร์ทเนอร์กับมหาวิทยาลัยออสเตรเลีย และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
นฤพลกล่าวต่อไปว่าเหตุผลที่เลือกเก็บเอกสารกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เนื่องจากเป็นประวัติศาสตร์ที่มักจะไม่ได้ถูกบันทึกในพิพิธภัณฑ์รัฐไทยเท่าใดนัก เพราะเอกสารหรือนิตยสารดังกล่าวมักจะถูกตีตราว่าเป็นสื่อลามกอนาจารในสายตารัฐจึงเป็นผลให้พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ในไทยก็มักจะนำเสนอเรื่องการรักชาติ แทบจะไม่มีเรื่องราวกลุ่มคนใต้ดิน เขาจึงเริ่มเก็บเอกสารมาตั้งแต่ปี 2524 ไปจนถึงปลายปี 2520
ทั้งนี้ นฤพลระบุว่านิตยสารเรื่องเพศก็ไม่ได้มีแค่ภาพโป๊อย่างเดียวอย่างที่สังคมภายนอกเข้าใจ หากแต่ยังมีในมิติอื่นที่เห็นอันสะท้อนถึงสภาพสังคมหรือทัศนคติของผู้คนในยุคนั้น เพราะจะมีเนื้อหาที่พูดถึงประเด็นทางสังคมด้วย เช่น การตีตราและผูกโยงว่าโรคเอดส์เป็นโรคของเกย์ การไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม หรือไม่กล้าเปิดเผยเพศสภาพหรือเพศวิถีของตนเองกับพ่อแม่
สำหรับความท้าทายก็เป็นไปในลักษณะเดียวกับที่ภัทรพร และอานนท์ได้นำเสนอเรื่องการจัดเก็บ นฤพลระบุว่าแม้กระทั่งองค์การที่ทำเรื่อง LGBT หรือศูนย์มานุษยาเองก็มีความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจที่จะเก็บหนังสือโป๊ หรือนิตยสารดังกล่าวด้วยความที่อาจจะรกพื้นที่ และด้วยมุมมองที่ว่าเรื่องเพศที่เป็นเรื่องน่าอายในสังคม แม้ว่าในปัจจุบันการยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศจะเป็นไปในทิศทางที่ดีกว่าในอดีตแล้วด้วยกระแสซอล์ฟพาวเวอร์ภาพยนตร์ซีรีย์วาย แต่ก็เป็นไปในลักษณะเชิงธุรกิจมากกว่าการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมในสังคม
ชายขอบของชายขอบ และเนื้อหาวิชาที่ไม่ได้สอนในห้องเรียน
นฤพลเล่าต่อไปว่า จากการตีตราดังกล่าวก็ทำให้ดูเหมือว่านกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศน่าอับจนกว่ากลุ่มคนแรงงาน กลุ่มชาติพันธุ์ ราวกับว่าเป็นกลุ่มคนชายขอบที่เป็นชายขอบอีกที
นอกจากนี้ นฤพลระบุถึงข้อสังเกตวิชาประวัติศาสตร์ที่รัฐไทยมอบให้ในแบบเรียนก็มักจะไม่ได้สอนประวัติศาสตร์นอกกระแสหรือเรื่องราวของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนค้าบริการทางเพศ ทั้งๆที่เป็นประวัติศาสตร์โลกที่มีมานาน แต่รัฐไทยกลับไม่ได้สอน โดยจะเน้นไปที่การสอนให้แสวงหาความสุขส่วนตัวมากกว่าความสุขส่วนรวมในลักษณะที่เปลี่ยนแปลงสังคมให้เกิดความเท่าเทียม
นฤพลกล่าวว่าเหตุผลที่เนื้อหาดังกล่าวควรจะมีอยู่ในแบบเรียนเพราะถือว่าเป็นสเตปแรกที่จะช่วยให้คนในสังคมได้เกิดความตระหนักนรู้เรื่องความเท่าเทียม และเกิดการยอมรับ หรือมีใจที่เปิดกว้างให้กับความแตกต่างหลากหลายในสังคม ดังนั้น เป้าประสงค์ของพิพิธภัณฑ์จึงตั้งใจที่จะเก็บเรื่องราวของกลุ่มคนในประวัติศาสตร์ที่รัฐมองข้ามไป เพื่อเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือตั้งคำถามกับสังคม
เรื่องโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์
ภาพโดย The Fort