Skip to main content

นิทรรศการ “รัฐ ยุติ ธรรม” จัดขึ้นในวันที่ 11-12 พฤษภาคม 2567  เป็นหนึ่งในโปรเจคจบการศึกษาของนิสิตปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิทรรศการนี้มีจุดประสงค์เพื่อสื่อสารเรื่องราวของผู้ที่ได้รับความรุนแรงเนื่องจากเหตุสลายการชุมนุม และยังไม่ได้รับการชดเชยอย่างยุติธรรม 


นิทรรศการจัดขึ้นในห้องสีแดงบนชั้นสาม ตึกคณะนิเทศศาสตร์ ภายในห้องจัดแสดงไทม์ไลน์เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชุมนุมทั้งภาพจากข่าว เสียงของผู้อยู่ในเหตุการณ์ ไปจนถึงข้อมูลการฟ้องกลับของประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตระหว่างเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม 


 

Unfortunately, some people die. 


เมื่อเข้าไปในห้องจัดแสดงจะพบกับไทม์ไลน์สลายการชุมนุม ผู้จัดนิทรรศการเริ่มจากประโยคที่เคยเป็นกระแสในปี 2551 ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศภายหลังจากเหตุสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง เป็นเหตุให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จนถึงปัจจุบันว่าการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมนั้นไม่ได้เป็นเพียง “ความโชคร้าย” แต่เป็นเพราะปัญหาเรื่องการใช้ความรุนแรงเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่รัฐ  โดยไทม์ไลน์นี้ไล่เรียงเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปี 2565

 

เสียงของผู้ที่สู้กลับ

 

ระหว่างเดินชมนิทรรศการ ‘พ้อย’ พลอยวรินทร์ ชิวารักษ์ เจ้าของโปรเจค แนะนำให้ชมสารคดีสั้นที่จะฉายในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า ซึ่งสารคดีความยาวราวครึ่งชั่วโมงนำเสนอผลกระทบจากผู้ที่สูญเสียอวัยวะและสูญเสียเพื่อนร่วมงานจากอาวุธของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน จนกระทั่งมีผู้คนจำนวนหนึ่งพยายามฟ้องกลับ ซึ่งสารคดีนี้เป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงและกำลังใจให้ผู้เสียหายที่เดินหน้าดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน

พลอยวรินทร์ถ่ายทอดเสียงของ 'พายุ บุญโสภณ'  ผู้ชุมนุมที่ถูกกระสุนยางยิงเข้าตาจนสูญเสียดวงตาหนึ่งข้างในการชุมนุมหน้าสถานทูต(APEC) ความรุนแรงครั้งนั้นทำให้พายุมีปัญหาสุขภาพตามมา และไม่สามารถใช้ตาข้างที่เหลือโฟกัสได้เดิม เขาจึงดำเนินเรื่องฟ้องศาลปกครองให้มีการเยียวยาจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ให้รัฐรับผิดและเป็นบรรทัดฐานเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีก พายุได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ไม่อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีก อยากให้กรณีของเราเป็นกรณีสุดท้าย อยากให้ประชาชนผู้ชุมนุมเรียกร้องสิทธิของตนเองได้ โดยไม่มีใครทำร้ายได้”

“แหวน” ผู้สูญเสียเพื่อนหกคนในเหตุการณ์ล้อมปราบที่วัดปทุมวนารามในปี 2557 ขณะปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับหน่วยแพทย์ และเป็นอีกคนที่ฟ้องร้องให้รัฐเยียวยาผู้เสียชีวิต แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับความยุติธรรม โดยกล่าวว่าเหตุการณ์ในวันนั้นไม่มีความชอบธรรมทางสากลเพราะมีการใช้รถถัง สไนเปอร์เพื่อสลายการชุมนุม ด้วยข้ออ้างของรัฐที่ว่าพื้นที่ชุมนุมเป็นพื้นที่ก่อการร้าย แต่เมื่อสืบพยานแล้วไม่มีหลักฐานว่าผู้ชุมนุมเป็นผู้ก่อการร้าย ซึ่งการเรียกร้องความยุติธรรมส่งผลให้ แหวนถูกยัดคดี 'อั้งยี่ซ่องโจร'(คดีเดียวกับวีโว) รวมถึงมาตรา112ด้วย 
แหวนได้กล่าวก่อนจบการสัมภาษณ์ว่า “สิ่งที่คนเสื้อแดงได้แทนที่จะเป็นหีบบัตรเลือกตั้งแต่เป็นหีบศพแทน เราเจ็บ เราไม่สามารถหยุดได้ ทุกครั้งที่เราเคลื่อน เพื่อนที่เสียชีวิตไปก็เคลื่อนไปกับเรา“

หลักการและกฎหมายสากลจะช่วยเยียวยาผู้สูญเสียได้


เนื้อหาของสารคดีดำเนินมาถึงบทส่งท้าย พลอยวรินทร์ตั้งใจสื่อสารถึงทางออกของปัญหาผ่านบทสัมภาษณ์ พัชร์ นิยมศิลป์ อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงหลักสากลและขอบเขตของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ซึ่งมีหลายระดับ ตั้งแต่ประกาศห้าม จนถึงอุ้มออกจากพื้นที่ แต่ละวิธีจะมีเกณฑ์ที่ต่างกันไป การใช้กระสุนยางหรือแก๊สน้ำตานั้นจะทำต่อเมื่อเกิดเหตุจลาจล ทั้งนี้พัชร์มองว่าประเทศไทยใช้ยุทโธปกรณ์ง่ายเกินไป เช่น กระสุนยางถูกนำมาใช้แบบไม่ถูกต้อง เพราะการยิงต้องไม่ระบุตัวบุคคล แต่บางครั้งเจ้าหน้าที่ยิงไล่คนวิ่งหนี ซึ่งถ้าเกิดกรณีเช่นนี้ จะมีกฎหมายสากลควบคุม แต่น้อยครั้งที่สามารถนำมาบังคับใช้จริง ซึ่งสิ่งที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงการควบคุมฝูงชนของไทยได้คือ เลิกสร้างความชอบธรรมให้เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจนกลายเป็น วัฒนธรรมลอยนวล

ความผิดพลาดบนพาดหัวข่าว


นอกจากสารคดีสั้นและไทม์ไลน์แสดงเหตุการณ์แล้ว อีกฝั่งหนึ่งของนิทรรศการจัดแสดงภาพของการพาดหัวข่าวตั้งแต่การสลายชุมนุมพันธมิตรประชาชน  นปช. ไล่เรียงมาจนถึงการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊สและทะลุวังในปี 2565 พลอยวรินทร์ กล่าวว่านิทรรศการส่วนนี้ตั้งใจให้ผู้ชมได้อ่านพาดหัวข่าว เพื่อตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการสื่อสารเรื่องความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำกับผู้ชุมนุม

“ไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นเพียงงานจบการศึกษา” 


พลอยวรินทร์กล่าวย้ำถึงภาพรวมของนิทรรศการอีกครั้งว่าถ้าเป็นไปได้ อยากให้นิทรรศการนี้สื่อสารข้อมูลของผู้สูญเสียที่ยังสู้ต่อในทางกฎหมาย ทั้งเพื่อให้ได้รับความยุติธรรมกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา และเพื่อเป็นหลักฐานว่าสิ่งที่พวกเขาพบเจอนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีก ซึ่งจากข้อมูลที่พลอยวรินทร์รวบรวมมาได้ คดีที่ผู้เสียหายฟ้องกลับแล้วศาลตัดสินให้เจ้าหน้าที่มีความผิดมีเพียงกรณีเดียว พลอยวรินทร์จึงมองว่าโปรเจคนี้ต้องการสื่อสารให้ผู้คนรู้ว่าหากเกิดความรุนแรงขึ้นแล้ว เราสามารถใช้กฎหมายดำเนินคดีได้ แม้ว่าเป็นเรื่องยาก แต่ยังมีคนที่อยู่ระหว่างกระบวนการ และเคยมีคนที่ทำสำเร็จได้จริง

 

เรื่องและภาพ: วรกมล องค์วานิชย์