Skip to main content

ในวันที่ 1 พฤษภาคม นับตั้งแต่เหตุการณ์การต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานในเหตุการณ์จลาจลเฮย์มาร์เก็ต (Haymarket Riot) ในชิคาโก สหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1886(พ.ศ. 2429) ทั่วโลกได้นับว่า Mayday เป็นวันแรงงานสากล แรงงานทั่วโลกจะจัดกิจกรรมเดินขบวนเพื่อสิทธิของแรงงาน และใช้วัน Mayday เป็นสัญลักษณ์ในการเรียกร้องสิทธิแรงงาน รวมถึงในประเทศไทยที่รับรองให้มีวันกรรมกรแห่งชาติขึ้นในปี พ.ศ. 2499 และวันแรงงานกลายเป็นวันหยุด มีกิจกรรมและการเดินขบวนของกลุ่มแรงงานหลากหลายอาชีพตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา

การจัดกิจกรรมวันแรงงานเกิดขึ้นเรื่อยมาเป็นระยะเวลา 50 ปี จนถึงปัจจุบัน(ปี พ.ศ. 2567) ในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่เป็นศูนย์รวมการจ้างงานของประเทศไทย กลุ่มสังคมนิยมแรงงานได้จัดกิจกรรมแรกในเช้าวันพุธ เวลา 8.30น. - 10.30น. กลุ่มสังคมนิยมแรงงานได้จัดกิจกรรมเดินขบวนจากสนามมวยสู่ถนนราชดำเนิน เพื่อเสนอประเด็นเศรษฐกิจหลังโควิด ให้รัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาท กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ยกเลิกหนี้กยศ.และหนี้ครัวเรือนที่เกิดจากความผิดพลาดในการดำเนินงานของรัฐในช่วงที่ผ่านมา

จากนั้นช่วง 9.00 น. - 11.00น. เป็นขบวนของกลุ่มแรงงานชาวกัมพูชาร่วมกับไรเดอร์และคนโรงงาน รวมถึงกลุ่มแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ตั้งต้นเดินขบวนจากถนนพิษณุโลกซอยแปด ไปถึงทำเนียบรัฐบาล เพื่อจัดกิจกรรมมหาสงกรานต์ แรงงานสากล โดยผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ถือป้ายเรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท ตามที่ได้สัญญาไว้ในช่วงเลือกตั้ง และเรียกร้องสวัสดิการลาคลอดเพิ่มจาก 90 วัน เป็น 180 วัน รวมถึงนำแสตนดี้รูปนายกรัฐมนตรีเศรษฐามาตั้งเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาบสนใจสวัสดิการของแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติให้มากขึ้น

กลุ่มสหภาพคนทำงานได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่สอง เพื่อสรุปสถานการณ์ที่ผ่านมา และลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานสหภาพ รวมถึงเปิดรับสมัครสมาชิกแรงงานทุกสาขาอาชีพผ่านช่องทางออนไซต์และออนไลน์   ซึ่งสามารถดูรายละเอียดได้ในเพจสหภาพคนทำงาน

ช่วงเย็นของวันเดียวกัน สหภาพคนทำงาน กลุ่มสังคมนิยมแรงงาน สหภาพไรเดอร์ และกลุ่มนักกิจกรรมสิทธิในร่างกายทั้งนอกกล่องเพศ ทำทาง และกลุ่มกิจกรรมสิทธิทางการเมือง ได้ร่วมกันจัดบูทในประเด็นเลือกตั้งและยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 ซึ่งทั้งหมดนั้นถือเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบกับคนทำงานในภาพรวม

ตั้งแต่เวลา 16.00 น - 20.00 น. หน้าหอศิลป์กรุงเทพ(BACC) กลายเป็นพื้นที่ศึกษาทำความเข้าใจประเด็นเกี่ยวกับแรงงาน ทั้งบูธเสี่ยงเซียมซีอาชีพ ซึ่งอธิบายถึงประเด็นการเรียกร้องที่สำคัญของคนทำงานในแต่ละอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ฟรีแลนซ์ งานบริการ ครูอาจารย์ ไปจนถึงข้าราชการและทหารตำรวจด้วย ซึ่งนอกจากผู้เข้าร่วมจะได้รับรู้ปัญหาแล้ว ผู้จัดงานยังมีกิจกรรมเปรียบเทียบชั่วโมงการทำงานกับค่าแรงขั้นต่ำ โดยให้ผู้เข้าร่วมพล็อตกราฟขนาดใหญ่ ที่มีแกนหนึ่งเป็นรายได้ที่ตนเองได้รับ อีกแกนจะเป็นจำนวนชั่วโมงการทำงาน

ถัดไปจากบริเวณหน้าประตูหอศิลป์ เป็นพื้นที่ของบูธสังคมนิยมแรงงาน ซึ่งนำเสนอเกี่ยวกับเศรษฐกิจรูปแบบสังคมนิยม ในบูธมีหนังสือประวัติศาสตร์แรงงานทั้งไทยและทั่วโลกมาวางขาย... และยังมีการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิทางร่างกายของกลุ่มผู้สนับสนุน sex worker กลุ่มแพทย์ กลุ่มทำทาง กลุ่มนอกกล่องเพศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ส่งผลกับคุณภาพชีวิตของคนในมุมมองที่นอกเหนือจากการจ้างงานตามกฎหมาย ไปจนถึงเรื่องราวของความรุนแรงและการกีดกันเลือกปฏิบัติในที่ทำงานอีกด้วย

ทั้งนี้ คณะรณรงค์กฎหมายอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชน (iLaw) และกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ มีบูธกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับการสมัครและคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา ประเด็นนิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายมาตรา 112 ที่ในปัจจุบันยังมีเยาวชนและคนทำงานถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มโมกหลวงริมน้ำเชิญชวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมเขียนจดหมายถึง เก็ท-โสภณ รวมถึงผู้ที่ยังอยู่ในเรือนจำคนอื่น

กิจกรรมวันแรงงานไม่ได้มีเฉพาะในกรุงเทพฯเท่านั้น นักกิจกรรมในจังหวัดเชียงใหม่รายงานว่าที่ประตูท่าแพมีการเดินขบวนของกลุ่มแรงงานจากอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ไปถึงท่าแพ โดยผู้ร่วมขบวนมีทั้งสหภาพไรเดอร์ สหภาพแรงงานบาริสตาร์ ซึ่งในขบวนมีป้ายประท้วงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำในจังหวัดเชียงใหม่ ในบางพื้นที่คนทำงานได้ค่าแรงไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งสวนทางกับชั่วโมงการทำงาน 8-10 ชั่วโมง รวมวันเสาร์ ทั้งนี้กลุ่มแรงงานในเชียงใหม่ได้จัดวงเสวนาในหัวข้อแรงงานทั้งผองคือพี่น้องกันและอ่านบทกวี “ความร่ำรวยของเขามาจากความยากจนของเรา” ตั้งแต่ช่วง 18.30น. เป็นต้นไป

เรื่องและภาพโดย วรกมล องค์วานิชย์