ในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมืองโดยเฉพาะการชุมนุมขนาดใหญ่ หนึ่งในสินค้าที่มักมีการซื้อขายกันอย่างกว้างขวางคงหนีไม่พ้นเสื้อยืดสกรีนลวดลายหรือข้อความที่เกี่ยวข้องกับจุดยืนหรือข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ยิ่งเป็นการชุมนุมของกลุ่มการเมืองที่มีขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มนปช. กปปส. หรือราษฎร เสื้อที่ถูกทำมาจำหน่ายก็ยิ่งมีความหลากหลาย
Shirtpaganda ถือกำเนิดขึ้นในช่วงที่มีการชุมนุมในปี 2563 สร เจ้าของแบรนด์เสื้อที่มักถูกพี่ๆเพื่อนๆในม็อบเรียกว่า "หมวย" คือหนึ่งคนที่เริ่มออกไปชุมนุมในปี 2563 เพราะไม่พอใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองและการยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่เนื่องจากสรไม่ชอบถือป้าย เธอจึงคิดจะทำเสื้อเพื่อใส่แสดงจุดยืนทางการเมืองแทน แล้วก็ทำติดไปเพื่อมีคนอยากซื้ออีกนิดๆหน่อย แต่ปรากฎว่าเสื้อของเธอได้รับการตอบรับอย่างดีจากคนในม็อบ สรจึงเริ่มทำเสื้อขายแบบจริงจังมากขึ้น ตั้งแต่ปี 2565 ที่แม้กระแสการเมืองบนท้องถนนจะซบเซาลงไปแล้ว แต่เสื้อของ Shirtpaganda ก็ยังคงได้รับความสนใจในฐานะเสื้อยืดเสียดสีการเมือง
เสื้อ Do you hear the people sing เวอร์ชันแรกและเสื้อทนายอานนท์ จากเพจ Shirtpaganda
เสื้อแกนนำราษฎรของ Shirtpaganda คอลเลคชันของพิพิธภัณฑ์สามัญชน
จุดเริ่มต้นจากการ "ทำเล่นๆ"
จริงๆแล้วจุดเริ่มต้นของ Shirtpaganda นี่ต้องบอกเลยว่ามันมาจากความบังเอิญ คือตอนยุบพรรคอนาคตใหม่ตอนแรกเราก็ไปร่วมชุมนุมในฐานะคนไปม็อบธรรมดาคนหนึ่ง ม็อบแรกที่เราไปน่าจะเป็นม็อบที่จุฬา วันนั้นไปก็เห็นคนในม็อบถือป้าย อต.อห บ้าง อะไรบ้าง แต่ตัวเราเองไม่ชอบถือป้ายเลยคิดหาทางว่าจะแสดงจุดยืนยังไงดี สุดท้ายก็เลยทำเสื้อใส่มันซะเลย
ครั้งแรกที่เราทำมาขายมีสองลาย เป็นลายเขียนข้อความ Do you hear the people sing อีกลายเป็นรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแล้วก็มีข้อความ Our Democracy was hacked งานที่ไปขายครั้งแรกคือม็อบ 23 มิถุนา 63 จำได้ว่าในม็อบนั้นเนติวิทย์ก็ทำคุกกี้รูปหมุดคณะราษฎรมาขายด้วยนะ ส่วนของเราตอนแรกก็กะว่าทำเองแล้วก็เอาไปขายขำๆอีกสิบกว่าตัว
ปรากฎว่าพอเอาไปขายก็มีคนชอบแล้วก็มีสื่อมาสัมภาษณ์ พี่นักข่าวเขาก็ถามว่ามีเพจไหม แต่วันนั้นยังไม่ได้สร้างเพจ เราเลยบอกนักข่าวเลยว่ารอแปปพี่ แล้วก็ตั้งเพจมันวันนั้นเลย
สำหรับชื่อ Shirtpaganda นี่ตอนแรกเราตั้งใจจะใช้ชื่อว่า Propaganda Tshirt เพราะเราตั้งใจใช้ลวดลายและข้อความบนเสื้อเพื่อสื่อสารอะไรบางอย่าง แต่คำมันยาวไป สุดท้ายพอลองเอาคำว่า Shirt กับ Propaganda มาผสมกันก็กลายเป็น Shritpaganda เราว่ามันก็เท่ดีก็เลยใช้ชื่อนี้ ถ้าสังเกตดูที่โลโกเราก็จะดีไซน์ให้ตัวหนังสือมันเรียงเป็นรูปคล้ายๆโทรโข่งด้วย
เสื้ออตอห และภาพขณะ Shirtpaganda เปิดร้านในที่ชุมนุม
Shirtpaganda พื้นที่ปลดปล่อยความคิดทางการเมือง
ช่วงม็อบปี 63 มีคนทำเสื้อขายกันเยอะนะ ป้าๆเขาก็ทำขายกันหรืออย่างคนรุ่นอายุไล่ๆกับเราก็มีไม่น้อย วัตถุดิบหรือประเด็นที่หยิบมาใส่ในเสื้อก็คงมีความคล้ายกันอยู่ มาจากข้อความในม็อบบ้าง หรือมาจากข่าวหรือสถานการณ์ต่างๆในประเทศบ้าง ทีนี้ของเราอาจจะต่างจากเสื้อที่ป้าๆเขาทำกันหน่อยคือของป้าๆเขาจะซัดหมัดตรงเลยอย่าง "อตอห" นี่เขาก็ใส่ "ไอ้เ-ี้ยตู่" ไปเลย แต่ถ้าเป็นคนรุ่นเราก็จะชอบแบบใส่สัญลักษณ์หรือมีตัวย่อแบบอต.อห อะไรแบบนี้
ตัวเราเองเรียนด้านศิลปกรรมมา ก็เลยอาจจะได้เปรียบเรื่องนี้หน่อย คือเวลาติดตามข่าวหรือไปม็อบเราก็มักจะสามารถหยิบจับสิ่งที่ได้เห็นหรือได้รับรู้มาดีไซน์เป็นลายเสื้อได้ อย่างตอนที่มีรัฐมนตรีคนนึงบอกว่าตัวเองไม่ได้มียาเสพย์ในครอบครองแต่เป็นแป้ง เราก็ทำเสื้อ "แป้ง ่อง" ออกมา หรืออย่างตอนทีไปม็อบแฮรีพอตเตอร์ (การชุมนุมเสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย 3 สิงหาคม 2563) เราประทับใจที่ทนายอานนท์ปราศรัยมาก พอกลับมาก็เลยลองวาดรูปทนายอานนท์เป็นลายเสื้อดูก็ปรากฎว่าคนชอบกัน
พอแบรนด์เราเริ่มเป็นที่รู้จัก ก็มักจะมีพวกพี่ๆหรือป้าๆที่รู้จักในม็อบทักมาว่า ยัยหมวย ทำเสื้อลายนั้นลายนี้ให้หน่อย เราก็ลองทำออกมา อย่างล่าสุดตอนที่กางเกงช้างกำลังเป็นกระแสก็มีพี่คนหนึ่งมาบอกเราว่า หมวย ทำกางเกงช้างเป็นลายตัวเลข 112 ให้หน่อย เราก็บอกว่าได้ แต่ไม่เอาเลข 112 อย่างเดียวนะเพราะมันดูจะน่าเบื่อไป เราเลยออกแบบมาตามสไตล์ของเรา มีทั้งใบกัญชา รูปไดโนเสาร์ แล้วตัวเลขนอกจากเลข 112 เราก็ใส่พวกข้อหายอดฮิตอื่นๆที่รัฐชอบเอามาดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมอย่างตัวเลข 116 หรือ 215 มาใส่ไว้ด้วย
ตั้งแต่เริ่มทำเพจปี 63 มาถึงวันนี้ (เมษายน 2567) เราน่าจะเคยดีไซน์ลายเสื้อออกมาไม่ต่ำกว่า 500 ลายแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำเป็นเสื้อออกมาทุกลายหรอกนะ ตอนออกแบบเราก็แค่อยากจะปลดปล่อยหรือแสดงออกทางการเมืองในแบบของเรา เพราะจะให้เราไปขึ้นปราศรัยเราก็คงทำไม่ได้
เท่าที่ออกแบบมา ลายที่เราชอบที่สุดเราได้ไอเดียการออกแบบมาจากเสื้อที่ผู้ลี้ภัยที่เสียชีวิตคนหนึ่งใส่ ไม่แน่ใจว่าเป็นสหายภูชนะหรือสหายกาสะลอง คือไปเห็นรูปเขาใส่เสื้อที่มีข้อความว่า "If not now, then when?"สำหรับเราเสื้อลายนี้มันมีความหมายสองอย่างนะ อย่างนึงนึงคือมันเป็นการรำลึกถึงคนที่เสียชีวิต แล้วตัวข้อความบนเสื้อเองมันก็มีความหมายดี ว่าถ้าไม่ใช่ตอนนี้จะเป็นตอนไหน คล้ายๆที่ตอนนั้นในม็อบมีคำขวัญว่า ให้มันจบที่รุ่นเรา ทีนี้พอเราเห็นลายบนเสื้อของผู้ลี้ภัยคนนั้น เราก็เอาข้อความ If not now, then when ไปออกแบบเป็นตัวหนังสือคล้ายๆกับ logo ของวง Linkin Park ปรากฎว่าพอออกแบบเสื้อแล้วเอาขึ้นเพจก็ไม่มีใครสั่งซื้อเลย เดาว่ารสนิยมของเราคนจะต่างจากคนอื่นๆ
ของขายในม็อบ เงินคืนสู่ม็อบ
ช่วงปี 63 ที่ม็อบพีคๆ เสื้อเราขายดีพอสมควรเลยนะ บางวันมีออเดอร์เข้ามาเยอะนี่ปวดไปทั้งตัวเลยเพราะเรารับจบทุกอย่าง ไม่มีคนช่วย ตั้งแต่ออกแบบ สกรีน แพค แล้วก็เอาไปส่ง
เวลาขายในม็อบเนี่ยเราต้องประเมินความเสี่ยงพอสมควรเลยนะ ถ้าดูเป็นม็อบที่ไม่น่ามีปะทะ เราก็อาจจะติดเสื้อไปขายบ้าง แต่ถ้าดูข่าวแล้วมีพวกจีโน่มาเราก็จะไม่เอาเสื้อไปขาย หรือบางวันที่ตั้งใจจะไปลุย เราก็จะพิมพ์บอกในเพจเลยว่าใครอยากสั่งเสื้อสั่งในเพจเอานะ วันนี้แม่ค้าจะไปลุยไม่ได้เอาเสื้อไปขาย จริงๆช่วงหลังๆเวลาไปม็อบเราก็ไม่ค่อยได้เอาเสื้อไปขายแบบจริงจังแล้ว เพราะลายเสื้อเรามันเยอะมากแล้วก็มีหลายไซส์ เราเลยติดไปขายไม่เยอะมาก แล้วก็อาจจะมีเสื้อบางส่วนที่ติดไปส่งให้คนที่สั่งในเพจแล้วนัดไปรับในม็อบด้วย
เราเคยถูกคนที่ไม่ชอบโจมตีเรื่องขายอยู่เหมือนกันนะ มีคนบอกว่ายัยหมวยมันหน้าเงิน หลอกหากินกับม็อบ จริงอยู่เสื้อเราอาจจะแพงกว่าเสื้อในม็อบเจ้าอื่นๆเพราะเราใช้ผ้าเกรดดีแล้วการออกแบบลายของเรามันก็มีต้นทุน แต่เราอยากบอกว่าถ้าเราแค่อยากหาตังหรือกะรวยจริงๆเราไม่มาขายของในม็อบ เราไม่ยุ่งเรื่องการเมืองหรอก คนขายเสื้อม็อบเนี่ยตลาดมันจำกัดนะ ไม่ว่าคุณจะเป็นพันธมิตร เสื้อแดง กปปส. หรือม็อบสามนิ้ว คุณก็ขายได้แค่คนที่มีแนวคิดเดียวกัน แต่ถ้าคุณขายเสื้อผ้าธรรมดา คุณสามารถขายได้กับคนทุกกลุ่ม อีกอย่างพอเราขายของได้ เงินส่วนใหญ่ก็กลับคืนไปที่ม็อบหมด บางครั้งเวลามีม็อบที่เจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตาสลาย เราก็ซื้อน้ำเกลือไปแจกที่ม็อบ บางทีเราก็ไปซื้ออาหารให้คนในเรือนจำ หรือเวลาที่มีน้องๆนักกิจกรรมขอความช่วยเหลือเข้ามาทั้งเรื่องเงินและเรื่องแรงงาน เราก็พร้อมจะเข้าไปช่วยทุกๆครั้ง
มาถึงวันนี้ต้องบอกว่า Shirtpaganda รวมถึงตัวเราเองมันมาไกลมากแล้ว อย่างแบรนด์เสื้อ เราเริ่มจากการผลิตเสื้อมากะขายเล่นๆ 13 ตัว จนถึงวันนี้เราน่าจะสกรีนเสื้อเป็นหลักหมื่นตัวแล้ว ในส่วนของตัวเราเอง เราเริ่มจากการเป็นสลิ่มที่เคยไปร่วมชุมนุมกับกปปส.แต่ตอนนี้เราโตขึ้น เรารู้อะไรมากขึ้น จนเราพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมกับอะไรหลายๆอย่างเท่าที่เราจะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นช่วงม็อบหรือการรณรงค์อื่นๆทั้ง #conforall (การรณรงค์เสนอคำถามประชามติรัฐธรรมนูญในปี 2556) หรือนิรโทษกรรมประชาชน (การเข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม กุมภาพันธ์ 2567) เรารู้สึกว่าในเมื่อน้องๆหลายคนยังไม่ยอมแพ้ ยังคิดว่าประเทศนี้มันยังมีหวัง เราเองก็คิดว่าเรายังไม่ควรหมดหวังเช่นกัน
เสื้อลายที่สรชอบมากที่สุดและภาพขณะที่สรร่วมการรณรงค์เข้าชื่อเสนอคำถามประชามติ #conforall
เรื่องโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์
ภาพจากเพจ Shirtpaganda และภาพของสะสมของทางพิพิธภัณฑ์