Skip to main content

พื้นที่ภาคใต้ถือเป็นอีกหนึ่งในสมรภูมิที่การเผชิญหน้าระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และฝ่ายความมั่นคงไทยมีความเข้มข้น ที่จังหวัดพัทลุงรัฐไทยใช้อำนาจปราบปรามผู้ที่มีความเชื่อมโยงหรือรัฐเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับพคท.อย่างเด็ดขาด มีการนำวิธีที่น่าจะเข้าข่ายเป็นการกระทำที่โหดร้ายและไม่เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาใช้ ผู้ที่ถูกรัฐจับกุมตัวส่วนหนึ่งจะถูกทำร้ายร่างกายระหว่างการสอบสวน เมื่อมีผู้เสียชีวิตเจ้าหน้าที่จะอำพรางศพโดยนำไปใส่ถังน้ำมันเบนซินขนาด 200 ลิตรแล้วจุดไฟเผาซึ่งบางกรณีผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่จุดไฟก็ยังไม่ทันเสียชีวิต กรณีถังแดงนับเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของคนในพื้นที่ เมื่อการต่อสู้ระหว่างพคท.กับทางการไทยจบลงในช่วงปลายทศวรรษที่ 2520 ต่อต้น 2530 คนในพื้นที่ที่เคยจับอาวุธขึ้นต่อสู้ในเขตป่าเขาก็กลับมาใช้ชีวิตในบ้านหลังเดิมของพวกเขา บางครอบครัวหลังจบห้วงเวลาแห่งความขัดแย้งก็มีสมาชิกที่กลับมาบ้านไม่ครบคน

เมื่อเวลาผ่านไปคนในพื้นที่ส่วนหนึ่งร่วมกันระดมทุนก่อสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นมาเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิต ห่างจากอุทยานประวัติศาสตร์ถังแดงออกไปประมาณ 50 กิโลเมตร มีอนุสรณ์อีกแห่งหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงสหายและทหารของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศที่เสียชีวิตจากการสู้รบกับทหารของรัฐบาลไทย คืออนุสรณ์ทปท.แห่งเทือกเขาบรรทัด ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดไม้เสียบ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช อนุสรณ์สองแห่งที่ตั้งอยู่ห่างกันเพียง 50 กิโลเมตรน่าจะเป็นสิ่งที่ยืนยันความเข้มข้นและระดับความรุนแรงของเหตุการณ์ในพื้นที่ ก่อนที่เรื่องราวในอดีตจะเลือนหายไปพร้อมกับลมหายใจของผู้อยู่ร่วมเหตุการณ์ที่กำลังร่วงโรยลงไปทุกวัน พฤศจิกายน 2566 พิพิธภัณฑ์สามัญชนจึงตัดสินใจเดินทางไปเยี่ยมชมอนุสรณ์สถานทั้งสองแห่งและสนทนากับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทั้งที่พัทลุงและที่นครศรีธรรมราชโดยหวังว่าเราจะได้บันทึกเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์นี้ไว้แม้จะเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ก็ตาม

ชมอนุสรณ์ถังแดงเคล้าบทเพลง "ภูบรรทัดปฏิวัติ"

ขบวนรถด่วนพิเศษหมายเลข 31 พาพวกเราไปส่งที่สถานีรถไฟพัทลุงในช่วงเช้าของวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 เมืองพัทลุงในเวลาประมาณเกือบเจ็ดโมงเช้ายังไม่คึกคักนักแม้ร้านค้าโดยเฉพาะร้านขายอาหารเช้าจะเริ่มเปิดให้บริการแล้วก็ตาม เรามีนัดกับคุณสมยศ อดีตสหายและบัณฑิตด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นผู้ทำงานวิจัยเรื่องถังแดงที่บ้านของเขาเพื่อพูดคุยเบื้องต้นก่อนที่จะเข้าไปชมและถ่ายภาพตัวอนุสรณ์ คุณสมยศยังเชิญชวนให้เราไปกินอาหารใต้ที่บ้านเขาด้วย ประมาณ 7.30 น. พวกเราเริ่มออกเดินด้วยรถเช่าจากตัวเมืองพัทลุงมุ่งหน้าสู่บ้านของคุณสมยศ GPS พาเราออกจากตัวเมืองพัทลุงมุ่งหน้าไปยังอำเภอศรีนครินทร์ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 20 กิโลเมตร จากถนนสี่เลน กลายเป็นถนนสองเลน จากเขตเมือง มุ่งหน้าสู่เขตชนบท สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่สลับกับเขตชุมชนเป็นระยะ พวกเราใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงก็ไปถึงบ้านของคุณสมยศ



                                                                                      ตัวอย่างเอกสารสำคัญที่คุณสมยศเก็บรักษาไว้

บ้านของคุณสมยศอยู่ไม่ห่างจากถนนใหญ่มากนัก บรรยากาศในบ้านสงบร่มรื่นทั้งด้วยไม้ใหญ่และพืชสวนครัวที่คุณสมยศกับภรรยาปลูกไว้กินในบ้าน คุณสมยศพาพวกเราไปนั่งที่ศาลาอเนกประสงค์ที่สร้างอยู่ตรงข้ามกับบ้านของเขา ขณะที่เดินสำรวจรอบๆ ศาลาแห่งนั้นเรารู้สึกทึ่งกับหนังสือที่คุณสมยศวางโชว์ไว้ ซึ่งนอกจากจะมีหนังสืองานวิจัยเรื่องถังแดงที่เขาและคณะทำโดยได้รับการสนับสนุนจากสกว.กับเอกสารเกี่ยวการวิจัยอื่นๆ วางเรียงรายแล้ว ยังมีเอกสารหายากอื่นๆ เช่น ตำราการฝังเข็มของกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) เอกสาร "เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยรวมศูนย์และระบอบคณะกรรมการพรรค"  และเอกสารของฝ่ายรัฐ "การก่อการร้ายของคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย" เป็นต้น พวกเราตื่นตาตื่นใจกับกองหนังสือหาอยากได้ไม่นานก็ต้องมาตื่นตาตื่นใจกับอาหารที่ คุณบุปผา ภรรยาของคุณสมยศยกมาให้ซึ่งมีทั้งแกงส้มและอาหารใต้อื่นๆ รวมถึงผักสดไร้สารพิษที่คุณสมยศกับคุณบุปผาช่วยกันปลูก ช่วยกันดูแล หลังอิ่มหนำสำราญกันแล้วบทสนทนาของพวกเราของคุณสมยศก็เริ่มขึ้น



ส่วนหนึ่งของตำราการรักษาของหมอป่า

คุณสมยศหรือ สหายการุณ (ชื่อจัดตั้งที่คุณสมยศใช้ในเขตป่าเขา) เล่าให้พวกเราฟังว่า การรวมตัวของสหายในพื้นที่เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ก่อนจะมีการก่อสร้างอนุสรณ์ถังแดงแล้ว โดยในช่วงเวลาที่สหายรวมตัวกันก็มักจะถูกจับตาโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เพราะแม้ว่าการสู้รบและการเผชิญหน้าระหว่างทหารของรัฐไทยกับทหารทปท.ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจะยุติลงไปตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 2530 แล้ว ทว่า พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เพิ่งมาถูกยกเลิกในปี 2543 ทำให้ก่อนหน้านั้นการรวมตัวทำกิจกรรมของเหล่า "สหาย" เป็นสิ่งที่อ่อนไหวในมุมมองของเจ้าหน้าที่รัฐ ในส่วนของการก่อสร้างอนุสรณ์ถังแดงในอำเภอศรีนครินทร์ คุณสมยศเล่าว่า การก่อสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ที่แยกคอกวัว กรุงเทพ มีส่วนไม่น้อยในการสร้างแรงบันดาลใจให้คนในพื้นที่ตัดสินใจสร้างอนุสรณ์เพื่อรำลึกเหตุการณ์ถังแดงในพื้นที่

                                                                                     สมุดจดบันทึกการประชุมเพื่อเก็บข้อมูลงานวิจัยถังแดง

คุณสมยศเล่าต่อไปว่า กระบวนการก่อสร้างอนุสรณ์ถังแดงดำเนินควบคู่ไปกับการทำงานวิจัยเรื่อง "กรณีถังแดง การศึกษาเพื่อความเข้าใจข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นร่วมกันของชุมชนกิ่งอำเภอศรีนครินทร์และชาวพัทลุง" โดยในการทำวิจัยดังกล่าวนอกจากจะเป็นการค้นหาและคืนความจริงให้กับคนในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ความขัดแย้งแล้ว ยังเป็นการบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้เป็นระบบเพื่อให้เป็นกรณีศึกษาและบทเรียนแก่สังคมไทยในระยะยาวด้วย ระหว่างการสนทนาคุณสมยศยังได้นำเอกสารชั้นต้นที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างสมุดจดบันทึกการประชุมเก็บข้อมูลงานวิจัยด้วยลายมือมาให้เราดูด้วย เมื่อพูดคุยกันพอสมควรคุณสมยศก็ชวนพวกเราเดินทางไปชมอนุสรณ์ซึ่งก่อนการเดินทางคุณสมยศยังได้ประสานให้อดีตสหายบางส่วนไปรอพวกเราที่ตัวอนุสรณ์ด้วย



อุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง

จากบ้านของคุณสมยศ พวกเราเดินทางไปตามถนนสองเลนประมาณ 15 นาทีก็ไปถึงที่อุทยานประวัติศาสตร์ถังแดง เมื่อไปถึงเราก็พบว่าที่นั่นมีรถปิ๊กอัพหนึ่งคันและรถมอเตอร์ไซค์อีกจำนวนหนึ่งมาจอดรออยู่แล้วซึ่งเจ้าของรถเหล่านั้นก็น่าจะเป็นอดีตสหายที่คุณสมยศโทรไปชวนให้มาพูดคุยกับเรา คุณสมยศเล่าให้เราฟังด้วยว่าพื้นที่ที่ตัวอนุสรณ์ตั้งอยู่ในช่วงที่มีการสู้รบถือเป็น "เขตขาว" หรือเขตอำนาจรัฐและยังเป็นที่ตั้งค่ายของทหารด้วย สำหรับตัวอนุสรณ์ถูกสร้างในลักษณะเป็นเหมือนอาคารเปิดโล่ง 1 ชั้น บริเวณดาดฟ้าเป็นที่ตั้งของปฏิมากรรมถังแดง ตัวปฏิมากรรมมีลักษณะเป็นเสา บนยอดเสามีถังสีแดงและมีโครงเหล็กก่อเป็นรูปคล้ายเปลวไฟเหนือถังสีแดงคล้ายเปลวไฟที่ลุกไหม้ขึ้นมาเหนือถัง บนเหล็กที่ทำเป็นรูปเปลวไฟจะมีสัญลักษณ์ดวงดาวฉลุเป็นลวดลายไว้ด้วย ที่โคนเสาทั้งหกด้านมีรายชื่อประชาชนที่เสียชีวิตจากการปราบปรามโดยรัฐจารึกอยู่ สำหรับการขึ้นสู่บริเวณดาดฟ้าที่ติดตั้งตัวปฏิมากรรมถังแดงสามารถขึ้นได้จากบันไดซึ่งติดตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งของตัวอาคาร

คุณสมยศบอกเราว่ารายชื่อที่จารึกที่อนุสรณ์แห่งนี้คือชาวบ้านที่ถูกสังหารตั้งแต่ปี 2508 จนถึงช่วงที่การต่อสู้ในพื้นที่ยุติลงประมาณปี 2534 โดยในจำนวนดังกล่าวไม่ใช่ทุกกรณีที่ถูกสังหารและเผาในถังแดง คุณสมยศระบุด้วยว่ารายชื่อเหล่านั้นคณะผู้วิจัยค้นหาและรวบรวมจากการสัมภาษณ์ประชาชนในพื้นที่ ครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมถึงการสืบค้นจากเอกสารต่างๆ อย่างไรก็ตามเนื่องจากงบประมาณและระยะเวลาในการวิจัยสิ้นสุดลงไปก่อนจึงยังมีรายชื่อผู้เสียชีวิตอีกจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะผู้เสียชีวิตในเขตอำเภอป่าบอนและอำเภอตะโหมดที่ทางคณะผู้วิจัยยังไม่ได้ทำการรวบรวมเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยและไม่ได้ถูกจารึกที่ตัวอนุสรณ์  

บริเวณชั้นล่างของอาคารมีลักษณะเป็นโถงเปิดโล่ง ภายในมีส่วนนิทรรศการบนฝาผนังที่ให้ข้อมูลทั้งการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ภาพลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตั้งแต่การก่อตั้งชุมชน การเข้ามาของโจรผู้ร้ายและการกดขี่ของ "นาย" หรือเจ้าหน้าที่รัฐไทยที่กลายเป็นปัจจัยผลักดันให้คนในพื้นที่ส่วนหนึ่งเข้าป่าจับอาวุธหรือไปมีปฏิสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ภาพเหตุการณ์การปราบปรามของรัฐ กรณีถังแดง จนถึงภาพที่เล่าเรื่องเหตุการณ์หลังยุค "ป่าแตก" และความเคลื่อนไหวในการก่อสร้างอุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ คุณสมยศให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าการก่อสร้างอุทยานแห่งนี้เกิดขึ้นมาได้ก็ด้วยพลังของคนในพื้นที่และอดีตสหายที่เคยมีส่วนร่วมอยู่ในเหตุการณ์ โดยวิธีการระดมทุนส่วนหนึ่งก็ทำผ่านงานประเพณีทางศาสนาอย่างการทำผ้าป่าระดมทุน








                                                                                  ภาพวาดบริเวณโถงด้านล่างเสาปฏิมากรรมถังแดง

เมื่อลงมาที่โถงอาคารซึ่งอยู่ใต้ปฏิมากรรมถังแดง เราก็พบกับอดีตสหายผู้สูงวัยทั้งชายและหญิงเกือบๆ สิบคน พวกเขาเหล่านั้นเป็นประชาชนในพื้นที่ที่ตัดสินใจเข้าป่าด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป โดยมีจุดร่วมคือความคับแค้นที่เกิดจากการกระทำของ "นาย" หรือเจ้าหน้าที่รัฐไทยต่อตัวของพวกเขาหรือคนในครอบครัว หนึ่งในนั้นเคยเป็นสหายที่ทำหน้าที่อยู่ในระดับบังคับบัญชากองกำลังของพคท.ที่ปฏิบัติการในจังหวัดพัทลุง ก่อนที่เราจะเดินทางออกจากอนุสรณ์ คุณสมยศชวนเหล่าอดีตสหายให้ร่วมกันร้องเพลง "ภูบรรทัดปฏิวัติ" บทเพลงที่ครั้งหนึ่งเคยถูกพวกเขาขับขานอยู่ในเขตป่าเขาที่พัทลุงเพื่อให้เราได้ซึมซับบรรยากาศของจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ที่ยังคงคุกรุ่นอยู่ในพื้นที่แม้อดีตสหายเหล่านั้นจะผ่านพ้นจากวัยฉกรรจ์เข้าสู่ปัจฉิมวัยแล้วก็ตาม

ก่อนออกจากอนุสรณ์มีเสียงเฮลิคอปเตอร์ดังกระหึ่มขึ้นเหนือหัวของเรา อดีตสหายหญิงคนหนึ่งเล่าให้เราฟังว่าทางการน่าจะมาติดตามตัว "เสี่ยแป้ง นาโหนด" (เชาวลิต ทองด้วง) ซึ่งในช่วงที่เราไปลงพื้นที่กำลังอยู่ระหว่างหลบหนีจากการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ โดยอดีตสหายคนเดียวกันยังเล่าด้วยว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจะได้ยินเสียเฮลิคอปเตอร์ในพื้นที่แทบทุกวัน วันละหลายรอบ


                                                                                                        อดีตสหายแห่งภูบรรทัด

ความน่าสนใจประการหนึ่งเกี่ยวกับอุทยานประวัติศาสตร์ถังแดงที่เราได้ค้นพบจากการพูดคุยกับคุณสมยศ คือตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมของอุทยานแห่งนี้กับชุมชน ในขณะที่อนุสรณ์ที่รำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งภายในประเทศช่วงสงครามเย็นหรือการต่อสู้ระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอีกหลายแห่ง มักเป็นที่รู้จักในวงจำกัดหรือมีการจัดงานเฉพาะช่วงงานรำลึก อุทยานประวัติศาสตร์ถังแดงแห่งนี้กลับดูจะมีชีวิตในทางสาธารณะมากกว่าเพราะมักมีกลุ่มต่างๆ เข้ามาใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมอยู่เป็นระยะ นอกจากนั้นก็มีเครือข่าย "สินธุ์แพรทอง" ซึ่งเป็นการรวมตัวของคนในตำบลลำสินธุ์ซึ่งเป็นตำบลที่ตั้งของตัวอนุสรณ์นำอนุสรณ์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในชุมชน รวมถึงใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้อื่นๆ ทำให้เรื่องราวเกี่ยวกับกรณีถังแดงถูกเล่าต่อจากรุ่นสู่รุ่นในฐานะประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น 

อนุสรณ์สถานทปท.กับเรื่องเล่าของ 'สหายสาคร'

หลังชมอนุสรณ์ถังแดงเสร็จก็เป็นเวลาเกือบคล้อยบ่าย คุณสมยศอาสาว่าจะพาเราเดินทางไปเยี่ยมชมอนุสรณ์สถานทปท.ที่วัดไม้เสียบซึ่งอยู่ที่อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ห่างจากอุทยานประวัติศาสตร์ถังแดงออกไปประมาณ 50 กิโลเมตร ระหว่างทางคุณสมยศพาพวกเราแวะรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านอาหารท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ดูเหมือนคุณสมยศน่าจะรู้จักกับเจ้าของร้านอยู่พอสมควรทำให้ทางร้านแถมอาหารมาให้พวกเราอีกพอสมควร หลังอิ่มท้องกันแล้วพวกเราก็เดินทางต่อ

พวกเราขับรถไปที่อนุสรณ์โดยใช้ถนนเพชรเกษมมุ่งหน้าไปทางตัวเมืองพัทลุงก่อนไปเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 แล้วขับมุ่งหน้าขึ้นไปทางจังหวัดนครศรีธรรมราช ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 - 40 นาที ระหว่างการเดินทางมีฝนโปรยปรายลงมาเล็กน้อย เราแอบหวั่นใจว่าเมื่อไปถึงที่หมายจะสามารถลงไปเดินชมและบันทึกภาพอนุสรณ์ได้หรือไม่ ทว่าเมื่อใกล้ถึงอนุสรณ์ ฝนก็หยุดตกเราเลยโล่งใจว่าอย่างน้อยๆ สภาพอากาศก็ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคในการเดินทางครั้งนี้แล้ว

หลังเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลขที่ 41 มุ่งหน้าจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ประมาณ 30 นาที รถของเราก็มาเลี้ยวที่ถนนสายเล็กๆ สายหนึ่ง วิ่งเข้ามาไม่ไกลเราก็เห็นอนุสรณ์ทปท.ตั้งเด่นเป็นสง่าบริเวณลานข้างๆ วัดไม้เสียบ



                                                                                         ป้ายทางเข้าอนุสรณ์สถานทปท. แห่งเทือกเขาบรรทัด

อนุสรณ์สถานทปท.มีลักษณะเป็นลานโล่ง ตรงกลางมีเสาอนุสรณ์ตั้งอยู่บนฐานเป็นประธาน บริเวณรอบเสามีสัญลักษณ์ดาวแดงสิบอันอยู่บนพื้น บนดาวแต่ละดวงจะมีวินัยสิบข้อของทหารทปท. เช่น 1.ปฏิบัติการทุกอย่างต้องฟังคำบัญชา 2.ไม่เอาข้าวของประชาชน และ 3.เคารพและช่วยเหลือประชาชน พูดจาต้องสุภาพ สลักไว้ดวงละข้อ ถัดจากตัวเสาอนุสรณ์ที่เป็นประธานจะเป็นลานสนามหญ้าโล่งๆ ขณะที่บริเวณกำแพงอนุสรณ์ ด้านข้างและด้านหลังเสาอนุสรณ์จะมีการสร้างอาคารขนาดเล็กที่ด้านในมีการจัดแสดงบอร์ดนิทรรศการ เล่าเรื่องเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานการณ์ทางการเมืองร่วมสมัยและกรณีถังแดง น่าเสียดายที่อนุสรณ์แห่งนี้ไม่ได้มีผู้ดูแลประจำ และเราก็ไม่ได้ประสานกับผู้แลสถานที่มาก่อน ทำให้เราไม่สามารถเข้าไปชมและบันทึกภาพในส่วนจัดแสดงนิทรรศการซึ่งล็อกกุญแจไว้ได้    

สำหรับตัวเสาอนุสรณ์ บนยอดเสามีสัญลักษณ์รูปนกพิราบสลักอยู่กลางสัญลักษณ์ดาวแดงซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของพรรคคอมมิวนิวต์แห่งประเทศไทย บนเสาด้านหน้ามีแผ่นหินสลักเป็นรูปทหารทปท.สวมหมวกดาวแดงสองคน และมีข้อความ "แด่ทปท.คนกล้า ผู้เสียสละแก่แผ่นดินแห่งเขาบรรทัด" สลักอยู่ใต้รูปทหารทปท. เสาด้านหลังมีแผ่นหินสองแผ่น แผ่นหนึ่งสลักเป็นสัญลักษณ์ค้อนเคียวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ อีกแผ่นหนึ่งสลักข้อความ "ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้" และคำแปลภาษาอังกฤษ "Wherever there is oppression, there will be resistance." บริเวณฐานของเสาอนุสรณ์มีแผ่นหินที่สลักภาพและข้อความไว้โดยรอบ แผ่นหินด้านหน้าสลักเป็นภาพด้านหลังของคนแปดคนกำลังแบกปืนและถือตะเกียงเดินมุ่งหน้าเข้าไปสู่ภูเขาที่อยู่ใต้ดวงดาว ด้านล่างภาพปรากฎข้อความ "วีรชนประชาชน สถิตในใจผองไทยตลอดกาล..." และคำแปลภาษาอังกฤษ "The People's Heroes You Will Remain in our Hearts Forever." ส่วนด้านอื่นๆ จะสลักรายชื่อสหายบางส่วนที่เสียชีวิตระว่างการสู้รบ โดยมีการสลักชื่อทั้งชื่อจัดตั้งที่ใช้ในเขตป่าเขาและชื่อจริง หรือหากไม่ทราบชื่อจริงก็จะระบุเพศและคำอธิบายอื่นแทน เช่น มวลชนจัดตั้งและสหายชนบท









                                                                                                   อนุสรณ์สถานทปท. แห่งเทือกเขาบรรทัด
หลังใช้เวลาที่อนุสรณ์ได้พอสมควร คุณสมยศก็ชวนเรานั่งรถเข้าไปที่บ้านของอดีตสหายท่านหนึ่งเพื่อพูดคุยเรื่องความเป็นมาของอนุสรณ์สถานทปท. บ้านของอดีตสหายท่านนั้นอยู่ห่างจากตัวอนุสรณ์ไปไม่มากนัก ใช้เวลาบนรถยนต์ไม่น่าจะเกินห้านาทีก็ไปถึงที่บ้านหลังหนึ่ง ระหว่างที่เรานำรถไปหาที่จอด คุณสมยศขอตัวลงจากรถไปก่อนเพื่อเดินเข้าไปทักทายกับเจ้าของบ้าน "คุณพิภพอยู่ไหม" คุณสมยศทักทายหญิงชราที่อยู่ในบ้านท่านหนึ่งด้วยภาษาใต้อย่างเป็นกันเอง หญิงชราท่านนั้นตอบมาว่าไม่อยู่ ไปธุระข้างนอก เราแอบเสียดายเล็กน้อยที่จะไม่ได้พบกับคุณพิภพ ทว่าคุณสมยศก็ทำให้เรามีความหวังอีกครั้งเมื่อเขาแนะนำหญิงชราท่านนั้นว่าเธอเองก็เป็นอดีตสหายที่เคยเข้าป่าและเป็นภรรยาของคุณพิภพด้วย น่าจะพอให้ข้อมูลกับเราได้บ้าง เราจึงชวนคุณสาครพูดคุยเรื่องราวในอดีตซึ่งเธอก็นั่งพูดคุยกับเราด้วยความยินดี คุณสาครยังมีน้ำใจเข้าไปหยิบน้ำมาต้อนรับเรา และระหว่างการพูดคุยเมื่อมีหญิงวัยกลางคนคนหนึ่งนำกล้วยทอดเข้ามาขายในบ้าน คุณสาครก็เมตตาซื้อกล้วยทอดเลี้ยงเราด้วย บทสนทนาระหว่างเรากับคุณสาครเป็นไปโดยมีคุณสมยศเป็นล่ามคอยสรุปความจากภาษาใต้เป็นภาษาภาคกลางให้พวกเราฟังรวมทั้งคอยขยายความเรื่องเล่าของคุณสาครเพื่อให้เราในฐานะ "คนนอก" สามารถปะติดปะต่อเรื่องเล่าได้

คุณสาครเล่าว่าก่อนที่จะเข้าป่าเธอก็เป็นคนธรรมดาที่มีความสามารถด้านการเย็บปักถักร้อย นอกจากสถานการณ์ในพื้นที่ที่มีความรุนแรงขึ้นแล้ว ความตื่นตัวทางการเมืองก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คุณสาครตัดสินใจเข้าไปร่วมการปฏิวัติ เธอรู้สึกว่าเธอไม่ได้รับความเป็นธรรม ญาติและคนในครอบครัวของเธอส่วนหนึ่งก็ถูกทางการจับตัวไป หลังคุณสาครเดินทางเข้าสู่เขตป่าเขา เธอก็ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ด้านการตัดเย็บเสื้อผ้าให้สหาย สำหรับชื่อ "สาคร" ที่เราเรียกขานเธอ จริงๆ ก็เป็นชื่อจัดตั้งที่เธอใช้ในเขตป่าเขา ตัวคุณสาครเข้าป่าเป็นเวลาสิบปี เธอเล่าว่าตลอดเวลาที่เธออยู่ในนั้นตัวเธอเองไม่เคยตกอยู่ในสถานการณ์การสู้รบด้วยตัวเอง เพราะส่วนใหญ่เวลาเสียลับก็จะรีบย้ายไปตั้งค่ายในสถานที่ใหม่ ทำให้กว่าที่ทหารของรัฐไทยจะมาทิ้งระเบิดใส่ก็ไม่มีใครเหลืออยู่แล้วกลายเป็นทิ้งระเบิดใส่ค่ายร้างไป พูดถึงตรงนี้คุณสาครก็หัวเราะขึ้นมา เรื่องเล่าของคุณสาครหากฟังในปัจจุบันก็คงคล้ายกับหลายๆ ครั้งที่เมื่อเราสามารถผ่านเหตุการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานไปได้เราก็พอจะหัวเราะออกเมื่อมองย้อนกลับไป แต่คงไม่มีใครหัวเราะออกในขณะที่กำลังเผชิญสถานการณ์ คุณสาครเล่าต่อไปว่าเธอและคุณพิภพเข้าสู่พิธีวิวาห์ในปี 2521 ขณะที่เข้าร่วมการปฏิวัติในเขตป่าเขา คุณสาครเล่าแบบติดตลกว่าก่อนการแต่งงานเธอก็ไม่ได้แอบชอบหรือมีความรู้สึกพิเศษอะไรกับคุณพิภพ แต่ในเวลานั้นคุณพิภพก็มีอายุมากพอสมควรแล้ว แต่ยังไม่ได้แต่งงานและคุณพิภพก็อาจจะมีความรู้สึกพิเศษกับเธอโดยที่เธอไม่รู้ สุดท้ายเมื่อได้มีการพูดคุยกัน เธอและคุณพิภพจึงตัดสินใจแต่งงานกันโดยความเห็นชอบของจัดตั้ง พิธีสมรสของเธอกับคุณพิภพไม่ได้มีสินสอด ไม่ได้มีชุดวิวาห์หรูหราอะไร แค่ได้ใส่ชุดทหารปลดแอกทปท.ในงานแต่งงานก็ถือเป็นที่สุดแล้วและเธอกับคุณพิภพก็ครองรักกันเรื่อยมาจนถึงช่วงปัจฉิมวัย

ในภายหลังเมื่อเราได้ทำการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมในหนังสือที่ระลึก พิธีบรรจุอัฐิของวีรชนประชาชนที่เสียชีวิตในระหว่างสงครามประชาชน และพิธีเปิดอนุสรณ์สถานทปท.แห่งเทือกเขาบรรทัด ซึ่งจัดพิมพ์ในปี 2550 เราก็ได้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า จริงๆ แล้วก่อนหน้าที่จะมีการบรรจุอัฐิของสหายผู้เสียสละในอนุสรณ์แห่งนี้ เคยมีการก่อสร้าง "บัว" หรือสถูปบรรจุอัฐิสหายในบริเวณเดียวกันนี้มาก่อนแล้วในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการ "กระดูกเข้าบัว" ในช่วงกลางปี 2527 ที่ประชุมคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยประจำเขตรอยต่อ 6 จังหวัดมีมติให้แปลงสภาพกองกำลังให้สอดคล้องกับสถานการณ์ กำลังพลเริ่มขยายตัวจากเขตป่าเขามาอยู่ในเขตหมู่บ้าน จึงได้เกิดแนวคิดที่จะรวบรวมอัฐิของผู้เสียสละในช่วงสงครามที่ถูกฝังอยู่ในที่ต่างๆ มาประกอบพิธีทางศาสนาและบรรจุเข้าบัว (สถูป) เพื่อให้เกียรติแก่ผู้วายชนม์ โดยในชั้นแรกได้มีการรวบรวมอัฐิของสหายและมวลชนที่เสียชีวิตไปทำบุญที่วัดในเตา จังหวัดตรัง  โครงการกระดูกเข้าบัวเริ่มต้นจากฝ่ายสหาย แต่ในเวลาต่อมาเมื่อสหายระดับนำของพรรคในพื้นที่อย่างสหายช่วงหรือ ธงชัย สุวรรณวิหค ถูกจับกุมตัว และคุณพิภพ ซึ่งเป็นสามีของคุณสาครเข้ามอบตัวกับทางการ โครงการกระดูกเข้าบัวก็ติดขัดไปพักหนึ่ง (หน้า 12 - 13) ก่อนที่ในเวลาต่อมาทางการก็ได้เข้ามามีส่วนในโครงการกระดูกเข้าบัว ทั้งด้านการสนับสนุนงบประมาณ และร่วมกำหนดทิศทางโครงการนี้ในฐานะกระบวนการที่จะทำให้กองกำลังของพคท.ในพื้นที่ยอมจำนนและมาร่วมเป็น "ผู้ร่วมพัฒนาชาติ" โดยหนังสือที่ระลึกยังระบุด้วยว่า มีสหายจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ (ดูหน้า 14) หนังสือยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าแม้ส่วนหนึ่งของพิธีนำอัฐิของผู้เสียชีวิตมาบรรจุเข้าสถูปเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2530 จะเป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่จัดให้ผู้วายชนม์ แต่ก็มีพิธีรายงานตัวของอดีตสหาย 51 คน ในฐานะผู้ร่วมพัฒนาชาติด้วยซึ่งจุดนี้งานกระดูกเข้าบัวน่าจะถูกทำให้กลายเป็นงานการเมืองของฝ่ายกองทัพและทางการไทยไปด้วย (ดูหน้า 16)

เมื่อเวลาและสถานการณ์เปลี่ยนไป บัวที่เคยถูกสร้างไว้ก็ชำรุดไปตามกาลเวลา ขณะเดียวกันการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็ได้ยุติลงไปแล้ว อดีตสหายส่วนหนึ่งจึงมีแนวคิดที่จะจัดสร้างอนุสรณ์ขึ้นมาเพื่อบรรจุอัฐิของสหายผู้เสียสละแทนสถูปที่ชำรุด จึงได้ดำเนินการระดมทุนและจัดสร้างอนุสรณ์สถานทปท.จนแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2551

ตลอดสามวันสองคืนที่ทางทีมงานพิพิธภัณฑ์สามัญชนลงพื้นที่ที่จังหวัดพัทลุง เราได้ค้นพบว่าคำว่าประวัติศาสตร์บาดแผลดูจะไม่ใช่คำที่ไกลจากความเป็นจริงนักในบริบทของจังหวัดพัทลุงและพื้นที่ใกล้เคียง อย่างเช่นในพื้นที่อำเภอศรีนครินทร์ เพื่อนบ้านและคนในชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงกับบ้านของคุนสมยศและสหายขวัญต่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีถังแดงและการใช้กำลังปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  อย่างครอบครัวของสหายขวัญที่เป็นภรรยาของคุณสมยศ ก็เข้าป่ากันทั้งครอบครัว แม้ว่างานวิจัยถังแดงของคุณสมยศและคณะที่ใช้เวลาจัดทำ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2545 - 2549 จะพยายามเก็บรวบรวมเรื่องราวและความทรงจำในพื้นที่อย่างเป็นระบบ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณและกรอบเวลาก็ทำให้มีความทรงจำและเรื่องราวอีกหลายๆ เรื่องของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ที่อาจจะตกหล่นไปไม่ถูกบันทึก