Skip to main content

นิทรรศการชั่วคราว เอกสารล้ำค่า จารึกสยาม จัดขึ้นที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร จัดแสดงเอกสารสำคัญต่างๆ ทั้งเอกสารที่มีผลต่อหน้าประวัติศาสตร์ไทย เช่น สนธิสัญญาเบาว์ริงระหว่างไทยกับอังกฤษและเอกสารเกี่ยวกับการเลิกทาสของสยาม เอกสารโบราณที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและวัฒนธรรมไทย เช่น คัมภีร์อัลกุรอาน ตำราจินดามณีซึ่งเป็นแบบเรียนโบราณที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาและคัมภีร์โบราณอื่นๆ เป็นต้น ที่น่าสนใจคือในนิทรรศการนี้ยังมีเอกสารสำคัญที่สร้างขึ้นในสมัยรัฐบาลคณะราษฎรอย่างแบบแปลนสนามกีฬาแห่งชาติหรือสนามศุภชลาศัยและแบบแปลนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมาจัดแสดงไว้ด้วย แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้มีการนำแบบแปลนของอนุสาวรีย์ที่สร้างในยุคของคณะราษฎรอีกแห่งหนึ่งอย่างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมาจัดแสดง ขณะที่ในส่วนจัดแสดงแบบแปลนสนามกีฬาแห่งชาติก็ไม่ได้มีการพูดถึงหลวงศุภชลาศัย อดีตอธิบดีกรมพลศึกษา ซึ่งเป็นผู้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อจัดสร้างสนามกีฬาแห่งชาติ โรงเรียนฝึกหัดครูพลศึกษา และสโมสรสถานลูกเสือ ในปี 2477 






นิทรรศการ เอกสารล้ำค่า จารึกสยาม จะเปิดให้เข้าชมที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนครไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 โดยหนึ่งในไฮไลท์ที่น่าสนใจของนิทรรศการนี้ คือการส่งโปสการ์ดถึงตัวเอง เมื่อผู้ชมมาถึงที่โต๊ะต้อนรับเจ้าหน้าที่จะแจกโปสการ์ดติดแสตมป์ 3 บาทให้ผู้เข้าชม ด้านหลังของโปสการ์ดจะมีช่องสำหรับประทับตราสัญลักษ์ของส่วนจัดแสดงทั้ง 6 เมื่อชมนิทรรศการจบผู้เข้าชมก็สามารถส่งโปสการ์ดที่ตัวเองไล่ประทับตราจนครบลงในตู้ไปรษณีย์สีแดงที่ทางนิทรรศการเตรียมไว้ให้แล้วรอรับโปสการ์ดที่ระลึกที่บ้านได้เลย ซึ่งกิจกรรมนี้ก็มีความเชื่อมโยงกับเอกสารจัดแสดงส่วนหนึ่งในนิทรรศการซึ่งเป็นไปรษณีย์บัตรที่รัชกาลที่ 5 ทรงส่งกลับมาประเทศไทยระหว่างเสด็จประพาสยุโรปด้วย

นิทรรศการแบ่งการจัดแสดงออกเป็นหกส่วนแยกตามประเภทของเอกสาร ได้แก่ เอกสารที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและวัฒนธรรม เอกสารที่เป็นแผนที่และตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด เอกสารเกี่ยวกับกฎหมายและการปกครอง เอกสารหรือวัตถุจัดแสดงที่เกี่ยวข้องกับกิจการการพิมพ์ในไทย เอกสารที่เป็นแบบแปลนอาคารหรือสถานที่สำคัญๆต่างๆและเอกสารที่บันทึกเรื่องราวหรือความทรงจำส่วนบุคคล

ส่วนจัดแสดงที่หนึ่ง จารจารึก บันทึกสยาม

จัดแสดงเอกสารโบราณที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ความเชื่อ และวัฒนธรรม เช่น หลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงที่ถือเป็นจารึกภาษาไทยหลักแรก ซึ่งส่วนนี้ทางผู้จัดแสดงยังได้นำหนังสือ เจ้าชายน้อย วรรณกรรมเยาวชนจากประเทศฝรั่งเศษฉบับแปลภาษาเป็นตัวอักษรลายสือไทยมาจัดแสดงในส่วนนี้ด้วย นอกจากนั้นก็ยังมีการจัดแสดงคัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับที่เขียนขึ้นในปีพ.ศ.2297 จินดามณี ตำราเรียนโบราณฉบับที่ชำระเพื่อถวายพระมหากษัตริย์ในปี 2325 และอุรังคธาตุ ใบลานอักษรธรรมอีสานที่จารึกตำนานเกี่ยวกับการเสด็จมายังแดนอีสานของพระพุทธเจ้า โดยการจัดแสดงในส่วนนี้มีการนำโมเดลพระธาตุเชิงชุมซึ่งอยู่ที่จังหวัดสกลนครมาจัดแสดงไว้ด้วย












ส่วนจัดแสดงที่สอง แผนภูมิของแผ่นดิน

จัดแสดงเอกสารที่เป็นแผนที่สำคัญๆต่างๆ เช่น แผนที่กัลปนาวัดบนคาบสมุดสทิงพระในสมัยอยุธยา (คาบสมุทรสทิงพระอยู่ในจังหวัดสงขลาปัจจุบัน) ซึ่งเป็นแผนที่ภาพวาดโบราณ นอกจากนั้นก็มีแผนที่แสดงบริเวณที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ในตำบลสามเพ็ง (สำเพ็ง) เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2449 ด้วย คุณสมชัย กวางทองพานิชย์ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องไฟไหม้สำเพ็งไว้ว่า ย่านสำเพ็งเติบโตขึ้นหลังมีการค้าสำเภากับจีนสมัยรัชกาลที่สามและเมื่อมีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในสมัยรัชกาลที่สี่การค้าก็ยิ่งขยายตัวทำให้สำเพ็งมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นมากขึ้น ยุคนั้นบ้านในสำเพ็งมักสร้างด้วยไม้ไผ่มุงหลังคาด้วยจาก และเมื่อคนในสมัยก่อนจุดตะเกียงเพื่อให้แสงสว่างก็เลยทำให้เกิดอัคคีภัยบ่อยครั้ง อย่างในปีพ.ศ. 2449 ก็เกิดเหตุเพลิงไหม้ถึงสองครั้ง

นอกจากแผนที่แล้วเอกสารจัดแสดงที่หน้าสนใจในส่วนนี้อีกส่วนหนึ่งได้แก่เอกสารที่เกี่ยวข้องกับตราประจำจังหวัด เช่น หนังสือของกรมศิลปากรที่ออกมาในเดือนพฤษภาคม ปี 2483 ซึ่งเป็นช่วงที่จอมพลป.พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก โดยจอมพลป.มีแนวคิดว่า "การที่ชนบทจะเจริญเป็นปึกแผ่นได้ ก็ต้องอาศัยการที่ชาวชนบทมีนิสสัยรักถิ่นฐาน ไม่ใฝ่ฝันที่จะย้ายภูมิลำเนาเข้ามาอยู่ในพระนคร" (ข้อความตามหนังสือกรมศิลปากร เรื่องคิดทำเครื่องหมายประจำจังหวัด ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2483) จอมพลป.เห็นว่าการมีเครื่องหมายประจำจังหวัด น่าจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ช่วยบำรุงและชักจูงให้คนชอบและ "พูมใจ" ในความเป็นชาวชนบทและรักถิ่นฐานของตน 






 



ส่วนจัดแสดงที่สาม นิติสารเมื่อเพรงกาล เล่าขานประวัติศาสตร์ไทย

จัดแสดงเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระบบกฎหมาย ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับต่างประเทศ รวมถึงการดำเนินการเพื่อการเลิกทาส เช่น กฎหมายตราสามดวงฉบับสมุดไทยขาว เขียนด้วยลายมือาลักษณ์สมัยรัชกาลที่หนึ่ง โดยรัชกาลที่หนึ่งโปรดให้ชำระกฎหมายเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยากับกฎหมายที่ใช้อยู่เวลานั้นขึ้นเป็นกฎหมายตราสามดวงเพื่อใช้บังคับ โดยสัญลักษณ์ทั้งสามได้แก่ตราบัวแก้ว ตราราชสีห์ (สิงห์) และตราคชสีห์ (ช้าง) ในส่วนนี้ยังได้มีการนำพัดแกะสลักสัญลักษณ์ตราทั้งสามมาจัดแสดงด้วย นอกจากนั้นก็มีนธิสัญญาเบาว์ริง ซึ่งเป็นสนธิสัญญาไมตรีและการค้าระหว่างสยามกับอังกฤษ จัดทำขึ้นในปี 2398 โดยสนธิสัญญานี้ถือเป็นหนึ่งในหมุดหมายที่ทำให้สยามเริ่มก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ สำหรับสนธิสัญญาฉบับนี้มีทั้งหมด 12 ข้อ มีสาระสำคัญ เช่น การกำหนดอัตรเก็บภาษีขาเข้าและขาออก การให้สิทธิในการนับถือศาสนา และเกณฑ์การจัดตั้งกงสุล เป็นต้น














ส่วนจัดแสดงที่สี่ เมื่อแรกมีการพิมพ์

จัดแสดงเอกสารสำคัญและวัตถุจัดแสดงที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ยุคแรกในสยาม โดยการจัดแสดงในส่วนนี้เป็นเสมือนจุดเปลี่ยนด้านการทำเอกสารในสยามจากเดิมที่ใช้การเขียนด้วยมือเข้าสู่ยุคของการพิมพ์ โดยวัตถุจัดแสดงที่สำคัญในส่วนนี้ ได้แก่ตัวอย่างตัวพิมพ์ในยุคแรก เครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยและเครื่องพิมพ์ดีดตัวอักษรล้านนา นอกจากนั้นก็มีการจัดแสดงสิ่งพิมพ์ที่สำคัญในยุคแรก เช่น ราชกิจจานุเบกษา ในสมัยรัชกาลที่สี่ ราชกิจจานุเบกษาถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้เผยแพร่ข้อกฎหมายให้ประชาชนและส่วนราชการได้รับทราบโดยทั่วกัน ในสมัยรัชกาลที่สี่เคยมีการตีพิมพ์แจกจ่ายตามสถาที่ต่างๆโดยไม่คิดมูลค่าทุกๆ 15 วัน หลังการตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2401 มีการตีพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาแจกจ่ายเป็นระยะเวลาประมาณหนึ่งปีหกเดือนก่อนจะเลิกไป หลังจากนั้นก็มีการตีพิมพ์และยกเลิกเป็นระยะ ในยุคปัจจุบันราชกิจจานุเบกษามีการตีพิมพ์เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต กฎหมายของรัฐทุกฉบับจะนับเอาวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นวันบังคับใช้ บางฉบับจะมีผลในวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา บางฉบับจะมีการกำหนดเวลาไว้เป็นการเฉพาะว่าให้มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นเวลานานเท่าใด ส่วนจัดแสดงนี้ยังมีตัวอย่างหนังสือจดหมายเหตุฯ The Bangkok Recorder ของหมอบลัดเลย์ซึ่งถือเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทยจัดแสดงไว้ด้วย












ส่วนจัดแสดงที่ห้า ต้นร่างสร้างเมือง เรืองรองศิลปกรรม  

จัดแสดงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างสถาปัตยกรรมสำคัญต่างๆ เช่น แบบแปลนพระราชวังต่างๆ แบบแปลนพระเมรุมาศ รวมถึงสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สนามศุภชลาศัย และสะพานพุทธ เป็นต้น โดยมีความน่าสนใจว่าในส่วนที่จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับสนามศุภชลาศัยกลับไม่มีการพูดถึงหลวงศุภชลาศัย สมาชิกคณะราษฎรและอดีตอธิบดีกรมพลศึกษาซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งนี้ ไม่แม้แต่ข้อมูลที่ระบุว่าเหตุใดจึงเรียกสนามกีฬาแห่งชาติว่า สนามม "ศุภชลาศัย"














ส่วนจัดแสดงที่หก ด้วยความทรงจำอันงดงามและความคิดถึง

จัดแสดงเอกสารหรือของสะสมที่เป็นการบันทึกความทรงจำส่วนบุคคลของผู้เป็นเจ้าของ เช่น ไปรษณีย์บัตรของรัชกาลที่ห้าที่ส่งถึงพระบรมวงศานุวงศ์ระหว่างเสด็จประพาสยุโรป รวมถึงฉลากน้ำหอมที่รัชกาลที่หกทรงสะสมไว้ นอกจากนั้นก็มีการจัดแสดงซองบุหรี่และกล่องไม้ขีดไฟ มีความน่าสนใจว่าในยุคนั้นมีการอัญเชิญภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์มาอยู่ทั้งบนฉลากน้ำหอมและซองบุหรี่ด้วย ซึ่งคาดว่าน่าจะต้องมีการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติเสียก่อน








ในส่วนสุดท้ายของนิทรรศการ มีการจัดฉายวิดิทัศน์ประกอบนิทรรศการรวมถึงมีโต๊ะเขียนไปรษณีย์บัตรและตู้ไปรษณีย์สีแดงตั้งไว้ให้บริการ โดยเมื่อผู้เข้าชมเดินเข้ามาที่จุดต้อนรับก่อนเข้าชมนิทรรศการ เจ้าหน้าที่จะแจกสูจิบัตรและไปรษณีย์บัตรที่ติดแสตมป์ 3 บาทแล้วให้คนละแผ่น ระหว่างที่ผู้ชมเดินดูนิทรรศการแต่ละจุดก็สามารถประทับตราสัญลักษณ์ของนิทรรศการแต่ละจุดลงบริเวณด้านหลังของไปรษณีย์บัตร เมื่อประทับตราครบหกจุดก็สามารถเดินมาเขียนไปษณีย์บัตรส่งถึงตัวเองหรือคนที่ต้องการที่จุดนี้และหย่อนลงในตู้ไปรษณีย์สีแดงซึ่งทางผู้จัดนิทรรศการจะนำส่งให้ นับว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนใจในการสร้างการมีส่วนร่วมให้กับผู้เข้าชมนิทรรศการ ซึ่งเมื่อกรมสมเด็จพระเทพเสด็จมาทอดพระเนตรนิทรรศการนี้ก็ทรงประทับตราบนไปรษณีย์บัตรทั้งหกด้านและทางผู้จัดนิทรรศการก็ได้นำสำเนาไปรษณีย์บัตรของพระองค์มาจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ ในส่วนจัดแสดงที่หกด้วย

ข้อมูลส่วนหนึ่งนำมาจากสูจิบัตรประกอบนิทรรศการ จัดทำโดยกรมศิลปากรเพื่อแจกในนิทรรศการ 
พิพิธภัณฑ์สามัญชนเข้าชมนิทรรศการนี้ในวันที่ 18 เมษายน 2567

เรื่องและภาพโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์