Skip to main content


“เพราะว่าเราไปเจอเผด็จการในที่ทำงานจากการทำงานสามครั้งที่ผ่านมา 
เราก็เลยเข้าใจว่าประชาธิปไตยในที่ทำงานคืออะไร”  

 

นั่นคือเหตุผลโดยสังเขปที่ทำให้ แชมป์—ฉัตรชัย พุ่มพวง หนึ่งในสมาชิกและผู้ร่วมก่อตั้ง ‘สหภาพคนทำงาน’ เริ่มตั้งคำถามกับการเมืองที่ไม่อาจแยกขาดจากเรื่องของเศรษฐกิจ  แชมป์เล่าย้อนความให้เราฟังว่าเขาเติบโตมากับครอบครัวที่เป็น ‘คนเสื้อแดง’ ทำให้ได้ติดตามการเมืองมาตั้งแต่นั้นและมีจุดยืนในเรื่องการเมืองว่าสนับสนุนวิถีทางของประชาธิปไตยมาตั้งแต่แรก แต่สิ่งที่เขาไม่ได้นึกถึงเลยในตอนเด็กก็คือ ‘การเมืองเรื่องเศรษฐกิจ’ แม้เขาเองจะเชื่อมั่นในแนวคิดประชาธิปไตย จวบจนเติบโตมาถึงวัยทำงานที่ทำให้ได้ปะทะกับระบบการทำงานที่ไม่เป็นธรรมจนทำให้เกิดข้อสังเกตและคำถาม ทั้งการแบ่งสัดส่วนเงินเดือนให้กับพนักงานที่ห่างกันอย่างมากกับผลประโยชน์ที่เจ้าของบริษัทได้รับ ทั้งที่คนสร้างงานตัวจริงคือทีมงานทั้งนั้น  เรื่องอำนาจที่รวมศูนย์อยู่ที่หัวหน้างานทำให้งานไม่เกิดประสิทธิภาพ ไปจนถึงการถูกเลิกจ้างที่เป็นเรื่องใหญ่ต่อชีวิตคนทำงานแต่กลับไม่มีสิทธิในการต่อรองหรือเกิดการตัดสินใจร่วมกัน แชมป์เรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ‘เผด็จการในที่ทำงาน’  ซึ่งประสบการณ์ในการเข้าสู่ระบบการทำงานเช่นนี้เองที่ทำให้เขาเริ่มคิดและหาคำตอบเกี่ยวกับการเมืองที่ยึดโยงกับเรื่องเศรษฐกิจและขบคิดกับเรื่อง ‘ประชาธิปไตยในที่ทำงาน’ มากขึ้น  

“ประชาธิปไตยในที่ทำงานมันคือการมีสิทธิ์มีส่วนร่วมในการกำหนดว่ามูลค่าที่เราช่วยกันสร้างจะแบ่งกันยังไง เงินเดือนเท่าไหร่ สองคือประสิทธิภาพในการทำงานที่มาจากคนทำงาน คือคนหน้างานรู้ดีที่สุดแล้ว พวกคนที่มีอำนาจไม่ได้อยู่หน้างานไม่รู้หรอกว่าหน้างานเป็นยังไง และสามคือการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ”

 

ก่อร่าง ‘สหภาพคนทำงาน’ 
ช่วงที่เริ่มเรียนรู้และตั้งคำถามต่อเรื่องประชาธิปไตยในที่ทำงานอย่างจริงจังมากขึ้น เขาและเพื่อนก็เริ่มทำเพจพูด Pūd ซึ่งหลายคนน่าจะรู้จักกันดีในฐานะช่องออนไลน์ที่สร้างสรรค์เนื้อหา เน้นให้ความรู้และชวนตั้งคำถามต่อเรื่องประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ การเมืองและเรื่องต่างๆ รอบโลก ในขณะที่สังคมในช่วงเดียวกันก็มีการตื่นตัวและพูดในประเด็นทางการเมืองหลากด้าน ทั้งประเด็นที่ว่าด้วยความเท่าเทียม เพศ สวัสดิการ การปฏิรูปสถาบัน การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และโดยเฉพาะการเน้นย้ำถึงเรื่อง ‘อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน’  ซึ่งแชมป์ให้มุมมองเกี่ยวกับคำนี้ว่า

“อำนาจสูงสุดของประชาชน ก็คืออำนาจในฐานะคนทำงานนี่แหละ ถ้าเราหยุดประเทศมันก็หยุด สว. เจ้าสัว ชนชั้นนำก็ทำงานแทนเราไม่ได้ ประเทศมันก็จะเคลื่อนไปไหนไม่ได้ขึ้นมาจริงๆ นี่คือสิ่งที่ยืนยันคุณค่าของเราในฐานะคนทำงาน” 

ในช่วงม็อบปี 2020 แชมป์ได้ไปขึ้นปราศรัยในประเด็นนี้ด้วย การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในปีนั้นเองทำให้เขาและเพื่อนได้พบเจอผู้คน มิตรที่มีแนวคิดเดียวกัน จึงรวมตัวกันตั้งเป็น ‘สหภาพคนทำงาน’ โดยเพจพูดที่เขาและเพื่อนร่วมกันสร้างขึ้นมาก็เป็นหนึ่งในกระบอกเสียงที่พยายามเล่าถึงเรื่องของขบวนการแรงงานจากข้อมูลในหลายๆ ประเทศทั่วโลกไปด้วย

หมุดหมายของสหภาพฯ คืออะไร   
“หลักๆ เราตั้งใจที่จะทำให้เห็นว่า ‘การเมือง’ กับ ‘เศรษฐกิจ’ เป็นเรื่องเดียวกันและเป็นเรื่องของการต่อสู้ โดยวิสัยทัศน์หลักของเราคือร่วมสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของคน 99 % เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ผ่านภารกิจที่เน้นสร้างความสัมพันธ์เรื่องการนำร่วม ดูแลสมาชิก สร้างประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ รวมถึงสร้างประชาธิปไตยในที่ทำงาน”

คำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ในความหมายแบบสหภาพคนทำงานเป็นยังไง 
“มันคือ ‘ชีวิตที่เรากำหนดได้’ นั่นแหละประชาธิปไตย ถ้าคุณกำหนดไม่ได้ว่าคุณอยากทำงานน้อยลงเพื่ออยู่กับหมากับแมวกับคนที่เรารัก มันจะเป็นประชาธิปไตยได้ยังไง ถ้าคุณต้องทำงานอาทิตย์ละ 100 ชั่วโมง งานหมองานพยาบาล ไรด์เดอร์ ทำงานอาทิตย์ละ 90 ชั่วโมง คนกวาดถนนต้องทำงานควบทั้งกะปกติแล้วก็แย่งกันทำ OT อีก”

“ประชาธิปไตยมันต้องอยู่ในทุกมิติของชีวิตมันมีทั้งในการเมืองการเลือกตั้ง นักการเมืองต้องไม่ขาลอย เราต้องกดดันมันได้ ต้องสั่งมันได้ ไม่ใช่เลือกตั้งเสร็จแล้วเป็นคนดูไปสี่ปี เราต้องใช้อำนาจของเราทุกวัน เพื่อที่จะกำหนดให้สังคมนี้มีโครงสร้างที่เราจะมีชีวิตดีขึ้นได้ ไปจนถึงมีประชาธิปไตยในที่ทำงานที่เราควรมีสิทธิ์กำหนดหลายๆ อย่าง เช่น มีสิทธิ์เลือกบอร์ดบริหาร ยกตัวอย่างในกฎหมายเยอรมัน สมมติคุณมีพนักงานในองค์กร 500 คน 1 ใน 3 ของบอร์ดบริหารต้องมาจากการเลือกตั้ง แล้วถ้าเกิน 2,000 คน 40% ของบอร์ดต้องมาจากการเลือกตั้ง”

แล้วองค์กรอย่าง ‘พูด’ มีวิถีการทำงานยังไง
“เราใช้สิ่งที่เรียกว่า ‘Worker Cooperative’  คือคนทุกคนที่ทำงานในพูดล้วนเป็น ‘เจ้าของพูด’ คือมีหุ้นและมีสิทธิ์มีอำนาจในการกำหนดทุกอย่างร่วมกัน แบ่งขอบเขตอำนาจร่วมกันและทำงานในหน้างานของตัวเอง แล้วพัฒนาร่วมกัน ทำงานเป็นทีม โดยไม่มีลำดับชั้น (hierarchy) แล้วกำหนดสภาพแวดล้อมที่ทำให้มีความเป็นประชาธิปไตย ทีมงานของพูดมีอำนาจเท่ากัน เงินเดือนเท่ากัน มากก็มากเหมือนกัน น้อยก็น้อยเหมือนกัน ทำกันมาแบบนี้ 3 ปีแล้ว  อันนี้ก็อาจเป็นตัวอย่างความหมายของประชาธิปไตยในมุมมองของสหภาพคนทำงานได้ว่าเป็นประมาณไหน”

‘สหภาพคนทำงาน’ ชวนคนเข้าร่วมยังไงบ้าง
“เราใช้วิธีโปรโมทออนไลน์เป็นหลักผ่านเพจพูด จนตอนนี้มีสมาชิกทั้งหมด 2,800 คน แล้วเราก็ใช้ข้อมูลที่เรามีหรือค้นคว้ามาในการชวนคนมาร่วมกิจกรรม ทั้งการอบรม การเคลื่อนไหวต่างๆ เพื่อที่จะสรรหาคนมาเป็น  Active Member จริงๆ  และเคยมีเดือนที่พีคมากๆ ที่เราได้ค่าสมาชิก 20,000 บาท ต่อเดือน มีคนจ่าย 50 คน ซึ่งแบบนี้แหละเป็นเป้าหมายของเราคืออยากให้สมาชิกจ่ายมากที่สุด เพื่อที่ว่าเราจะได้มีเงินมาทำกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวทำภารกิจของเรา ดังนั้นอุดมคติของเราคือองค์กรควรที่จะดำรงอยู่ได้ด้วยค่าสมาชิกเป็นหลัก แต่ตอนนี้ยังไม่ได้เป็นอย่างนั้นได้จริง เราเลยมีการไปเชื่อมโยงกับองค์กรอื่นๆ บ้าง เป็นองค์กรต่างประเทศที่เกี่ยวกับแรงงานและมูลนิธิที่มาจากประเทศซึ่งให้คุณค่ากับขบวนการแรงงาน  

อยากชวนยกตัวอย่างการเคลื่อนไหวหรือกิจกรรมของสหภาพฯ  
“การเคลื่อนไหวที่เรารู้สึกว่าประสบความสำเร็จคืองานเปิดตัว ‘Worker Fest’ เมื่อปี 2022 และการเดินขบวน May Day ทั้งสองปี ซึ่งมีพี่น้องแรงงานข้ามชาติ พี่น้องแรงงานเมียนมาร์เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เพราะเราตั้งชื่อว่าสหภาพคนทำงานด้วย มันเป็นคำที่ทำให้รู้สึกมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะว่าแรงงานทุกคนในสังคมนี้ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติอะไรก็ล้วนเป็นคนช่วยกันสร้างบ้านสร้างเมืองนี้ขึ้นมา ทำให้สังคมนี้ขับเคลื่อนไปได้ คือเราก็เป็นพวกเดียวกัน เป็นแรงงานเหมือนกัน เป็นคนทำงานเหมือนกันหมด”

เลยใช้คำว่า ‘สหภาพคนทำงาน’ ไม่ใช้คำว่า ‘สหภาพแรงงาน’ 
“ใช่ เพราะว่าสังคมไทยมันเริ่มมาด้วยวัฒนธรรมตัวใครตัวมัน สอนให้คนเป็นเจ้าคนนายคนแล้วเชื่อนิทานของคน 1% ที่หลอกว่าทุกอย่างที่มันยิ่งใหญ่เกิดจากชนชั้นนำหรือนายทุน ซึ่งสิ่งนี้มันทำให้ทุกคนไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นแรงงาน แต่นิยามแรงงานว่าคือพวกแบกหาม คนที่ใช้แรง แต่ในความจริงแล้วทุกคนต้องทำงาน เพราะฉะนั้นเราก็ต่างเป็นคนทำงานกันทั้งหมด คำนี้เลยทำให้คนเคี้ยวง่ายกว่า เข้าใจและอาจจะรู้สึกยึดโยงได้มากกว่าคำว่าแรงงาน อันนี้คือในมุมพวกเรานะครับที่ได้ร่วมกันคิดและตั้งชื่อนี้ขึ้นมา”    

ตั้งแต่ก่อตั้งและทำงานกันมาความท้าทายสำคัญของการทำสหภาพคนทำงานคืออะไร   
“ความท้าทายที่สุดคือ ‘การยืนระยะ’ ตอนที่เริ่มทำเราตั้งใจว่าเราจะทำให้คนเข้าใจว่า ‘อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน’  นั่นก็คือเรื่องของการสไตรก์(strike) เรื่องคุณค่าของพวกเราในฐานะแรงงาน แต่เราก็เห็นว่าตอนนั้นฝ่ายประชาธิปไตย ปิดเกมไม่ได้สักที เราไม่มีอำนาจในการคัดง้าง คือเราอาจมีอำนาจทางวัฒธรรม เราอาจชนะทางวัฒนธรรม แต่เรายังไม่มีอำนาจจริงๆ ที่คัดง้างกับอำนาจในระบบได้”

“เพราะว่าเราไม่มีองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเต็มเวลาเพื่อที่จะสร้างประชาธิปไตย คือกองทัพมันงานเต็มเวลาเพื่อทำลายประชาธิปไตย แต่พอไม่มีฝ่ายประชาชนที่ทำงานเต็มเวลาเพื่อสร้างประชาธิปไตยด้วย มันจะเกิดประชาธิปไตยได้ยังไง ความมุ่งมั่นและความท้าทายของเราจึงเป็นการยืนระยะให้ได้  การมีทรัพยากร มีคน รวมคนเอาไว้ให้ได้” 



ความหมายของโลโก้ที่ใช้มีนัยสื่อถึงอะไร
“ตอนแรกพวกเรากำหนดไดเรกชั่นและบรีฟคนทำไปว่าขอเป็นโลโก้ที่สื่อความถึงคนหลากหลายอาชีพได้ ก็ออกมาเป็นหน้าคน ซึ่งพอเป็นหน้าคนมันสามารถเอาไปใส่ยูนิฟอร์มต่างๆ ของแต่ละอาชีพได้ แล้วเป็นโลโก้ที่แสดงอารมณ์ได้ด้วย คือในมุมหนึ่งมันเหมือนเป็น ‘อิโมจิ’ มีทั้งรอยยิ้มและสายตาที่ให้ความรู้สึกมั่นใจ นั่นคือการมีความหวังว่าฉันสู้ได้ ขณะเดียวกันภาพก็ให้อารมณ์ที่มีทั้งความโกรธและความเศร้าปนอยู่ด้วย มันก็จะมีฟังชั่นของมันอยู่”

สังคมไทยวันนี้ในมุมมองของคุณ
สังคมไทยมาไกลมากๆ เรายังรู้สึกมีความหวังเสมอกับผู้คนและโลกของการทำงาน คือเรารู้แหละว่าสิ่งที่เราทำ สังคมที่เราฝันบางทีเราอาจจะไม่ได้อยู่เห็น หรืออาจจะเห็นเพียงบางจุดบางส่วน แต่ที่เราฝันจริงๆ ที่ทุกคนเท่ากันทางการเมืองเศรษฐกิจจริงๆ  เราอาจจะอยู่ไม่ทันเห็นก็ได้ แต่ไม่ได้แปลว่ามันเป็นไปไม่ได้ เพราะที่บอกว่าสังคมไทยมาไกลก็คือถ้าเราลองย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราพูดหลายเรื่องไม่ได้ เช่น พูดเรื่องสถาบันไม่ได้ แต่ตอนนี้เด็กคุยกันตอนกินข้าว มันก็มาไกลมากๆ”

ทิ้งท้าย
“ส่วนตัวเราเองเป็นคนที่ชอบคิดคำหรือทำความเข้าใจโลกแล้วอธิบายออกมาให้คนเข้าใจง่าย เพื่อจูงใจคน เราก็คิดขึ้นมาประโยคหนึ่งเลยอยากจะบอกว่า ‘เราตาสว่างจากเรื่องชนชั้นนำทางการเมืองแล้ว เราก็ต้องตาสว่างจากชนชั้นนำหรือเจ้านายในบริษัทด้วย’ การออกมาไล่ประยุทธ์ ออกมาวิจารณ์สถาบันมันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มากเลยนะ แต่พอเข้าไปที่ทำงาน เขาบอกให้ทำงานเสาร์อาทิตย์ไม่จ่าย OT แล้วเราก็ยอม มันจะมีความหมายอะไรที่เราไปเลือกตั้งทุกสี่ปี แต่ต้องกลับเข้าไปทำงานในบริษัทที่มันเป็นเผด็จการ”

 

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย Sirinya S.

ขอขอบคุณภาพจากสหภาพคนทำงาน