Skip to main content

ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ หรือ ยา ช่างภาพสำนักข่าว SPACEBAR ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นหลังถ่ายภาพเหตุการณ์กิจกรรมพ่นสีเสปรย์สัญลักษณ์ลัทธิอนาธิปไตย และตัวเลข 112 พร้อมเครื่องหมายขีดฆ่าบนกำแพงวัดพระแก้วเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 ในข้อหาสนับสนุนทำให้โบราณสถานเสียหายตาม พรบ. โบราณสถาน และ พรบ. รักษาความสะอาด ซึ่งเขาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 พร้อมกับ ‘เป้ ณัฐพล เมฆโสภณ’ ผู้สื่อข่าวประชาไทผู้ไปทำข่าวในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย โดยมีข้อสังเกตและข้อสงสัยว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่ออกหมายเรียกก่อนทำการจับกุม และหากเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนเหตุใดจึงปล่อยให้ล่วงเลยเวลามานานเป็นปีจึงค่อยจับกุม รวมไปถึงข้อสังเกตที่เกี่ยวกับข้อหาความผิดในกรณีลงพื้นที่ไปถ่ายภาพในฐานะสื่อ

จุดเปลี่ยนของชีวิตในที่ทำงานหลังถูกดำเนินคดี

หลังจาก ยา ณัฐพล ถูกจับกุมเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567 และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างต่อสู้คดี ไม่นานบริษัทเดอะ สเปซบาร์ จำกัดก็ออกแถลงการณ์สั่งให้เขาหยุดพักงานชั่วคราวเป็นเวลาห้าวัน ระหว่างวันที่ 14 - 18 กุมภาพันธ์ เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงโดยเนื้อหาของแถลงการณ์ระบุถึงจุดยืนของบริษัทว่าต้องการเป็นกลางทางการเมืองและอย่านำสื่อไปรับใช้จุดยืนทางการเมืองส่วนตัว จากนั้น ยาได้ถูกสั่งย้ายไปทำข่าวจากเนื้อหาในหมวดการเมืองไปอยู่หมวดไลฟ์ไตล์ (Lifestyle) แทน

“ ก่อนหน้าที่จะมาทำกับเดอะสเปซบาร์ ก็เป็นช่วงที่มีกระแสม็อบแรง ผมเลยตามแต่ม็อบตั้งแต่ปี 63 ครับ ช่วงนั้นเราเป็นฟรีแลนซ์ก็ลงไปถ่ายภาพข่าว เขียนข่าวเองบ้างแล้วก็ส่งตามสำนักข่าวต่างๆ ผมเริ่มก้าวเข้ามาทำงานประจำที่สเปซบาร์ตั้งแต่ช่วงปลายปี 64 ตำแหน่งช่างภาพข่าว ส่วนใหญ่ออฟฟิศ (สเปซบาร์) ก็จะเน้นทำข่าวการเมือง เช่น ตามนายก คณะรัฐมนตรี การเมืองในสภา ทำเนียบ อะไรแบบนี้ ส่วนม็อบก็จะเป็นรองลงมา เพราะว่าตอนนั้นม็อบก็เริ่มซาลงแล้ว”


 

“ตอนที่ผมโดนจับกุมตัว ฝากขังที่ สน. ทุ่งสองห้อง ก็ไม่ได้เล่นโทรศัพท์เลย ผมไม่รู้แล้วว่าโลกภายนอกเป็นยังไง จนวันต่อมาไปศาล กว่าจะได้ดูโทรศัพท์คือเย็นของอีกวันนึงแล้ว พอออกมาปุ๊บ ปรากฏว่ามีการสร้างชุดข้อมูลที่ออกมาว่าผมว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด มีแผนผัง มีสลิปการโอนเงิน และเอกสารอีกจำนวน 112 หน้า ที่สำนักข่าวใหญ่ๆเอาไปลงเล่นกัน เพราะมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นหลักฐานที่เขาสร้างขึ้นมา จนตอนนี้ทุกคนก็เชื่อไปแล้วว่าผมสมรู้ร่วมคิด ทีนี้พอผ่านมาอาทิตย์นึง ทางสภาเรียกประชุมกมธ.(คณะกรรมาธิการสามัญ) เรียกเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ผมก็ไปถามเขาว่าเอกสารพวกนี้มาได้ยังไงทั้งๆมันที่ไม่ใช่เรื่องจริงเลย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ให้การปฏิเสธว่าเอกสารพวกนี้ไม่ได้มาจากเจ้าหน้าที่แต่สุดท้ายเสียงปฏิเสธของเขามันก็ดังไม่เท่ากับข้อกล่าวหาผมที่ถูกเผยแพร่ไปแล้ว ”

“ถ้าพูดถึงเรื่องของคดี คนที่ช่วยผมเรื่องคดีมากที่สุดคือ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ได้มาจากประชาไท ทั้งที่ประชาไทไม่ได้เกี่ยวกับผมเลย เขาช่วยพี่เป้ ประชาไทก่อนเสร็จแล้วคิวผม คนของประชาไทยังอยู่ช่วยผมต่ออยู่เลย แล้วเงินค่าประกันผมก็ได้รับความช่วยเหลือจากเงินทุนราษฏร นายประกันก็ได้มาจากคนของประชาไท”

ม็อบดินแดง ประสบการณ์เสี่ยงชีวิตของสื่ออิสระ กับการนำเสนอข่าวที่รัฐไม่ต้องการ

“ผมมองว่าการมีอยู่ของสื่ออิสระมีความสำคัญต่อสังคมในฐานะพยานในเหตุการณ์อะไรก็ตามที่รัฐไม่ต้องการให้เราเห็น  ยกตัวอย่าง เหตุการณ์ที่ผมรู้สึกว่าเป็นประสบการณ์เสี่ยงตายที่สุดในชีวิตการทำงานของผมเลยก็คือ ม็อบดินแดง เมื่อ สิงหา 64 ช่วงนั้นสถานการณ์การเมืองมีม็อบเยาวชนที่ออกมาประท้วงต่อต้านการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลประยุทธและนโยบายการควบคุมโรคระบาดโควิด ทีนี้ ช่วงที่มีม็อบตอนนั้นรัฐบาลก็ประกาศใช้ พ.ร.ก ฉุกเฉิน และประกาศเคอร์ฟิวตอนสามทุ่ม ”  

“พอประกาศเคอร์ฟิว ทุกคนอยู่บ้าน ทุกคนจะไม่รู้เลยว่าอะไรเกิดขึ้น เพราะว่ามันไม่มีใครอยู่หน้างาน สื่อหลักกลับบ้านกันหมด ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะว่าสื่อหลักเขาอาจจะไม่สะดวก เช่น มีงานอื่นต่อวันพรุ่งนี้ หรือออฟฟิศเขาอาจจะสั่งไม่ให้ไปก็ได้ ทีนี้ผมมองว่าสื่ออิสระมีส่วนสำคัญเข้ามาช่วยเติมเต็มข้อจำกัดบางอย่างของสื่อหลัก”

“จำได้ว่าผมอยู่แถวดินแดงตอนตีสอง ตีสามทุกวันกับสื่ออิสระอีกสี่คนที่อยู่ตรงนั้น มีไลฟ์สดสองคน ภาพนิ่งสองคน ลงโซเชี่ยล ซึ่งเป็นภาพเหตุการณ์ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐที่เขาไม่ต้องการให้มีคนเห็น เช่น ภาพการยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมในระดับศีรษะ การใช้แก๊สน้ำตา การไล่กระทืบเด็ก ลองคิดสภาพว่าถ้าไม่มีใครอยู่ตรงนั้น ทุกคนก็จะไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เจ้าหน้าที่พร้อมจะใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบเพราะเขามั่นใจว่าเรื่องมันไม่หลุดออกไปแน่นอน ต่อให้เด็กที่อยู่ดินแดงมาพูดก็คงไม่สามารถส่งเสียงอะไรได้ เพราะไม่มีหลักฐาน แต่การมีสื่ออิสระที่อยู่ตรงนั้น มันทำให้มีภาพหลักฐานเหล่านี้ออกมา ก็จะทำให้รัฐไม่สามารถใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการปิดปากได้ ”

“ข่าวม็อบที่ดินแดง ช่วงนั้นตำรวจมาสลายม็อบทุกวัน และตำรวจเขาก็ไม่ทรีทว่าเราเป็นสื่ออยู่แล้ว ผมต้องเอาตัวรอดจากตำรวจที่ใช้ความรุนแรงทุกอย่าง คือมันอันตรายมาก ตำรวจไม่ใช้ปฏิบัติการที่ละมุนละม่อมเลยโดยเฉพาะหลังประกาศเคอร์ฟิว ผมอยู่ซอยข้างแฟลต เรารู้ว่าตำรวจมาแน่ๆแต่ไม่รู้กี่โมง สักประมาณตีหนึ่ง ซอยที่ผมอยู่จะมีอุโมงค์ข้ามแยกดินแดงที่อยู่ข้างหน้าพอดี จู่ๆ ตำรวจโผล่หัวมาจากอุโมงค์ระดมยิงกระสุนยาง และแก๊สน้ำตาเข้ามาในซอย ทุกคนแถวนั้นตกใจทำไรไม่ถูก ตอนนั้นวุ่นวายมาก ตรงนั้นใกล้สุดมีบันได ผมก็รีบวิ่งหนี เด็กก็วิ่งหนีขึ้นไปบนอาคารแฟลตดินแดงถึงชั้นหกชั้นบนสุดเพื่อไปแอบ ตอนนั้นเราก็คิดเลยว่าเราจะโดนจับไม่ได้ เพราะว่าเราจะโดนดำเนินคดีแน่ๆ อีกอย่างคือ มันมีการกระทืบก่อนจับด้วย”

“ระหว่างที่แอบอยู่บนชั้นหกกับเด็กอีก 40 กว่าคน ตำรวจก็บีบกำลังเข้ามาล้อมพื้นที่ เด็กก็คือไปแอบกันหมด ส่วนตำรวจก็ยิงทั้งกระสุน ทั้งลูกแก้วขึ้นมาชั้นหก เอาไฟส่องแล้วก็พูดขู่ว่า มึงลงมาเดี๋ยวนี้ มึงไม่ลงมาพวกกูจะขึ้นไปลากมึงลงมา แล้วผมก็โดนลูกแก้วยิงขึ้นมาโดนหน้าจอโทรศัพท์แตก ระหว่างนั้นตำรวจก็ขึ้นมาบนแฟลตทีละชั้นเพื่อจะจับเด็ก เราก็ได้ยินเสียงทุบประตูให้เปิดออกมาทีละห้อง ห้องคนที่เช่าอยู่ไม่เกี่ยวกับเด็กก็โดนทุบประตูบอกว่าให้เปิดประตูเดี๋ยวนี้ นี่เจ้าหน้าที่ตำรวจ จนไล่มาถึงชั้นสอง ชั้นสาม ผมกับเด็กอีกสี่สิบคนที่อยู่ชั้นหกเรียกได้ว่าจนตรอก คิดว่าจะโดนจับไม่ได้ ทีนี้เด็กมันก็คุยกันว่าจะสู้ เด็กไม่ยอม ทั้งที่ตรงนั้นก็ไม่มีอาวุธอะไรเลย แต่โชคดีที่ตำรวจขึ้นมาถึงแค่ชั้นสี่แล้วถอยกำลังไป ”

“จำได้ว่าวันนั้นมีข่าวเด็กร่วงตกลงมาจากแฟลตดินแดงประมาณชั้นสองหรือสามเนี่ยแหล่ะตรงหลังคากระเบื้อง เพราะพยายามหนีตำรวจที่ไล่จับเด็กทีละชั้น เด็กคนนั้นก็ต้องเย็บแผลหลายเข็ม จริงๆดีเทลมันเยอะมาก  ช่วงเคอร์ฟิวนี่มันเหมือนดินแดนไร้กฏหมายเลย ”

“ดังนั้น ผมมองว่าสื่ออิสระก็มีความสำคัญในแง่ของการนำเสนอสิ่งที่รัฐไม่ต้องการนำเสนอออกมา จริงๆ มองโดยไม่แยกสื่ออิสระกับสื่อหลักนะ ผมมองว่ามันสำคัญมากควรจะมีสื่อทั้งสองที่ ไม่ว่าจะเป็นภาพข่าวหรือการเขียนข่าวก็ดีมันก็เป็นการทำหน้าที่เป็นประจักษ์พยาน เป็นหลักฐานของเหตุการณ์ตรงนั้นอะครับ อย่างเกิดเรื่องคืนนี้ เช้ามา ผบ.ตร. แถลงเหตุการณ์ เขาก็จะแถลงสิ่งที่เขาถูกโดยบอกว่าดำเนินการใช้กระสุนยางตามหลักสากลวิธี ก็คือยิงลงพื้น แต่ผมก็มีภาพถ่ายที่ยืนยันว่าจริง ๆ แล้ว ตำรวจเขายิงในระดับสายตาซึ่งเป็นหลักฐานที่ค้านกับสิ่งที่เขาพูด”

“หลังจบม็อบดินแดง ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์เด็กที่โดนจับ วันที่เกิดเหตุมันมีตำรวจคนนึงโดนยิงที่ศีรษะ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนยิง แล้วตำรวจก็โมโหมากจับเด็กได้ประมาณสิบกว่าคนและสื่ออิสระไปด้วยคนนึง เด็กเล่าให้ฟังว่าตำรวจให้ขึ้นรถห้องขังไปถึงตรงสโมสรตำรวจแถวแยกวิภาวดี แล้วมันมีซอยข้ามแยกวิภาวดีที่จะมีทางข้ามไปตรงสนามเป้า คือตำรวจขับขึ้นสะพานข้ามแยกตรงนั้นแล้วไปจอดบนสะพานซึ่งมีที่กั้นไม่ให้เสียงดังไปบริเวณรอบข้าง แล้วเอาเด็กทุกคนลงมาจากรถ นอนลงบนถนน แล้วกระทืบ ผมสัมภาษณ์เด็กแยกทีละคน ทุกคนเล่าตรงกันหมดว่าโดนกระทืบ เหมือนตำรวจคุมอารมณ์ไม่ได้ เพราะโมโหจากการที่มีตำรวจโดนยิง แล้วหลังจากจบม็อบ ตำรวจยังตามไปเฝ้า ข่มขู่คนที่บ้านด้วย”

“ยังไงก็ตาม เราในฐานะผู้สื่อข่าวก็เล่าเรื่องทั้งสองฝั่งนะ ฝั่งผู้ชุมนุมเองเวลาทำอะไรเราก็รายงานออกมาเหมือนกัน อย่างผู้ชุมนุมจุดไฟเผาบนถนนก็รายงาน เราไม่เลือกว่าฝั่งผู้ชุมนุมจะทำอะไรแล้วเราไม่ถ่าย บางทีฝั่งผู้ชุมนุมปาอะไรใส่เจ้าหน้าที่เราก็รายงานออกมาเหมือนกัน ช่วงนั้นผมทำฟรีแลนซ์ เผยแพร่ข่าวบนเฟซบุ๊กส่วนตัวและสำนักข่าวต่างประเทศ BenarNews ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ไทย”

สื่อหลัก VS สื่ออิสระ: การยอมรับที่ไม่เท่าเทียม

“จากประสบการณ์ที่ม็อบดินแดง จะเห็นว่าถ้าลองเทียบ สังคมให้ค่ากับสื่ออิสระว่าค่อนข้างมีชนชั้นต่ำกว่าสื่อหลัก ในแง่ของการยอมรับจากตำรวจและสังคม ทำให้ความเสี่ยงในฐานะสื่ออิสระ มันเยอะกว่าอยู่แล้วทั้งต่อชีวิตและอุปกรณ์ทำงานของเรา ตำรวจไม่สนใจอยู่แล้ว อย่างกรณีที่มีน้องผู้หญิงไปถ่ายภาพม็อบที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดนตำรวจเอากระบองตีเลนส์กล้องแตก สุดท้ายหาใครรับผิดชอบไม่ได้ เราก็ต้องดูแลตัวเอง เว้นแต่ว่าถ้าทำข่าวหรือเป็นพนักงานประจำ บริษัทก็อาจจะช่วยซัพพอร์ตบ้าง แต่ถ้าเป็นสื่ออิสระ ฟรีแลนซ์นี่ต้องจ่ายค่าเสียหายเอง”

“ยกตัวอย่าง อีกเหตุการณ์ที่ผมเป็นคนถ่ายภาพได้ คือ ม็อบสนามหลวง 13 กุมภา 64 ที่ตำรวจเฝ้าสลายการชุมนุมและมีการกระทืบแพทย์อาสา ซึ่งคนแชร์ภาพไปเยอะมาก แต่ตำรวจแถลงข่าวว่าไม่ได้กระทืบแพทย์อาสา เขาพูดว่ากำลังไปช่วยแพทย์ที่ล้มให้ลุกขึ้นมา ทั้งๆที่มีรูปยืนยันอะ ทีนี้สังคมก็ด่าๆ แต่ตำรวจก็ไม่ยอมรับ ออกมาแก้เกมด้วยการบอกว่าไม่เห็นปลอกแขนของทีมแพทย์ที่ชัดเจน ทั้งที่ในรูปเราก็เห็น เขาก็ยังแถไปเรื่อยๆ ตอนที่ผมถ่ายวันนั้นตำรวจก็พยายามบัง ไม่ให้เราถ่าย อันนี้เป็นนิสัยตำรวจเลยถ้าเห็นเราถ่ายภาพอะไรที่เขารู้สึกว่าเขาจะดูไม่ดี เขาจะไม่ยอมให้ถ่าย ก็จะกั้นเราออกไป”

“นอกจากนี้ ครั้งนึง ตอนที่มีม็อบทะลุฟ้าเดินขบวนไป สตช. (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) เมื่อ 17 สิงหา  64 แล้วตำรวจใช้รถฉีดน้ำ จนม็อบต้องถอยกลับมาที่แยกราชประสงค์แล้วตำรวจก็ตามมาสลายการชุมนุม ผมน่าจะเป็นคนแรกที่ตำรวจพยายามเข้ามาจับกุมตอนที่ไปถ่ายรูปข่าวที่นั่นโดยใช้ข้อหาว่าผมไม่ได้เป็นสื่อ ไม่มีสิทธิเข้ามาถ่ายรูปตรงนี้ ก็โต้เถียงกัน ตำรวจก็ถามผมว่า คุณเป็นสื่อหรอ ผมตอบว่าใช่ ผมเป็นสื่ออิสระ ตำรวจถามต่อว่าสื่ออิสระคืออะไร คุณมีบัตรสื่อมั้ย ? คุณมีบัตรกรมประชาสัมพันธ์มั้ย ?  เพราะเขามักจะคิดว่าสื่อที่แท้จริงต้องมีบัตรกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งออกโดยหน่วยงานรัฐ แต่เอาจริงๆ บัตรนี้มันใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย ถ้าจะไปทำข่าวที่ทำเนียบอะ คุณโชว์บัตรกรมประชาสัมพันธ์ ทำเนียบยังไม่รับเลย เขาบอกไม่รู้จัก บัตรอะไร ใช้บัตรประชาชนดีกว่า ซึ่งเจ้าหน้าที่รู้ว่าบัตรนี้มันใช้ทำอะไรไม่ได้ และไม่มีคนทำ ตำรวจก็เลยพยายามจะเล่นข้อหานี้ ”

มาตรการคุ้มครองสื่ออิสระและความคาดหวังต่อท่าทีของสมาคมสื่อ

“บัตรรับรองการแสดงตัวว่าเป็นสื่อมันควรจะเป็นหน้าที่ออกโดยสมาคมสื่อมากกว่าหน่วยงานรัฐ ผมคิดว่าสถานะ หรือตำแหน่งของสื่อไม่ควรจะยึดโยงกับหน่วยงานใดๆของรัฐเลย เพื่อไม่ให้ถูกควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ และป้องกันการแอบอ้างด้วย  
อีกประเด็นคือ ควรจะมีมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยของคนทำงานสื่ออิสระ หากมีเหตุการณ์อะไร หรือมีเหตุขัดขวางการทำงานของสื่อก็ควรจะได้รับการปกป้องโดยสมาคมสื่อที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐ  สมาคมสื่อควรจะมีอำนาจในการสู้แทนเรา หรือเป็นกันชนให้เราเพื่อให้เราสามารถทำงานได้สะดวก  ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นไปได้มันก็ต้องเริ่มจากการยอมรับสื่ออิสระก่อนว่าเขาก็เป็นสื่อเหมือนกัน เมื่อเกิดการยอมรับ สื่ออิสระก็จะได้รับการปฏิบัติอย่างเคารพเท่าเทียมกับสื่อหลัก ”

“แต่ทุกวันนี้ สมาคมสื่อไม่ได้ทำหน้าที่นั้นเลย ตั้งแต่เกิดเรื่องกรณีผม ผ่านไปเกือบสามวันสมาคมสื่อออกแถลงการณ์ซึ่งมีเนื้อหาที่เข้าข้างรัฐ และก็ไม่ได้ยืนยันหลักการทำงานของสื่อ ท่าทีของสมาคมสื่อทุกวันนี้จะเป็นแนวแบบคนแก่ที่ไม่อัพเดตแล้วอะฮะ ไม่ตามโลกแล้ว จะเป็นแนวสั่งสอนอย่างเดียวว่าสื่อที่ดีควรเป็นยังไง เพราะว่ากรณีของผมเรื่องถ่ายรูปคนพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว เขาก็จะมีทัศนคติที่หนีไม่พ้นเรื่องสถาบัน ซึ่งผมว่าไม่ผิดนะที่สมาคมสื่อจะแสดงออกท่าทีที่ปกป้องสถาบันฯ  มันเป็นสิทธิ์ของคุณ แต่การเอาทัศนคติที่ยึดโยงกับสถาบันฯมาตัดสินผมไปแล้วว่าผมผิดอะ ผมรู้สึกไม่โอเค”

เสรีภาพสื่อที่ถดถอย กับการควบคุมสื่อโดยรัฐ

“ต่อให้ผมรับรู้หรือไม่รู้มาก่อนว่าจะเกิดเหตุการณ์พ่นสีกำแพงวัดพระแก้วก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเราไปทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการรายงานสถานการณ์ เราไม่ได้มีสิทธิไปสนับสนุน ชี้แนะ หรือห้ามให้เขาทำ เรามีหน้าที่แค่บันทึกเหตุการณ์เท่านั้น ถ้าจะจับ คุณก็ไปจับคนพ่นสีสิ เขาเป็นคนทำ และจริงๆทำไมตำรวจไม่ดูแล ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ตรงนั้นล่ะ ทั้งที่ตรงนั้นตำรวจก็เยอะ แต่สมาคมสื่อก็ไม่เคยแสดงท่าทีปกป้องสิทธิ์ของคนทำงานสื่อเลย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทุกวันนี้สมาคมสื่อมีไว้ทำไม"

จากช่างภาพสื่ออิสระสู่จำเลยคดีการเมือง

“ทีนี้ คดีที่ผมโดนตอน 12 กุมภา มันเกิดขึ้นช่วงหลังจากที่มีข่าวเป็นชุดข้อมูลกล่าวหาว่าตะวันไปบีบแตรไล่ขบวนเสด็จ ทั้งที่รถของตะวันอยู่ห่างจากรถขบวนเสด็จหลายร้อยเมตร เช้าวันต่อมา ผบ.ตร. แถลงว่าจะจัดการกับกลุ่มของตะวันอย่างเด็ดขาด ซึ่งประเด็นที่ผมถูกดำเนินคดี มันคือการขู่ให้คนอื่นกลัว เนื่องจากว่าก่อนหน้านี้ผมเคยทำข่าวเกี่ยวกับตะวันกับแบมมาก่อน ซึ่งรัฐไม่ต้องการให้ทำข่าวเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของเด็กและประเด็นสถาบันฯ  

“ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างเจ้าหน้าที่รวบรวมเอกสารหลักฐานส่งอัยการพิจารณาก่อน  อัยการจึงจะส่งศาล แล้วถ้าผิดจริงๆ ควรจะมีหมายเรียกก่อนถูกมั้ยครับ แต่ว่าขั้นตอนที่ผ่านมาตำรวจข้ามขั้นตอนด้วยการออกหมายจับผมเลย ผมก็งงเหมือนกัน ซึ่งผมก็คิดว่ามันคือการขู่ในช่วงสถานการณ์ที่มาข่าวเรื่องตะวันพอดี ผมก็เลยถูกเล่นงานไปด้วย”

“ปีนี้ ผมอายุ 34 ปี ถ้าถามว่าผมเข้ามาเป็นช่างภาพสื่ออิสระในสายการเมืองได้ยังไง พื้นเพผมเรียนจบศิลปะการถ่ายภาพ โรงเรียนเพาะช่าง แถวที่ใกล้กับโรงเรียนสวนกุหลาบ มันเริ่มจากผมทำภาพถ่ายแนวสารคดีก่อน ก็คือเล่าเรื่องผ่านรูปสิบรูป ทีนี้ประเด็นการทำสารคดีอะครับมันก็จะไม่พ้นประเด็นคนชายขอบ เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องคนตัวเล็ก อะไรเงี้ย พอมาทางนั้น ผมก็เริ่มซึมซับแหล่ะจนเริ่มเข้ามาสนใจเรื่องการเมือง เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่ยึดโยงต่อกันมา ผมก็ติดตามต่อเนื่องจนวันนึงมีม็อบเกิดขึ้น ก็เลยไปทำข่าวม็อบ ก็ไม่คิดว่าจะกลายมาเป็นคนถูกดำเนินคดีด้วยเพราะการทำข่าว”

สื่อเลือกข้างได้ แค่ต้องไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง

“มุมมองที่ว่าปัจจุบันนี้ แค่มีโทรศัพท์ ใครๆ ก็สามารถเป็นสื่ออิสระได้ สำหรับผมเห็นด้วยนะ ประเด็นที่สำคัญคือคุณต้องไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง  และทำตามบรรทัดฐานของวิชาชีพสื่อ ส่วนหน้าที่ในการคัดกรองข่าวและประเมิณเกณฑ์บรรทัดฐานของสื่อควรจะเป็นหน้าที่ของสมาคมสื่อ”

“ตัวอย่างสื่ออังกฤษบางสำนักที่มีจุดยืนทางการเมืองไม่สนับสนุนราชวงศ์ เขาก็รายงานข่าวแบบไม่ใส่ร้ายราชวงศ์นะ ถามว่าสื่อต้องมีความเป็นกลางร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม ไม่จำเป็น แต่หลักการของสื่อมวลชนที่ดีคือ ต้องคำนึงถึงการรายงานข่าวโดยไม่เอาธงนั้นมาใส่อยู่ในงานของคุณ และต้องนำเสนอข้อเท็จจริงที่ไม่บิดเบือน”

“จะบอกว่าบางทีคนเลือกดูสื่ออิสระมากกว่าสื่อหลักด้วยซ้ำ เพราะคนดูรู้ว่าบางข่าวสื่อหลักนำเสนอไม่ได้เท่าสื่ออิสระ เช่น ช่วงม็อบ คนดูไลฟ์สดของสำนักข่าวราษฏรเคยสูงสุดถึงแสนคน เพราะทุกคนรู้ว่าพอมีเหตุการณ์นี้จะตามดูได้ที่ไหน และก็รู้ว่าสื่อหลักอาจทำไม่ได้ ”

“ดังนั้น สิ่งที่ผมว่ามันจะดีมากเลย ถ้าทุกสื่อยึดจุดเดียวกันคือต้องนำเสนอความจริง ไม่บิดเบือนอะครับ มันจะดีมาก เข้าใจว่าทุกสำนักข่าวมันมีธงอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่บิดเบือน มันก็จะไม่มีการพยายามเสี้ยมให้คนตีกันเอง และสุดท้ายคนดูจะเป็นคนเลือกเองว่าเขาจะตาม หรือเสพข่าวจากสำนักข่าวไหน”

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์

ขอขอบคุณภาพจาก ยา ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์