Skip to main content

ในช่วงที่กระแสทางการเมืองยังสูงเช่นในปี 2564 เวลาที่มีนัดพิจารณาคดีที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมืองทั้งข้อหาตามมาตรา 112 และข้อหาอื่นๆ มักมีประชาชนที่เคยไปร่วมชุมนุมหรือทำกิจกรรมอยู่เป็นระยะ  ซึ่งเดินทางไปที่ศาลเพื่อให้กำลังใจคนที่ถูกดำเนินคดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไปและความร้อนแรงของสถานการณ์ทางการเมืองไม่เข้มข้นเหมือนเดิม จำนวนคนที่เดินทางไปให้กำลังใจที่ศาลก็ลดลง ในขณะที่นักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดียังคงต้องขึ้นศาลต่อไป สาครหญิงวัยย่าง 60 ปี ที่ถูกนักกิจกรรมบางคนเรียกขานว่า 'แม่สาคร' คือหนึ่งในคนที่ยังคงเดินทางไปที่ศาลอย่างต่อเนื่องยามที่มีนักกิจกรรมเดินทางเข้ารับการพิจารณาคดี แม้ในวันที่เหลือคนมาให้กำลังใจไม่มากนัก นอกจากนั้นทุกครั้งที่มีการนัดหมายแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวหรือเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง สาครคือหนึ่งในคนที่มักเข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่ได้ขาด  


นอกจากการไปให้กำลังใจคนถูกดำเนินคดีทางการเมืองในศาลแล้ว สาครยังแสดงออกถึงการให้กำลังใจนักโทษการเมืองด้วยการทำเสื้อยืดพิมพ์ลายเป็นรูปหน้าของนักโทษการเมืองคนต่างๆ ทั้งนักเคลื่อนไหวรุ่นปี 63 อย่างเบนจา กับนุ๊ก ชูเกียรติ หรือที่คนมักรู้จักเขาในชื่อ Justin Thailand ต่อมาเมื่อนักเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างทานตะวัน ใบปอ บุ้งทะลุวัง และเก็ท โสภณถูกคุมขัง  สาครก็ทำเสื้อรูปพวกเขาออกมาด้วยเช่นกัน ตัวของสาครไม่ได้มีความรู้เรื่องกราฟฟิกคอมพิวเตอร์ เสื้อของเธอจึงเป็นการออกแบบง่ายๆ ด้วยการนำภาพถ่ายไปให้ร้านพิมพ์ลงไปบนเสื้อเลย ทว่าสำหรับสาครเท่านั้นก็เพียงพอแล้วที่จะส่งสาส์นให้คนที่ถูกดำเนินคดีและถูกคุมขัง ได้รู้ว่าพวกเขาไม่ได้ต่อสู้อย่างเดียวดาย


จากปากน้ำโพ ถึงปากน้ำสมุทรปราการ


"ป้าเป็นคนนครสวรรค์ เกิดเมื่อปี 2507 ถึงพฤษภานี้ (2567) ก็จะได้เบี้ยคนชรากับเขาแล้ว ครอบครัวของป้าไม่ได้มีฐานะอะไร พ่อกับแม่ก็เป็นชาวนา สมัยเด็กๆได้แต่เรียนโรงเรียนวัดจนจบป.4 ที่ว่าโรงเรียนนี่จริงๆต้องเรียกว่าเรียนในศาลาวัด เพราะสมัยนั้นที่วัดก็ยังไม่ได้สร้างอาคารเรียน ได้แต่แผ่นไม้มาตีเป็นผนังชั่วคราวเอา"


"พอป้าเรียนจบป.4 ก็ต้องเริ่มทำมาหากินแล้ว ความรู้ป้าไม่เยอะก็เลยได้แต่วนเวียนทำงานที่ใช้แรงเยอะแต่ได้ค่าตอบแทนน้อย เริ่มแรกก็ไปทำงานโรงงานแห่งหนึ่งในอำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร สมัยนั้นได้ค่าจ้างเดือนละ 500 บาท แต่นายจ้างมีที่พักให้ ทีนี้มีป้าที่รู้จักจะเข้ามาทำงานที่กรุงเทพเขาก็ชวนป้า ป้าก็เลยเอาด้วย แล้วก็เข้ามาใช้ชีวิตที่กรุงเทพยาวเลย"


"จริงๆป้าก็วนเวียนทำงานโรงงานหลายอย่างเลยนะ สมัยนึงก็เคยไปทำงานเป็นช่างแต่งพระพุทธรูป คือโรงงานเขาเป็นโรงหล่อพระแล้วหน้าร้านก็วางขายพระ ป้าก็จะเป็นคนติดตาให้กับพระพุทธรูป งานที่นี่ทำอยู่หลายปีเลย ได้ค่าจ้างเดือนละ 600 บาท พอออกจากโรงงานพระ ก็ตระเวนทำโรงงานเย็บเสื้อผ้า ไปหลายทีเลยแถวรังสิตก็เคยทำ จนตอนหลังถึงมาอยู่ที่สมุทรปราการ ป้าทำงานโรงงานมาเรื่อยกระทั่งตอนโควิดก็มาถูกจ้างออก"


"ป้าเงินเดือนไม่เยอะ ตอนจ้างออกเขาก็จ่ายเงินชดเชยให้ประมาณแสนนึง มันก็ไม่ได้เยอะอะไร ตอนถูกจ้างออกนี่ทั้งเครียด ทั้งเสียใจ แต่ก็ต้องใช้ชีวิตให้ได้ เพราะจมปลักไปก็ไม่ได้อะไร สุดท้ายเงินแสนที่ได้มาป้าก็เอาส่วนหนึ่งมาลงทุนซื้อเสื้อผ้าแฟชันมาขาย แต่ก็ไม่ได้กำไรเท่าไหร่ เสร็จแล้วป้าก็อาศัยทักษะการเย็บผ้าที่เรียนรู้ระหว่างทำงานโรงงานมาเปิดร้านซ่อมเสื้อผ้าเล็กๆของตัวเอง แล้วก็อาศัยทำตรงนี้เลี้ยงตัวเองกับหลานสองคนที่อยู่ด้วยเรื่อยมา"


"ชีวิตป้านี่เป็นพวกเลี้ยงเดี่ยวมาตลอด ตอนมีลูกสามีเสียก็เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ตอนนี้มีหลาน ลูกชายก็เอาหลานมาทิ้งไว้ให้เลี้ยงสองคน ยังดีที่ตอนหลังเค้าก็เอาเงินมาให้ลูกบ้าง แต่ก็ให้กับลูกโดยตรง ไม่ได้ให้ผ่านป้า ป้าก็ไม่ได้ว่าอะไร หลานสองคนยังไงป้าก็ต้องเลี้ยงดูส่งเสียให้ได้"


บนท้องถนนกับคนเสื้อแดง


"ป้ามาเริ่มสนใจการเมืองเพราะสมัยทำงานโรงงาน โรงงานเคยปิดงานบ่อยครั้ง เลยได้ไปรู้จักกลุ่มสหภาพแรงงาน รู้จักคุณเซีย (เซีย จำปาทอง) ที่ตอนนี้เป็นส.ส.ก้าวไกล ตอนแรกป้าก็เคลื่อนไหวเรื่องการจ้างงานของตัวเองกระทั่งตอนหลังถึงได้เริ่มออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการเมืองกับกลุ่มคนเสื้อแดง"  


"ป้าไปชุมนุมกับคนเสื้อแดงหลายครั้งเลย ครั้งที่เฉียดตายที่สุดน่าจะเป็นวันที่ 10 เมษา ปี 53 วันนั้นป้าไปอยู่ที่คอกวัวด้วย ความรู้สึกตอนนั้นมันบอกไม่ถูก หลายอย่าง พูดแล้วก็จะร้องไห้ มันจุกข้างใน รู้สึกเสียใจ รู้สึกอกหัก อกหักกับประเทศนี้ว่าทำไมเจ้าหน้าที่รัฐถึงทำกับประชาชนมือเปล่าๆได้ขนาดนั้น"


"วันนั้นทั้งกระสุน ทั้งแก๊สน้ำตา ถูกเอามาใช้กับประชาชนมือเปล่า ตัวป้าจำได้ว่าแสบหูแสบตาไปหมดวันนั้น แต่ยังไม่แย่เท่าคนรู้จักป้า ที่สูดแก๊สน้ำตาไปเต็มๆจนสุดท้ายเค้ากลายเป็นโรคไต ถึงวันนี้ไม่รู้เป็นตายร้ายดียังไงเพราะเค้าเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์เลยติดต่อไม่ได้แล้ว"


"อีกเรื่องที่ป้ายังจำไม่ลืมคือได้เห็นคนที่ถูกยิงล้มลงกับตาแล้วก็เห็นคนที่ตายถูกอุ้มออกไปจากจุดที่ถูกยิง ตอนนั้นมันรู้สึกทั้งโกรธทั้งเสียใจปนกันไปหมด"


"หลัง 10 เมษาป้าก็ยังกลับไปชุมนุม ตอนช่วงเดือนพฤษภาที่ราชประสงค์ป้าก็ไปกับเขาด้วย ไปเป็นมวลชนคนหนึ่ง สมัยนั้นป้ายังทำงานก็เลยไปเป็นผู้ชุมนุม 'กะกลางคืน' ตอนกลางวันเราก็ไปทำงาน กลางคืนก็มาม็อบ เช้าตีสี่ตีห้าก็อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าไปโรงงานต่อ"


"พอถึงช่วงใกล้ๆที่เค้าจะสลายการชุมนุมป้าก็เข้าไปที่ชุมนุมไม่ได้แล้ว เพราะทหารที่ล้อมอยู่ข้างนอกไม่ให้เข้าไป ป้ายังถูกยิงกระสุนยางใส่ทีขานัดหนึ่ง แต่ไม่เป็นไรมากแค่เจ็บขานิดหน่อยแต่ยังวิ่งได้อยู่"


"ตอนที่แกนนำประกาศสลายการชุมนุม มุมหนึ่งป้าก็ดีใจที่แกนนำพยายามหาทางรักษาชีวิตคน แต่อีกมุมหนึ่งก็เสียใจว่าทำไมรัฐมันถึงทำกับประชาชนแบบเดิมๆซ้ำแล้วซ้ำอีก ยิ่งตอนหลังมาเห็นเค้าทำความสะอาด Big Cleaning Day อะไรนั่นยิ่งรับไม่ได้เลย คุณทำได้ไง นั่นมันเลือดประชาชนนะ"


"ช่วงหลังจากนั้น ป้าก็ไม่ได้เอาเสื้อแดงมาใส่แล้วเพราะมันเดินไปไหนมาไหนยาก ช่วงนั้นคนเสื้อแดงถูกเกลียดชังโดยเฉพาะในกรุงเทพ"


 

อนาคตใหม่ ความฝันใหม่ที่ถูกดับ    


"หลังประยุทธ์ยึดอำนาจ ป้าก็ไปร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร หรือชุมนุมอื่นๆเป็นระยะ แต่จำไม่ได้ว่าไปไหนบ้าง ตอนหลังพอมีการตั้งพรรคอนาคตใหม่ ป้าก็เริ่มมองเห็นความหวังว่าพรรคการเมืองนี้น่าจะเป็นความหวังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเราเห็นมานับต่อนับแล้วว่าคนมีอายุ คนแก่ที่เป็นนักการเมืองไม่สามารถทำอะไรให้ดีขึ้นได้ ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ป้าเลยอยากลองให้โอกาสเด็กๆรุ่นใหม่ได้ลองไปบริหารประเทศดูบ้าง ตอนที่พรรคอนาคตใหม่จัดประชุมครั้งแรกที่ธรรมศาสตร์รังสิต ป้าเป็นหนึ่งใน 500 คนที่ไปร่วมโหวตเลือกธนาธรเป็นหัวหน้าพรรคด้วย"


"จริงๆแล้วป้าเป็นคนเสื้อแดงที่เลือกพรรคเพื่อไทยมาแต่ไหนแต่ไร อย่างตอนปี 62 นี่ถึงไปโหวตในที่ประชุมพรรคอนาคตใหม่ แต่พอถึงวันเลือกส.ส.ก็ยังเลือกพรรคเพื่อไทย ป้ายังเคยเอารูปผู้สมัครส.ส.พรรคเพื่อไทยมาติดที่หน้าบ้านด้วย เผื่อพรรคอื่นมาจะได้ไม่ต้องเสียเวลาหาเสียง"


"ตอนพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ป้าไม่ได้ไปชุมนุมที่หน้าพรรค ได้แต่ตามข่าว ตอนรู้เรื่องนี่โกรธมากเลย ยิ่งเรื่องตัดสิทธิทางการเมืองนักการเมืองรุ่นใหม่อย่างธนาธร หรือ อ.ปิยบุตรนี่ป้ารู้สึกว่ามันทำให้ประชาชนเสียโอกาส เสียเวลา ประชาชนเสียเวลามาเท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้"


ทำเสื้อให้รู้ You are not fighting alone.    


"การเคลื่อนไหวในปี 63 ของพวกน้องๆ ทำให้ป้าใจฟูมากเลย ถึงวันนี้ (มีนาคม 2567) หลายๆคนจะถูกดำเนินคดี แต่สำหรับป้าการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 63 นี่ถือว่าเราชนะแล้ว ยุคก่อนพวกวงไฟเย็นแค่ร้องเพลงต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ แต่มาถึงวันนี้ การพูดเรื่องต่างๆอย่างในม็อบก็พูดกันไปถึงไหนต่อไหนแล้ว สำหรับป้า การที่เขาจับเรา ไม่ได้แปลว่าเราแพ้ แต่แปลว่าเราไปสั่นคลอนอำนาจหรือความชอบธรรมบางอย่างของเขา ทำให้เขาต้องจับ ต้องปราบปรามพวกเรา"


"เวลาที่น้องๆต้องไปขึ้นศาล ป้าจะพยายามหาเวลาไปให้กำลังใจที่ศาล ป้าเองคงไม่สามารถเสียสละหรือทำอะไรได้ขนาดที่น้องๆหลายคนทำ สิ่งที่ป้าพอจะทำได้ก็คือการให้กำลังใจหรือซื้อของสนับสนุนตามกำลัง"


"ป้าเป็นพวกใจใหญ่ ตั้งแต่สมัยปี 53 เวลาป้าไปม็อบก็จะแลกแบงค์ 20 ไปเป็นกำ พอเจอคนแก่ก็จะเอาเงินให้เขาไปกินข้าวกินน้ำ ตอนนั้นที่ป้าพอให้เขาได้เป็นเพราะช่วงทักษิณ ยิ่งลักษณ์ยังพอหาเงินได้ง่ายอยู่ ทีนี้ช่วงหลังปี 63 ที่ป้าต้องออกจากงาน รายได้ก็เริ่มหดหาย แต่ป้าก็จะพยายามไปเยี่ยมน้องๆที่ศาลเท่าที่พอไปได้ อยากให้เขารู้ว่าเรายังไม่ลืมเขา ไม่อยากให้เดียวดายหรือรู้สึกว่ากำลังสู้อยู่คนเดียว คนอื่นลืมเขาไปแล้ว สำหรับป้า น้องๆเหล่านี้เขาเสียสละ หลายคนทำในสิ่งที่ป้าทำไม่ได้หรือไม่กล้าทำ อย่างน้อยการที่เขาเห็นเราที่ศาลมันก็ยังพอเป็นกำลังใจให้เขาได้บ้าง นอกจากนั้นป้าเองก็จะไปซื้ออาหารให้คนที่ถูกขังในเรือนจำในคดีการเมืองเป็นระยะเท่าที่พอจะมีเงิน  มีอยู่ทีหนึ่งน้องคนนึงที่เพิ่งออกเรือนจำทักเฟซมาขอบคุณ แล้วก็บอกว่าตอนเขาอยู่ในเรือนจำได้อาหารจากป้า เขาเลยอยากขอบคุณที่ซื้ออาหารอร่อยๆให้เขากิน"


 

"ส่วนเรื่องเสื้อนี่มันเริ่มจากน้องที่ป้าสนิทคนหนึ่งคือจัสติน (นุ๊ก ชูเกียรติ แสงวงศ์ จำเลยคดีมาตรา 112) ถูกขังในเรือนจำแล้วมีนัดต้องมารายงานตัวกับอัยการ ป้าอยากให้กำลังใจจัสตินในวันที่มารายงานตัวก็เลยเอารูปจัสตินไปให้ร้านทำเสื้อออกมา ไม่ได้ทำออกมาเยอะอะไรหรอกแค่ทำมาแจกคนที่มาอัยการด้วยกันวันนั้น เพราะคิดว่าถ้าจัสตินมาเห็นคนใส่เสื้อรูปเขาก็จะได้ดีใจ แต่ปรากฎว่าจัสตินไม่ได้ถูกเบิกตัวมารายงานตัวกับอัยการ ป้าเพิ่งมารู้ทีหลังว่าจัสตินเห็นเสื้อแล้ว มีคนรู้จักคนนึงมาเล่าให้ฟังว่าเค้าไปเจอจัสตินวันที่ใส่เสื้อรูปจัสตินพอดีแต่ป้าก็ไม่ได้ถามว่าตอนที่จัสตินเห็นเสื้อแล้วว่ายังไงบ้าง"


"ตัวป้าเองสนิทกับจัสตินมากเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเค้าเป็นคนที่เคลื่อนไหวในพื้นที่สมุทรปราการ เมื่อก่อนป้าคุยกับเค้าบ่อย แต่หลังๆป้ายุ่งเลยไม่ได้คุยแล้ว อีกอย่างเค้าก็ไปอยู่ที่อื่นไปมีชีวิตที่ดีขึ้นแล้วไม่มีอะไรต้องห่วง"


"หลังจากป้าทำเสื้อจัสตินก็มีคนมาเชียร์ให้ทำเสื้อรูปคนอื่นๆ ขายด้วย ตอนหลังป้าก็ทำเสื้อรูปเบนจา (เบนจา อะปัญ จำเลยคดีมาตรา 112) แล้วช่วงที่น้องตะวัน (ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ จำเลยคดีมาตรา 112) น้องบุ้ง (เนติพร เสน่ห์สังคม จำเลยคดีมาตรา 112) หรือเก็ท (โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง จำเลยคดีมาตรา 112) ถูกขังในคดี 112 ป้าก็ทำเสื้อที่มีรูปน้องๆ เพื่อใส่ไปให้กำลังใจที่ศาลเวลาน้องๆมีนัดไปคดีด้วย ทีนี้ไหนๆทำใส่เองแล้วป้าก็เลยทำมาเผื่อขายนิดหน่อยพอได้ทุนคืน แต่บางทีมีน้องๆมาขอป้าก็ให้ไปไม่ได้คิดเงินหรืออะไร"


"เสื้อที่ป้าทำส่วนใหญ่ก็ให้ร้านเป็นคนออกแบบง่ายๆ แค่เอารูปคนไปใส่เลยไม่ได้ทำกราฟฟิกอะไร ทำแบบบ้านๆ เป้าหมายเดียวของป้าในการทำเสื้อคือทำให้คนที่ถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ประกันได้รับรู้ว่ายังมีคนจำพวกเขาได้ พวกเขายังไม่ถูกลืม"


"ช่วงหลังนอกจากเสื้อรูปนักโทษการเมืองแล้วป้าก็ทำเสื้อสกรีนข้อความที่มันล้อกับสถานการณ์ด้วย อย่างเสื้อที่เขียนเรื่องส.ว. หรือเสื้อรุ่นล่าสุดที่มีข้อความ "เซาะกร่อน บ่อนทำลาย" คือสำหรับป้านะ ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นการล้มล้างการปกครองอะไรเนี่ยก็ฉีกตำรากฎหมายไปเถอะ ไม่รู้โรงเรียนไหนสอนมา"


ความหวังในวัยปัจฉิม


"ถามว่าเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังเลือกตั้ง หลังเลือกนายก ป้ายังมีความหวังที่จะได้เห็นประเทศนี้ดีขึ้นอีกไหม ป้าบอกตัวเองว่าให้พยายามรักษาลมหายใจไว้ เพราะอยากเห็นประเทศนี้ในวันที่อะไรๆมันดีขึ้น แต่ตัดกลับมาที่โลกของความเป็นจริงก็คิดว่าเราคงจะตายก่อนที่จะมีโอกาสเห็น"


"ตอนนี้ป้าเหลือห่วงอีกอย่างก็คือหลานสองคน คนหนึ่งอยู่ ม.1 อีกคนอยู่ป.2 ตอนนี้เวลาจะใช้จ่ายอะไรรวมถึงทำกิจกรรมทางการเมือง ก็คิดถึงหลานๆทั้งสองคน แต่สุดท้ายถ้าจะเป็นอะไรไปเดี๋ยวพ่อเขาก็คงมาเอาหลานทั้งสองคนไปดูต่อเอง ป้าได้แต่เสียดายว่าหลานทั้งสองคนอาจจะไม่ได้เติบโตมาในสังคมที่ดี มีคุณภาพอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าเสียดายเพราะประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ ทรัพยากรเยอะ เสียแต่ว่ามีคนบางกลุ่มที่หวงอำนาจไว้"


"อยากฝากถึงคนสูงอายุหวงอำนาจในประเทศนี้ว่าลองให้โอกาสคนรุ่นหลังได้ลองบริหารประเทศดูบ้าง พวกคุณเองก็มีลูกหลาน เห็นแก่อนาคตลูกหลานเถอะ ตัวคุณเองตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้ ให้คนรุ่นหลังได้ลองทำอะไรใหม่ๆดูบ้าง"


"อีกเรื่องคือป้าเชื่อว่าไม่ควรมีใครควรติดคุกเพราะแค่มาเรียกร้องทางการเมือง ก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะเห็นใจประชาชน และนิรโทษกรรมให้กับคนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองทั้งหมดรวมทั้งคดีมาตรา 112"

เรื่องโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์
ภาพโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์