Skip to main content

คาเงะ ธีระวัฒน์ มุลวิไล ศิลปินรางวัลศิลปาธร หนึ่งในผู้ก่อตั้ง B-floor และผู้กำกับภาพยนตร์แนวสะท้อนสังคม เล่าให้ฟังถึง โปรเจคภาพยนตร์สั้นเรื่อง “พราก” (Tear Apart) ว่าเป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวความทรงจำของครอบครัวและชวนตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมและวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย  เนื่องในครบรอบ 20 ปี ทนายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สมชาย นีละไพจิตรที่ถูกบังคับสูญหายไปตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2547

โดยภาพยนตร์สั้นเรื่องดังกล่าวได้เผยแพร่ให้ชมครั้งแรกในวันที่ 11- 12 มีนาคม 2567 หนึ่งในกิจกรรมของงานรำลึก  “ใช้อำนาจให้เกิดความยุติธรรมแทนบังคับสูญหาย: 20 ปี ทนายและนักปกป้องสิทธิฯ สมชาย นีละไพจิตร” โดยครอบครัวนีละไพจิตรร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย  (The Foreign Correspondents’ Club of Thailand - FCCT) ถนนเพลินจิต เขตปทุมวัน กรุงเทพ ในวันที่ 11 มีนาคม 2567 และในวันที่ 12 มีนาคม 2567 ที่สถาบันวิจัยสังคม อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ บริเวณคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

“ที่มาที่ไปของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ผมได้รับการติดต่อมาจากคุณฟาริดา จิราพันธุ์ เพราะว่าผมเคยทำละครและหนังสั้นมาก่อน ว่า 12 มีนาที่จะถึงนี้ ครบรอบ 20 ปี โดยปกติ ครอบครัว (นีละไพจิตร) ก็จะจัดงานรำลึกอยู่แล้ว แต่ว่าพอดีปีนี้ญาติอยากทำหนังสั้น ก็เลยติดต่อมาแล้วก็ได้พูดคุยกันกับทางครอบครัวผ่านคุณฟาริดาที่เป็นผู้ประสาน หลังจากนั้นผมก็ทำรีเสิร์ช ไปค้นหาข่าวเพิ่มเติม และสัมภาษณ์ทางครอบครัวเพื่อไปเขียนพลอตเรื่อง ซึ่งผมตั้งใจให้เบสมาจากเหตุการณ์จริงคือวันที่คุณทนายสมชายหายตัวไป ตั้งแต่เช้าถึงเย็น ก็คือช่วงเวลาประมาณสองทุ่มที่ติดต่อกับทนายสมชายไม่ได้  ”

“จากข้อมูลเรียงลำดับไทม์ไลน์ เราก็เห็นว่าทนายสมชายไปที่ไหนมาบ้างในวันที่เกิดเหตุการณ์ เขาไปออฟฟิศของตัวเองที่สภาทนายความ แล้วก็แวะไปที่นั่นที่นี่ ไปละหมาด มาถึงจุดเกือบสุดท้ายคือมีนัดที่โรงแรมชาลีนา ที่จริงมีพยานเห็นเหตุการณ์ตอนที่รถของทนายสมชายถูกชนท้าย เพราะมันเกิดขึ้นตอนช่วงหัวค่ำเอง แต่กลับกลายเป็นว่าพอไปถามพยานบอกไม่รู้ เราก็เลยคิดว่าน่าสนใจว่าจะโยงเหตุการณ์ชีวิตประจำวันของทนายสมชายกับชีวิตครอบครัวเขายังไงดี ซึ่งก็เกิดเป็นพลอตเรื่อง ”

“เราก็อยากสัมภาษณ์กับทางครอบครัวในสภาวะที่บ้าน ณ ปัจจุบัน (2567) เมื่อพูดถึงความทรงจำหรือความเป็นส่วนตัวเนี่ย ก็พบว่าห้องที่เขาเคยอยู่ โต๊ะที่เขาเคยนั่ง หนังสือที่เขาเคยอ่าน ตอนนี้กลายเป็นมุมนั่งทำงานของคุณอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของคุณทนายสมชาย”

กระสุนนัดละบาท และเหตุการณ์ในสามจังหวัดภาคใต้ จุดประกายให้ทนายสมชาย

คาเงะระบุต่อไปว่า “คุณอังคณาเคยเล่าให้ฟังด้วยว่าโต๊ะไม้สักตัวนี้ ทนายสมชายรักมาก ไปได้มา แม้คุณอังคณาเองเคยบ่นว่าขนาดโต๊ะมันใหญ่มากนะสำหรับบ้านแค่นี้ แต่ก็เขาก็ชอบ เป็นมุมโปรดของเขา”

“ก็คิดว่าถ้าคุณทนายยังอยู่ เขาก็คงอยู่มุมโต๊ะทำงานตรงนี้แหล่ะที่บ้าน แล้วก็ขึ้นไปนอน อันนี้คำบอกเล่าจากคุณอังคณา แม้แต่หนังสือที่ทนายสมชายอ่านก่อนวันที่เขาจะหายตัวไป เป็นวรรณกรรมที่ได้เค้าโครงมาจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้โดยสุชีพ ณ สงขลา เป็นนักเขียนภาคใต้ ชื่อเรื่องว่า “ซือโก๊ะแซกอ”  (2520) แปลภาษาไทยได้ว่า “กระสุนนัดละบาท ”ซึ่งมันก็หมายถึงว่าชีวิตคนเรานี่มีค่าแค่บาทเดียวงี้เองอ่อ  ก็คือกระสุนราคาถูก เทียบกับชีวิตคนก็คือ Nothing”


“วรรณกรรมเรื่องดังกล่าวก็ถูกนำไปใส่ในภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ด้วย โดยให้คุณแบ๋น ประทับจิตร นีละไพจิตร ลูกสาวของทนายสมชายเป็นคนอ่านโดยเฉพาะบทแรกๆที่พูดถึงว่ามีทหารกลุ่มหนึ่งอุ้มคนไปที่รถจีเอ็มซี มีประชาชนถูกแทง แต่มีอยู่คนหนึ่งยังไม่ตาย แต่ทำเป็นแกล้งตายแล้วได้ยินทหารพูดว่า “จะเผาหรือทิ้งน้ำ ” แล้วก็มีเสียงตอบกลับมาว่า “ทิ้งน้ำ” --- เราก็รู้สึกว่า มันเหมือนเรื่องแต่งที่ซ้อนทับกับเรื่องจริงนะ โดยเฉพาะเรื่องจริงที่ว่าต่อมาคุณทนายสมชายก็ถูกอุ้มหายด้วย ซึ่งคุณทนายสมชายก็เคยอ่านวรรณกรรมเล่มนี้แล้ววางไว้ที่หัวเตียงนอน ซึ่งเราคิดว่านี่น่าจะเป็นสิ่งที่จุดประกายหรือแรงบันดาลอย่างหนึ่งอะมั้งที่ทำให้ทนายสมชายสนใจเกี่ยวกับปัญหาในชายแดนภาคใต้”

“ก่อนหน้านั้นก็มีคดีปล้นปืน ทนายสมชายก็ไปช่วยเหลือนักโทษที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นโจร ซึ่งพวกเขาถูกซ้อมทรมานเพื่อให้สารภาพ แต่สภาพร่างกายของพวกเขาคือถูกทำร้ายรุนแรงมาก แล้วเราจะเชื่อได้ยังไงว่าพวกเขาสารภาพตามความเป็นจริง คือถึงแม้ว่าถ้าหากพวกเขากระทำผิดจริงตามข้อหา แต่ต้องถึงขั้นทำร้ายกันขนาดนี้เชียวหรอ เหมือนที่คุณอังคณาบอกว่า เราไม่ได้จะช่วยใคร แต่ทำทุกอย่างตามความเป็นจริง ถ้าคนเหล่านั้นกระทำผิดจริงก็ต้องได้รับโทษติดคุก แต่ต้องไม่ใช่บทลงโทษที่เกินไป แล้วนี่ก็คือมูลเหตุหนึ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่เดือดร้อน เพราะเจ้าหน้าที่ไปซ้อมพวกเขาหนิ ทนายสมชายจึงไปเป็นทนายว่าความให้คนเหล่านั้นที่ถูกซ้อม จนกระทั่งสื่อต่างๆ ก็มองว่าเป็นทนายให้โจรหรอ? ไปเข้าข้างฝั่งนั้นหรอ?”

“ความเป็นอื่น” ที่รัฐไทยมอบให้คนมุสลิม

“กระแสตอนนั้น สื่อก็ปั่นหนักมากว่า ทนายสมชายเป็นทนายให้กับพวกโจรใต้ ตอนนั้นในความรับรู้ของเราที่ได้ดูข่าวในกรุงเทพฯ ก็รู้สึกแปลกๆ กับเหตุการณ์หลายอย่างที่ถูกนำเสนอ จำได้ว่าตอนนั้นสมัยนายกทักษิณก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเป็นพวกโจรกระจอก, แล้วก็มีเหตุการณ์ปล้นปืน, กรือเซะ, ตากใบในตอนนั้นเราก็รู้สึกอิหยังวะ ข่าวทุกอย่างกระพือขึ้น จนเกิดวาทกรรมที่ผลักให้คนมุสลิมมีความเป็นอื่นมากขึ้น ด้วยมุมมองที่ว่าพวกเขาไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ แต่ประเทศเราเป็นเมืองพุทธเด้อ … มันคือการสร้างความเกลียดชังโดยสื่อและรัฐ”

“ต่อมาก็เริ่มมีกฏอัยการศึก เมื่อปี 2547 จนทุกวันนี้ คือเราก็มีสภาวะของความคลุมเครือว่าเราไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้ พี่เคยไปนราธิวาสแล้วได้ยินชาวบ้านพูดว่า “ถ้าเหตุการณ์สงบ งบไม่มา” ถามว่าใครได้ประโยชน์ ? นี่คือสิ่งที่พี่รับรู้มาซึ่งก็น้อยมาก ส่วนเรื่องทนายสมชายเราก็ได้ยินแต่ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ตอนนั้นเราทำละครเวทีอยู่ซึ่งพูดถึงชาวมุสลิม และเหตุผลที่ดึงดูดให้เรารู้สึกสนใจ ก็คือเรื่องความเป็นอื่น ในสังคมส่วนใหญ่ที่เคยทำก็จะพูดในแง่โครงสร้างมากกว่า แต่ไม่เคยทำเรื่องราวที่เฉพาะเจาะจง ดังนั้นภาพยนตร์ทนายสมชายเป็นเรื่องแรกของเราที่เล่าเกี่ยวกับบุคคลโดยตรง”

“พราก” ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริง กับคำถามทวงหาความยุติธรรม

“งานนี้ค่อนข้างจะเป็นงานเร่งเหมือนกัน เราเริ่มถ่ายทำวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ใช้สถานที่ถ่ายทำ 5 สถานที่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ตอนเช้าเริ่มจากถนนราชดำเนิน เพราะแต่ก่อนสภาทนายความที่ทนายสมชายไปทำงานอยู่ที่นั่น ตอนนี้ไม่มีแล้วถูกปิดหมดเลย เราเลยใช้ถนนที่อยู่ไกล้ๆ คือที่มูลนิธิ 14 ตุลา แถวสี่แยกคอกวัวเป็นห้องทำงานของทนายสมชาย และก็บ้านของคุณทนายสมชาย มุมโต๊ะทำงาน โต๊ะกินข้าว ห้องนอน และก็ย้ายไปถ่ายที่โกดังร้างแถวรามคำแหงที่เขาให้เช่า และก็ได้ซีนแถวหมอชิต รวมๆใช้เวลาถ่ายทำไม่นาน ตั้งแต่หกโมงเช้าถึงสี่ทุ่ม”


“จริงๆตอนแรก ญาติก็ไม่ได้รู้ตัวว่าจะได้มาเล่นอยู่ในหนังสั้นของเราด้วย คือให้เขามาพูด Voice over เอาแต่เสียงให้เขาเล่าเรื่องวันที่เกิดเหตุและทัศนคติที่เขาต้องการจะพูด และก็ให้เขาอยู่ในบ้าน ซึ่งก่อนถ่ายทำเราก็มีไปสัมภาษณ์ครอบครัวก่อนว่าอยากให้ทิศทางเรื่องเป็นยังไงด้วย”

“นี่คือภาพยนตร์เรื่องแรกที่เราเอาบุคคลจริงๆมาเล่น เพราะไอเดียนี้เรารู้สึกว่ามันตรงไปตรงมาที่สุดละ ถ้าให้คนอื่นเล่นมันก็คือ แค่ “สวม” บทบาทใช่มั้ย แต่ของเราใช้ตัวจริง นี่อย่าเรียกว่าแสดงเลย เราว่าแค่ให้เขาอยู่ตรงนั้นเป็น Being แค่อยู่ หรือแค่พูดออกมา เราว่ามันทรงพลังกว่าอยู่แล้ว”

“เพราะเรามีตัวแสดงแทนอยู่แล้วคือ คนแสดงเป็นคุณทนายสมชาย ที่ให้มาเป็นเหมือนคนเล่าเรื่อง protray ผ่านการกระทำ ก็โชคดีที่ว่าชุดเสื้อผ้าที่นักแสดงใส่เนี่ยเป็นชุดของคุณทนายสมชาย สมุดปกแดงหรือสมุดโน้ตของเขาก็ของจริง สภาพแวดล้อมนี่ก็ของจริงหมดแม้กระทั่งรถยนต์ของเขาที่เคยใช้ขับไปทำงาน เป็นรถฮอนด้า Civic สีเขียวเคยจอดทิ้งไว้ที่แถวหมอชิต 2 แต่ลูกหลานเขาก็เอามาใช้ต่อ มาปรับปรุงเครื่อง ซึ่งตรงนี้มันก็สะท้อนให้เห็นว่าเขามีตัวตนและสิ่งของของเขาก็ยังไม่ได้หายไปไหน”

“ส่วนที่เราต้องการจะสื่อในภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือการบันทึกเหตุการณ์ว่ามันเกิดอะไรขึ้นในวันที่ทนายสมชายหายตัวไป และในแง่ของการไต่สวนในศาล ซึ่งมีเสียงของคุณอังคณาพูดถึงหลักฐาน พยาน เหตุการณ์ว่ามีอะไรบ้าง และสิ่งที่ค้างคาในใจที่คุณอังคณาเล่าว่า วันนั้นมีโทรศัพท์มาจากธรรมเนียบรัฐบาลเป็นเบอร์ 02 นี่ก็คือสิ่งที่ต้องบันทึกไว้ ซึ่งสะท้อนว่านี่มันคือคดีการเมือง เป็นอาชญากรรมโดยรัฐ”

“หากพูดถึงในมิติของความยุติธรรมในสังคมเรามองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มันจะชวนให้สังคมเกิดการตั้งคำถา ม ทำให้คนดู เอ๊ะ หรือสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้ที่มันยังมีวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เป็นอีกสิ่งที่อยากจะสื่อสารว่าผ่านมายี่สิบปี เราอาจจะรู้หรือไม่ แต่ทำไมไม่สามารถเอาคนที่สั่งการหรือคนที่ทำผิดมาลงโทษได้เลยทั้งที่มีพยานแวดล้อมเต็มไปหมด นี่เป็นคดีที่ดังนะก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้ ถ้าเป็นคนตัวเล็ก ตัวน้อยที่ไม่มีกำลังของสื่อจะขนาดไหน  มันจะไม่ยิ่งหายไปกันใหญ่หรอ นี่ก็เป็นสารตั้งต้นที่ต้องตั้งคำถามกับความยุติธรรมกับประเทศนี้นะว่ามันไม่ได้มาจากการ้องขอ แต่มันต้องต่อสู้ดิ้นรน ต้องส่งเสียง ต้องเหนื่อย เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานของเราในการมีชีวิตอยู่ หรือเพื่อรักษาชีวิตครอบครัวเพียงเพราะจะพูดเรื่องจริง”

“หรือแม้กระทั่งการพูดถึงสิทธิชุมชน เรารู้สึกว่ามันริดรอนสิทธิกันง่ายไปรึเปล่า กลายเป็นว่าประชาชนมีอำนาจน้อยกว่ารัฐไปเยอะ ซึ่งในภาพยนตร์ไม่ได้พูดไปให้ชัดขนาดนั้น เพราะหน้าที่ของศิลปะคือการที่ดูแล้วคนดูรู้สึกยังไงกับมัน เห็นใจ หรือเห็นด้วยมั้ย ถ้าเห็นใจเราจะช่วยกันยังไงได้บ้างเมื่อเกิดเหตุ เช่นช่วยประกาศ สร้างเสียงให้ใหญ่ขึ้น  ”

“ถามว่าเวลาไปหาตำรวจเกิดอะไรขึ้นมั้ย ทุกวันนี้ ประชาชนเขาไปหาสื่อกัน ไปออกข่าวสรยุทธ ไปออกโหนกระแสกันหน่วยงานรัฐถึงจะมาสนใจ ทั้งๆที่มันควรเป็นหน้าที่ปกติ แต่ฟังก์ชันนี้มันไม่ทำงานไง ทุกวันนี้อำนาจประชาชนต้องออกมาช่วยกันพูดผ่านสื่อ ต้องโพสลงโซเชี่ยล ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ถือเป็นสื่ออย่างหนึ่งที่ช่วยขยายเสียงประชาชน ”

ผลตอบรับจากงานเปิดตัวภาพยนตร์ครั้งแรกที่ FCCT และช่องทางเผยแพร่ออนไลน์

“สำหรับผลตอบรับที่ FCCT สำนักผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่เป็นงานบรรยายภาษาอังกฤษ ก็ถือว่าเป็นไปในทางบวก ในภาพรวมก็มีคนมาเข้าร่วมงานประมาณเกือบร้อยคน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มชาวต่างชาติ กลุ่มคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน และด้าน NGO หลังจากที่ได้รับชมเขาก็สะท้อนมาว่ารู้สึกลึกซึ้ง ประทับใจ สะเทือนใจที่ทำหนังในประเด็นนี้ออกมา หลายคนก็ถามว่าดูได้อีกช่องทางไหน ”

“ภาพยนตร์นี้ ท้ายที่สุดก็คงจะเผยแพร่ออนไลน์เพราะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน ช่วงแรก1-2 เดือนอยู่ในระหว่างการหาช่องทางส่งไปประกวดก่อน เช่น Festival film หรือประกวดหนังสั้นเมืองไทย เพื่อให้กระจายไปต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะเรื่องของมูฟเม้นท์ในหนังกับศิลปะในสังคมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชน หลังจากผ่านมาแล้วก็คิดว่าจะปรึกษากับทางครอบครัวว่าอาจจะเปิดเพจเฟสบุ๊กดีไหม เพื่อให้ประชาชนที่สนใจสามารถติดตามรับชมได้”

ภาพยนตร์กับความทรงจำอันบอบช้ำของครอบครัวนีละไพจิตร

อังคณา นีละไพจิตร วัย 67 ปี ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร และแม่ของลูกห้าคน เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของภาพยนตร์ว่า “ก่อนหน้านี้ไม่ได้จัดกิจกรรมมาสักพักแล้ว มีแค่ไปยื่นหนังสือให้กับดีเอสไอ และร่วมงานแนวรณรงค์กับทางองค์การแอมเนสตี้ (Amnesty) แต่ไม่ได้จัดงานแบบนี้มาหลายปี พอดีมีเพื่อนๆที่ทำงานองค์กรสิทธิก็มาถามว่าปีนี้จะทำอะไรดี แล้วก็มีคนเสนอว่ามันควรจะมีทำเป็นวิดีโอเนาะ สอดแทรกเรื่องกฏหมายไปด้วยเงี้ย ก็มีพันธมิตรทั้งหลายเนี่ยเขาก็ยินดีช่วย จากภาพยนตร์สั้นที่ว่าจะทำห้านาทีก็เพิ่มมาเป็นสิบเจ็ดนาทีอย่างที่เห็น”

“เอาจริงๆ ตอนที่คุณคาเงะส่งหนังสั้นมาให้เราดูเนี่ย ก็ไม่ได้ดูทันทีอะนะคะ เก็บไว้หลายวันจนกระทั่งพึ่งมาดูเมื่อสองสามวันนี้เอง เพราะว่าสุดท้ายแล้วเราก็ต้องเป็นคนตรวจดูว่ามันมีอะไรที่ควรจะแก้ไขมั้ย ซึ่งก็ไม่ได้ดูทันทีเพราะต้องปรับใจนิดนึง เพราะบอกตรงๆว่าลูกบางคนก็ยังไม่กล้าดูเลยจนวันนี้ อย่างในหนังสั้น เสื้อผ้านี่ก็เป็นของทนายสมชาย รถก็เป็นของจริง คือพอเราเห็นใครสักคนมาอยู่ในชุดนั้น มันก็รู้สึก Trauma (บอบช้ำ) เนาะ ด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง คนที่ใส่เสื้อผ้าของเขา รองเท้า แว่นตาลักษณะที่เขาเคยใส่ รถที่เขาเคยใช้ มันก็เป็นเหมือนการย้อน รื้อฟื้นดังเดิม หรือทำให้เขากลับมาอะไรอย่างเงี้ย แม้เราก็รู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องจริงซึ่งถ้าวันนั้นมันหยุดได้ตรงนั้น มันก็จะดี แต่ว่าก็หยุดไม่ได้”

“ มันก็รู้สึก Trauma แต่เราก็คิดในแง่ของว่าสังคมจะได้ประโยชน์ เพราะน่าจะเป็นการย้ำเตือนสังคม มันก็น่าจะดีกว่าการเก็บไว้ในใจ ตอนนี้ก็ครบรอบ 20 ปีเนอะ ถ้าผ่านมา 30-40 ปี คนรุ่นต่อไปก็อาจจะไม่รู้เรื่องนี้แล้ว ลืมไปแล้ว หรือตัวเราเองก็อาจจะไม่อยู่บนโลกแล้ว ซึ่งเราก็หวังว่าหนังเรื่องนี้มันจะบอกว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง”

“ สิ่งที่เราอยากจะสื่อสารฝากไปยังหนังสั้นเรื่องนี้ก็คือว่า การอุ้มหายมันมีจริงนะ และมันก็เป็นการอุ้มหายคนที่ทำงานเพื่อคนอื่น คนที่เป็นทนายความเพื่อปกป้องคนอื่นซึ่งครอบครัวของคนที่โดนอุ้มหายก็คงคิดเหมือนกัน รู้สึกทรมาน แต่เราก็คิดว่าสังคมควรจะได้รับรู้ และหาทางป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก”

“ตอนถ่ายทำเราก็ถ่ายที่บ้านหลังเดิมที่ทนายสมชายเคยอยู่ เพราะว่าถ้าไปถามญาติของคนที่หายส่วนมากพวกเขาจะไม่ค่อยย้ายไปไหน เพราะว่าก็มีความหวังว่าวันนึงพ่อพวกเขา ลูกพวกเขาจะกลับมา มีแค่บางครอบครัวเท่านั้นที่จำเป็นต้องย้ายด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่เขาก็จะแวะเวียนมาถามเพื่อนบ้านเสมอว่าพ่อแวะมาบ้างไหม เผื่อว่าพ่อจะกลับมาแล้วไม่เจอพวกเรา”

คดีคนหาย ไม่ใช่คดีคนตาย ข้อความฝากถึงเจ้าหน้าที่รัฐ


“หากพูดถึงในส่วนของคดีคนหายน่ะ มันก็เป็นภารกิจที่ไม่ได้ตามได้เร็ว อย่างที่มีคนที่งาน FCCT เมื่อวานน่ะพูดว่า เจ้าหน้าที่ก็มักจะตามหาศพ ก็ว่าจะตามหาศพทำไม คดีคนหายไม่ใช่คดีคนตาย กฏหมายตาม พรบ. ก็ระบุไว้ในมาตรา 10 อย่างเดียวว่าให้สืบสวนจนกว่าจะทราบชะตากรรม ทีนี้เจ้าหน้าที่รัฐเองก็ยังคงยึดมั่นแต่เรื่องเดิมๆ คือพูดง่ายๆ ตำรวจก็คิดว่าคดีพวกที่หายตัวไปเนี่ยคือคงถูกอุ้มฆ่าไปหมดแล้ว อันนี้ความเชื่อของคุณตรงนั้นอะ คุณก็ไปทำเหมือนเป็นคดีคนตาย คุณไปมุ่งหากระดูก แต่คุณจะไม่รู้เรื่องราวเลยว่าเขาถูกเอาตัวไปที่ไหน เกิดอะไรขึ้นกับเขา หาพยานแวดล้อมที่ไหน ยังไงบ้าง ”

“ทีนี้ ทางสหประชาชาติก็จะมีไกด์ไลน์เกี่ยวกับ On search activity นะคะว่าต้องตามหาตัวคน ไม่ใช่ตามหา Remain หรือสิ่งที่เหลืออยู่ เพื่อจะได้รู้ว่าเขาถูกนำตัวไปที่ไหนบ้าง มันจะบอกได้ว่าจุดเริ่มต้นที่ถูกจำกัดเสรีภาพเขาหรือที่เรียกว่า Deprive of liberty คือวินาทีที่เข้าสูญสิ้นอิสรภาพ และครั้งสุดท้ายที่เจอ เราจะรู้จุดเริ่มต้นและสิ้นสุด นี่คือวิธีการทำคดีคนหาย แต่เจ้าหน้าที่ไทยก็ยังฝังหัวและดำเนินคดีแบบคนตาย คือไปมุ่งหากระดูก ถามว่าใครทำ มันก็ไม่มีหลักฐานที่จะเชื่อมโยงไปหาคนที่ทำ ดังนั้น พรบ. ของสหประชาชาติที่มีอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจเนี่ยก็เป็นการ Overturn จากระบบกล่าวหา ให้เป็นระบบไตร่สวน เพราะระบบกล่าวหาเราจะต้องไปพิสูจน์ว่าตำรวจพวกนี้ผิด ถามว่าเราจะไปมีหลักฐานอะไรมากมายขนาดนั้น แต่พรบ. นี้ให้เป็นระบบไตร่สวน ฉะนั้นจำเลยต้องพิสูจน์ว่าตัวเองบริสุทธิ์”

ความเงียบ คือคำตอบของรัฐบาล 2567

แบ๋น ประทับจิตร นีละไพจิตร วัย 41 ปี ลูกสาวคนที่สองของทนายสมชายเล่าถึงข้อสังเกตบรรยากาศทางการเมืองในปี 2567 ว่า

“ต้องยอมรับว่าสื่อหลักให้ความสนใจน้อยลง แต่ก่อนคงออกทีวีไปแล้ว ลองสังเกต อาจเป็นไปได้ว่าเป็นเรื่องของการขึ้นๆลงๆของอำนาจ แบ๋นบอกเลยนะว่าครั้งนี้เป็นครั้งที่รัฐบาลเงียบที่สุด ปกติจะต้องมีการส่งเจ้าหน้าที่รัฐมา มีสื่อมาสัมภาษณ์ แบ๋นคิดว่าการเงียบมันคือการ ignore (เมินเฉย) นี่คือคำตอบ แบ๋นคิดว่าปีนี้เงียบเป็นพิเศษด้วยนะ คือทำอย่างอื่นเลย ไปทำรณรงค์การท่องเที่ยว แล้วรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องคนหายก็ไปต่างประเทศเลย เพราะว่ารัฐมนตรีคนนั้นในที่สุดแล้วเขาคือคนที่รับทราบว่าทนายสมชายหายไปด้วย แต่ที่แบ๋นสนใจคือ บรรยากาศการเมืองยิ่งเงียบ ทั้งๆที่หลายคนมองว่าได้รัฐบาลพลเรือนมาแล้ว แล้วหลายๆอย่างก็รู้สึกว่าตึงน้อยลง เสรีภาพมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันทำไมเรื่อง Accountability ถึงเงียบกว่าเดิมที่ผ่านมา ”

“แล้วที่สำคัญคิดว่ามีปรากฏการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีสมเด็จฮุนเซนมาไทย, พม่าด่าก้าวไกลที่มาจัดเสวนา พี่แบ๋นคิดว่ามันมีการผสมโรงในระดับภูมิภาคที่ทำให้เรื่องคนหาย และการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมันเป็นใจกัน และยิ่งทำให้สถานการณ์เงียบมากกว่าเดิมไปอีก ตรงนี้ถือว่าแปลกดีและน่ากังวล และเป็นเรื่องที่หลายคนไม่รู้สึกด้วยซ้ำ จะทำให้การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของเรายากขึ้น”

ความทรงจำฝังใจของลูกสาวทนายสมชาย นีละไพจิตร

“ส่วนนึงยอมรับว่าตกใจ ไม่นึกว่าพี่คาเงะจะอยากให้เรากับแม่ไปปรากฏในหนังเลย ไม่ได้เตรียมใจ เวลาก็น้อยด้วย นี่เป็นครั้งแรกของครอบครัวที่ทำหนังแบบนี้ ไม่เคยต้องแสดงเป็นตัวเอง เราก็รู้ว่าเป็นหน้าที่ แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องมีกระบวนการดูแลตัวเองด้วยเพราะว่ามันเหมือนตีฟูความทรงจำของเราซึ่งไม่สามารถดูได้เกินสองรอบ ตอนที่เขาเปิดฉายในงานบางทีก็ต้องแกล้งทำเป็นเมิน ๆ ไปทำอย่างอื่นบ้าง”

“ถ้าพูดถึงฉากในหนังสั้นเหตุการณ์วันนั้นที่มีสายโทรศัพท์จากพ่อโทรเข้ามาแล้วเรางอนพ่ออยู่ จึงไม่ได้รับสายพ่อ อันนี้เป็นอีกฉากที่ค่อนข้างติดอยู่ในใจ เรารู้สึกดีที่ได้ใส่ไปในหนังสั้นด้วยเพราะว่าเรารู้สึกผิดกับตัวเองที่ว่าเราอาจจะมีส่วนทำให้พ่อไม่สามารถเช็คอินกับเราได้ หรือรั้งพ่อไว้ไม่ได้ วันนั้นเรามองดูโทรศัพท์เฉยๆ คือว่าด้วยความเป็นลูกนักปกป้องสิทธิและมีเรื่องมิติทางเพศ วันนั้นที่เกิดเหตุการณ์จำได้ว่าแม่ปล่อยให้พ่อไปทำงานตามความต้องการของเขา แต่พ่อปล่อยให้แม่ดูแลครอบครัวเลี้ยงลูกห้าคน เงินพ่อก็ไม่ค่อยมีให้ เพราะหลังๆพ่อเอาไปใช้กับคดีช่วยเหลือ แบ๋นเลยบอกพ่อว่า ที่แม่ทะเลาะกับพ่อ เพราะพ่อกำลังทำงานเสี่ยง และจะขอให้พ่อหยุด แต่สิ่งที่พ่อตัดสินใจคือเขาขอไปทำงานให้เสร็จก่อนแล้วค่อยกลับมา อันนี้คือสไตล์เขา นักปกป้องสิทธิสมัยนั้นเขาสู้ตายเลยเพื่ออุดมการณ์ ”

“แต่ยังไงก็ตาม แบ๋นรู้สึกดีที่ได้นำเสนอส่วนนี้ เพราะว่าแบ๋นไปอบรมเรื่องการรักษาความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิมา โดยเฉพาะเรื่องการรับโทรศัพท์ อย่างน้อยก็เป็นการทำให้นักปกป้องสิทธิคนอื่นๆได้ตระหนักตรงนี้ รู้มั้ยว่าคนหายอะมันตั้งใจทำนะ เพราะว่ามันเป็นการทำให้คนทั้งสังคมกลัว วิธีนี้ไม่ใช่แค่ทำให้เรากลัวแต่มันทำให้คนอื่นในสังคมกลัวไปด้วย”

การกู้คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ผ่านภาพยนตร์

“ตอนเลือกคนสวมบทบาทเป็นพ่อ จริงๆพี่คาเงะเคยเอารูปนักแสดงใน B floor ของเขามาให้เราเลือก่อนว่าจะให้คนไหนมาแสดง และเราก็รู้สึกว่าเออ คนนี้ดูเป็นผู้ใหญ่ หน้าไม่ได้ตี๋เกินไป เพราะพ่อเราไม่ได้เป็นคนตี๋ แล้วเราก็มองว่าคนนี้ค่อนข้างได้ เพียงแต่อาจจะผอมไปหน่อยแต่ก็ทำให้เหมือนได้ด้วยการจัดทรงผมเราก็รู้สึกว่าบุคลิกได้ ง่ายๆเลยคือพ่อเราไม่ได้ตี๋ และพ่อเราเป็นคนจริงจังกับชีวิต และตลอดการแสดงพี่คาเงะเขาเข้าใจประเด็น และก็ค่อนข้างเกรงใจเหยื่อพอสมควร อย่างรถของพ่อเนี่ย น้องชายเราก็ค่อนข้างหวงรถมาก เพราะต้องใช้ในหนัง น้องชายเราก็ประนีประนอมด้วยการเป็นคนขับเอง ”

“วันที่แบ๋นเห็นตั้งแต่วันที่ถ่ายทำน่ะรู้สึกตื่นเต้น แฮปปี้เพราะว่าการกลับมามันเหมือนกู้คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่แค่คุณพ่อนะ แต่ก็เราที่เป็นเหยื่อด้วย เพราะว่าเรามีสิทธิที่จะมีคนในครอบครัวอะ แต่วันนึงเขาได้หายไป คือเห็นเราเป็นอะไรหรอ  ศักดิศรีของเราหายไป แต่วันที่เห็นคนนึงเป็นเงาๆใส่เสื้อคุณพ่อ หรือแค่รถคุณพ่อเห็นแล้วก็รู้สึกจะร้องไห้ เหมือนรถของพ่อมันทำหน้าที่รับใช้เจ้าของของมันราวกับว่า วัตถุสิ่งของมันกำลังทำหน้าที่เพื่อเจ้านายของมันที่หายไปแล้วเป็นครั้งสุดท้าย”

“ก่อนหน้าคดีคุณพ่อก็มีคนหายมาก่อนแล้ว เช่น คดีโต๊ะทนงค์ โพธิ์อ่าน สมัยพฤษภาทมิฬ คดีหะยีสุหลงที่พ่อเคยมาเล่าให้แบ๋นฟังตอนทำคดี เราสนิทกันกับพ่อ แบ๋นบอกพ่อคำเดียวเลยว่า มันเป็นข่าวลือรึป่าว เพราะว่ามันไม่มีการมาแจ้งความ เหมือนกับหายไปเฉยๆเลย และวิธีการทำให้หายก็เนียน ตอนที่แบ๋นทำวิจัยก็ค้นพบว่าหนังสือพิมพ์มีคำแปลภาษาอังกฤษคำเดียวเลยว่า “missing” หายไป หรือคำตรงที่สุดคือคำว่า “อุ้มหาย” แต่ไม่มีนัยยะโดยตรงว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐทำ คือความคลุมเครือ หรือการหาชะตากรรมไม่เจอนี่แหล่ะเป็นความร้ายกาจของวิธีนี้ แต่ตอนนั้นเราก็คิดว่าข่าวลือรึป่าว สุดท้ายเจอกับตัว ”

“จริงๆปีแรกเราพยายามหาวิธีการสื่อสารเพราะว่าคดีคนหายมันไม่เคยเป็นเรื่องที่ได้รับการเชื่อถืออะว่ามันมีอยู่จริงๆ เราคิดหลายวิธี หนึ่งในวิธีแรกๆเลยนะคะเราใช้ศิลปะ ทำงานร่วมกับช่างถ่ายภาพ อาจารย์มหาวิทยาลัย จริงๆบทละครพี่ก็เคยเขียนเองบางปี เคยทำเป็นคลิปรณรงค์วันคนหายสากล 2011 จนกระทั่งประเทศไทยลงนามอนุสัญญาป้องกันคนหาย แต่ทีนี้ครบรอบยี่สิบปีแล้ว ก็อยากจะทำอะไรที่มันอยู่ได้นาน”

“ถ้าถามว่าการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอะไรสำคัญที่สุด พี่คิดว่าคือการบันทึกในรูปแบบไหนก็ตาม เช่น ภาพถ่าย นิทรรศการ หนัง ทุกอย่างคือการบันทึก ”

“ที่สำคัญคือ ยี่สิบปีมาแล้ว คนสมัยนี้คงไม่รู้จัก หรือไม่ทันเห็น  แล้วคนสมัยนี้ก็ไม่นิยมตั้งชื่อคนว่าสมชายแล้ว ฉะนั้น หนังเรื่องนี้ก็ไม่ใช่แค่ทำให้จำนะ แต่ทำให้รู้จักด้วย  อาจจะในระยะยาวก็ผ่อนหน้าที่ที่จะต้องอธิบาย ขึ้นเวทีสวัสดีค่ะทุกปี บางทีครอบครัวเราก็โชคดีกว่าครอบครัวอื่นนะเพราะว่าเราเป็นที่รู้จัก แต่ถ้าวันใดวันหนึ่งพอเราไม่เป็นที่รู้จักแล้วมันก็คงเสียความมั่นใจไป  ดังนั้นก็คิดว่าให้หนังมันทำหน้าที่อธิบาย ซึ่งเราก็คิดเหมือนกันว่าจะทำยังไงให้เรื่องของคนอื่นถูกบันทึกไปด้วย”

“สิ่งที่อยากจะสื่อสารฝากในภาพยนตร์ ก็คือ แบ๋นเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะต้องไม่ถูกทำให้หายไป มันอาจจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้  คุณอาจไม่จำเป็นต้องสนใจว่าคนหายเป็นใคร แต่คุณต้องรู้อย่างหนึ่งว่าคุณคือคนหนึ่งที่อาจจะเสี่ยง เพราะว่าพลวัตทางการเมืองมันมีตลอด วันหนึ่งเราอาจจะกลายเป็นศัตรูของรัฐโดยที่ไม่ได้ตั้งใจก็ได้”

เรื่องและภาพโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์