Skip to main content

10 กุมภาพันธ์ 2567 Kinjai contemporary ร่วมกับไอลอว์ (ilaw) จัดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือในหัวข้อ “ความฝัน ความหวัง ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงกับหนังสือ 2475 นักเขียนผีแห่งสยาม” หนึ่งในกิจกรรมแคมเปญนิรโทษกรรมประชาชน ที่ได้เชิญผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ สะอาด (Sa-ard) นักเขียนและนักวาดภาพประกอบ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาร่วมพูดคุย โดยมี นันทวัฒน์ ศักดิ์สกุลคุณากร จากคณะรณรงค์รัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน (ครช.) เป็นผู้ดำเนินรายการ

ทั้งนี้ ภายในงาานยังมีกิจกรรมเพ้นท์เสื้อด้วยลวดลายการ์ตูนจากกราฟิกโนเวลเรื่องนี้ ซึ่งผู้เข้าร่วมงานสามารถนำเสื้อเปล่าหรือกระเป๋ามาเพ้นท์ได้ฟรี

ก่อนเข้าสู่ช่วงเสวนา ก็ได้มีการเกริ่นข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับหนังสือ ‘2475 นักเขียนผีแห่งสยาม’ ที่เป็นกราฟิโนเวล (Graphic Novel) หรือ วรรณกรรมภาพซึ่งมีเนื้อหาอิงประวัติศาตร์ช่วงสมัยการอภิวัฒน์สยามเมื่อพุทธศักราช 2475 ผ่านการผจญภัยของตัวละครนักหนังสือพิมพ์หญิงนามว่า ‘นิภา’ กับน้องชายของเธอ ‘อรุณ’ ผู้ซึ่งจบการศึกษาในสาขาวิชากฏหมาย โดยหนังสือเล่มนี้ใช้เวลาเขียนนานถึงสามปีด้วยความความทุ่มเทของผู้เขียนที่ตั้งใจกลั่นผลงานชิ้นนี้ออกมาจนได้รับคำชื่นชมจากผู้อ่านหลายคนว่าเป็นหนังสือที่ “วางไม่ลง”

สะอาด: แนวคิดเบื้องหลังและกลิ่นอายของกราฟิกโนเวล ‘2475 นักเขียนผีแห่งสยาม’

สะอาด นามปากกาของ พชรกฤษณ์ โตอิ้ม ผู้เขียนหนังสือดังกล่าวเริ่มต้นเล่าถึงภาพ ‘การปฏิวัติ’ ในจินตนาการของเขาว่ามันต้องเป็นการต่อสู้อย่างดุเดือด เผ็ด มันส์ เหมือนที่สื่อภาพยนตร์ส่วนใหญ่นำเสนอ แต่ทว่าจากการสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์การปฏิวัติ 2475 กลับไม่ได้เป็นอย่างที่เขาคิด สะอาดระบุว่าสำหรับเขา การปฏิวัติ 2475 ที่นำโดยคณะราษฏรมีลักษณะความเป็น ‘การต่อสู้ของชนชั้นนำ’ ที่ใช้ ข้อมูล เป็นอาวุธในการฟาดฟันกัน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมธีมเนื้อหาเล่มนี้เขาตั้งใจให้มีกลิ่นอายของความเป็นวรรณกรรม ‘สายลับ’ ที่ให้ทั้งความสนุกในการเก็บงำความลับของตัวละครและมีความสอดรับกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ไปด้วย

สะอาดเล่าต่อไปว่า วรรณกรรมชิ้นจึงมีความท้าทายในการบาลาซ (balance) ระหว่างเนื้อหาที่เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ กับ เรื่องแต่ง โดยเฉพาะในการประกอบสร้างตัวละครที่เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ทั้งในแง่ของการออกแบบบุคลิก ลักษณะท่าทาง การเดิน การพูด นิสัย ภาพลักษณ์ภายนอก กับความคิดในใจลึกๆของตัวละครที่มีความเอียงซ้าย และความใฝ่ฝันของพวกเขาว่าน่าจะเป็นประมาณไหน หรือต้องเล่าเรื่องอย่างไรให้ดูสมเหตุผล (make sense) ตามจินตนาการ โดยสะอาดระบุด้วยว่าในขั้นตอนการทำรีเสิร์ชต้องขอขอบคุณหอภาพยนตร์ที่ได้มีการเก็บบันทึกภาพของปรีดี พนมยงค์ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสรรสร้างตัวละครในผลงานวรรณกรรมนี้

‘ความเปรี้ยว เยี่ยวราด’ ของนักหนังสือพิมพ์ยุค 2475 กับตัวละครเอกผู้หญิง

สะอาดเล่าว่าเหตุผลที่กำหนดให้นักหนังสือพิมพ์เป็นตัวเอกดำเนินเรื่องแทนคณะราษฏร เพราะว่าส่วนตัวเขาไม่ได้รู้สึกอยากเชียร์คณะราษฏร และคิดว่าการเล่าเรื่องผ่านมุมมองตัวละครที่เป็นคนนอกน่าจะสามารถเล่าได้สะดวกกว่าขณะเดียวกันอาชีพนักข่าวก็เป็นอาชีพที่สามารถเข้าถึงสังคมได้หลากหลายชนชั้น ประกอบกับความเป็นนักหนังสือพิมพ์ในยุคนั้นตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็ให้เซ้นท์ของ ‘ความเปรี้ยวเยี่ยวราด’ ที่มีความกล้าหาญในการเขียนข่าวเชิงวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครองยุคสมบูรณายาสิทธิราชย์

ทั้งนี้ สะอาดระบุด้วยว่าการใช้ตัวละครเพศหญิงเป็นตัวเอกก็เพื่อที่จะให้การเล่าเรื่องมีพลวัต (dynamic) ที่สมดุลกัน ถ้าใช้ตัวละครชายล้วนทั้งเรื่องก็คงจะ‘แข็งทื่อ’ หรือดูมีความเป็น ‘ชายแท้’ มากเกินไป นอกจากนี้ เขายังพบว่าบริบทสังคมในยุคนั้นก็ยังปกคลุมไปด้วยวัฒนธรรมที่ดูถูกเพศหญิงว่าด้อยกว่าเพศชาย ด้วยกรอบค่านิยมทางสังคมที่กำหนดบทบาทเพศหญิงว่าต้อง “อยู่กับเหย้า เฝ้ากับเรือน” ดังนั้น ตัวละคร ‘นิภา’ นักหนังสือพิมพ์เพศหญิงที่มีบทบาทสอดแทรกตัวอยู่ในโลกการทำงานของเพศชายจึงเป็นตัวละครที่เขามองว่าน่าจะสร้างสีสันทำให้เรื่องสนุก เพราะนอกจากจะสอดแทรกเนื้อหาในมิติเรื่องเสรีภาพแล้วยังมีมิติความเท่าเทียมทางเพศอีกด้วย

หากพูดถึงนักข่าวหญิงที่เป็นต้นแบบที่สะอาดเรียกได้ว่าเป็นแรงบันดาลใจให้ตัวละครนิภา ก็อย่างเช่น กรุณา บัวคำศรี และ อรพิณ ยงวัฒนา โดยมองว่าตัวละครนิภาจะให้ลุคการทำงานในโลกของผู้ชาย แต่มีมุมความเป็นเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆซ่อนอยู่ภายในจิตใจหรือมีมุมมองต่อสิ่งต่างๆที่ละเอียดลออแบบที่ชายแท้อาจจะมองไม่เห็น

การทำงานภายใต้ความกลัว และผลตอบรับที่เกินความคาดหมาย

ในการทำงานวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ สะอาดระบุว่าเป็นการทำงานที่อยู่ภายใต้กลัวอย่างมหาศาล เพราะไม่ได้มีตัวอย่างผลงานประเภทนี้ปรากฏในไทยมากนัก อีกทั้งยังพบว่าการ์ตูน 2475 Animation มักจะนำเสนอเนื้อหาโดยมีการใส่โควทคำพูดอ้างอิงเชิงประวัติศาสตร์ตลอด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเราก็ยังมีความกลัวเรื่องความถูกต้องของเนื้อหาที่มาจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมไม่ค่อยมีงานประเภทนี้ผลิตออกมา แต่สำหรับสะอาด มองว่า กราฟิกโนเวลนี้เขาและทีมงานจะนำเสนอมันในฐานะ “จินตนาการ”

เพื่อให้เรื่องเล่าประวัติศาสตร์น่าสนใจ สะอาดระบุว่าไม่อยากให้การนำเสนอดูแข็งทื่อ หรือมองคณะราษฏรในฐานะเสมือน “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งการนำเสนอในรูปแบบเรื่องแต่งโดยไม่ต้องอาศัยโควทคำพูด ตัวอย่างจากต่างประเทศก็มีให้เห็น เช่น การ์ตูนมังงะของญี่ปุ่นที่เล่าเรื่องของโชกุน หรือ ภาพยนตร์ The crown จากเกาะอังกฤษ ที่สามารถนำเสนอเนื้อหาตามจินตนาการได้อย่างอิสระ  ซึ่งเขามองว่าในสังคมไทยมันก็ควรจะทำได้ ดังนั้น การนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ในรูปแบบของกราฟิกโนเวลนอกจากจะเปิดพื้นที่ทางจินตนาการแล้ว ยังเป็นรูปแบบที่แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณผ่านผลงานของเขาและทีมงานได้ดีอีกด้วย

สำหรับผลตอบรับของวรรณกรรม สะอาดเล่าว่าเป็นไปอย่างเหนือความคาดหมาย ผู้อ่านหลายคนรู้สึกว่ามันไม่ได้มีเนื้อหาที่รุนแรง ไม่มีการนำไปประจานทำให้รู้สึกเสียหาย ถึงแม้จะเป็นการนำเสนอเรื่องการปฏิวัติ  ผู้อ่านส่วนใหญ่รู้สึกสนุกและยอมรับได้กับเนื้อหาที่ถูกนำเสนอในฐานะเรื่องแต่ง ขณะเดียวกันนักประวัติศาสตร์ที่ได้อ่านก็รู้สึกว่าไม่มีข้อคัดค้านกับวรรณกรรมชิ้นนี้ ซึ่งถ้าเราผลิตงานประเภทนี้ออกมาในบริบทสังคมไทยประชาชนเราก็อาจจะรู้สึกโอเค ส่วนในมุมมองของรัฐจะโอเคหรือไม่ ก็อาจจะยังไม่แน่ใจ แต่หากพูดในเชิงกฏหมายก็ไม่สามารถฟ้องร้องกันได้

ปลายปากกาขับเคลื่อนสังคมในฝัน

แรงผลักดันของสะอาดที่ทำให้กราฟิกโนเวลนี้สำเร็จที่นอกเหนือจากความรับผิดชอบต่อโปรเจคที่ได้รับมอบหมายแล้ว สะอาดระบุว่า ตลอดเวลา 2563-67 มานี้ เขารู้สึกผิดมาตลอดเมื่อเห็นข่าวประชาชนถูกจับเข้าคุกกันอย่างระเนระนาดในคดีที่เกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง มีผู้ประสบปัญหาต่างๆมากมาย ซึ่งเขาในฐานะพลเมืองก็รู้สึกว่าอยากทำอะไรสักอย่างให้สังคมดีขึ้น

“ผมคงไม่เหมาะกับการไปม็อบเท่ากับพยายามที่จะเขียนงานชิ้นนี้ออกมาให้ดีที่สุด อันนี่เป็นแรงผลักดันสำคัญที่จะทำให้มันเสร็จ ละเสร็จแล้วไม่พอ แม่งต้องดีแบบเชี่ยๆ สำหรับผมนะ มันต้องดีสัตว์ ๆ แบบที่ไม่เคยมีคนทำอย่างงี้ได้มาก่อน”
  
“เพราะนั่นมันคือสิ่งที่ผมพอจะทำได้ กับสิ่งที่ผมเห็นคนที่ถูกกระทำ ก็คล้ายนิภาอะมั้งที่เราก็แสวงหาความเป็นไปได้ว่า เชี่ย ปากกากูแม่งพอจะทำไรได้บ้างปะวะ และงานชิ้นนี้มันควรจะต้องเป็นหนึ่งในนั้น ก็เลยพยายามกับมันอย่างมาก”

เปรียบเทียบ ‘ความเปรี้ยว’ ของสื่อยุค 2475 กับสื่อยุคเก้าทศวรรษหลังคณะราษฏร

เมื่อพูดถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในฐานะนักสื่อสารหรือสื่อมวลชน หากเปรียบเทียบระหว่างสื่อยุคคณะราษฏร 2475 กับ ยุคปัจจุบัน (2567) สะอาดคิดว่าสื่อยุคคณะราษฏรกล้าท้าชนกับรัฐไทยมากกว่ายุคปัจจุบันมาก สังเกตได้การเขียนข่าวเชิงวิพากษ์วิจารณ์ ดูถูกที่นักข่าวยุคนั้นสามารถเขียนข่าวโดยใส่ความคิดเห็นส่วนตัวได้ และมีความเกรงกลัวน้อยกว่าปัจจุบัน แม้ว่าบริบทสังคมยุคปัจจุบันจะใช้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็ตาม

เหตุผลที่สื่อยุคคณะราษฎรมี ‘ความเปรี้ยว’กว่ายุคปัจจุบัน สะอาดอธิบายว่าเป็นเพราะนักหนังสือพิมพ์ในยุคนั้นมีเกราะป้องกันทางกฏหมาย ขณะที่บริบทสื่อยุคปัจจุบันมีความน่ากลัวกว่าตรงที่ถูกเล่นงานโดยกฏหมายกันอย่างมากมายจากทั่วสารทิศ แต่ถึงกระนั้น ก็มีข้อดีที่ว่าผู้คนยุคปัจจุบันมีความตระหนักรู้ถึงแนวคิดเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งก็สามารถปกป้องชีวิตหรือสามารถทำให้ผู้มีอำนาจฉุกคิดก่อนลงมือกระทำสิ่งที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนได้มากกว่าในยุคคณะราษฏรที่ยังไม่ค่อยมีแนวคิดแบบนี้ก่อตัวอย่างเด่นชัด

อีกเหตุผลที่สื่อยุคคณะราษฏร ‘เปรี้ยว’ กว่ายุคปัจจุบัน สะอาดระบุว่าวิธีคิดเชิงธุรกิจของสื่อสิ่งพิมพ์ในยุคนั้นค่อนข้างจะไม่กังวลเรื่องเงินในอนาคตมากเท่ากับปัจจุบัน เหตุผลที่เรายกย่อง กุหลาบ สายประดิษฐ์ ในเรื่องความกล้าของเขาในการเขียนวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา เพราะว่าค่านิยมสื่อยุคคณะราษฏรที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กมักจะเปิดและปิดกิจการได้ง่ายดายกว่าสื่อปัจจุบัน เช่น มีการดันเพดานเสรีภาพเมื่อได้รับผลกระทบ ผู้คนยุคนั้นก็จะมีแนวคิดว่ากิจการถูกปิดไปก็เปิดใหม่ได้ ประกอบกับปัจจัยในแง่ของอาชีพสื่อในยุคนั้นก็มีความยากลำบากอยู่แล้ว จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนทำอาชีพสื่อยุคนั้นมีความกล้า หรือพร้อมที่จะแลกสิทธิ์เสรีภาพส่วนตัวมากกว่าปัจจุบัน

กล่าวได้ว่าจิตวิญญาณในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในบริบทยุคณะราษฏรมีความหนักแน่น และให้เซ้นท์ของความเป็นสนามรบ หรือเป็นนักต่อสู้เผด็จการมากกว่ายุคปัจจุบัน ทั้งนี้ หากยังรวมไปถึงในแง่ของบทบาทอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer)  ที่สะอาดสังเกตว่ายุคนั้นไม่ได้มีอย่างแพร่หลายเท่าทุกวันนี้ทำให้บทบาทของนักหนังสือพิมพ์ยุคคณะราษฏรคล้ายกับ “ตัวแทนหมู่บ้าน” หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่สามารถพูดหรือต่อสู้แทนประชาชนยุคนั้น ในทางตรงข้าม สื่อยุคปัจจุบันกลับต้องวิ่งตามข้อมูลข่าวสารจากประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยที่มีช่องทางสื่อสารเป็นของตนเองบนโลกออนไลน์โดยที่สื่อไม่ต้องมีบทบาทเป็นตัวแทนกลุ่มของประชาชนเหมือนเช่นยุคคณะราษฏร

ศรัญญู: กราฟิกโนเวลอิงประวัติศาสตร์ของคนรุ่นใหม่

ศรัญญูกล่าวถึงความประทับใจหลังจากได้อ่านกราฟิกโนเวลชิ้นนี้ว่าเป็นนวนิยายภาพที่ถือเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งซึ่งก็เป็นสื่อที่น่าจะสามารถตอบสนองหรือสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ๆ ได้ ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็มีวัฒนธรรมการมอง (Visual Culture) ที่สามารถนำแนวคิดที่อยู่ในเล่มนี้ไปขยายต่อยอดในลักษณะป็อบคัลเจอร์ได้อย่างหลากหลาย เนื่องด้วยลักษณะการสร้างงานประเภทนี้มีความแตกต่างจากงานประวัติศาสตร์ทั่วไปที่ต้องผ่านกระบวนการรวบรวมและตีความหลักฐานข้อเท็จจริง แต่กราฟฟิกโนเวลจะเป็นการนำวัตถุดิบ เช่น ภาพเขียน ภาพยนตร์ ภาพถ่ายหรือสิ่งที่ผู้เขียนสนใจมาใช้เป็นองค์ประกอบในสร้างวรรณกรรม

ศรัญญูระบุว่าโดยส่วนตัวรู้สึกประทับใจกราฟิกโนเวลนี้เพราะเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ๆเชิงวัฒนธรรมในการนำเสนอเรื่องเล่าการปฏิวัติ 2475 ผ่านสายตาของคนรุ่นใหม่ขณะเดียวกันในส่วนของเนื้อหาก็ให้กลิ่นอายความเป็นงานวิชาการลอยออกมาด้วยซึ่งทำให้เขานึกถึงงานเขียนเรื่องการปฏิวัติสยาม 2475 โดยอาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และจากประสบการณ์ของเขาที่ได้เคยอ่านเอกสารเกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 มาจำนวนมาก ก็รู้สึกประทับใจที่เอกสารเหล่านั้นถูกนำเสนอในรูปแบบของภาพที่ทำให้ผู้อ่านเห็นถึงบรรยากาศสภาพปัญหาของชาวนาว่าเป็นอย่างไร และมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจบ้างในยุคนั้น

รวมไปถึงโควทคำพูดจากเอกสารฏีกา ที่ศรัญูเล่าว่าเขารู้สึกคุ้นซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้เขียนลงทุนลงแรงอย่างหนักในการทบทวนงานวิชาการ เอกสารชั้นต้น หนังสือพิมพ์เก่า วรรณกรรมเก่า ฏีกา ซึ่งหายากมาก ทั้งยังสอดแทรกเกร็ดความรู้ที่เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับบรรดาคณะผู้ก่อการปฏิวัติไว้ด้วยซึ่งก็มีความยากระดับนึงในการเล่าเรื่องที่ต้องใช้จินตนาการขั้นสูงที่ฝั่งอนุรักษ์นิยมคงไม่สามารถทำได้

“ มันเป็นการเปิดพื้นที่งานสร้างสรรค์ใหม่ๆ เอาจริงๆผมพูดง่ายๆเลย พวกอนุรักษ์นิยมเขาไม่มีปัญญาทำหรอก เพราะมันไม่มีประเด็นเรื่องของความสร้างสรรค์ มันมีกรอบอะไรบางอย่างในการคิด ในการที่จะมาสร้างสรรค์งานอะไรบางอย่าง” ศรัญญูกล่าว

สนธิสัญญาเบาวริง หนึ่งในปัจจัยความ “ปากแจ๋ว” ของสื่อยุค 2475

ศรัญญูกล่าวถึงข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์โดยระบุว่าสื่อกระแสหลักในยุคคณะราษฏรมีแค่หนังสือพิมพ์ กับสื่อวิทยุกระจายเสียงซึ่งมักถูกควบคุมโดยรัฐบาล ดังนั้น สื่อหนังสือพิมพ์หรือกลุ่มงานนิตยสาร และวรรณกรรมที่เล่าเรื่องราวที่สะท้อนสังคมก็จะมีอยู่อย่างแพร่หลายมาก โดย ศรัญญูเล่าต่อไปว่าเหตุผลที่ทำให้สื่อหนังสือพิมพ์ในยุคนั้นสามารถวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาหรือบางครั้งก็พาดหัวข่าวด้วยเนื้อหาที่ดุดัน เพราะว่าในแง่หนึ่งประเทศสยามเคยเสียเอกราชทางการศาล กล่าวคือไม่มีสมดุลทางการศาลตั้งแต่หลังจากทำสนธิสัญญาเบาวริง เมื่อพุทธศักราช 2398

ศรัญญูอธิบายเพิ่มเติมว่าสนธิสัญญาดังกล่าว หากชาวต่างชาติเป็นผู้กระทำผิดในประเทศสยามก็ไม่ต้องขึ้นตรงต่อศาลที่ประเทศสยาม แต่จะไปขึ้นศาลหรือดำเนินคดีตามกฏหมายในต่างประเทศแทน ส่งผลให้สื่อหนังสือพิมพ์ในยุคนั้นสามารถใช้ช่องโหว่ทางกฏหมายด้วยการไปสมัครเป็นเจ้าของกิจการของต่างชาติ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส หากมีคดีก็ไม่ต้องขึ้นศาลในประเทศไทยจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสื่อหนังสือพิมพ์ยุคนั้นสามารถเขียนวิจารณ์รัฐบาลยุคสมบูรณายาสิทธิราชได้อย่างรุนแรงถึงขั้นที่ในหลวงรัชกาลที่ 6 จัดตั้งหนังสือพิมพ์ที่มาจากทางราชการเพื่อมาตอบโต้กับสื่อสำนักพิมพ์ฝั่งตรงข้าม

ศรัญญูเล่าต่อไปว่าเมื่อเข้าสู่ยุคสมัยรัชกาลที่ 7 สยามก็ประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจที่ข้าวยากหมากแพง ประชาชนชาวนาต้องเสียภาษีราคาแพง ขณะที่ราคาข้าวตกต่ำ บรรดาข้าราชการระดับกลางและระดับล่างถูกปลดออก เนื่องด้วยนโยบายของรัฐที่ต้องการสร้างสมดุลทางการเงิน แต่ข้าราชการระดับสูงที่ส่วนใหญ่เป็นเจ้านายและขุนนางกลับไม่ถูกปลดจึงนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์บนสื่อหนังสือพิมพ์

ศรัญญูเล่าต่อไปว่าเมื่อมีการวิจารณ์ รัฐบาลระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็พยายามควบคุมสื่อหนังสือพิมพ์ด้วยการใช้เงิน เช่น เงินจากพระคลังข้างที่ซื้อกิจการเพื่อให้เสียงวิจารณ์เบาบางลง  รวมไปถึงมีท่าทีการปฏิบัติต่อสื่อหนังสือพิมพ์ต่างๆ ที่ไม่เท่าเทียมกันด้วย เช่น หนังสือพิมพ์ที่ไม่วิจารณ์รัฐบาลก็จะได้จดหมายน้อย ส่วนหนังสือพิมพ์ที่ปากแจ๋วก็จะไม่ได้จดหมายน้อย ซึ่งเนื้อหาดังกล่าวก็ปรากฎอยู่ในกราฟิกโนเวลชิ้นนี้ที่นำเสนอสภาพปัญหาสังคมและบทบาทของปัญญาชนนอกระบบราชการที่ประกอบอาชีพนักเขียนหนังสือพิมพ์ มีความกล้าคิด กล้าฝันถึงการเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณรยาสิทธิราชที่มีปัญหาในยุคนั้น

บทบาทของผู้หญิงในโลกการทำงานของผู้ชายยุคคณะราษฏร

ศรัญญูกล่าวเสริมว่าหากพูดถึงตัวละครนิภาที่เป็นนักหนังสือพิมพ์หญิงในยุคคณะราษฏรพบว่ามีบทบาทของผู้หญิงที่ทำงานหรือแทรกตัวปะปนอยู่ในโลกการทำงานของผู้ชายอยู่จริงตามข้อค้นพบทางประวัติศาสตร์ โดยตั้งแต่สมัยช่วงปี 2460 -70 พบว่าอาชีพของคนหนุ่มสาวในยุคนั้นส่วนใหญ่จะเข้าสู่ระบบราชการ บางส่วนประกอบอาชีพชนชั้นกลางเช่นค้าขาย และบางส่วนก็เป็นนักเขียนอิสระซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของโรงเรียนหรือระบบการศึกษา

ศรัญญูเล่าว่าแม้ในอดีตโลกของการเขียนจะเป็นของผู้ชาย แต่ทว่าบทบาทของนักเขียนผู้หญิง จริงๆแล้วเริ่มมีมาตั้งแต่ช่วงปี 2460 สมัยรัชกาลที่ 6 โดยผู้หญิงที่เป็นนักเขียนกลุ่มแรกส่วนใหญ่พบว่าเป็นกลุ่มชนชั้นอีลีท หรือชนชั้นสูง เช่น พระนางลักษมีลาวัณ, ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ (แม่ครัวหัวป่าก์), หม่อมเจ้ามารยาตรกัญญาดิศกุล และลูกสาวของเซียวฮุดเส็ง สีบุญเรืองที่ช่วยพ่อของเธอทำกิจการหนังสือพิมพ์ที่ชื่อว่าจีนโนสยามวารศัพท์

กระทั่งเข้าสู่ยุครัชกาลที่ 7  ศรัญญูเล่าต่อไปว่าในปี 2470 เกิดเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนแปลงคือมีการรวมกลุ่มบรรดาเพื่อนนักเขียนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า “คณะสุภาพบุรุษ” มีการนำเสนอเรื่องสั้นหรือวรรณกรรมแนวทดลองที่มีพื้นฐานมาจากยุคก่อนหน้าซึ่งจะเป็นงานเขียนประเภทร้อยแก้ว ร้อยกรองแต่จะมีเนื้อหาเชิงวิจารณ์วัฒนธรรมของชนชั้นสูง ความเสื่อมของชนชั้นสูง เช่น ค่านิยมผัวเดียวหลายเมีย วัฒนธรรมคลุมถุงชน ว่าด้วยสิทธิสตรี รวมไปถึงค่านิยมการเปลี่ยนสถานะทางสังคมผ่านการศึกษาหาความรู้ และการต่อต้านเรื่องชนชั้นและชาติกำเนิดซึ่งก็สะท้อนบรรยากาศที่กราฟิกโนเวลชิ้นนี้ได้ใส่รายละเอียดลงไปด้วย

ศรัญญูเล่าด้วยว่าในปี 2470 เป็นต้นมางานเขียนของผู้หญิงในรูปแบบของเรื่องสั้น เช่น ดอกไม้สด, ก.สุรางคนางค์, น.ประภาสถิต ก็ไปปรากฏแทรกตัวตามหนังสือพิมพ์ต่างๆ เช่น ไทยเกษม, ศรีกรุง, วิทยาจารย์ เป็นต้น  มีการเปิดพื้นที่ใหม่ๆ สำหรับนักประพันธ์หญิง นักแปลหญิง ตลอดจนมีนิตยสารสำหรับผู้หญิงที่เขียนโดยผู้หญิงเองแล้วจากเดิมที่เคยเขียนโดยผู้ชาย ขณะเดียวกันแม้แต่คณะสุภาพบุรุษเองก็มีสมาชิกที่เป็นนักเขียนผู้หญิงด้วย ศรัญญูระบุว่าจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์พบว่าบทบาทผู้หญิงกับงานเขียนสื่อประเภทหนังสือพิมพ์อาจยังไม่ค่อยชัดมาก แต่จะปรากฏให้เห็นชัดในช่วงยุคการปฏิวัติ 2475 มาแล้ว เช่น สื่อหนังสือพิมพ์ประชาชาติ

เสียงของคนธรรมดากับการอภิวัฒน์สยาม

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนคนธรรมดาในยุคการปฏิวัติ 2475 ศรัญญูระบุว่าความคิดเห็นของราษฏรจะสะท้อนให้เห็นผ่านฏีกาที่ทูลเกล้าถวายในหลวงรัชกาลที่ 7 ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องภาษีและความเดือดร้อนจากการดำเนินนโยบายต่างๆโดยรัฐ เช่น เก็บภาษีอากร ถ้าไม่มีเงินจ่ายภาษีก็จะถูกบังคับให้ขายที่ดิน หรือบังคับใช้แรงงาน ซึ่งก็เห็นถึงทัศนคติของชนชั้นสูงด้วยนอกจากนี้ ก็มีเรื่องภาษีรัชชูประการ ที่บังคับให้ทุกคนต้องเสีย แต่ชนชั้นสูงกลับไม่ต้องเสียภาษีซึ่งนำไปสู่การวิจารณ์อย่างหนักผ่านหนังสือพิมพ์และบทความมนุษยภาพ ที่เขียนโดยกุหลาบ สายระดิษฐ์ที่มีการวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาจนส่งผลให้กิจการหนังสือพิมพ์ของเขาถูกปิด และถูกนำโซ่มาล่ามล็อกแท่นพิมพ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศความอัตคัต ฝืดเคืองในยุคสมัยนั้น


ทั้งนี้ ศรัญญูอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่าภาษีรัชชูประการ (Poll tax) คือภาษีภายใต้โครงสร้างระบบศักดินาที่แต่เดิมเคยเก็บส่วยจากไพร่ แม้จะจะมีการยกเลิกระบบไพร่เข้าสู่ระบบรัฐสมัยใหม่แล้ว แต่สุดท้ายก็ยังมีการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างราษฏรกับพระมหากษัตริย์ผ่านภาษีรัชชูประการซึ่งส่วนหนึ่งก็สร้างรายได้ให้กับรัฐจำนวนมากกระทั่งมีเสียงวิจารณ์มาเป็นเวลานานพอสมควรจนกระทั่งนำไปสู่การปฏิรูประบบโครงสร้างภาษีใหม่ที่เรียกว่า ภาษีประมวลรัษฎากร

อีกประเด็นที่น่าสนใจในกราฟิกโนเวลเล่มนี้ ศรัญญูระบุว่าเราจะได้เห็นถึงภาพคณะราษฏรที่ส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นข้าราชการและกลุ่มนักเรียนนอก แต่ทว่าคณะราษฏรยังมีสมาชิกอีกกลุ่มที่เป็นชาวบ้านหรือฝ่ายพลเรือนด้วย เช่น ประชาชนจากบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา และตระกูลตุลารักษ์ เช่น สงวน ตุลารักษ์ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชาชนเชื้อสายจีนมาเข้าร่วมก่อการปฏิวัติในสายของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์อย่างกระตือรือร้น

ก่อนจบเสวนา ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับบริบทปัจจุบันในปี 2567 ที่มีการบังคับใช้กฏหมายดำเนินคดีกับประชาชนผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองกับข้อเสนอแคมเปญกฏหมายนิรโทษกรรมประชาชน โดยสรุปทั้งสะอาดและศรัญญูมีความคิดเห็นที่ตรงกันว่าเรื่องที่น่าเศร้าที่ประเทศเราทุกวันนี้ยังมีนักโทษทางการเมืองที่ถูกจับเข้าคุกเพียงเพราะใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งไม่ใช่คดีอาชญากรรรมด้วยซ้ำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคุกไม่ได้มีเอาไว้ขังคนผิด แต่ถูกนำมาใช้เป็นหนึ่งในกระบวนการทำให้คนเงียบโดยรัฐ  

การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองควรจะเป็นสิทธิเสรีภาพที่พึงกระทำได้ ดังนั้นแคมเปญผลักดันกฏหมายนิรโทษกรรมประชาชนจึงเป็นแคมเปญที่มีความสำคัญในแง่ของการสร้างความตระหนักรู้ในสังคมถึงนักโทษทางการเมืองหรือนักโทษทางความคิด เพื่อให้ผู้ถูกขังในคดีทางการเมืองไม่ต้องสู้อยู่อย่างเดียวดาย ซึ่งก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากฏหมายนิรโทษกรรมประชาชนจะผ่านรัฐสภา พลิกฟื้นให้ประเทศไทยกลายเป็นสังคมไทยที่มีอารยะดังเช่นประเทศอื่น

เรื่องโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์

ภาพโดย ไอลอว์