Skip to main content

8 มีนาคม 2567 วันสตรีสากล กลุ่มผู้ใช้แรงงานราวสี่สิบคนรวมตัวกันที่ซอยพิษณุโลก 7 ก่อนเดินเท้าไปปราศรัยและยื่นข้อเรียกร้องถึงตัวแทนรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล โดยกลุ่มผู้ใช้แรงงานและนักกิจกรรมที่มาร่วมการเดินขบวนในวันนี้มาจาก สหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กลุ่มทำทาง และสหภาพคนทำงาน เป็นต้น ในวันนี้ยังมีผู้ใช้แรงงานจากบริษัท Fosera ที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับเงินชดเชยส่วนหนึ่งมาร่วมเดินขบวนและยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเยียวยาปัญหาด้วย

กลุ่มผู้ใช้แรงงานรวมตัวกันที่ซอยพิษณุโลก 7 ตั้งแต่ก่อน 9.00 น. ก่อนจะเริ่มตั้งขบวนและเริ่มเดินเท้ามุ่งหน้าไปทำเนียบรัฐบาลในเวลาประมาณ 9 นาฬิกาเศษ โดยระหว่างทางมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรคอยดูแลความปลอดภัยในการเดินขบวนให้ กลุ่มผู้ใช้แรงงานเดินเท้ามาถึงบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐในเวลาประมาณ 9.30 น. โดยบนบริเวณสะพานมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแนวรั้วปิดถนนพิษณุโลกทั้งสองฝั่งไม่ให้ผู้ร่วมเดินขบวน เดินไปถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล และผู้ร่วมเดินขบวนจึงต้องทำการปราศรัยที่บริเวณแนวรั้วของเจ้าหน้าที่ จากนั้นตัวแทนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้ผลัดกันขึ้นปราศรัยถึงประเด็นปัญหาต่างๆของแรงงานหญิง เช่น

พูดถึงข้อเรียกร้องให้เพิ่มวันลาคลอดเป็น 180 วัน และให้คู่สมรสสามารถลาเพื่อดูแลภรรยาและเด็กแรกคลอดโดยได้รับเงินเดือนเป็นเวลา 30 วัน เพื่อให้เด็กที่เกิดมาได้รับการดูแลที่ดีซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ นอกจากประเด็นขยายวันลาคลอด ก็มีการปราศรัยถึงประเด็นอื่นๆ เช่น สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์หรือการทำแท้ง สิทธิของผู้ให้บริการทางเพศ และสวัสดิการผ้าอนามัยเป็นต้น ตอนหนึ่งของการปราศรัยตัวแทนจากองค์กรสังคมนิยมแรงงาน ได้ระบุว่าในวันนี้นอกจากจะต้องยื่นข้อเรียกร้องด้านสิทธิของผู้หญิงและสิทธิของผู้ใช้แรงงานต่อภาครัฐแล้วการพูดถึงปัญหาทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นผู้ต้องขังทางการเมือง และการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนก็เป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่ไปด้วย ขณะที่เซีย จำปาทอง ส.ส.พรรคก้าวไกลได้มาขึ้นปราศรัยด้วยโดยตอนหนึ่งเซียระบุว่า แนวรั้วที่ถูกนำมากั้นที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในวันนี้ก็เป็นรั้วเดียวกับที่พล.อ.ประยุทธ์เคยนำมาใช้กั้นผู้ใช้แรงงานที่มาเดินขบวนในช่วงรัฐประหาร ซึ่งการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกลักษณะนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเช่นนี้

ในเวลาประมาณ 11.00 น. สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ออกมารับหนังสือข้อเรียกร้องจากกลุ่มผู้ใช้แรงงาน

สำหรับหนังสือ ข้อเรียกร้องเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ เนื่องในวันสตรีสากล ปี 2567 ของเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ร่วมกับกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง และองค์กรภาคี ระบุข้อเรียกร้องรวม 6 ข้อ ได้แก่

1. เร่งรัดให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทุกภาคส่วนจัดทำแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อปกป้องคุ้มครองผู้หญิง เด็ก บุคคลในครอบครัว และบุคคลเพศหลากหลายให้ปลอดภัยจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ
2. รัฐบาลต้องแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง
3. สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องจัดให้มีหน่วยพิเศษรองรับการดำเนินคดีความรุนแรงต่อผู้หญิง เด็ก บุคคลในครอบครัว และบุคคลเพศหลากหลายโดยเฉพาะ และจัดให้มีพนักงานสอบสวนหญิงอย่างน้อยทุกอำเภอทั้วประเทศ
4. หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในการปกป้องคุ้มครองผู้หญิง เด็ก บุคคลในครอบครัว และบุคคลเพศหลากหลายต้องเก็บสถิติเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศในระดับประเทศอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
5. รัฐบาลต้องผลักดันกฏมายสมรสเท่าเทียม กฏหมายรับรองเพศสภาพ กฏหมายที่ขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ และกฏหมายพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539
6. ยกเลิกโทษทางอาญากับบุคลที่ยุติการตั้งครรภ์นอกเงื่อนไขกฏหมายและจัดให้มีสถานบริการยุติการตั้งครรภ์โดยรัฐอย่างปลอดภัย และมีบริการคุมกำเนิดโดยเคารพสิทธิมนุษย์ชนของผู้รับบริการ



สำหรับผู้ใช้แรงงาน บริษัท Fosera ที่ถูกเลิกจ้างให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีปัญหาของพวกเขาไว้โดยสรุปได้ว่า บริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับแบตเตอรี อุปกรณ์โซลาร์เซล มีบริษัทแม่อยู่ที่ประเทศเยอรมนี และบริษัทแม่เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทลูกที่เมืองไทย 99% สำหรับผู้บริหารของบริษัทลูกที่ประเทศไทยมีกรรมการสองคนได้แก่กรรมการชาวเยอรมันซึ่งจะเดินทางมาประเทศไทยเป็นครั้งคราว และกรรมการคนไทย โดยกรรมการคนดังกล่าวมีสถานะเป็นทั้งผู้ถือหุ้นบริษัท และเป็นผู้จัดการทั่วไปด้วย เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 กรรมการและผู้จัดการชาวไทยเรียกพนักงานมาประชุมและแจ้งว่าอาจจะต้องปิดบริษัท ก่อนที่กลางเดือนกุมภาพันธ์จะแจ้งกับพนักงานว่าน่าจะไม่ต้องปิดกิจการแล้ว แต่กลายเป็นว่าพอถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์โรงงานก็ถูกปิดโดยที่พนักงานกว่าห้าสิบคนไม่ได้เงินชดเชยตามกฎหมาย

ทางพนักงานที่ถูกเลิกจ้างจึงไปยื่นเรื่องกับทั้งประกันสังคมจังหวัดปทุมธานีและสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี ซึ่งทางหน่อยราชการก็มีคำสั่งให้ทางบริษัทนายจ้างจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เนื่องจากกรรมการและผู้จัดการได้ลาออกจากสถานะกรรมการบริษัทตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์คงเหลือสถานะเพียงผู้ถือหุ้นและผู้จัดการบริษัทซึ่งมีสถานะเป็นลูกจ้างคนหนึ่งของบริษัท ขณะที่กรรมการบริษัทชาวเยอรมันก็ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย จึงเป็นเรื่องยากที่ทางลูกจ้างจะติดตามเงินชดเชยได้ วันนี้จึงมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐจ่ายเงินเยียวยาให้กับลูกจ้างที่ต้องสูญเสียรายได้เป็นการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แล้วจากนั้นทางภาครัฐจึงค่อยไปติดตามดำเนินการกับทางบริษัทต่อไป สำหรับกรณีที่ผู้จัดการชาวไทยลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท ทางลูกจ้างที่ให้ข้อมูลระบุว่า เข้าใจว่าลูกจ้างบางคนก็ทราบเรื่องแต่คงไม่ทราบกันทั้งหมด

ไฟล์แนบ