Skip to main content

12 กุมภาพันธ์ ตำรวจนำกำลังเข้าจับกุม ณัฐพล เมฆโสภณ หรือ 'เป้' ผู้สื่อข่าวประชาไทและณัฐพล พันธ์พงษ์สานน หรือ "ยา" ช่างภาพอิสระ ทั้งสองถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนการก่อเหตุฉีดสเปรย์สัญลักษณ์ลัทธิอนาธิปไตยและตัวเลข 112 พร้อมเครื่องหมายขีดฆ่าบนรั้วพระบรมมหาราชวังในวันที่ 28 มีนาคม 2566 โดยมีข้อน่าสังเกตว่า กว่าที่ทั้งสองจะถูกจับกุมก็เป็นเวลาเกือบหนึ่งปีหลังเหตุการณ์ หากนับจากวันเกิดเหตุจนถึงวันจับกุมทั้งเป้และยาต่างก็ใช้ชีวิตและทำงานไปตามปกติไม่ได้หลบหนีจึงมีข้อน่าสงสัยว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่จึงไม่ออกหมายเรียกผู้ต้องหาให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาก่อน และที่สำคัญหากมีความจำเป็นเร่งด้วนให้ต้องจับกุม เหตุใดเจ้าหน้าที่จึงทิ้งเวลาเนิ่นช้ามานานเกือบปีจึงค่อยทำการจับกุม คำถามเหล่านี้เป็นได้เพียงข้อสังเกตและข้อสงสัยที่ไม่มีคำตอบจากเจ้าหน้าที่ 

เทวฤทธิ์ มณีฉาย: ประชาไท สื่อทางเลือกในกระแสความขัดแย้งแห่งยุคสมัย 

 เทวฤทธิ์ มณีฉาย หรือ บัส บรรณาธิการบริหารประชาไท ผู้เป็นเสมือน "ลูกหม้อ" ที่อยู่โยงยาวกับสำนักข่าวแห่งนี้ในฐานะพนักงานประจำปี 2555 และหากนับเป็นนักข่าวพลเมืองก็ตั้งแต่ปี 2552 เล่าว่าเป้าหมายของประชาไทคือการสื่อสารและนำเสนอประเด็นปัญหาที่สื่อกระแสหลักไม่นำเสนอ ประชาไทจึงเข้าไปอยู่ในท่ามกลางความขัดแย้งมาในหลายยุคหลา่ยสมัย รวมทั้งยังเคยตกเป็นเป้าโจมตีจากทั้งผู้มีอำนาจและกองเชียร์ของรัฐบาลหลายๆรัฐบาล แม้ว่าอุดมการณ์และความเชื่อทางการเมืองของพวกเขาเหล่านั้นจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงก็ตาม 

"การคุกคามเคสแรกๆคงต้องย่อนไปสมัยปี 47 ที่มีเหตุการณ์ตากใบ ตอนนั้นประชาไทเป็นสำนักข่าวแรกๆที่รายงานเรื่องนี้ในมิติที่แตกต่างออกไปจากสื่ออื่น ก็เลยตกเป็นเป้าโจมตีทั้งจากฝ่ายคนในรัฐบาลซึ่งสมัยนั้นเป็นรัฐบาลคุณทักษิณ รวมทั้งผู้สนับสนุนรัฐบาลคุณทักษิณ" 

"มาถึงช่วงที่มีเหตุการณ์ปี 53 ประชาไทก็ถูกเพ่งเล็งจากผู้มีอำนาจอีกฝั่งหนึ่ง จนกกระทั่งช่วงที่มีการปราบปรามคนเสื้อแดงในปี 2553 ประชาไทก็มาถูกศอฉ. (ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน) สั่งปิด ซึ่งทางเราก็พยายามต่อสู้กับกรณีนี้ด้วยการฟ้องคดีแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายจากการถูกปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์แต่สุดท้ายก็แพ้คดีเพราะศาลเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทำไปตามกฎหมาย" 

"มาถึงช่วงปี 56 ที่มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อหลากสีที่ไทยพีบีเอสเพื่อประท้วงรายการตอบโจทย์ประเทศไทยที่ชวนสศจ (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล) กับส.ศิวรักษ์ (สุลักษณ์ ศิวรักษ์) ตัวผมเองเคยไปทำข่าวการชุมนุมด้วยและแสดงตัวชัดเจนว่ามาทำข่าวจากประชาไท แต่ปรากฎว่าคนในที่ชุมนุมซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับทักษิณระแวงว่าผมจะมาสอดแนมก็มีการพูดต่อๆกันไปจนผมรู้สึกกังวลในความปลอดภัย โชคยังดีที่มีพี่นักข่าวไทยพีบีเอสที่รู้จักเขาก็ช่วยพาผมออกมาในที่ปลอดภัย" 

เทวฤทธิ์ กล่าว พร้อมระบุว่าหลังรัฐประหาร 57 เพียงไม่กี่วันเขาก็ถูกคำสั่ง คสช.เรียกรายงานตัว ถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายทหาร 3 วัน 2 คืน มีกระบวนการสอบสวนที่ไม่ได้สิทธิทางกฎหมาย และการปล่อยตัวก็ต้องลงลายมือชื่อเพื่อรับกับ MOU ที่มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิต อีกทั้งตลอดเวลารัฐบาล คสช.ก็จะมีเจ้าหน้าที่ทหารมาติดตามที่บ้านต่างจังหวัดและที่ทำงานเป็นระยะ 

"ถ้าถามว่ามีเหตุการณ์ครั้งไหนที่นักข่าวของประชาไทถูกคุกคามบ้างก็ต้องบอกว่ามีหลายกรณีเลย กรณีที่นักข่าวของเราถูกจับหลังจากติดรถแหล่งข่าวไปทำข่าวประชาชนถูกดำเนินคดีจากการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่อำเภอบ้านโป่ง ราชบุรี ในปี 2559 ซึ่งครั้งนั้นนักข่าวของเราถูกขังในห้องขังตำรวจหนึ่งคืนแล้วก็ต้องเข้าสู่กระบวนการต่อสู้คดี จนสุดท้ายก็ชนะคดี"  
"มาถึงปี 2563 - 2564 ที่มีการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาและผู้ชุมนุมราษฎร ประชาไทก็ส่งนักข่าวไปสังเกตการณ์และทำข่าวการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง จนมีนักข่าวของเราถูกคุกคามในสนามอย่างน้อยสองกรณี กรณีแรกคือกรณีของคุณกิตติ พันธภาค อดีตนักข่าวที่ถูกจับระหว่างกำลัง Live เหตุการณ์หลังการสลายการชุมนุมในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่ใต้บีทีเอสสยาม ซึ่งครั้งนั้นคุณกิตติก็กำลังปฏิบัติหน้าที่ ติดบัตรแสดงตัวชัดเจนแต่ก็ถูกจับ นอกจากนั้นก็มีกรณีของคุณศรายุทธ ตั้งประเสริฐ ที่ถูกยิงด้วยกระสุนยางเข้าจุดสำคัญระหว่างรายงานสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม Redem ในวันที่ 20 มีนาคม 2564 ซึ่งถ้าวันนั้นกระสุนที่ยิงไม่ใช่กระสุนยางคุณกุ้ย (ศรายุทธ ตั้งประเสริฐ) น่าจะบาดเจ็บสาหัสหรืออาจจะถึงขั้นเสียชีวิตได้" 

“ถ้ามองในภาพรวม ประชาไทน่าจะเป็นสำนักข่าวที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งมาหลายสมัย ตั้งแต่เหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงรัฐบาลทักษิณ ความขัดแย้งการเมืองเหลืองแดง การรัฐประหาร กระทั่งความขัดแย้งทางการเมืองระลอกล่าสุด" 

"ในมุมหนึ่งถ้าพูดถึงประโยค Journalist is not a crime มุมหนึ่งสิ่งที่เราทำมันอาจจะเป็น อาชญากรรม (crime) ก็ได้นะ เพราะบางทีการเปิดโปงอำนาจรัฐ หรือการฉายภาพความอยุติธรรมในสังคม มันก็ถูกมองโดยผู้มีอำนาจว่าเป็นอาชญากรรมไปเพราะมันได้ไปทำลายความชอบธรรมหรือความศักดิ์สิทธิของผู้มีอำนาจ”

“ถ้าจะประมวลความรุนแรงที่นักข่าวของประชาไทเคยเผชิญมาในภาพรวม ก็อาจแยกได้ 3 ระดับ คือ 1. ระดับที่เป็นทางกายภาพ เช่น การยิงด้วยกระสุนยาง การข่มขู่ การจับกุม หรือการทำร้ายร่างกาย 2. ความรุนแรงจากการใช้กฎหมายในการดำเนินคดี การปิดกั้นเปิดเว็บไซต์ การตัดงบประมาณในการสนับสนุน 3. ความรุนแรงผ่านการลดทอนคุณค่า เช่น การตีตราว่าเป็นสื่อเทียม สื่อล้มเจ้า สื่อเสื้อแดง สื่อทักษิณ หรือสื่อส้ม จนถึงกระแสสังคมที่จัดเอาคุณค่าของเสรีภาพสื่อไว้ในลิสต์ความสำคัญในลำดับท้ายๆ หรือไม่บรรจุในคุณค่าที่สังคมยึดถือ สามารถละเว้นได้หากเกิดความขัดแย้งกับคุณค่าหรือสถาบันอื่นๆ ที่สังคมการเมืองและผู้มีอำนาจเน้นหรือยกย่องขึ้นมาเป็นต้น”

“อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผมพอจะยืนยันได้ก็คือในท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง ประชาไทยังคงยึดหลักในการนำเสนอข่าวด้วยข้อเท็จจริงมาตลอด ซึ่งส่งผลให้เราสามารถทำงานอย่างต่อเนื่องมาได้เกือบ 20 ปีแล้ว ซึ่งหากเราทำงานโดยมีวาระซ่อนเร้น เราน่าจะไม่สามารถยืนหยัดทำงานมาได้จนถึงวันนี้

ณัฐพล เมฆโสภณ: เมื่อนักข่าวถูกจับราวกับเป็นอาชญากร

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ควรจะเป็นวันธรรมดาวันหนึ่งในชีวิตของ ณัฐพล เมฆโสภณ หรือเป้ ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวประชาไท ในวันนั้นเป้ไม่ได้เข้าสำนักงานเพราะตั้งใจว่าหลังเข้าประชุมออนไลน์กับที่สำนักงานแล้วเขาจะไปสัมภาษณ์แหล่งข่าวที่จังหวัดสมุทรปราการ ทว่าสุดท้ายเขาก็ไม่ได้พบแหล่งข่าวตามนัดเพราะตัวเขากลายมาเป็นข่าวเสียเองเมื่อตำรวจนอกเครื่องแบบราว 4 นายเข้าจับกุมตัวเป้บริเวณละแวกบ้าน ของเขา คนในครอบครัวของเป้ที่อยู่ที่บ้านพอรู้เรื่องต่างก็ตกใจกับเหตุการณ์ที่ลูกหลานของพวกเขาถูกเจ้าหน้าที่บุกจับราวกับไปก่ออาชญากรรมร้ายแรง 

“วันที่ถูกจับมันก็วันธรรมดาวันหนึ่งเลย วันนั้นที่ออฟฟิศมีประชุม ผมเข้าประชุมออนไลน์ด้วยแต่ต้องขอออกกลางคัน เนื่องจากจะไปสัมภาษณ์แหล่งข่าวที่สมุทรปราการ จากนั้น ผมก็นั่งรถไปกับพ่อ เพื่อให้ไปที่ส่งตรงจุดหมาย แต่ขณะที่นั่งรถออกมาได้ไม่นาน ยังไม่ทันออกจากซอยบ้านของผม ก็มีตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 4 คน ดักรออยู่บริเวณข้างบ้านของเพื่อนบ้าน พอ ตร.เห็นรถผมกำลังจะไป เขาก็มาเคาะกระจกรถ เราก็ลดกระจกลงเพื่อคุย ตำรวจก็ถามว่าเราเป็นบุคคลตามหมายจับหรือไม่ พอเราแจ้งไปว่าชื่อเราที่ระบุบนหมายจับเป็นชื่อเราจริงๆ ตร.ก็ให้เราลงจากรถ และอ่านหมายจับให้ฟัง ตอนนั้น ก็มีคนในครอบครัวผมคือคุณพ่อกับป้าที่อยู่กับผมตลอดกระบวนการตั้งแต่อ่านหมายจับ”

“ผมคิดว่าพ่อผมและญาติของผมคงตกใจที่มีตำรวจมาจับผม เป็นหมายจับเลย เพราะก่อนหน้านี้ผมไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน”

“หลังถูกจับ ผมก็ถูกเอาตัวไปที่สน.พระราชวัง ระหว่างทางที่ไปผมแอบคิดเหมือนกันว่าทำไมตำรวจต้อง ’เล่นใหญ่‘ กับกรณีของผม ไม่ว่าจะเป็นการวิทยุขอรถนำขบวน หรือการจัดกำลังตำรวจที่หน้าสน.พระราชวังราวกับผมเป็นผู้ร้ายคนสำคัญ”

เป้ถูกนำตัวไปทึ่สน.พระราชวังก่อนเพื่อดำเนินกระบวนการเกี่ยวกับการจับกุม จากนั้นจึงถูกเอาไปขังข้ามคืนที่สน.ฉลองกรุงซึ่งอยู่ห่างออกไปมาก จากการสืบค้นบน google map พบว่าสน.ฉลองกรุงอยู่ที่เขตมีนบุรีซึ่งอยู่ห่างจากสน.พระราชวังผู้รับผิดชอบท้องที่เกิดเหตุออกไปราว 42 กิโลเมตร

“ผมคงไม่สามารถพูดถึงรายละเอียดของคดีได้ในเวลานี้ แต่กรณีของผมมีข้อน่าสังเกตหลายเรื่องเลย อย่างแรกหมายจับ ออกมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 แต่ตำรวจเพิ่งมาจับเอาตอนนี้ ทัั้งๆที่ตัวผมเองก็ใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ได้หนีไปไหน ทำไมถึงไม่จับตั้งแต่ก่อนหน้านั้น ประการต่อมาคือเรื่องสถานที่คุมขัง ท้องที่เกิดเหตุมันอยู่ในความรับผิดชอบของสน.พระราชวัง แต่ตำรวจกลับเอาผมไปขังเพื่อรอไปศาลที่สน.ฉลองกรุงซึ่งอยู่ห่างออกไปมาก ก็ไม่รู้ว่าเพื่ออะไร“

“ทีนี้พอมาถึงวันที่ถูกเอาตัวไปศาล ทางทนายความก็แถลงว่าจะขอให้มีการไต่สวนเพื่อคัดค้านคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนแต่ศาลก็ไม่ได้ให้ไต่สวน ทางทนายเลยทำได้แค่ยื่นประกันตัวเท่านั้น“

“เรื่องหลักฐานภาพที่มีสื่อเอามาเผยแพร่กัน ผมเองเพิ่งมาเห็นภายหลัง ผมไปทำข่าวกิจกรรมยืน หยุด ขัง บริเวณนั้นอยู่แล้ว ซึ่งมีคนอื่นๆ อยู่ด้วยอีกหลายคน และปกติเวลาอยู่หน้างานนักข่าวก็จะคุยกับนักกิจกรรมหรือแหล่งข่าวอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ”สำหรับการรายงานข่าวการพ่นสี ก็เป็นการไปตามหมายที่ผมได้รับแจ้งจากที่ทำงานว่าจะมีนักกิจกรรมไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์”

“สำหรับเรื่องทางคดีผมก็จะต่อสู้ถึงที่สุดตามสิทธิที่มี ถามว่าผมมั่นใจในการต่อสู้คดีไหม ผมขอตอบแบบนี้ละกันว่า ผมยืนยันในการกระทำของตัวเองว่าเป็นเพียงการไปทำงานในฐานะผู้สื่อข่าวที่ต้องรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ได้สนับสนุนหรือมีความเห็น เห็นด้วยไม่เห็นด้วยแต่อย่างใด ผมยืนยันในความบริสุทธิ์ของตัวเอง แต่ผมคงปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่าก็มีความกังวลอยู่เพราะตัวผมเองก็ทำข่าวเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมมาพอสมควรจนได้เห็นว่าบางครั้งการวางบรรทัดฐานหรือคำตัดสินของศาลมันก็ยากจะคาดเดาจริงๆ“

เรื่องและภาพโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์