11 กุมภาพันธ์ 2567 เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจัดงาน 11.2 Love Fair กิจกรรมถ่ายภาพหมู่ครั้งประวัติศาสตร์ของผู้ต้องหาและจำเลยคดีการเมืองตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ลานประชาชน อาคารรัฐสภา โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์เข้าชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างกฎหมาย นิรโทษกรรมประชาชน เพื่อยุติการดำเนินคดีประชาชนที่มีมูลเหตุจากการแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
ในงานนี้พิพิธภัณฑ์สามัญชนนำเสื้อยืดสะสมของกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ช่วงหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงการเคลื่อนไหวของราษฎรตั้งแต่ปี 2563 - 2564 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่อยู่ในข่ายได้รับการนิรโทษกรรม หากร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนถูกประกาศใช้ ไปจัดนิทรรศการชั่วคราวในรูปแบบ "อุโมงค์กาลเวลา" โดยหวังเมื่อผู้ชมเดินไปถึงปลายอุโมงค์จะพอมองเห็นคำตอบว่าเหตุใดการออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนเพื่อยุติคดีทางการเมืองของประชาชน จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนและจะมีประโยชน์ต่อการคลี่คลายความขัดแย้งทางการมืองภายในประเทศที่ดำเนินมากว่าสองทศวรรษตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 254
อุโมงค์ส่วนแรกจัดแสดงเสื้อของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เสื้อของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติและเสื้อของกลุ่มประชาชนที่คัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยในปี 2556
นิทรรศการส่วนต่อมาจัดแสดงเสื้อของกลุ่มกปปส. ขบวนการเคลื่อนไหวที่มีบทบาทสำคัญในช่วงปลายปี 2556 จนถึงการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยในพื้นที่เดียวกันจะมีการจัดแสดงเสื้อของกลุ่มประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวจุดเทียนหรือทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรง และเดินหน้าจัดการเลือกตั้ง โดยการชุมนุมของกลุ่มดังกล่าวเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ในช่วงเวลาที่มีการรายงานว่ามีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นกับประชาชนบางส่วนที่ผ่านเข้าไปในพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มกปปส. และกลุ่มกปปส.ประกาศว่าจะให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง ก่อนที่ในเวลาต่อมากลุ่มกปปส.จะไปชุมนุมที่หน่วยเลือกตั้งบางพื้นที่จนทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ทั่วประเทศในวันเดียวกันและการเลือกตั้งถูกประกาศให้เป็นโมฆะ
นิทรรศการส่วนต่อมาจัดแสดงเสื้อของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองสำคัญๆที่เกิดขึ้นในยุคคสช. เช่น ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่ออกมารณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับคสช. และกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ออกมาชุมนุมระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 2561 เพื่อเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธํจัดการเลือกตั้ง จนถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมทางการเมืองของคสช.
นิทรรศการในส่วนนี้ยังจัดแสดงเสื้อที่จัดทำหรือถูกใช้ในช่วงการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาและผู้ชุมนุมราษฎรในช่วงปี 2563 - 2564 ด้วย เช่น เสื้อรวม # ม็อบนักศึกษา เสื้อกิจกรรมวิ่งไล่ลุง เสื้อเสียดสีพล.อ.ประยุทธ์ เสื้อสัญลักษณ์เป็ดเหลือง และเสื้อของผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุแก๊ซ
นิทรรศการส่วนสุดท้ายจัดแสดงเสื้อที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งเสื้อรูปทนายอานนท์ นำภา ซึ่งขณะจัดนิทรรศการถูกคุมขังในเรือนจำด้วยข้อหามาตรา 112 เสื้อรณรงค์ Free Somyot ที่เคยถูกใช้เรียกร้องสิทธิในการประกันตัวของสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักโทษคดีมาตรา 112 ที่ถูกคุมขังตั้งแต่ถูกจับกุมตัวและต้องต่อสู้คดีโดยไม่ได้รับการประกันตัวก่อนถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดและต้องรับโทษจำคุกเป็นเวลารวม 6 ปี ในความผิดตามมาตรา 112 นอกจากนั้นสมยศยังถูกคุมขังเพิ่มอีกหนึ่งปีเนื่องจากเขาต้องรับโทษคดีหมิ่นประมาทนายทหารคนหนึ่งที่ศาลเคยพิพากษาจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปีเพิ่มเติมอีกคดีหนึ่งด้วย โดยเขาถูกคุมขังเป็นเวลา 7 ปี เติมตั้งแต่เมษายน 2554 ถึง เมษายน 2561 นอกจากเสื้อแล้วในนิทรรศการนี้ยังมีการจัดแสดงจดหมายที่นักโทษการเมืองเขียนออกมาจากเรือนจำหรือมีคนเขียนไปให้กำลังใจนักโทษการเมืองด้วย
เรื่องโดยอานนท์ ชวาลาวัณย์
ภาพโดยอวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์