Skip to main content

1 กุมภาพันธ์ 2024 บรรยากาศการชุมนุมครบรอบ 3 ปี รัฐประหารเมียนมาร์ ที่หน้าองค์กรสหประชาชาติ ถนนพระสุเมรุ เป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้ชุมนุมชาวเมียนมาร์เข้าร่วมการชุมนุมตั้งแต่ก่อนเวลา 11.00 น เรื่อยมาจนยุติการชุมนุมในเวลา 14.00 น. 


ในการชุมนุมครั้งนี้ผู้ชุมนุมต้องการกล่าวถึงมิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaung) และรัฐบาลทหารชุดปัจจุบันของเมียนมาร์ ที่รัฐประหารยึดอำนาจ ออง ซาน ซู จี(Aung San Suu Kyi) ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(NLD) จากการเลือกตั้งที่พรรคได้คะแนนสูงสุดในปี 2021 และยังควบคุมตัวประธานาธิบดี วิน มินห์ ก่อนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเสริมการปะทะกันระหว่างทหารจากรัฐและกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ (EAOs) ซึ่งต่อต้านการปกครองระบอบทหารมาตั้งแต่ปี 2008 โดยผู้ชุมนุมได้เล่าสถานการณ์ว่าในประเทศเมียนมาร์นั้นมีผู้คนหลากหลาย ทั้งความคิดทางการเมือง ทั้งชาติพันธ์ุ แต่ต่างก็ต้องการประชาธิปไตยและรัฐบาลกลางที่ให้อิสระกับแต่ละกลุ่มให้สามารถร่างกฎหมายที่รองรับวิถีชีวิตได้ดีกว่าการบังคับใช้กฎหมายจากส่วนกลางเช่นเดียวกัน ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งรัฐประหารครั้งล่าสุดที่มองว่าเป็นการจุดชนวนการเรียกร้องประชาธิปไตยขึ้นอีกครั้ง

กลุ่มผู้ชุมนุมได้อ่านบทกวี ร้องเพลง และกล่าวข้อความต่อต้านรัฐประหาร รวมถึงใช้ดอกไม้เป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะในการเคลื่อนไหวที่ชาวเมียนมาร์คาดว่าจะมาถึงในเร็ววันนี้ นอกจากแสดงออกเชิงสัญลักษณ์แล้ว ผู้ชุมนุมยังนำภาพของวิน มินห์ และออง ซาน ซู จี พร้อมกับคำย่อของพรรค NLD มาถือไว้เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ต้องขัง 

ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมยังมีข้อเรียกร้องในประเด็นสิทธิของแรงงานชาวเมียนมาร์ที่มาทำงานในประเทศไทย เช่น การต่ออายุใบอนุญาตทำงาน, สวัสดิการของแรงงาน  รวมไปถึงต้องการให้รัฐบาลไทยและกลุ่มอาเซียนให้ความร่วมมือกับสถาบันทางการเมืองภาคประชาชนในเมียนมาร์ในการยุติความรุนแรงจากรัฐบาลมิน อ่อง หล่าย ทั้งการจับกุม การประกาศเขตการปกครองโดยทหาร(military operation) โดยข้อเรียกร้องหลักคือประกาศเขตปลอดทหารชั่วคราวสำหรับประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือและต้องการอพยพ (humanitarian corridor) เพราะการเข้าถึงความช่วยเหลือในเขตชายแดนนั้นนอกจากจะมีผลกับความปลอดภัยของประชาชนเมียนมาร์แล้ว ยังส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตของประชาชนรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ในบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาร์ด้วย

จากการพูดคุยกับผู้ชุมนุมทำให้ทราบว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นแรงงานโรงงานที่เข้ามาทำงานในไทยอย่างถูกกฎหมาย และต้องการเคลื่อนไหวต่อต้านการเก็บภาษี 3% ของรายได้ เนื่องจากกังวลว่าภาษีจะถูกนำไปซื้ออาวุธ และส่งเสริมให้เผด็จการมีความเข้มแข็งมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ชุมนุมได้ประเมินสถานการณ์ว่าการเรียกร้องตลอดสามปีจะเป็นผล และเมียนมาร์จะมีประชาธิปไตยกลับคืนมา

ในวันเดียวกัน เวลา 16.00 น. หน้าสถานทูตเมียนมาร์ กลุ่มพันธมิตรชานม #milkteaaliance ก็ได้จัด ม็อบชานมสันติภาพ เพื่อแสดงจุดยืนเคียงข้างประชาชนที่ต่อสู้อละเรียกร้องประชาธิปไตยจากเผด็จการทหาร 

กลุ่มพันธมิตรชานมได้ใช้ประโยค “กลิ่นหอมของชานม คือกลิ่นหอมของสันติภาพ” เป็น คำขวัญ (motto) ซึ่งผู้ชุมนุมได้กล่าวไว้ว่า ชาใส่นมคือวัฒนธรรมร่วมของหลายเชื้อชาติ การใช้ใบชามาเป็นสัญลักษณ์ในการชุมนุมก็เปรียบเหมือนผู้คนที่ต่อสู้ผ่านวัฒนธรรมอาหาร ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่มีร่วมกันในไทย เมียนมาร์ ลาว ไต้หวัน และฮ่องกง หรือกลุ่มประเทศที่เผชิญกับระบอบเผด็จการซึ่งต่อมาได้ร่วมก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรชานม โดยมองว่าอาหารเป็นสิ่งที่เข้าถึงง่าย เป็นความผูกพันของผู้คน รวมถึงในขณะที่เกิดเหตุการณ์ใดๆก็ตาม อาหารยังเป็นสิ่งแรกที่คนเราแบ่งปันให้กันอันสามารถก่อเกิดเป็นสายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพ และสันติภาพ

ในการชุมนุมครั้งนี้ ผู้ชุมนุมได้อ่านแถลงการณ์ที่เขียนถึงความล้มเหลวของการปกครองในเมียนมาร์ตลอดสามปี แม้ว่าหลังจากรัฐประหารจะมีเหตุการณ์ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้มีประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่รัฐบาลในกลุ่มอาเซียนก็ให้ความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ก่อนจบการชุมนุม กลุ่มพันธมิตรชานมกล่าวถึงวิธีการเคลื่อนไหวว่าหากกลุ่มกิจกรรมหรือมวลชนมีความต้องการต่อต้านหรือเรียกร้องต่อรัฐบาลเผด็จการ โดยมวลชนทั่วโลกสามารถร่วมสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของรัฐ องค์กรในประเทศ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ และสามารถทำการประท้วงได้ในกรณีที่รัฐหรือองค์กรให้พื้นที่สื่อแก่ผู้นำเผด็จการ หรือเพิกเฉยต่อการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังกล่าวทิ้งท้ายถึงแคมเปญเกี่ยวกับการเลิกสนับสนุนธุรกิจที่ให้ความร่วมมือกับรัฐเผด็จการในเมียนมาร์ ทั้งนี้ มวลชนยังเขียนป้ายผ้าฝากข้อความให้กำลังใจประชาชนที่กำลังต่อสู้กับระบอบเผด็จการทั่วโลกอีกด้วย

สามารถอ่านแถลงการณ์ของกลุ่มพันธมิตรชานมฉบับเต็มได้ที

https://drive.google.com/file/d/17AZJ7OVXF1OQhQxS-89IZZ70KB5hb6S_/view

 

เรื่องและภาพโดย วรกมล องค์วานิชย์