Skip to main content

Memes of Dissent คือนิทรรศการโดยความร่วมมือระหว่าง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกับพิพิธภัณฑ์สามัญชนและ ARTCADE เนื้อหาหลักของนิทรรศการเล่าจุดตัดของสื่อสังคมออนไลน์กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมสมัยของไทย นิทรรศการนี้มีการจัดแสดงรวมทั้งหมดสามครั้ง ครั้งแรกจัดแสดงที่ ARTCADE จังหวัดพะเยา ตั้งแต่ 3 สิงหาคม 2566 - 1 ตุลาคม 2567 จากนั้นไปจัดแสดงที่Homejoint Art Space ที่จังหวัดเชียงรายตั้งแต่ 6 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2566 สำหรับนิทรรศการ Memes of Dissent in Bangkok ซึ่งจัดแสดงไปเมื่อวันที่ 26 - 28 มกราคม 2567 ที่ อาคาร All rise บ้านกลางเมือง รัชดา-ลาดพร้าว กรุงเทพฯ มีการปรับปรุงชิ้นงานจากที่จัดแสดงครั้งแรกที่จังหวัดพะเยาเล็กน้อย 

ส่วนนิทรรศการหลักของนิทรรศการ Memes of Dissent in Bangkok ยังคงไว้ซึ่งเนื้อหาดั้งเดิมที่จัดแสดงในจังหวัดพะเยาและจังหวัดเชียงราย ได้แก่อินเทอร์เน็ตมีมเสียดสีการเมืองและภาพกราฟฟิกที่บอกเล่าความเคลื่อนไหวของการเมืองบนท้องถนนช่วงปี 2563 - 2564 เช่น มีมจากม็อบแฮมทาโร่ มีมการ์ตูนเป็ดเหลือง และรวมถึงหมุดคณะราษฎร 63 ซึ่งถูกดัดแปลงและทำซ้ำจนนับได้ว่ากลายเป็นมีมรูปแบบหนึ่ง 

นอกจากนั้นนิทรรศการที่กรุงเทพยังมีการจัดมุมศิลปิน แสดงผลงานการ์ตูนและมีมเสียดสีการเมืองจากเพจ “คนกลมคนเหลี่ยม” ของศิลปิน จิรวัฒน์หรือ ตั้ม ซึ่งตกเป็นจำเลยคดีมาตรา 112 เพราะการทำเพจการ์ตูนล้อการเมืองนี้ นอกจากนั้นก็มีมุมที่จัดแสดงมีมเสียดสีการเมือง ที่ถูกทำขึ้นหลังการเลือกตั้งปี 2566 เช่น มีมล้อการประกาศกลับประเทศของทักษิณ ชินวัตร มีมเสียดสีพรรคก้าวไกล และมีมเสียดสีภาพพล.อ.ประวิตรทำท่าเหมือนหลับขณะอยู่ในที่ประชุมรัฐสภา เป็นต้น 

สร้างมีมสุดฮาของตัวเองในนิทรรศการ Memes of dissent

สำหรับกิจกรรมที่นอกเหนือจากการเดินชมนิทรรศการแล้วก็มีการเชิญชวนให้ผู้เข้าชมร่วมสนุกด้วยการสร้างมีมเป็นของตนเองที่นิทรรศการจัดเตรียมไว้ให้ผู้เข้าร่วมสามารถสร้างสรรค์ แบ่งปันมุขตลก  และร่วมฟังเสวนาเปิดตัวนิทรรศการหัวข้อ Memes Talk นักวาดหมายเลข 112 พูดคุยกับตั้ม จิรวัฒน์ แอดมินเพจคนกลมคนเหลี่ยมซึ่งผลงานของเขาถูกดำเนินคดีทางการเมือง ตั้งแต่เวลา 16.30 น.- 17.30 น. ในวันที่ 26 มกราคม 2567 

กับงานเสวนาตอนที่สอง Memes Talk มีม การ เมือง: อ่านการเคลื่อนไหวปี 2020 ผ่านปรากฏการณ์บนโลกออนไลน์ วันที่ 27 มกราคม 2567 เวลา 17.30 น.- 18.30 น.  โดย Alexander Wang ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา, ผศ.ดร.ชาติชาย มุกสง คณะสังคมศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และเทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท 

สื่อสารแบบนักการมีมบนโลกอินเทอร์เน็ต

ในส่วนของเนื้อหานิทรรศการนี้จะแบ่งออกเป็นห้าส่วน โดยใช้แฮชแท็กเป็นหัวข้อในการเล่าเรื่องปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยตั้งแต่ 2562 จนถึงหลังการเลือกตั้ง 2566 เมื่อเข้ามาในนิทรรศการ ผู้เข้าชมจะพบกับมุมแรก “จันทร์โอชาออนมีม” จัดแสดงภาพมีมพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีจากการทำรัฐประหารซึ่งถูกตัดต่อล้อเลียนเป็นตัวละครในภาพยนตร์ที่เป็นที่นิยมเรื่องต่างๆในทำนองเสียดสี อารมณ์ขันที่แฝงไปด้วยเนื้อหาที่แสดงการขับไล่ หรือไม่พอใจที่เขายึดอำนาจดำรงตำแหน่งมาเป็นเวลานานและความล้มเหลวในการบริหารประเทศท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมไปถึงวิธีการตอบโต้กับการชุมนุมของประชาชนด้วยกองทัพทหารและการบังคับใช้กฏหมายที่สร้างความขุ่นเคืองต่อประชาชน ด้วยเหตุนี้ นิทรรศการจึงมีภาพมีมล้อเลียนพลเอกประยุทธจัดแสดงจำนวนมากโดยเฉพาะช่วงปี 2562-63 ตามข้อมูลที่ปรากฏเป็นกระแสบนโลกอินเตอร์เน็ต

 

ส่วนบริเวณกำแพงถัดมาจะจัดแสดงภาพมีมการเมืองปี 2562 - 63 ซึ่งประกอบไปด้วยแฮชแท็กต่างๆดังนี้

#ฟ้ารักพ่อ เป็นแฮชแท็กที่ถูกนำมาใช้ช่วงการเลือกตั้งปี 2562 เป็นประโยคที่ล้อเลียนมาจากบทละครไทยเรื่องดอกส้มสีทองนำแสดงโดยชมพู่ อารยา ผู้รับบทเป็น ฟ้า หรือ เรยา ตัวละครที่คบหากับผู้ชายวัยกลางคนที่มีฐานะดี โดยไม่สนใจว่าจะมีครอบครัวแล้วหรือไม่ ฟ้าจะเรียกสามีของเธอว่า พ่อ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นมีมบนโลกออนไลน์ที่กลุ่มโหวตเตอร์พรรคอนาคตใหม่นำมาใช้เปรียบเทียบตนเองเป็นฟ้า โดยมีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีฯเป็นพ่อ

ต่อมาเข้าสู่ต้นปี2563 ซึ่งเป็นช่วงที่มีกระแสคลื่นการชุมนุมของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน นิสิต นักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังจากมีข่าวยุบพรรคอนาคตใหม่ และการบริหารประเทศของรัฐบาลประยุทธ์ ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดจนเกิดแฮชแท็ก #ผนงรจนตกม (ผู้นำโง่เราจะตายกันหมด) และสงครามแฮชเท็ก ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆจัดชุมนุมภายในสถานศึกษาในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน เช่น #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป (การชุมนุมที่มหาวิทยาจุฬาลงกรณ์), #ที่ยุบอนาคตใหม่พี่มหาลัยกูทั้งนั้น (การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), #อยู่ข้างบ้านเสียงดังไม่ได้ (การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต/สวนสุนันทา) ฯลฯ  ซึ่งต่อมาการชุมนุมแยกส่วนมหาวิทยาลัยทั่วประเทศดังกล่าวก็เปลี่ยนมาเป็นการชุมนุมขบวนใหญ่บนท้องถนน และการใช้แฮชแท็ก

ในเวลาเดียวกัน #Saveวันเฉลิม  ก็เกิดขึ้นหลังจากมีข่าวสูญหายของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์  นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกอุ้มหายตัวไปจากที่พักในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อ 4 มิถุนายน 2563 ทำให้มีนักเคลื่อนไหวออกมาเรียกร้องกับทางการไทย แต่ทว่าทางการไทยตอบสนองล่าช้าจนเป็นที่ตั้งคำถามว่าทางการไทยอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายไปของวันเฉลิม ซึ่งในเวลาต่อมาก็มีนักเคลื่อนไหวที่ออกมาชุมนุมพร้อมกับใช้แฮชแท็กนี้เรียกร้องความยุติธรรมให้วันเฉลิม  


ภาพมีม #ม็อบแฮมทาโร่ ซึ่งเชื่อมโยงกับเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวโดยนำตัวการ์ตูนแฮมทาโร่มาใช้เป็นสัญลักษณ์ ซึ่งการชุมนุมครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2563 โดยรูปแบบของกิจกรรมเป็นการวิ่งวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปถึงแยกคอกวัว พร้อมกับตะโกนว่าของอร่อยที่สุดคือ ภาษี ซึ่งดัดแปลงมาจากประโยคในเพลงประกอบการ์ตูนที่ว่า วิ่งนะ วิ่งนะ แฮมทาโร่ ของอร่อยที่สุดคือเมล็ดทานตะวัน 

เมื่อเดินมาอีกก็จะพบกับกำแพงต่อมาที่จัดแสดงภาพมีมว่าด้วยเรื่องราวเน้นไปที่คลื่นการชุมนุมปี 2563 

มีมแฮชแท็ก #เสกคาถาประชาธิปไตย (ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์) ที่จัดทำโดยกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มมอกะเสดเมื่อ 3 สิงหาคม 2563 โดยคอนเซ็ปการชุมนุมครั้งนี้มาจากนิยายเรื่องแฮรรี่พอตเตอร์ที่มีตัวละครพ่อมดด้านมืดที่มีอำนาจมากจนผู้คนไม่กล้าเรียกชื่อจนต้องเรียกว่า “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร”  ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวก็ได้นำมาเปรียบเทียบในบริบทเมืองไทยที่การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่สามารถทำได้ ซึ่งม็อบนี้ทนายอานนท์ นำภาขึ้นปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันพระมหาษัตริย์อย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรก 

หลังจากนั้นก็เป็นเหตุการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นตามมาในชื่อ #ม็อบ 19 กันยาทวงคืนอำนาจราษฏร ที่เป็นการชุมนุมค้างคืน 19-20 กันยายน 2563 ที่สนามหลวง นำโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่จัดขึ้นในวันดังกล่าวเพื่อรำลึกถึงการชุมนุม 19 กันยายน 2549 ที่ทางกลุ่มเห็นว่าเป็นต้นตอวิกฤติทางการเมืองไทย

ตามด้วย #หมุดคณะราษฏร 63 ซึ่งเป็นภาพมีมที่ถูกสร้างขึ้นมาปี 2563 เพื่อรำลึกหมุดคณะราษฏร 2475 ที่หายไปเมื่อ 2560 อย่างไร้ร่องรอยและปราศจากการตามหาของรัฐบาลไทย ซึ่งหมุดคณะราษฏร63 นี้จะมีความแตกต่างจากหมุดคณะราษฏร 2475 คือ มีการนำมือชูสามนิ้ว ที่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมต่อรัฐบาลไทยมาใส่ในหมุดคณะราษฏร 63 ซึ่งหมุดนี้ก็ได้ถูกนำไปปักไว้ที่สนามหลวงโดยกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม แม้ว่าในเวลาต่อมาหมุดคณะราษฏร63 ได้ถูกถอดไปไว้ที่สถานีตำรวจชนะสงครามเป็นของกลางในข้อหาทำผิด พ.ร.บ โบราณสถาน แต่ถึงกระนั้น กลุ่มที่ไม่พอใจการกระทำดังกล่าวก็มีการออกแบบรูปหมุดคณะราษฏร 63 รูปแบบใหม่ซึ่งปรากฏตามสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆเพื่อสื่อว่าหมุดคณะราษฏรได้ประทับที่จิตใจของทุกคนแล้ว

#ตุ๊กตาเป็ดยาง เป็นตุ๊กตาเป็ดยางที่ผู้ชุมนุมนำมาใช้ระหว่างการชุมนุมที่รัฐสภาเกียกกายเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2563 ที่ผู้ชุมนุมทำการปิดล้อมรัฐสภาทั้งทางบกและทางน้ำเพื่อกดดันให้สมาชิกรัฐสภารับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนำตุ๊กตาเป็ดยางมาใช้เป็นสัญลักษณ์ว่าชุมนุมปั่นเรือเป็ดมาตามแม่น้ำซึ่งระหว่างการชุมนุมเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนฉีดน้ำผสมสารเคมีและแก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมก็ใช้ตุ๊กตาเป็ดยางเป็นโล่กำบังจนทำให้มีตุ๊กตาเป็ดยางหลายตัวฉีกขาด ส่งผลให้ในเวลาต่อมามีการอวยยศเป็น เป็ดเหลืองกรมหลวงเกียกกายราษฏรบริรักษ์ ทำให้เป็ดเหลืองถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์การชุมนุมนับตั้งแต่นั้นมา 

ตั้ม จิรวัฒน์ Cartoonist ผู้สร้างสรรค์ ‘คนกลมคนเหลี่ยม’ ลายเส้นสื่อสารประเด็นการเมือง

ปิดท้ายด้วย มุม “คนกลมคนเหลี่ยม” ซึ่งเป็นมีมการ์ตูนล้อการเมืองโดยศิลปิน ตั้ม จริวัฒน์ คนกรุงเทพฯโดยกำเนิดที่มาสนใจการเมืองอย่างจริจงังหลังการรัฐประหารปี 2557 หลังกรณีที่รักกิจกรรม ธเนตร อนันตวงษ์ ถูกเจ้าหน้าที่จับตัวจากโรงพยาบาลหลังไปร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เกี่ยวกับอุทยานราชภักดิ์รวมทั้งโพสข้อความเสียดสีสถานการณ์ทางการเมืองบนเฟซบุ๊กส่วนตัว  นอกจากนี้ ตั้มยังถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองครั้งหลังเป็นผู้ถ่ายและเผยแพร่คลิปขณะที่โตโต้ ปิยรัฐ จงเทพ ฉีกบัตรเลือกออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญในปี 2559 โดยศาลฏีกาพิพากษาว่าเขามีความผิดฐานร่วมก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติ ลงโทษจำคุก 4 เดือนโดยให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 1 ปี

 

ต่อมาในปี 2562 ตั้มเปิดเพจเฟซบุ๊คคนกลมคนเหลี่ยม เพื่อสื่อสารประเด็นการเมืองผ่านการเขียนการ์ตูน นอกจากนี้ตั้มยังใช้การเขียนการ์ตูนเป็นกิจกรรมเยียวยาโรคซึมเศร้าของตัวเองอีกด้วย ซึ่งในเวลาต่อมามีผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งนำภาพการ์ตูนของเขาไปร้องทุกกล่าวโทษให้ตำรวจดำเนินคดีมาตรา 112 หลังถูกดำเนินคดี ตั้มถูกยึดไอแพดซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เขาใช้วาดการ์ตูน ตั้มตัดสินใจเปิดระดมทุนเพื่อซื้อไอแพดมาทำผลงานต่อ ปรากฏว่ามีแฟนคลับร่วมสมทบทุนจนได้เงินเกินความต้องการ หลังจากซื้อไอแพดแล้วตั้มก็นำเงินสมทบทุนที่เหลือไปมอบให้กองทุนราษฏรประสงค์ และใช้ไอแพดที่ซื้อใหม่ด้วงเงินสมทบทุนสร้างสรรค์ผลงานเรื่อยมา

 

ส่วนกำแพงสุดท้ายจะจัดแสดงภาพมีมตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2566 ซึ่งมีเนื้อหาประกอบไปด้วยมีมเกี่ยวกับชะตากรรมทางการเมืองของพรรคก้าวไกล, ความเคลื่อนไหวของทักษิณ ชินวัตร ภาพมีมเสียดสีนโยบายรัฐบาลเศรษฐาทั้งนโยบาย Digital wallet และ Soft power, มีมเสียดสี “ลุงป้อม” ประวิตร วงษ์สุวรรณ รวมไปถึงมีมเกี่ยวกับผลคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญเมื่อมกราคม 2567 ที่ให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่มีขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (สส.) จากกรณีถือหุ้นสื่อไอทีวี 

 

ภาพมีม ลุงป้อม ไม่ได้หลับแค่จังหวะก้มมองพื้น ถูกสร้างขึ้นหลังจากข่าวเมื่อวันที่ 5 กรกฏาคม 2566  พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธภาพที่ปรากฏเป็นข่าวบนสื่อออนไลน์เมื่อ 4 กรกฏาคม 2566 ว่าพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งหลับในสภา

ภาพมีมแซวพรรคก้าวไกล และพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตพรรคก้าวไกลหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถือหุ้นสื่อ เมื่อ 24 มกราคม 2567 



เรื่องและภาพโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์