Skip to main content

2 กุมภาพันธ์ 2567 พิพิธภัณฑ์สามัญชนร่วมกับองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ร่วมจัดงานเสวนาส่งท้ายนิทรรศการรำลึกคนเสื้อแดง ในห้วข้อ “คนเสื้อแดง ภาพวาดปีศาจร้ายการเมืองไทย” ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อฟังเสียงคนเสื้อแดงกับณัฐวุฒิ  ใสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดงปี 2553 ที่จะมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองและการถูกปราบปรามของคนเสื้อแดง โดยมีอานนท์ ชวาลาวัณย์ จากพิพิธภัณฑ์สามัญชนเป็นผู้ดำเนินรายการ

ความรู้สึกหลังชมนิทรรศการและความทรงจำคืนวันที่ 10 เมษายน 2553

ก่อนเข้าสู่เนื้อหา ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้เล่าความรู้สึกหลังจากชมนิทรรศการว่า รู้สึกชื่นชมและขอบคุณคณะผู้จัดทำที่ให้ความกรุณาเก็บรวบรวมสิ่งของ เครื่องใช้ในขบวนการเคลื่อนไหวและรำลึกถึงการต่อสู้ของคนเสื้อแดงเพื่อให้คนในยุคปัจจุบันได้แลเห็นหรือนำมาศึกษาต่อ  และได้กล่าวด้วยว่าคนเสื้อแดงไม่ได้หายไปไหน พวกเขามีที่ทางอย่างชัดเจนในประวัติศาสตร์ไทยแม้จะไม่ได้เป็นที่พึงประสงค์สำหรับกลุ่มผู้มีอำนาจบางประการ 

ณัฐวุฒิ ระบุว่าระหว่างที่ชมนิทรรศการที่แสดงเป็นภาพนิ่ง แต่สำหรับเขาเห็นว่ามันเป็นภาพเคลื่อนไหวที่มีเสียง และอารมณ์ความรู้สึกที่วิ่งเข้ามาปะทะในความทรงจำของเขา โดยเฉพาะวัตถุจัดแสดงชิ้นที่เขารู้สึกสะเทือนใจที่สุดคือ ภาพเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 ที่ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ เพราะคืนวันนั้นเป็นวันที่หนักหนาที่สุดในชีวิตที่เขาไม่มีวันลืมทุกวินาที เป็นวันที่มีประชาชนเสียชีวิตกว่า 20 ราย จากการใช้กำลังของรัฐในการปราบปรามซึ่งคาดว่าเป็นครั้งแรกในโลกที่รัฐใช้อาวุธสงครามต่อสู้ของผู้ชุมนุมที่เป็นประชาชนมือเปล่า 
 
เขาเล่าถึงความทรงจำเหตุการณ์ในคืนวันดังกล่าวว่า เขาอยู่ที่ราชประสงค์และบริเวณเวทีผ่านฟ้ากับพี่น้องประชาชนจนเช้าตรู่ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการใช้กำลังเข้ามาปราบปราบ หลังจากนั้นก็มีเหตุการณ์ปิดล้อมและประชาชนที่เสียชีวิตมาอย่างต่อเนื่อง ตอนนั้นเขาเป็นแกนนำและเป็นคนเจรจากับฝ่ายรัฐบาลเพื่อให้ยุติความรุนแรง รวมไปถึงเป็นผู้คอยปลอบประโลมญาติและครอบครัวของผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหาย บรรยากาศตอนนั้นเป็นไปอย่างโกลาหล ระดมไปด้วยเสียงร้องไห้กับคราบน้ำตาของประชาชนที่เปียกเสื้อของเขา

“เสื้อที่เปียกน้ำตาประชาชนวันนั้นมันหนาว อย่างที่ผมเคยบอกในวิถีการต่อสู้คนเสื้อแดง เราผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก แต่สำหรับผมไม่มีหนาวอะไรเท่ากับหนาวน้ำตาประชาชน มันหนาวเหน็บจริงๆ” ณัฐวุฒิ กล่าว 

คนเสื้อแดง กับการถูกตีตราเป็นปีศาจร้ายทางการเมือง 

ณัฐวุฒิ ให้นิยาม “คนเสื้อแแดง” ว่าคือ คนไทยธรรมดาคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตสุจริตโดยปกติของตัวเองท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและการเมืองภายหลังกติการัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยในขณะนั้นที่รู้สึกผูกพันธ์กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและนโยบายที่สามารถสร้างโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้  และอีกกลุ่มหนึ่งเป็นคนที่อาจจะไม่ได้รู้สึกผูกพันกับนโยบายหรือพรรคการเมืองใด แต่เห็นความเป็นไปของสถานการณ์บ้านเมือง การบังคับใช้กฏหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรมจนเกิดคำว่า “สองมาตรฐาน”

อีกส่วนหนึ่งคือ คนที่มีจุดตัดในคืนวันรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก่อนหน้านั้นอาจไม่ได้สนใจการเมืองมากนัก หรือบางคนก็เคยชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรตอนไล่รัฐบาลไทยรักไทย แต่เมื่อเกิดรัฐประหารคนเหล่านี้ไม่ได้ข้ามเส้น และต่อมาก็ได้รวมตัวกันกลายเป็นกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งปรากฏครั้งแรกที่ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี ในเวที “ความจริงวันนี้สัญจร ครั้งที่ 1” จำนวนพัน-หมื่นกว่าคนที่ใช้สัญลักษณ์เสื้อแดงในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แม้ก่อนหน้านี้ ก็เคยมีการเคลื่อนไหวโดยใช้สีเสื้อแดงมาก่อนแล้วนั่นคือตอนที่ไม่รับรัฐธรรมนูญ 2550  แต่ยังไม่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมากเท่ากับครั้งดังกล่าว

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย คนเสื้อแดงเหมือน “คนแปลกหน้า” เพราะไม่เคยมีมวลชนใดที่มีรูปลักษณ์และวิธีการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบคนเสื้อแดงมาก่อนตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยส่วนใหญ่คนเสื้อแดงที่ออกมาเคลื่อนไหวเป็นคนเมืองที่แม้ว่าอาจมีถิ่นกำเนิดมาจากชนบทก็ตาม แต่พวกเขาเป็นประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง เป็นนิสิต นักศึกษาซึ่งแตกต่างจากกลุ่มเคลื่อนไหวนิสิต นักศึกษาสมัยเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519  รวมไปถึงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่เป็นการรวมกลุ่มของสหายชาวนาและกรรมกรที่มีวิถีทางเคลื่อนไหวในแบบของตนเอง 

คนเสื้อแดงคือ การไหลบ่าของคนระดับรากฐานของสังคมที่เข้ามาส่งเสียงใจกลางมหานคร เพื่อฉีกหน้ากากใครก็ตามที่ถูกวางสถานะสำคัญของประเทศที่แสร้งว่าเชื่อมั่นในประชาธิปไตย ซึ่งสังคมไทยไม่เคยมีปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อน อีกทั้งวิถีการต่อสู้ของคนเสื้อแดงก็ไม่ได้ยึดกับขนบใดๆ มาก่อนเลย 

ในการชุมนุมของคนเสื้อแดงมีเสียงดนตรีหมอรำ ลูกทุ่ง คนเสื้อแดงเต้นได้ทุกจังหว่ะ ทุกสถานที่แม้จะเป็นที่ราชการ ในการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ คนเสื้อแดงก็นึ่งข้าวเหนียว ทำส้มตำ ซักผ้า ด้วยภาพลักษณ์เช่นนี้ จึงทำให้ถูกตั้งคำถามและกล่าวหาว่าเป็นพวกที่ไม่เข้าใจการเมือง และถูกเรียกว่าเป็นม็อบล้างสมอง, ม็อบไร้การศึกษา และอีกสารพัดวาทกรรมที่วางไว้ให้กับคนเสื้อแดงเพื่อทำให้คนเสื้อแดงดูไร้ค่า แม้กระทั่งชีวิตของพวกเขา เราเดินมาด้วยสายตาแบบนั้นในสังคม 

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็มีการออกกฏหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้มีอำนาจซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นการยอมรับว่ารัฐทำผิดจริงและนิรโทษกรรมตนเองเพื่อให้พ้นผิด แต่ทว่าร้อยชีวิตของคนเสื้อแดงนั้นกลับไม่มีการเยียวยา หรือชดเชยใดๆ

จุดยืนและมุมมองต่อร่างกฏหมายนิรโทษกรรมประชาชนทุกฝ่าย

จากนั้น ณัฐวุฒิ กล่าวถึงปัญหาในกระบวนการยุติธรรมไทยที่เกิดขึ้นจากกรณีการเสียชีวิตและบาดเจ็บของคนเสื้อแดง ว่าเคยมีการฟ้องร้องต่อศาลอาญามาแล้วรอบนึง แต่ผู้ต้องหาเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีก็ไปฟ้องแย้ง และศาลอาญาก็ให้เหตุผลว่าคดีดังกล่าวไม่ได้อยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลอาญาทั้งที่เป็นคดีที่มีคนเสียชีวิตเป็นร้อยคน คดีนี้สู้มาจนถึงศาลฎีกา  จนผลสุดท้าย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ยกคำร้องให้ผู้มีอำนาจในเวลานั้นไม่มีความผิดโดยอ้างว่าเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อย ด้วยเหตุนี้ เต้นจึงมีข้อเสนอและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับการรณรงค์เสนอแก้ไขกฏหมายสองฉบับที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้สิทธิกับประชาชนผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้มีอำนาจได้ 

สำหรับการนิรโทษกรรมประชาชนคดีทางการเมือง ณัฐวุฒิ เห็นด้วยอย่างเต็มที่ โดยระบุว่า เพื่อเป็นการปลดพันธนาการความผิดที่รัฐยัดใส่ประชาชนเพียงเพราะว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารและกระบวนการอยุติธรรมจนต้องออกมาเรียกร้องซึ่งควรจะได้รับการยอมรับจากรัฐว่าไม่ใช่การกระทำผิด หากแต่เป็นสิทธิโดยชอบ ซึ่งการนิโทษกรรมไม่ได้เป็นการช่วยเหลือคนเสื้อแดงเท่านั้น แต่ยังช่วยเหลือเด็กและเยาชนด้วย โดยเฉพาะนักโทษทางการเมืองจากประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 ที่เขายืนยันว่าเป็นการแสดงออกทางความคิดของคนยุคสมัยปัจจุบัน หากจะปรองดองกันก็ต้องไม่ทิ้งคนหนุ่มสาวไว้ เพราะจะไม่เป็นประโยชน์กับองค์การ หรือสถาบันใดๆ เลย

ณัฐวุฒิ ชี้ให้เห็นว่า การนิรโทษกรรมประชาชนคดีทางการเมืองไม่ได้มีเจตนาที่ทำร้ายหรือทำลายสิ่งใด หากแต่เป็นการยื่นอ้อมกอดความเมตตาให้กับเด็กและเยาวชนที่บางคนก็ถูกคดีทางการเมืองกันจำนวนไม่น้อยกว่า 20 -30 คดี ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับตัวของเขาเองที่ทุกวันนี้ก็ยังต่อสู้คดีการเมืองปี 2551-52 อยู่เลย หากปล่อยให้สังคมเป็นเช่นนี้ต่อไป คนหนุ่มสาวเหล่านี้อาจต้องขึ้นโรงขึ้นศาลจนถึงวัยเกษียณซึ่งไม่เป็นเรื่องที่ดี

ความขัดแย้งสีเสื้อจบแล้ว?

ณัฐวุฒิ ให้ความเห็นว่าแม้ความขัดแย้งสีเสื้อระหว่างเหลืองกับแดงจะจบลงแล้ว แต่การต่อสู้ยังไม่จบ หากแต่เป็นการต่อสู้ทางความคิดและหลักการในสังคมที่หลายประเทศก็เผชิญอยู่นั่นคือ การขับเคี่ยวกันระหว่างอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยมซึ่งเป็นสำนึกทางการเมืองที่ยังต่อสู้กันอยู่ “รูปการอาจเปลี่ยนไปแต่รากแก้วยังคงอยู่” เพียงแต่ปัญหาที่สำคัญคือเรื่องของการใช้กำลังของรัฐในการปราบปรามประชาชนที่ประเทศอื่นเขาไม่มี แต่ประเทศไทยเรายังคงใช้กระบอกปืน หรือกำลังในการปราบปรามประชาชน

ส่งความคิดถึงไปยังสหายนักต่อสู้คนเสื้อแดง

ณัฐวุฒิ กล่าวทิ้งท้ายส่งความคิดถึงและความห่วงใยถึงคนเสื้อแดงที่เคยร่วมทางผ่านช่วงเวลาทั้งดีและร้ายและอยากให้ทุกคนเก็บความเป็นคนเสื้อแดง เกียรติยศและศักดิ์ศรีของประชาชนเอาไว้ เขากล่าวว่า สำหรับเขาไม่เคยลืมความเป็นคนเสื้อแดง เขาตั้งชื่อลูกชายว่า “นปก” (นปก. ย่อมาจาก แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ) และชื่อลูกสาวว่า “ชาดอาภรณ์” (แปลว่า เสื้อแดง) เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจและแสดงว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่ผ่านมานี้มีคุณค่าสำหรับเขาอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เขาก็เคารพในสิทธิเสรีภาพในการเลือกวิถีทางการต่อสู้ของทุกคน เต้นระบุว่าก่อนจะมางานนี้ เขาไม่ได้บอกมิตรสหาย นปช. เลยสักคน บางคนก็อาจเสียชีวิตไปบ้างแล้ว แต่เขาเชื่อว่าถ้าพวกเขารับรู้ก็คงรู้สึกภาคภูมิใจ

ก่อนจบเสวนา เขาได้กล่าวด้วยว่ารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณคนหนุ่มสาวที่นำคนเสื้อแดงกลับมาพูดถึงอีกครั้ง และไม่ลังเลที่จะหาทางตอบแทนพวกเขาในนามของคนเสื้อแดงที่ให้พื้นที่ถูกพูดถึงในรั้วมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ  พร้อมทั้งยกเหตุการณ์ที่วีรกานต์ มุกสิกพงศ์, นายแพทย์เหวง โตจิราการ, วิภูแถลง พัฒนภูมิไท และตัวเขา ที่เคยนั่งล้อมวงร้องไห้ตอนอยู่ในคุก เมื่อรับรู้ว่ามีเยาวชนคนรุ่นใหม่จัดงานหรือพูดถึงคนเสื้อแดงบนท้องถนนเมื่อปี 2563 ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายทางจิตใจอย่างมากสำหรับเขา  

สำหรับการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในยุคนี้ เต้นมองว่าก็มีเรื่องที่น่าเป็นห่วงอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เคยที่จะไม่ให้กำลังใจ เพราะเข้าใจว่านักต่อสู้ทุกคนเมื่อมาอยู่ในสนามแล้วก็เอาชีวิตและอิสรภาพของตนมาเดิมพันเสมอ และหากมีสิ่งใดที่ผิดพลาดในสมัยคนเสื้อแดงเขาก็ขอน้อมรับและยินดีที่จะให้เป็นบทเรียนกับคนรุ่นหลังได้เดินหน้าต่อไปได้อย่างปลอดภัย

หลังจบเสวนา ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผูกโบว์สีขาวที่รถกระบะ le truck (รักเธอ) และร่วมลงชื่อรณรงค์ร่างกฏหมายนิรโทษกรรมประชาชนบริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 

เรื่องและภาพโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์