Skip to main content

27 มกราคม 2567 พิพิธภัณฑ์สามัญชนจัดงานเสวนา Memes Talk มีม การ เมือง: อ่านการเคลื่อนไหวปี 2020 ผ่านปรากฎการณ์บนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการ Memes of Dissent เพื่อพูดคุยถึงหัวข้อปรากฎการณ์วัฒนธรรมการใช้มีมและการเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ในบริบททางการเมืองของคนในสังคม ณ อาคาร All rise บ้านกลางเมือง รัชดา-ลาดพร้าว กรุงเทพฯ    

ผู้ร่วมเสวนาคือ Alexander Wang ผู้เชี่ยวชาญประจำสาขาวิชาศิลปะและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา, ผศ.ดร.ชาติชาย มุกสง คณะสังคมศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร, เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท โดยมีอานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน เป็นผู้ดำเนินรายการ

ก่อนเข้าสู่เสวนา ทางพิพิธภัณฑ์ได้กล่าวถึงที่มาของนิทรรศการ Memes of Dissent ที่จัดขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ของทนายอานนท์ นำภา เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563  โดยได้รับความร่วมมือจากอาจารย์ปวินท์ ระมิงค์วงศ์ มหาวิทยาลัยพะเยาและ Alexander Wang ผู้สนใจในประเด็นวัฒนธรรมการใช้มีมของเด็กและเยาวชนในการเคลื่อนไหวที่เป็นกระแสตั้งแต่ช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา และก็ได้มีการติดต่อกับทางพิพิธภัณฑ์สามัญชนเพื่อร่วมจัดนิทรรศการนี้ที่กรุงเทพฯ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 หลังจากได้จัดนิทรรศการมาแล้วครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยพะเยา เมื่อปี 2566 และครั้งที่สองที่เชียงใหม่เพื่อเป็นการทบทวนความทรงจำเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของประชาชนและวัฒนธรรมการต่อต้านบนโลกออนไลน์ที่เป็นปรากฏการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์

ผู้ร่วมสนทนาจึงได้แต่งกายในธีมแฮร์รี่พอตเตอร์เพื่อให้เข้ากับคอนเซ็ปธีมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของทนายอานนท์ นำภา ซึ่งเป็นนักโทษคดีทางการเมืองอยู่ในขณะนี้ (2567) ซึ่งเหตุผลที่เลือกธีมแฮร์รี่พอตเตอร์สำหรับวงเสวนา เพราะว่าธีมแฮร์รี่พอตเตอร์ถือเป็นสัญญะในการสื่อสารที่มีเชื่อมโยงระหว่างคาแรคเตอร์ในภาพยนตร์กับข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันที่ทนายอานนท์เคยนำมาใช้ในการชุมนุมครั้งดังกล่าวซึ่งมีความสอดคล้องกับนิทรรศการมีมในแง่ของการใช้รูปสัญญะในการสื่อสารของผู้คน

Alexander: การเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้

จากมุมมองของชาวต่างชาติที่มีต่อการเมืองไทย สู่แรงบันดาลใจศึกษามีมการเมือง

อเล็กซ์ อาจารย์สอนศิลปะชาวอเมริกันเล่าถึงประสบการณ์และเหตุผลที่เขาสนใจปรากฏการณ์การเมืองไทยและสนใจศึกษาวัฒนธรรมการใช้มีมว่า ตั้งแต่ตอนเขาอายุ 23 เมื่อช่วงปี 2550 -2551 (หลังเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549) เขาได้มาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกในฐานะศิลปินโครงการแลกเปลี่ยนที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ จำได้ว่าระหว่างที่ทานบะหมี่หมูแดงในตอนนั้นก็พบเห็นกลุ่มคนเสื้อแดงกับกองกำลังทหารจำนวนมากบริเวณแยกถนนนิมมานเหมินท์ตัดกับถนนสุเทพ ทำให้เขาในฐานะชาวต่างชาติก็รู้สึกประหลาดใจและสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น จึงได้ซักถามกับเพื่อนคนไทยวัยรุ่นเดียวกันก็ได้พบคำตอบว่าพวกเขาไม่ได้สนับสนุนฝั่งเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงเป็นพิเศษ หากแต่รับรู้เพียงว่ากลุ่มคนเสื้อแดงคือคนก่อปัญหา

อย่างไรก็ตาม อเล็กซ์สังเกตเห็นถึงลักษณะบทสนทนาที่แตกต่างกันระหว่างคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเมื่อเขาได้ลองพูดคุย เขาบอกว่าคนเสื้อแดงดูจะมีท่าทีกระตือรือร้นที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารมากกว่าคนเสื้อเหลืองที่อาจจะดูไม่ได้ติดตามการเมืองแบบลึกซึ้งหรือมักจะให้ข้อมูลข่าวสารที่พวกเขาเองก็ได้รับรู้ผ่านสื่อโทรทัศน์เท่านั้น ประกอบกับประสบการณ์ในไทยที่อเล็กซ์พบเห็นการยืนเคารพธงชาติตอนหกโมงเย็นทุกวัน หรือการยืนในโรงภาพยนตร์ซึ่งเป็นปรากกฏการณ์ที่ส่งผลให้ เขาก็รู้สึกตื่นตัวทางการเมืองและสนใจเรียนต่อปริญญาโทสายศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทยเมื่อกลับไปยังสหรัฐอเมริกา

อเล็กซ์เล่าต่อไปว่าเขาได้กลับมาเมืองไทยอีกครั้งช่วงปี 2558 และ 2560 ก็พบเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เขาสังเกตว่ากลุ่มคนเสื้อเหลืองดูจะมีจำนวนลดน้อยลง และบทสนทนาของผู้คนก็เริ่มมีการพูดคุยในประเด็นต่างๆที่มีความแหลมคมมากขึ้นโดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท บางประเด็นที่อาจจะไม่สามารถพูดได้ในอดีตก็กลับกลายเป็นเรื่องที่สังคมถกเถียงกันมากขึ้น  ซึ่งเขามองว่า การเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่สามารถเปลี่ยนกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีกแล้วโดยเฉพาะปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของเยาวชนในปี 2563 และการดำเนินคดีกับแกนนำการชุมนุมอย่างแพนกวินพริษฐ์ ชิวารักษ์ 

สื่อสารแบบนักการมีม

หลังจากนั้น อเล็กซ์ก็รู้สึกว่าต้องทำอะไรบางในฐานะศิลปินผู้มีความสนใจเรื่องการสื่อสารประเด็นทางการเมืองและวัฒนธรรม Pop-culture อย่างอินเตอร์เน็ตมีมที่เป็นวิธีการสื่อสารของกลุ่มคนรุ่นใหม่ แม้ ‘มีม’ จะเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ หรือเรื่องของเด็กไม่รู้จักโต แต่จริงๆแล้วมีมก็มีความซับซ้อนในตัวของมันเองในแง่ของการสื่อสารที่แฝงไปด้วยความจริงจัง อารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่สะท้อนออกมาในบริบททางการเมืองผ่านมีมที่เป็นมุขตลก เสียดสี ดังนั้นอเล็กซ์มองว่ามีมก็ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ หากแต่เป็นวิธีการสื่อสารรูปแบบหนึ่งของผู้คน จึงนำมาสู่ที่มาของหัวข้อการจัดนิทรรศการ Memes of Dissent หรือมีมแห่งการต่อต้าน ในครั้งนี้ด้วย

แม้กระแสการเคลื่อนไหวหรือม็อบปี 2567 จะเบาบางลงกว่าปี 2563 ซึ่งอเล็กซ์มองว่าการแผ่วลงของม็อบก็เป็นวัฎจักรธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่ยั่งยืน มีขึ้นก็ต้องมีลง แต่ถึงกระนั้น กระแสการเปลี่ยนแปลงก็ได้มาถึงแล้วเพราะคนรุ่นใหม่ผู้ที่จะก้าวมาเป็นผู้นำในอนาคตก็มีวิธีคิดที่เปลี่ยนไปจากคนรุ่นก่อนทำให้อเล็กซ์ก็มีมุมมองในแง่บวกต่อการเคลื่อนไหวในอนาคตที่จะมีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ชาติชาย : การเอาตัวรอดของสิ่งมีชีวิตในรูปแบบของการสื่อสาร 

มีม คือศิลปะการสื่อสารและวิธีต่อต้านที่เป็นผลจากการปรับตัวของมนุษย์

ชาติชาย อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ กล่าวถึงมีมโดยเปรียบเทียบธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต เช่น ผีเสื้อที่มีการปรับตัวให้กลมกลืนเข้ากับสภาพแวดล้อมเพื่อเอาตัวรอดจากการถูกกินโดยสัตว์อื่น เช่นเดียวกับเซลล์มะเร็ง และ DNA ที่เป็นลักษณะการปรับตัวของยีนส์ (Genetics) เพื่อการอยู่รอด ซึ่งกลายมาเป็นที่มาของการใช้คำว่า มีม (Memetics) หมายถึง การเลียนแบบทางวัฒนธรรมในลักษณะของการต่อต้าน หรือการนินทาซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการเอาตัวรอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ Homo Sapien มาตั้งแต่อดีตตามข้อค้นพบของ Yuval Noah Harari นักเขียนหนังสือชื่อดังเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติ

ชาติชายอธิบายเพิ่มเติมว่าการใช้มีมของผู้คนถือเป็นวัฒนธรรมการต่อต้าน หรือการนินทาในลักษณะของการต่อสู้กับอำนาจ การมองหาจุดอ่อนของอีกฝ่ายมานำเสนอโดยมีจุดมุ่งหมายของการเสียดสี เลียนแบบ เพื่อให้รู้สึกถึงการเอาชนะซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์ไม่เคยยอมจำนนต่ออำนาจดังแนวคิดในบริบททางการเมืองที่กล่าวว่า“ที่ใดมีอำนาจ ที่นั่นย่อมมีการต่อต้าน” โดยมนุษย์จะมีการใช้ตัวบททางวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการต่อต้าน เช่น ศิลปะ เพลงเสียดสี การ์ตูนล้อเลียน ร่วมกับการใช้กลไกทางวัฒนธรรมในการสื่อสารผ่านตัวบททางวัฒนธรรมในลักษณะที่อาจมีความเฉพาะกลุ่ม กล่าวคือ ผู้ที่สามารถอ่านหรือตีความมีมต่างๆได้ ก็จะต้องเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในวัฒนธรรมเดียวกัน เข้าใจบริบทและความหมายของสารที่ผู้สร้างมีมต้องการจะสื่อ

เช่น มีมเป็ดเหลือง ที่เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยช่วงปี 2563 ที่มีเฉพาะกลุ่มคนที่เคยมีประสบการณ์เข้าร่วมหรือพบเห็นเท่านั้นที่จะเข้าใจความหมายที่แฝงอยู่ในนั้น

ขณะเดียวกัน ชาติชายชี้ให้เห็นว่าเนื้อหาการล้อเลียน เสียดสี เลียนแบบนั้นก็เป็นการต่อต้านอำนาจในลักษณะของการกลับหัวกลับหาง หรือการทำให้สิ่งที่เรียกว่าอำนาจกลายเป็นสิ่งที่ดูน่าตลกเพื่อลดทอนหรือท้าทายต่ออำนาจซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่มีมานานแล้ว ยกตัวอย่าง สมัยการปฏิวัติฝรั่งเศสที่มีสื่อสิ่งพิมพ์การ์ตูนล้อเลียนชนชั้นนำ หรือในบริบทการเมืองไทยยุคก่อนปฏิวัติ 2475 ก็มีวัฒนธรรมการต่อต้านในรูปแบบของประเพณี เช่น ลิเก เพลงฉ่อย และการต่อต้านสมัย 14 ตุลา ที่เป็นยุคของการใช้ใบปลิว หนังสือแฉ หนังสือเล่มละบาท กระทั่งมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ นั่นคือ สมัยเหตุการณ์พฤษภา 2535 ที่ผู้คนมีการติดต่อ ส่งข้อมูลข่าวสารแบบ SMS ด้วยอุปกรณ์เพจเจอร์ 

การสื่อสารที่เปลี่ยนผ่านจากโลกแอนนาล็อก สู่โลกดิจิตอล

ชาติชายเล่าต่อไปว่าหลังรัฐประหาร 2549 ก็เริ่มมีอินเตอร์เน็ตเข้ามาในสังคมไทยและมีการผลิตวัตถุสิ่งของเป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้าน ซึ่งการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีนั้นก็เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์การเปลี่ยนผ่านจากโลกแอนนาล็อกมาสู่โลกดิจิตอลอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคช่วงปี 2563 ที่มีกระแสการใช้มีมผสมผสานกับการใช้วัฒนธรรม Pop-culture ในการสื่อสารบนโลกออนไลน์ของผู้คน  ทั้งนี้ ความสามารถในการติดต่อสื่อสารบนโลกออนไลน์ก็ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมให้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารมีความหลากหลายและส่งไปได้ไกลมากขึ้น เราจะสังเกตเห็นได้ว่ามีมถูกผลิตซ้ำหรือนำมาใช้อยู่ในหลากหลายวงการ เช่น วงการติ่งเกาหลี วงการหนัง วงการกีฬาที่ล้วนส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวและตื่นตัวทางการเมืองได้

นอกจากมีมจะแพร่หลายในทุกวงการแล้ว ระดับทางภาษาที่ปรากฏอยู่ในมีมก็สามารถสื่อความหมายได้แตกต่างกันด้วย  โดยสรุป ชาติชายระบุว่าวัฒนธรรมการต่อต้านเป็นกลยุทธที่มนุษย์ใช้มาโดยตลอดโดยเฉพาะกลุ่มประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มักจะมีปัญหาในเรื่องการใช้อำนาจของผู้ปกครอง ซึ่งมีมก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อต้านหรือการนินทารูปแบบหนึ่งของผู้คนบนสื่อออนไลน์ด้วยลักษณะการสื่อสารที่ไม่ได้ตรงไปตรงมา แต่สามารถส่งต่อแนวคิดและสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมนุษย์ก็ใช้ภาษา สัญลักษณ์ในการสื่อสาร ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้คนนิยมใช้  ‘มีม’ เป็นเครื่องมือสื่อสารทางการเมือง

เทวฤทธิ์: นิยามลักษณะของมีมที่มีความหลากหลาย

นิยามของ มีม สู่เรื่องราวการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการในประเทศไทย

เทวฤทธิ์ หรือ บัส ได้ให้คำนิยามเกี่ยวกับมีมโดยเชื่อมโยงแนวคิดแบบภาษาศาสตร์ว่ามีลักษณะคล้ายกับ คำ ซึ่งเป็นหน่วยย่อยทางพันธุกรรม (DNA) ที่สามารถส่งมอบและสืบย้อนไปถึงรากที่มาของความหมายได้ เช่นเดียวกับมีมที่มีรหัสทางวัฒนธรรม กล่าวคือ คนที่ใช้ภาษาเดียวกัน หรืออยู่ในวัฒนธรรมเดียวกันก็จะสามารถเข้าใจความหมายได้ ฉะนั้น นิยามของ “ มีม” คือ การลอกเลียนหรือคัดลอก และล้อเลียนบางสิ่งบางอย่างในลักษณะการนำเสนอแบบมีอารมณ์ขัน สนุกสนาน แต่อาจมีนัยยะของการท้าทายอำนาจบางประการ

บัสยังบอกอีกว่าเนื้อหาของมีมในบางครั้งก็มีความเป็น ‘อะกาลิโก’ คือ ไม่ขึ้นอยู่กับเวลา เพราะภาพมีมบางชนิดก็สามารถนำมาใช้สื่อสารได้แม้ว่าเวลาจะผ่านไปแค่ไหน ผู้คนก็ยังสามารถเข้าใจบริบทมีมนั้นได้ เช่น ภาพมีมเปรียบเทียบความชอบ ความไม่ชอบที่ใช้ท่าทางของศิลปิน Drake มาสื่อสาร ขณะที่มีมบางชนิดก็มีความเฉพาะเจาะจงไปกับบริบท หรือสถานการณ์ในตอนนั้น เช่น ภาพมีมแซวประวิตรนั่งหลับในรัฐสภาที่หากคนรุ่นหลังมาเห็นก็อาจจะไม่เข้าใจ หรือไม่รู้จักประวิตรแล้ว

พัฒนาการและรูปแบบของมีมบนโลกออนไลน์ในบริบทเหตุการณ์ปี 2553

จากนั้น บัสก็ได้พูดถึงวิวัฒนาการการใช้มีมในอดีตตั้งแต่ยุคสมัยความขัดแย้งทางเมืองสีเสื้อปี 2553  ที่การใช้อินเตอร์เน็ตยังไม่ค่อยสะดวกสบายเท่าไหร่นัก เนื่องจากค่าอินเตอร์เน็ตมีราคาสูงทำให้ส่วนใหญ่มีมจะปรากฏเป็นภาพหรือข้อความมากกว่ามีมที่เป็นคลิปวิดีโอที่ต้องใช้ระบบอินเตอร์เน็ตสูง บัสเล่าว่าสมัยนั้นเป็นยุคที่ผู้คนย้ายจากเว็บบอร์ดมาเล่นแพลตฟอร์มออนไลน์เฟสบุ๊ค ผู้คนสามารถแสดงตัวตนว่าอยู่สังกัดใดสนับสนุนเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงด้วยการติดหมุด สามารถกดยกเลิกเป็นเพื่อนกับฝั่งตรงข้ามบนโลกออนไลน์ได้ ต่อมาช่วงหลังเหตุการณ์การชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อ 13 มีนาคม 2553 เขาก็พบว่ามีการผลิตคอนเท้นท์มาโจมตีกันไปมาบนโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งส่วนใหญ่ในยุคนั้นเป็นกลุ่มคนที่ไม่สนับสนุนเสื้อแดง เช่น เพจคัดค้านการยุบสภา และเพจขบวนการเสรีไทย

บัสเล่าต่อไปว่าการต่อสู้กันทางข้อมูลระหว่างสีเสื้อทั้งสองฝั่งจะเป็นไปในทำนองที่เป็นการล้อเลียน เสียดสี เช่น ล้อเลียนการเผาบ้านเผาเมือง กับการพูดถึงการปราบปรามประชาชนจนเสียชีวิตก็นำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ว่ามีบทบาทอย่างไรต่อสถานการณ์บ้านเมืองกรณีที่มีประชาชนเสียชีวิตควรจะต้องมีองค์อนุญาโตตุลาการเพื่อหยุดยั้งความรุนแรงหรือไม่ ทว่าในเวลาต่อมาก็มีเหตุการณ์ Big Cleaning Day หลังจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงจนส่งผลทำให้มีเสียงวิจารณ์ในมิติมนุษยธรรมในสังคมไทย

นอกจากนี้ บัสเล่าว่าในยุคดังกล่าวก็มีการทำ Social Sanction หรือการแขวน หรือการล่าแม่มด เพื่อประจาน ตีตราบุคคลที่สังคมมองว่าเป็นคนไม่ดี ต้องกำจัด ซึ่งในเวลาต่อมาก็มีการแขวนประจานกลับเช่นกัน จนกระทั่งปลายปี 2553 ก็มีการนิยามวาทกรรมว่าด้วยคนดี นำไปสู่การถกเถียงเรื่องกฏหมายมาตรา 112 และเกิดเป็นเพจต่างๆมากมายที่สร้างขึ้นเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นๆทางสังคมบนสื่อเฟสบุ๊ค  เช่น เพจช้างเป็นสัตว์กินเลือด,  เพจศาสดา, เพจล้อเลียนแบบเรียนอย่างเพจมานีมีแชร์ , เพจสก็อยที่นำภาษาสก็อยมาใช้สื่อสารในลักษณะของวัฒนธรรมการต่อต้าน ซึ่งสื่อเฟสบุ๊คก็เป็นอีกทางเลือกในกาาพูดคุยสำหรับกลุ่มคนที่รู้สึกไม่เห็นด้วยกับสื่อกระแสหลัก

ดังนั้น การล้อเลียนที่เป็นวัฒนธรรมต่อต้าน เมื่อย้อนดูที่มาของปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ตั้งแต่ปี 2553 ข้างต้น บัสระบุว่า ‘มีม’ ก็ไม่ได้จำกัดความหมายถึงภาพหรือภาษาเท่านั้น หากแต่มีม ยังสามารถเป็นไปในรูปแบบของแพลตฟอร์ม, จังหวะการพูด,  วลี, โควท หรือบุคคลก็ได้ด้วย

เช่น อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล บุคคลที่ถูกนำมาใช้เป็นสัญญะทางการเมือง และบางครั้งก็ถูกนำมาใช้เป็นมีมเชื่อมโยงแบบเปรียบเทียบกับตัวละครบาโฟเมต (Baphomet)  จากเกม Ragnarok เพราะได้รับฉายาความโหดคล้ายกับอ.สมศักดิ์ในบริบททางการเมือง  

ทั้งนี้ บัสยังพบข้อสังเกตอย่างหนึ่งด้วยว่าวัฒนธรรมการล้อเลียน เสียดสี หรือการต้อต้านในลักษณะของการใช้มีมก็มักจะเติบโตหรือเป็นที่นิยมในสังคมที่ไม่ค่อยมีเสรีภาพในการแสดงออกดังเช่นประเทศไทย เพราะถ้าหากเป็นประเทศที่มีเสรีภาพ การสื่อสารเรื่องต่างๆก็สามารถกระทำได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือทางวัฒนธรรมมาเป็นตัวช่วยในการสื่อสารแบบอ้อมๆ 

สำหรับมุมมองในอนาคตเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว บัสมองว่าที่ผ่านมาการจุดติดของม็อบช่วงปี 2563 เป็นเพราะว่ามีรัฐบาลเผด็จการอย่างประยุทธ์ที่เป็นจุดศูนย์รวมความไม่พอใจ แต่หลังจากผ่านพ้นเหตุการณ์ดังกล่าวมาแล้ว ผู้คนก็อาจจะยังมีรู้สึกมึนงงกับสถานการณ์ปัจจุบันและทิศทางในการเดินหน้าต่อในอนาคต บัสจึงอยากฝากว่าการส่งผ่านแนวคิดหรือการะดมพลเคลื่อนไหวในลักษณะใดก็ตาม เราควรเริ่มต้นจากการนิยามปัญหาว่าคืออะไร ใครคือคู่ขัดแย้งหลักและคู่ขัดแย้งรอง และเราอยู่ในตำแหน่งใดของความขัดแย้งเหล่า นี้ก็จะช่วยให้เรามีเป้าหมายและสามารถจุดติดการเคลื่อนไหวในครั้งต่อไปได้

ก่อนจบเสวนาก็ได้มีการประชาสัมพันธ์แคมเปญรณรงค์นิรโทษกรรมประชาชน เพื่อเป็นการเซท zero การดำเนินคดีทางการเมืองกับประชาชนที่สะสมมาตั้งแต่ความขัดแย้งทางการเมืองปี 2549 - ปัจจุบันและเพื่อเป็นการลดภาระของกระบวนการยุติธรรม ท่ามกลางบรรยากาศที่ผ่านพ้นยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ โดยมีไอลอว์เป็นผู้รวบรวมรายชื่อ ผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสู่รัฐสภา นับตั้งแต่วันที่ 1 - 14 กุมภาพันธ์2567 เนื่องในโอกาสวันวาเลนไทน์จึงขอเชิญชวนประชาชนทุดคนร่วมส่งมอบความรัก เพื่อบรรเทาความขัดแย้งในสังคมและให้ประเทศสามารถก้าวต่อไปข้างหน้า

สำหรับนิทรรศการ Memes of Dissent (มีมแห่งการต่อต้าน) จะจัดแสดงให้เข้าชมได้ตั้งแต่ 26 - 28 มกราคม 2567 ณ อาคาร All rise บ้านกลางเมือง รัชดา-ลาดพร้าว กรุงเทพฯ 

ซึ่งสิ่งของจัดแสดงจะประกอบไปด้วยมีมล้อเลียนการเมืองและสิ่งของที่เกี่ยวข้องโดยเน้นเนื้อหาปรากฏการณ์ช่วงปี 2563 ไปจนถึงหลังเลือกตั้ง 2564 เชิญชวนให้ผู้เข้าชมมาร่วมสนุกสร้างมีมของตนเองพร้อมรับหนังสือ ‘คนกลมคนเหลี่ยม’ ที่จะแจกฟรีรวมจำนวนทั้งหมด 50 เล่มสำหรับผู้ลงทะเบียนชมนิทรรศการ

เรื่องโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์

ภาพจาก iLaw