Skip to main content

26 มกราคม 2567  พิพิธภัณฑ์สามัญชนร่วมกับไอลอว์จัดงานเสวนาเปิดตัวนิทรรศการ Memes of Dissent ในหัวข้อ Memes Talk นักวาดหมายเลข 112 กับตั้ม จิรวัฒน์ แอดมินเพจคนกลมคนเหลี่ยมซึ่งผลงานของเขา ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 
โดยมียิ่งชีพ อัชฌานนท์ ชวนคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ส่วนตัวและให้กำลังใจนักโทษคดีการเมืองพร้อมโปรโมทแคมเปญรณรงค์นิรโทษกรรมประชาชนจากทางไอลอว์ที่จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 

ชีวิตวัยเด็กของตั้ม จิรวัฒน์ นักวาดหมายเลข 112

ก่อนพูดคุยกันเรื่องงานศิลปะ ตั้มได้เล่าย้อนถึงพื้นเพในวัยเด็กของเขาว่าเป็นคนกรุงเทพฯที่เติบโตมาในย่านคนจีน เรียนโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม และมีบ้านอยู่ใกล้วัดไทย ทำให้ตั้มเป็นคนที่พบเจอหรืออยู่ในสังคมที่แวดล้อมไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาตั้งแต่เด็ก 

ตั้มเล่าว่าเริ่มสนใจการเมืองมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมต้น เนื่องจากเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือหลากหลายแนว และชอบดูหนังฝรั่ง ทำให้เขาชอบตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว เปรียบเทียบสังคมไทยกับสังคมประเทศต่างๆ ในแง่ของวัฒนธรรมและแนวคิดเสรีภาพ เช่น กฏระเบียบในโรงเรียนที่บังคับการแต่งกายของนักเรียน หรือการยืนเคารพธงชาติเช้า-เย็น การใช้ไม้เรียวของครูทำโทษนักเรียน รวมไปถึงการยืนในโรงภาพยนตร์ที่ทำให้เขาตั้งคำถามว่าทำไปทำไม มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วกลับไม่มีสิ่งดังกล่าว รวมถึงการใช้ความรุนแรงและอำนาจนิยมในโรงเรียนที่ทำให้ตั้มสงสัยว่าทำไมนักเรียนถึงยินยอมให้มีกฎระเบียบที่ละเมิดสิทธิ์

เมื่อเข้าสู่วัยมหาวิทยาลัย เขาเริ่มรับรู้ถึงต้นตอของปัญหาระดับสังคม และปัญหาเชิงโครงสร้าง นำมาซึ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะการเมืองเป็นกลไกที่เข้าถึงอำนาจของประชาชน กระทั่งหลังรัฐประหารในปี 2557  เขาเห็นการจับกุมนักเคลื่อนไหวที่กำลังพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ทำให้เขาหันมาสนใจการเมืองอย่างจริงจังและได้ไปเข้าร่วมการชุมนุมตามที่ต่างๆ 

เพจ ‘คนกลมคนเหลี่ยม’ ภาพวาดสร้างรอยยิ้มในสถานการณ์ที่อาจจะยิ้มไม่ออก

แต่ทว่า ปัญหาโรคซึมเศร้าของตั้ม ทำให้เขาไม่ได้ไปเข้าร่วมม็อบอย่างสม่ำเสมอเหมือนที่ผ่านมา ในปี 2562 ตั้มจึงเปิดเพจเฟสบุ๊ค ‘คนกลมคนเหลี่ยม’ โดยหยิบยกประเด็นทางสังคมมานำเสนอในรูปแบบการ์ตูนเสียดสี ล้อเลียน แทนการลงพื้นที่ชุมนุม ตั้มมองว่าแม้ภาพที่วาดจะเป็นภาพการ์ตูนที่ดูตลก แต่หลายภาพนั้นตอนวาดเขาก็รู้สึกเครียดกับสถานการณ์บ้านเมืองเช่นกันและพยายามที่จะไม่ทำให้มันออกมาเป็นเนื้อหาที่ดูตลกร้าย (ฺDark joke) 
ซึ่งตั้มก็รู้สึกดีใจที่สามารถนำเสนอเรื่องซีเรียสออกมาให้กลายเป็นเรื่องตลกได้ สามารถทำให้คนดูแล้วรู้สึกเข้าใจง่าย สร้างเสียงหัวเราะได้บ้างตามที่เขาตั้งใจ

จากนั้น ตั้มก็ได้เล่าถึงที่มาความสามารถทางศิลปะของเขาว่าตั้งแต่เด็กตั้มเป็นคนชอบอ่านหนังสือการ์ตูน เช่น โดราเอมอน, กัปตันซึบาสะ, หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ, ดราก้อนบอล 

ประกอบกับช่วงที่เขาเรียนต่อ ปวช.ในวิชาศิลปะ ทางโรงเรียนก็มีการจ้างอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมาสอนในคลาสด้วย ตั้มยังได้ดูนิทรรศการและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับวงการศิลปะที่พบว่าศิลปินส่วนใหญ่มักจะผลิตซ้ำผลงานภาพวาดแนวสายลมแสงแดด ภาพที่อิงกับศาสนา หรือสุนทรียะแนวธรรมชาติ และมักจะไม่ค่อยวาดภาพที่สื่อสารเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมเท่าไหร่นัก ซึ่งตั้มมองว่าทำไมต้องวาดภาพศิลปะแนวเดิมๆ ทำไมไม่วาดภาพรถติด ภาพปัญหาในชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมบ้าง ราวกับว่าแนวทางศิลปะในประเทศเรามันมีกรอบอันคับแคบมาจำกัด ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่แสดงความเป็นตัวตนของเขา จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาให้ความสนใจกับการวาดภาพศิลปะที่สื่อสารถึงปัญหาสังคมดังที่ปรากฎผ่านผลงาน

ตั้มได้เล่าถึงกระบวนการทำงานภาพสำหรับเพจเฟสบุ๊ค ‘คนกลมคนเหลี่ยม’ด้วยว่า ก่อนวาดภาพเขาจะค้นหาข่าวที่เป็นประเด็นสังคมมาก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาคิดอยู่นานกว่าจะออกมาเป็นผลงานในแต่ละชิ้น  

 ในส่วนของผลตอบรับก็ถือว่าเป็นไปได้ดี มีคนชื่นชอบผลงานของเขาด้วยยอดไลค์จำนวนมากประมาณ 3-4 หมื่นไลค์ ซึ่งตั้มก็รู้สึกดีใจเพราะมีคนเห็นผลงาน จนกระทั่งเพจมาโดนเฟสบุ๊ครายงาน กรณีผิดมาตรฐานชุมชน ทำให้เพจ ‘ติดเหลือง’ คือเฟสบุ๊คจะไม่แนะนำหรือปรากฏเนื้อหาบนหน้าฟีดในการเข้าถึงผู้ชมอื่น ส่งผลให้มียอดไลค์ลดน้อยลงจากหลักหมื่นเหลือหลักพัน และหลักร้อยตามลำดับ

จากนักวาด สู่นักโทษหมายเลข 112 

ตั้มเล่าต่อไปถึงสาเหตุที่เขาถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 ว่าแรกเริ่มลายเส้นการ์ตูนที่ตั้มคิดไว้ว่าจะวาดแบบเหลี่ยมๆ แต่หลังจากที่ตั้มลาออกจากงานเนื่องด้วยปัญหาทางสุขภาพ ทำให้เขาได้มีเวลาทุ่มเทไปกับการวาดภาพด้วยลายเส้นที่สวยขึ้นจนมีผู้คนเริ่มรู้สึกว่าภาพวาดนั้นมีลักษณะที่เหมือนหรือคล้ายกับบุคคลหนึ่งมากเกินไป เป็นเหตุให้เขาถูกแจ้งความ ต่อมาตั้มจึงปรับเปลี่ยนลายเส้นการ์ตูนให้มีรายละเอียดลดลง เพื่อหลีกเลี่ยงความเหมือนจริงของภาพ และไม่ให้กระทบต่อตัวเขาเองมากนัก

หลังจากถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ตั้มเล่าว่าเขาเองก็ไม่ต้องการแสดงความรู้สึกเครียด เพราะถือว่าได้ทำในสิ่งที่มีความสุขแล้ว นั่นคือ การได้สื่อสารผ่านผลงานที่เป็นภาพวาดการ์ตูนตามที่ต้องการ ตั้มมองว่าการที่ผลงานของเขามีคนให้ความสนใจหรือถูกรับรู้โดยคนจำนวนมากก็ถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง ดังนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเครียดเพียงเพราะได้ทำในสิ่งที่ชอบ ทุกวันนี้เขาก็ยังคงวาดการ์ตูน สร้างสรรค์ผลงานที่ชอบต่อไปเช่นเดิม แม้จะมีความกังวลอยู่บ้างในผลคำสั่งฟ้องจากอัยการว่าจะได้สิทธิ์ประกันตัวหรือไม่ในวันที่ 31 มกราคม 2567 

ตั้มกล่าวส่งท้ายถึงความหลงใหลในการวาดการ์ตูนและลักษณะนิสัยของตั้มที่เป็นคนโลกส่วนตัวสูงทำให้เขายอมรับว่าไม่เหมาะกับการทำงานประจำในบริษัทเอกชนตามที่คนรอบข้างของเขาเคยบอกไว้ ดังนั้น อาชีพนักวาดการ์ตูนจึงกลายเป็นอาชีพหลักที่ตั้มทำอยู่ในเวลานี้ ก่อนเชิญชวนประชาชนผู้ร่วมฟังเสวนาอุดหนุนโปสเตอร์ภาพวาดการ์ตูน คนกลมคนเหลี่ยม ในราคา 112 บาท 

สำหรับนิทรรศการ Memes of Dissent (มีมแห่งการต่อต้าน) จะจัดแสดงให้เข้าชมได้ตั้งแต่ 26 - 28 มกราคม 2567 ณ อาคาร All rise บ้านกลางเมือง รัชดา-ลาดพร้าว กรุงเทพฯ 

ซึ่งสิ่งของจัดแสดงจะประกอบไปด้วยมีมล้อเลียนการเมืองและสิ่งของที่เกี่ยวข้องโดยเน้นเนื้อหาปรากฏการณ์ช่วงปี 2563 ไปจนถึงหลังเลือกตั้ง 2564 เชิญชวนให้ผู้เข้าชมมาร่วมสนุกสร้างมีมของตนเองพร้อมรับหนังสือ ‘คนกลมคนเหลี่ยม’ ที่จะแจกฟรีรวมจำนวนทั้งหมด 50 เล่มสำหรับผู้ลงทะเบียนชมนิทรรศการ

เรื่องโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์

ภาพจาก iLaw