Skip to main content

“ ผมว่ามันเป็นคดีการเมือง คดีปิดปาก ที่อยากจะให้เราไม่วิพากษ์ วิจารณ์นโยบายรัฐบาล กรณีวิสามัญในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เพราะไม่เป็นผลดีต่อรัฐเท่าไหร่ ” 
คำพูดของ แบร์ ซาฮารี เจ๊ะหลง นักกิจกรรมชาวปาตานีที่เคลื่อนไหวประเด็นการเมืองอัตลักษณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ วัย 40 ปี หลังจากถูก DSI จังหวัดปัตตานีเรียกสอบจากกรณีเปิดเพจเฟสบุ๊ค “ชมรมพ่อบ้านใจกล้า” ระดมทุนช่วยเหลือครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบในสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนใต้ และได้เดินทางไปแสดงตัวตามหมายเรียกข้อหากระทำผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา

“ตอนแรกเราชักชวนเพื่อน ๆ ช่วยไปประมาณ 4-5 เคส ใช้บัญชีธนาคารส่วนตัวในการเปิดรับบริจาค จนวิสามัญถี่มากขึ้น ช่วงประมาณปี 2564 เรารู้สึกว่าเยอะเกินไปก็เลยเปิดบัญชีกลาง ตามที่ทนายแนะนำ แล้วก็ช่วยไป 13-15 เคส ใช้วงเงินประมาณ 1.3 ล้านบาทซึ่งเป็นเงินที่มาบริจาคด้วยความสมัครใจ ไม่ได้บังคับ คนไทยพุทธก็มี ที่โอนมาห้าบาท สิบบาท ร้อยบาท พันบาท ช่วยกัน แล้วเวลาเรารับเงินมา เราก็จะประกาศยอด นำไปมอบให้กับญาติของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ปิดเคส ถ่ายรูปโพสเฟสบุ๊คตลอด เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์กับประชาชนว่าเรานำเงินบริจาคไปช่วยเหลือจริงๆ”

“แต่ทีนี้ ประเด็นหลักคือข้อหาเป็นเรื่อง พ.ร.บ คอม เพราะใช้คำว่า “ชาฮีด” ในการระดม
ทุน ซึ่ง ชาฮีด แปลว่า มรณะสักขี หรือการตายในหนทางของพระเจ้า”

“พวกที่ถูกวิสามัญ เราจะเรียกว่า ชาฮีด ซึ่งเป็นคำที่ฝ่ายความมั่นคงมองว่าบิดเบือนทางศาสนา และทำให้ประชาชนสับสน เกิดการต่อต้านอำนาจรัฐ จนนำมาซึ่งการหลอกลวงทำให้ผู้ถูกหลอกลวงเสียทรัพย์สิน และก็ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ อันนี่คือข้อกล่าวหาของเขาน่ะนะ”

“ ผู้ถูกวิสามัญ ถูกสังหารนอกระบบ ไม่ใช่ศาลตัดสินนะ ไม่ได้ตามกระบวนการยุติธรรม อันนี้ฆ่าแบบนอกระบบ ประชาชนในสามจังหวัดที่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงตาย มี 76 ราย ในรอบสามปีกว่านับจากปี 2563 และสังคมก็ไม่ได้ตั้งข้อสังเกต หรือตรวจสอบอะไร เรามองว่านี่คือปัญหาใหญ่ที่สังคมมันชาชินกับการมองเรื่องผิดปกติเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เราก็เลยช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ด้วยการระดมทุนช่วยเหลือผู้ที่ถูกวิสามัญ ”

เขาสูญเสียเนี่ย พวกเขาก็ต้องการกำลังใจ และ เงินสำหรับค่าทำศพ หรือที่เรียกว่า เงินนาวะ”

“ทีนี้ พอถูกดำเนินคดี ก็มีเพื่อนๆ นักกิจกรรม สื่อทุกคนมาให้กำลังใจ คุณกัณวีร์ สืบแสง สส.จากพรรคเป็นธรรม ก็มาช่วยโพสให้กำลังใจเรื่องของผม มีคุณแยม ฐาปนีย์ มาสัมภาษณ์ลงข่าว The Reporter และก็มี สส.รอมฏอน จากพรรคก้าวไกลที่ไปเป็นเพื่อนตั้งแต่ผมถูกเจ้าหน้าที่รัฐค้นบ้านหลังจากทราบว่าเป็นแอดมินเพจ เมื่อปี 2564 ซึ่งในตอนนั้นเขายังไม่เป็น สส.”

“ผู้ถูกวิสามัญ ถูกสังหารนอกระบบ ไม่ใช่ศาลตัดสินนะ ไม่ได้ตามกระบวนการยุติธรรม อันนี้ฆ่าแบบนอกระบบ ประชาชนในสามจังหวัดที่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงตาย มี 76 ราย ในรอบสามสิบสามปีกว่า และสังคมก็ไม่ได้ตั้งข้อสังเกต หรือตรวจสอบอะไร เรามองว่านี่คือปัญหาใหญ่ที่สังคมมันชาชินกับการมองเรื่องผิดปกติเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เราก็เลยช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ด้วยการระดมทุน” 

“ผมว่ามันเป็นคดีการเมือง คดีปิดปากที่อยากจะให้เราไม่วิพากษ์ วิจารณ์นโยบายรัฐบาล กรณีวิสามัญในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เพราะไม่เป็นผลดีต่อรัฐเท่าไหร่”

“ทั้ง ๆ ที่เรามีความตั้งใจ ประชาธิปไตย เราในฐานะประชาชนมีสิทธิ มีเสียงที่จะบอกว่านโยบายที่ดำเนินการอยู่เนี่ย มันไม่ถูกต้อง มันควรทบทวน ปรับเปลี่ยนยังไง เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความโกรธแค้นต่อต้านรัฐ จากผลการกระทำของรัฐเอง”

“เมื่อไม่ให้พูดถึง เราก็เลยใช้สโลแกนในการรณรงค์ว่า “มนุษยธรรมไม่ใช่อาชกรรม”  SLAPP คือ กฏหมายปิดปาก ซึ่งเป็นตัวทำลายสันติภาพ นักกิจกรรมในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้เกือบ 40 คนก็เคยโดนกฏหมายนี้มาแล้ว ส่วนเคสนี้ มีผมคนเดียวที่โดน DSI เล่นงานเนื่องจากไปเปิดเพจ เป็นแอดมินเฟสบุ๊ค”

จากพ่อบ้านใจกล้าสู่บรรณาธิการ The Motive สื่อรุ่นใหม่ เพื่อสันติภาพในชายแดนใต้

นอกจากแบร์จะช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแล้ว เขายังเป็นบรรณาธิการสื่อ The Motive ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2563 ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  ซึ่งขณะนั้นข่าวสารที่ประชาชนภาคใต้รับทราบเป็นข้อมูลสถิติการแพร่ระบาดทั่วประเทศ เนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่ถูกส่งไปรายงานที่ศูนย์กรุงเทพฯ ส่งผลให้ยังขาดการทำรายงานข้อมูลการแพร่ระบาดในพื้นที่เขตแยกย่อย ทำให้ในช่วงสองปีแรกสื่อ The motive ทุ่มเทไปกับการนำเสนอข่าวโควิดโดยเฉพาะข้อมูลเขตพื้นที่ห้าจังหวัดภาคใต้
ทว่าในตอนแรกสื่อ The motive ก่อตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนในประเด็นสันติภาพ ความยุติธรรม มนุษยธรรมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

“The Motive เรามารวมตัวกันช่วงโควิด  เป็นเพื่อนนักศึกษา นักกิจกรรม รวมตัวกันเพื่อมาทำสื่อ ตอนนั้นเราเห็นในกรุงเทพฯ มีสื่อตระกูลเดอะ เช่น The Standard, The Matter, The momentum เราก็รู้สึกว่าสื่อพวกนี้เท่ดีนะ เราก็เลยอยากทำให้มีในจังหวัดเราบ้าง”

“พอเข้าสู่ปี 2566 โควิดเริ่มคลี่คลาย เราก็มาทำสิ่งที่เราอยากจะทำแต่แรก นั่นคือเรื่องการเมือง และกระบวนการสันติภาพในภาคใต้ที่มันซับซ้อนมาทำให้เป็นเรื่องที่เป็นป็อบคัลเจอร์ เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่, นักวิชาการ, NGO ภาคประชาสังคม โดยเน้นทำเป็นภาษาไทยประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ เพราะเราอยากจะสื่อสารกับประชาชนคนไทย ส่วนที่เหลือก็จะแทรกภาษามลายูลงไปบ้าง”

“ก่อนหน้าที่จะทำ The Motive นี่ ผมเป็นฟรีแลนซ์ เคยทำวิทยุชุมชน สถานีวิทยุสำนักงานคณะกรรมการจังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2554-57 และก็เคยทำสื่อ WARTANI  ตอนปี 2555-58  ซึ่งเป็นสื่อท้องถิ่นนภาษามลายู หน้าที่ผมคือเขียนข่าว เขียนสคริปต์ สัมภาษณ์ ถ่ายวิดีโออะไรพวกนี้ แล้วก็เคยเขียนข่าวในเพจ Patani NOTES เมื่อปี 2560-63  ผมมีหลายหมวกไง 
แต่ตอนนี้ (2567) งานประจำที่ผมทำก็คือ เป็นเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการอาหารฮาลาล สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ทำมาสิบปีแล้ว ควบคู่ไปกับงานสื่อ เพจชมรมพ่อบ้านใจกล้า และก็เป็นนักศึกษาป.โท ที่สถาบันสันติศึกษา มอ.หาดใหญ่ ”

การกลืนกลายทางวัฒนธรรมภายใต้กรอบ “ความเป็นไทย” ของรัฐไทยสมัยใหม่

“ถ้าพูดถึงความเป็นไทย ผมเน้นไปที่กรุงเทพ อำนาจต่าง ๆ นี่ก็อยู่ที่กรุงเทพ ส่วนที่อื่นเป็นรองลงมา ผมมองว่าภายใต้โครงสร้างเดียวกัน ไม่ใช่แค่พื้นที่สามจังหวัดนะ ทั่วประเทศ ภูมิภาคอื่นก็เป็น เขาอยากให้เป็นเหมือนกรุงเทพ ทั้งๆที่ประเทศไทยนี่ มีความหลากหลายสูงมาก ก็มีความพยายามกลืนกลายทางวัฒนธรรมให้เป็นเหมือนกรุงเทพ แต่รัฐกลับไม่เอาความหลากหลายเป็นจุดแข็งในการพัฒนาประเทศ”

“พื้นที่ที่ถูกกลืนกลาย อย่างความเป็นไทยในล้านนา หรือคนภาคอีสานที่เป็นคนลาว เนี่ยก็จะมีลักษณะของความเป็นไทยที่ไม่มีการแข็งขืน แต่ถ้าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีการปะทะทางอุดมการณ์สูง  หรือมีความต่างกันมาก ๆ ก็จะทำให้เกิดการต่อต้านกัน เช่นระหว่างฝ่าย BRN (ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี - Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) กับ ฝ่ายรัฐบาลไทย RTG (Royal Thai Government) 

ดังนั้น การคลี่คลายปัญหามันก็ต้องมีการเปิดโต๊ะเจรจา ซึ่งความขัดแย้งทั่วโลกก็เป็นแบบนี้นะ สุดท้ายจบที่โต๊ะเจรจา แต่กรณีนี้ ผ่านมา 20 ปีแล้ว เจรจาก็มีแล้ว แต่ก็ยังไม่คืบหน้า ผมมองว่าปัญหามันอยู่ที่ความไว้วางใจ (trust) ฝ่ายขบวนการในพื้นที่ก็ไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะจริงใจมาแก้ปัญหาจริงๆ ส่วนฝ่ายรัฐหรือฝ่ายความมั่นคงก็มองว่าฝ่ายขบวนการเป็นพวกโจรทำผิดกฏหมาย  ใช้ความรุนแรง ระเบิดฆ่า ต้องถูกปราบปราม”

กฏหมายชวนตั้งคำถาม กับเหตุการณ์วันฮารีรายอ 

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่แบร์จะไปเข้าร่วมเป็นประจำทุกปีคือ งานเทศกาลวันฮารีรายอ หรือวันฉลองขึ้นปีใหม่ของชาวมุสลิมจะมาเข้าร่วมพิธีกรรมทางทางศาสนา และพบปะสังสรรค์กับเพื่อน ญาติพี่น้อง และมีการรณรงค์การแต่งกายด้วยชุดมลายู เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมตามกรอบรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิประชาชนทุกคนสามารถแสดงออกอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมตามชาติพันธุ์ของตนเองได้ ทว่ากลับมีการดำเนินคดีความมั่นคงกับนักกิจกรรม 9 คนในเทศกาลดังกล่าวย้อนหลังปี 2565-66 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567  แบร์ให้มุมมองว่า

“เราทำตามกรอบรัฐธรรมนูญ ไม่ผิดใช่ไหม แต่พอในพื้นที่สามจังหวัดแต่งชุดมลายูไปรวมกัน ฝ่ายความมั่นคงก็มาหวาดระแวง เขาจะคิดในมุมที่ว่าเป็นภัย ไม่ได้มองว่าเป็นโอกาสที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้นักท่องเที่ยวมา คือไม่ได้มองมุมบวกเลย ไม่รู้ว่าเป็นภัยความมั่นคงของใคร ชุดมลายูเนี่ยและผ่านมาสองปีพึ่งจะมาฟ้อง ทำไมผิดตอนนั้นไม่ฟ้องเลย ลากมาทำไมสองปี”

“เราก็แอบหวังว่าเพื่อไทย(รัฐบาลจากการเลือกตั้งในปี 2566) จะทำอะไรสักอย่าง ให้ความสำคัญเป็นวาระแห่งชาตินะ เพราะทหารตำรวจ พลเมืองทั้งไทยพุทธ มุสลิมเสียชีวิต 7-9 พันคนจากเหตุการณ์ คนที่เสียชีวิตไม่ใช่แค่คนสามจังหวัด แต่เป็นคนทั่วประเทศ ทหารที่มาจากภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ตอนบนมาเป็นทหารในสามจังหวัดก็ถูกระเบิด ยิงเสียชีวิต  ”

“หลักๆปัญหามันคือเรื่อง การเมืองฮะ ไม่ใช่การทหาร การทหารมันเป็นแค่เปลือกที่แสดงอาการเมื่อไม่ได้รับการตอบสนอง ช่วงนั้นตั้งแต่ 2547 ที่สามจังหวัดมีเหตุการณ์ทุกวันฮะ มีทั้งเหตุความรุนแรง เหตุปิดล้อมตรวจค้น เหตุปะทะ วิสามัญฆาตกรรม ระเบิด รอบยิง สมัยนั้นรัฐบาลทักษิณ, สนธิ บุญยรัตกลิน, อภิสิทธิ์, สมัคร สุนทรเวช, ยิ่งลักษณ์ มันก็ยังคงมีเหตุการณ์เรื่อยๆ ปีนี้ครบ 20 ปี มันเป็นความขัดแย้งที่ยาวนานที่สุดในประเทศไทย”

“ทุกวันนี้พื้นที่ในสามจังหวัดก็ยังมีกฏอัยการศึกที่นำมาบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2547  และพรก.ฉุกเฉินก็มีการต่ออายุทุกสามเดือน ใช้งบประมาณห้าแสนกว่าล้านนะ ในการแก้ปัญหาดับไฟใต้”

“ที่ผมช่วยก็มาจากเงินส่วนเสี้ยวนิดเดียวเองกับเงินบริจาคที่ช่วยเพื่อนมนุษย์กันเนี่ยก็ยังถูกดำเนินคดี ทั้งๆที่งบประมาณแสนกว่าล้านเอามาทำอะไร อันนี้เป็นคำถามที่เราก็รู้สึกอึดอัดนะ ตั้งคำถามไปก็ถูกดำเนินคดีอีก คือประเทศนี้มันเป็นอะไรกันแน่ คนที่ไม่โดนก็ไม่รู้ แต่เราเป็นคนที่โดนกระทำโดยตรงเนี่ย จะเรียกร้องความเป็นธรรมจากที่ไหน ความยุติธรรมมีอยู่จริงไหม ประเด็นเรื่องการให้ความเป็นธรรมกับประชาชนเป็นเรื่องที่คนทั่วภูมิภาคเรียกร้องมาตลอดในสังคมไทย คนที่ไม่ค่อยได้รับความเป็นธรรมก็เป็นคนยากจน พลเมืองรากหญ้า แต่ถ้าคุณเป็นคนมีนามสกุลดีๆ มีฐานะทางสังคมดีๆ เนี่ย กฏหมายก็จะอีกอย่างนึงนะ ”

“เราก็รู้สึกว่ามันไม่แฟร์ มันบังคับใช้กฏหมายที่ไม่เท่าเทียม เป็นปัญหาอย่างมากเรื่องความยุติธรรมในประเทศไทย”

จากนั้นบังแบร์ได้เล่าถึงที่มาที่ไปของชื่อที่ผู้คนรอบตัวเรียกว่า “แบร์ แปลว่า พี่ชาย ภาษามลายู ถ้าไทยมุสลิมตอนบนจะเรียกว่า “บัง” เพื่อนๆก็จะเรียกว่า บังแบร์ หรือ พี่บังแบร์ (หัวเราะ)

“บังแบร์” พี่ชายคนโตที่ตื่นรู้ผ่านการอ่านหนังสือ

“ผมเกิดปี 2526 อำเภอหนองจิก ตำบลดอนรัก จังหวัดปัตตานี เกิดในครอบครัวชาวนา คุณพ่อเป็นคนแรกในหมู่บ้านที่ตั้งโรงสีแบบใช้ไฟฟ้าเมื่อสามสิบปีก่อน พ่อเป็นชาวนาที่มีหัวก้าวหน้า พยามสอนให้ผมอ่านหนังสือ ส่วนคุณแม่เป็นแม่บ้าน ขายข้าวแกง ข้าวยำ ข้าวเหนียวไก่ทอดตอนเช้าๆ”

“ผมมีพี่น้อง 5 คน ผมเป็นคนโตสุด จริงๆผมมีพี่ชายแต่เขาเสียชีวิตตอนอายุสองขวบ”

“เรียนประถมที่โรงเรียนบ้านดอนรัก รุ่นเดียวกับ ผศ.เจะ อับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ เจ้าของหอแกลเลอรี่ศิลปะร่วมสมัย ที่ดอนรัก จำได้ว่ารุ่นนั้นเรียนหลักสูตร มานี มานะ พออายุ 13 ก็ย้ายมาอยู่หอที่เรียกว่า “ปอเนาะ” เพราะมาเรียนมัธยมที่โรงเรียนมูลนิธิอาซิสสถาน ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามควบคู่ไปกับวิชาสามัญ”

“เริ่มมาสนใจการเมือง ตั้งแต่ประถม ตอนกลางวันโรงเรียนเขาจะมีจัดกิจกรรมโต้วาที หัวข้อก็ เช่น มีความรู้กับมีเงินแบบไหนดีกว่ากัน ฝ่ายเสนอกับฝ่ายค้านก็ต้องไปหาข้อมูลมา ผมก็ชอบไปเข้าห้องสมุดกับเพื่อน ไปอ่านหนังสือพิมพ์ ก็จะชอบมีพาดหัวข่าวการเมืองนายกชื่ออะไร สมัยนั้น นายกชื่อ อานันท์ ปัญยารชุน, นายกชื่อ ชวน หลีกภัย  เราก็ดู ทำให้เรารู้จักชื่อนักการเมืองจากหนังสือพิมพ์ เราก็คิดว่าถ้าเราเรียนสูงๆ เราก็เป็นนักการเมืองได้นะ ตอนนั้น คิดแบบเด็กๆ”

“แล้วเวลาอยู่บ้านก็จะดูโทรทัศน์กับพ่อ ก็จะชอบนักการเมืองเวลาเขาพูดอภิปรายในสภา รู้สึกชอบที่เขาพูดจาฉะฉาน เก่ง ไม่เชิงเป็นไอดอล แต่ว่าเราก็อยากทำได้แบบเขา ผมทันตอนยุคปี 2535 ที่มีพฤษภาทมิฬ เราก็ดู คิดว่า เอ ทำไม รัฐบาลมันฆ่าประชาชน มันยิงอะ เราก็โตมาในสมัยนั้น จำได้ว่า สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กับอาจารย์ศิโรตม์  คล้ามไพบูลย์ออกมาเป็นแกนนำประท้วง แล้วก็เห็นเรื่องระหว่างจำลอง ศรีเมือง กับสุจินดา คราประยูร ความขัดแย้งการเมืองไทยในยุคนั้นเราก็ไม่ได้เข้าใจอะไรลึกหรอก เด็กๆ เราก็ดูตามผู้ใหญ่”

“ส่วนใหญ่ผมก็จะคุยเรื่องการเมืองกับคุณพ่อ แต่เด็กๆรุ่นเดียวกันตอนนั้นก็ไม่มีใครสนใจการเมืองเท่าไหร่ ก็จะคุยกันเรื่องการ์ตูน ดราก้อนบอล โดราเอมอน โคนัน วันพีช ”

“ตอนมัธยม เราก็มีบทบาทในหมู่นักเรียน เคยลงสมัครเป็นรองประธานนักเรียน พออ่านหนังสือผมก็อยากขีดเขียนนะ ก็ได้ทำจดหมายข่าวในโรงเรียนคล้ายๆหนังสือพิมพ์แซวอาจารย์ที่ชอบนินทา แล้วก็อัพเดตสถานการณ์บ้านเมืองแทรกมานิดนึงในคอลัมน์ สมัยนั้นเป็นเด็กกิจกรรม เข้าค่ายอบรมฤดูร้อนกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รู้จักกับพี่ๆนักศึกษาก็เปิดหูเปิดตาเกี่ยวกับเรื่องภายนอกโรงเรียน หลังจากนั้นก็ชอบทำกิจกรรมมาก”

“ผมมาเรียนมหาวิทยาลัย ปี 2545 ตอนนั้นสอบเอนทรานซ์ ติดที่ มอ. หาดใหญ่แต่ค่าเทอมแพงก็เลยขึ้นมาเรียนมหาวิทยารามคำแหง กรุงเทพฯ  จำได้ว่ามาปีแรกทันเห็นประท้วงไล่อธิการบดีรังสรรค์ แสงสุข เพราะเขาอยู่มาสองสมัย วาระแปดปี แล้วจะลงต่ออีก  เราก็ไปเข้าร่วมกับเขา แกนนำนักศึกษาตอนนั้นผมชอบพี่ตู่ จตุพร พรหมพันธุ์ ผมไม่แน่ใจว่าตอนนั้นเขาจบรึยัง ชอบฟังเขาไฮปาร์ค ”

“ตอนแรกผมเรียนคณะนิติศาสตร์ ก่อนจะย้ายมาคณะรัฐศาสตร์ เพราะอ่านหนังสือไม่ทัน ผมเป็นเด็กกิจกรรม ไม่รู้จักอาจารย์ผู้สอนสักคน รู้จักแต่อาจารย์ฝ่ายกิจกรรมนักศึกษา  ทำกิจกรรมกลุ่มที่เกี่ยวกับนักศึกษามลายูในกรุงเทพฯรวมตัวกัน มีสมาชิกเป็นพันคน ชื่อกลุ่ม P.N.Y.S. (ปัตตานี,นราธิวาส, ยะลา, สตูล) เป็นกิจกรรมแนวอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาติพันธ์ุมลายูที่มีมานานและก็ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ซึ่งตอนปี 2550 ผมก็ได้เป็นประธานชมรมสานสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาด้วยกัน”

“หลังจากจบป.ตรี เมื่อปี 2551 ก็มาเป็นทหารเรือนาวิกโยธิน ระยะหกเดือนที่สัตหีบ จังหวัดชลบุรี  แล้วก็กลับบ้านที่ปัตตานี ปี 2552 มาทำงานสื่อท้องถิ่น”

“นอกจากเรื่องการเมืองแล้ว ก็มีทีมฟุตบอลที่ชื่นชอบ ผมเชียร์ปืนใหญ่อาร์เซนอล เป็นแฟนตัวยง เชียร์มาตั้งแต่สมัยยุคอองรี ยุคปืนไร้พ่าย เป็นยุคที่ภูมิใจ (หัวเราะ) ยังโม้ได้อยู่ ตอนนี้มันไม่มีแชมป์ เครียดมากเลย (หัวเราะ) ไม่มีกองหน้า จากจ่าฝูงก็ตกมาอยู่ที่สี่ ”


 
บังแบร์ได้เล่าถึงงานอดิเรกและกิจกรรมที่ชื่นชอบ หลังจากพูดคุยเกี่ยวกับชีวิตในอดีตจนถึงปัจจุบัน ก่อนจะพูดคุยเรื่องความฝันและอนาคตตามที่เขาอยากเห็น

“บังแบร์“ ในบทบาทพ่อ และความใฝ่ฝันถึงสังคมเสรีที่อยากให้ลูกได้เห็น

“ผมเป็นพ่อของลูกสี่คน คนแรกเป็นคู่แฝดอายุสิบสองขวบ คนที่สามอายุแปดขวบ และคนสุดท้ายอายุสามขวบ ”

“เมื่อตอนปี 2564 ที่มีตำรวจ ทหาร DSI มาบุกล้อมบ้านเป็นกองทัพ 30-40 คน  ลูกคนที่สามตอนนั้นเขาอายุ 7 ขวบ เขาขวัญเสีย ตกใจกับภาพทหารถือปืน ผมต้องพาไปหาหมอจิตแพทย์ ผมต้องเอาเขาย้ายไปอยู่ที่บ้านคุณปู่หนึ่งเดือน ไม่งั้นเขากลัวคน กลัวชุดทหาร”
 
“เด็กอะ เค้าจินตนาการว่าพ่อของเค้าเป็นอะไร ทำไมทหารจะมายิงพ่อเค้า ก็เลยกลัว ซึ่งการปฏิบัติการแบบนี้ทหารเขาไม่คำนึงถึงสภาพจิตใจของเด็กหรอกเวลาเขามาปฏิบัติงานเขา”

“ถ้าถามผมว่ามีความใฝ่ฝันยังไง ผมก็ฝันว่าอยากให้ลูกๆของผมมีชีวิตอยู่ในสังคมที่ไม่มีความขัดแย้งแบบยุคที่ผมเจอ ลูกจะโตมาเป็นอะไรก็ได้ แต่อยากให้ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดในประเทศไทยหมดไป  ถ้าจะให้ความขัดแย้งหมดไปเลย มันคงเป็นไปไม่ได้ เพราะมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่จะขัดแย้งยังไงให้อยู่บนกติกา ไม่มีการเข่นฆ่ากัน หรือละเมิดสิทธิมนุษยชนกันจากทั้งฝ่ายรัฐ หรือฝ่ายขบวนการ ”
 
“ไม่มีการใช้กฏหมายปิดปาก กลั่นแกล้งประชาชน หากแต่ กฏหมายควรให้ความเป็นธรรมกับประชาชน นี่คือสังคมที่ผมอยากให้ลูกได้มีชีวิตอยู่ครับ”

 

เรื่องโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์

ภาพจากแบร์ ซาฮารี เจ๊ะหลง