14 มกราคม 2567 พิพิธภัณฑ์สามัญชนร่วมกับร้านประชาบาร์ Pracha Bar จัดเสวนาเปิดตัวนิทรรศการเด็กเอ๋ย เด็กเลว ประวัติศาสตร์ขบวนการนักเรียน นักศึกษา ปี 2563 เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2567 เพื่อทบทวนบันทึกความทรงจำและย้อนดูวิวัฒนาการขบวนการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยของ นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ณ ร้านประชาบาร์ ซึ่งตั้งอยู่บนชั้นสองของร้านก๋วยเตี๋ยวประชาธิปไตยกินได้ เขตบางรัก กรุงเทพฯ เมื่อเวลา 15:00 น. – 16:30 น. มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ อานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน, บุศรินทร์ แปแนะ เจ้าหน้าที่ไอลอว์ และ MOB DATA Thailand, วสิษฐ์พล ตั้งสถาพรพันธ ผู้จัดการร้านประชาบาร์ โดยมีเปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
อานนท์: ม็อบนิ่ง แต่ประชาชนตื่นแล้ว
บทบาทของพิพิธภัณฑ์สามัญชน
อานนท์ เล่าถึงที่มาของพิพิธภัณฑ์สามัญชนว่าเริ่มเก็บสิ่งของตั้งแต่ 2561 โดยเล็งเห็นว่าวัตถุการต่อสู้ทางการเมืองของประชาชน เมื่อเวลาผ่านไป จบม็อบ วัตถุนั้นก็จะถูกเก็บไว้ที่บ้าน เช่น เสื้อรณรงค์ เมื่อจบงานก็ถูกแขวนไว้ในตู้เสื้อผ้า สะท้อนให้เห็นว่าหน้าประวัติศาสตร์ของสามัญชนก็มีมิติทางการเมืองสอดแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเขา ซึ่งเป็นมิติที่ไม่ค่อยมีพิพิธภัณฑ์ หรือองค์กรใดเก็บ ดังนั้น พิพิธภัณฑ์สามัญชนก่อตั้งขึ้นมา เพื่อพยายามเก็บรวบรวมเรื่องราวมิติทางการเมืองของภาคประชาชน
อานนท์ เล่าว่าพิพิธภัณฑ์สามัญชนมีบทบาทเป็นเหมือน ‘คลังวัตถุสิ่งของ’ ที่รวบรวมเรื่องเล่าเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ซึ่งวัตถุสิ่งของดังกล่าว หากเก็บไว้เฉย ๆ คงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ทางพิพิธภัณฑ์จึงมีหน้าที่นำเสนอเรื่องเล่าผ่านสิ่งของที่นำออกมาจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการตามวาระโอกาสต่าง ๆ รวมไปถึงการให้ยืมสิ่งของจัดแสดงสำหรับนักวิชาการและเครือข่ายภาคประชาสังคม ที่มีความต้องการนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเรียนรู้ หรืองานวิจัย
อานนท์เล่าต่อไปว่า สำหรับโจทย์ ‘ม็อบปี 2563’ ที่ประชาบาร์กำหนดในนิทรรศการนี้มีความท้าทายตรงที่ต้องโฟกัสไปที่ ม็อบของกลุ่มเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา เพราะเมื่อย้อนดูช่วงต้นปี ม็อบของเด็กและเยาวชนจะถูกจัดขึ้นในรั้วโรงเรียน หรือรั้วมหาวิทยาลัย
ทว่าช่วงกลางปีที่ ม็อบเยาวชนปลดแอก ถูกจัดขึ้นบริเวณราชดำเนิน นั้นมีความคลุมเคลือต่อการระบุเจาะจงอีกรูปแบบหนึ่ง กล่าวคือ ไม่สาารถระบุได้ว่าเป็นม็อบเยาวชนหรือม็อบประชาชนทั่วไปกันแน่ ขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวในสถาบันการศึกษาของกลุ่มเยาวชนในปีดังกล่าว ก็ดำเนินในลักษณะที่เป็นการรวมตัวกันเฉพาะกิจเพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อสถานการณ์ ทางการเมืองบางอย่าง มากกว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวในนามขององค์กรหรือสถาบัน ส่งผลให้มีความยากต่อการคัดสรรวัตถุที่จะจัดแสดง ว่าควรต้องมีสัญลักษณ์ที่ยึดโยงกับสถาบันการศึกษาหรือไม่
อานนท์ระบุว่าสิ่งที่เก็บได้จากกิจกรรมรณรงค์ที่กลุ่มนักศึกษาช่วยกันสร้างสรรค์ ก็คือ สติ๊กเกอร์ ป้ายผ้าขนาดใหญ่ และเสื้อ เช่น เสื้อขอนแก่นพอกันที เสื้อจาก มมส. เพื่อประชาธิปไตย เป็นต้น
การเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ได้มาในรูปแบบของ ‘ม็อบ’ เสมอไป
อานนท์ระบุว่าแม้ม็อบในตอนนี้(ปี 2566 - 2567) จะเบาลงกว่าม็อบในปี 2563 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะนิ่งเฉยต่อสถานการณ์บ้านเมือง โดยยกตัวอย่างปี 2566 ที่ผ่านมา มีแคมเปญประชามติ การล่ารายชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีไอลอว์เป็นตัวแทนในการรวบรวมชื่อ แม้จะติดปัญหากระดาษหมด ก็ได้กระดาษและความร่วมแรงร่วมใจจากประชาชน จนกระทั่งประชาชนทำสำเร็จ และไอลอว์สามารถรวบรวมรายชื่อได้เป็นจำนวนทั้งหมดราวสองแสนกว่าคนภายในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น
และรายชื่อดังกล่าวถูกใช้ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญและผลักดันจนกลายเป็นวาระสู่การดีเบตในรัฐสภา
อานนท์ชี้ให้เห็นว่า แม้ผลลัพธ์ท้ายที่สุด สว.จะปัดตกข้อเสนอไปเพราะไม่ยอมรับในหลักการ แต่นี่ก็เป็นปรากฎการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนอยู่ในภาวะตื่นตัวทางการเมือง ไม่แพ้ตอนม็อบปี 2563 โดยประชาชนมีความพร้อมที่จะเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่เสมอ หากแต่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบของการจัดม็อบ ยกตัวอย่าง วงเสวนาทางการเมือง ที่จัดขึ้นตามสถานศึกษา หรือการจัดแคมเปญของหน่วยงานต่างๆ ก็มีประชาชนไปเข้าร่วมอย่างคึกคักไม่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าจะมีกิจกรรมทางการเมืองแบบใดที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของประชาชน
การเมือง เป็นเรื่องของเด็กเหมือนกัน
อานนท์ฝากทิ้งท้ายถึงผู้ใหญ่ที่มีทัศนคติที่ว่า ‘การเมืองเป็นเรื่องของผู้ใหญ่’ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับทัศนคติดังกล่าว รวมถึงเสนอว่าควรมองเด็กและเยาวชนที่ออกมาเรียกร้องในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ก็มี บทบาท มีส่วนได้ส่วนเสียกับนโยบายของรัฐเช่นเดียวกัน ดังนั้น การเมืองก็ไม่จำกัดว่าเป็นแค่เรื่องของผู้ใหญ่เท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องของเด็กด้วย
บุศรินทร์: ความกล้าหาญแบบดาวกระจาย
กระจกสะท้อนพลัง และแรงบันดาลใจ
บุศรินทร์ ระบุว่าเธอมีความสนใจในประเด็นการชุมนุมทางการเมืองมาอยู่แล้วตั้งแต่แรกเริ่มที่เข้ามาทำงานกับไอลอว์เมื่อปี 2559 ซึ่งรุ่นพี่ในที่ทำงานก็ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะในปี 2558 ขณะนั้น ทำให้เธอได้รับแรงบันดาลใจและต้นแบบการเก็บข้อมูลเชิงตัวเลขจากปรากฏการณ์การชุมนุมที่ฮ่องกงในปี 2562 นำมาสู่การสร้างฐานข้อมูลที่เป็นการสรุปตัวเลข การใช้กำลังต่างๆ ที่เกี่ยวกับการชุมนุมในประเทศไทยบนเว็บไซต์ Mobdata.org ซึ่งเธอทำร่วมกับ AMNESTY เพื่อขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการขัดขวางการชุมนุมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
บุศรินทร์ กล่าวถึงความรู้สึกหลังจากชมนิทรรศการโดยยกตัวอย่างสติ๊กเกอร์ ‘เกียมอุดม ไม่ก้มหัวให้เผด็จการ’ ของกลุ่มนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา และอีกชิ้นของ Spring Movement ที่ทำขึ้นในปี 2563 ซึ่งทำให้หวนคิดถึงการต่อสู้ของคนตัวเล็กที่รู้สึกอึดอัดและต้องการจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง จนกระทั่งความพยายามเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็รวมกันกลายเป็นแรงกระเพื่อมหรือคลื่นใหญ่หลังจากการชุมนุมเยาวชนปลดแอก เธอระบุว่าความกล้าหาญของประชาชนที่ลุกขึ้นมาทำม็อบในแต่ละพื้นที่ทั้งไทย หรือฮ่องกงเปรียบเสมือนพลังและแรงบันดาลใจที่ส่งผ่านให้กัน
บุศรินทร์ ระบุว่าเธอได้มีโอกาสทำวิจัยชิ้นเล็กๆ ที่เกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมตั้งแต่ปี 2549 ในมิติของความรุนแรงทางการเมือง พบว่าวิธีการที่รัฐใช้ในการปิดปากประชาชนเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น แต่กลับแย่ลงเรื่อยๆ เพราะต้องการขัดขวางการชุมนุมไม่ให้เป็นไปอย่างราบรื่น เมื่อเข้าสู่ปี 2553 ก็เริ่มมีการใช้พรบ. ฉุกเฉิน ส่งผลให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ จนมาสู่ปี 2557 ที่มีประชาชนออกมาคัดค้านรัฐประหาร ก็มีคำสั่งจากหัวหน้า คสช. ที่การปราบปรามด้วยความรุนแรง จนทุกวันนี้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบก็ยังไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา ทั้งนี้ ท่ามกลางบริบทสถานการณ์การเมืองที่มีข่าวกรณีการสูญหายของนักกิจกรรมอย่าง ต้าร์ วันเฉลิม, สุรชัย แซ่ด่าน ประกอบกับกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยและการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้ม็อบแผ่จำนวนมหาศาลมากขึ้น
"นิรโทษกรรมเด็กและเยาวชน"
บุศรินทร์เล่าต่อไปว่าข้อสังเกตคือ ความแตกต่างของแกนนำม็อบช่วงปี 2553 - 2557 ผู้ชุมนุมจะเป็นผู้ใหญ่ ขณะที่ม็อบช่วง 2563 เป็นต้นมาแกนนำกลายเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนมากขึ้น ทำให้รัฐต้องครุ่นคิดหากระบวนการรับมือใหม่ แต่เมื่อควบคุมปราบปรามไม่ได้ รัฐก็ใช้กฏหมายที่รุนแรงมาดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชน อย่าง กฏหมาย 112 เธอได้ให้ข้อมูลว่าขณะนี้ (มกราคม 2567) มีเด็กถูกดำเนินคดีทางการเมืองกว่า 200 ราย ซึ่งเธอมองว่าเป็นบทลงโทษที่หนักเกินไป จึงอยากฝากไปถึงรัฐว่าควรคำนึงถึงอนาคตและผลประโยชน์สูงสุดของเยาวชน และเสนอให้รัฐพิจารณาการนิรโทษกรรมพวกเขา เพื่อให้สังคมเดินต่อไปข้างหน้า
วสิษฐ์พล: ศิลปะทางการเมืองแบบสามัญชน
วัตถุ เล่าเรื่องผ่านมุมของประชา
วสิษฐ์พล หรือ ปัน ระบุถึงที่มาของนิทรรศการว่าร้านประชาบาร์ ต้องการที่จะเป็นพื้นที่เปิดสาธารณะสำหรับประชาชนทุกคนในการร่วมกันจัดกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบ และหนึ่งในหัวข้อกิจกรรมที่ทางร้านให้ความสำคัญนั่นก็คือ ม็อบการประท้วงของเด็กเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ผู้เป็นจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์ทางการเมือง โดยได้รับความร่วมมือจากพิพิธภัณฑ์สามัญชน ที่เป็นแหล่งรวบรวมของสะสมทางประวัติศาตร์การต่อสู้ทางการเมืองภาคประชาชน จนเกิดเป็นกิจกรรมในธีมเด็กเอ๋ยเด็กเลว ซึ่งสอดคล้องกับการฉลองเทศกาลวันเด็กแห่งชาติ
วสิษฐ์พล แชร์มุมมองในฐานะที่ตนเป็นศิลปินอิสระ ระบุว่า วัตถุจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่จะเห็นได้ว่าเป็นโปสเตอร์ สิ่งของ ผลงานศิลปะที่ออกแบบโดยฝีมือของศิลปินที่เป็นประชาชนคนธรรมดา ไม่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติที่มีการยอมรับอย่างเป็นทางการ ทำให้ผลงานศิลปะ หรือวัตถุสิ่งของแต่ละชิ้นสามารถสะท้อน หรือบอกเล่าเรื่องราวได้แตกต่างกันไป ซึ่งผลงาน หรือวัตถุที่มาจากประชาชนคนธรรมดาก็มีคุณค่าไม่ต่างจากวัตถุจัดแสดงที่คัดเลือกโดยรัฐ
“ผมให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ อย่าง เสื้อม็อบ การออกแบบไม่จำเป็นต้องเป็นดีไซเนอร์แบบมืออาชีพ แต่มันมีคุณค่า มันจับต้องได้ เราให้ความสำคัญกับสิ่งนี้”
วสิษฐ์พล กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่โควิดคลี่คลายเมื่อปี 2566 ผู้คนเริ่มกลับมาทำงาน มีกินมีใช้ ทำให้การจุดติดของม็อบก็อาจจะยากหรือแผ่วลดลง ไม่เหมือนกระแสม็อบปี 2563 นอกจากนี้ ก็มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว การจุดติดของม็อบก็อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงนี้
เขายังทิ้งท้ายว่าอยากให้รัฐเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชน สามารถออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ ไม่อยากให้รัฐผูกตัวนักเรียน นักศึกษามากเกินไปด้วยการสอนให้เรียน จบไปทำงานและจากโลกไปเท่านั้น หากแต่ควรเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนสามารถแสดงออกความคิดเห็นได้อย่างเสรีภาพเพื่อกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนสามารถออกมาพูด หรือตั้งคำถามกับประเด็นปัญหาของสังคมที่เกี่ยวกับชนชั้นแรงงาน ศีลธรรม เพื่อประโยชน์ของสังคมต่อไป
สำหรับนิทรรศการเด็กเอ๋ย เด็กเลว จะจัดแสดงให้เข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม - 13 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ร้านประชาบาร์ Pracha Bar เขตบางรัก กรุงเทพฯ ซึ่งสิ่งของจัดแสดงจะประกอบไปด้วย โปสเตอร์ เสื้อ สติ๊กเกอร์ และหนังสือพิมพ์ ที่พาย้อนรอยประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวขบวนการนิสิต นักศึกษาในปี 2563
เรื่องและภาพโดย อวัสดา ตรีรยาภิวัฒน์