Skip to main content

นิทรรศการ LANNA ANNAL ANNEX ณ Gallery VER Project Room จัดแสดงศิลปะจัดวาง งานจิตรกรรมนามธรรม และงานวิดีโอที่รวบรวมความทรงจำเกี่ยวกับล้านนา โดย สุดาภรณ์ เตจา ศิลปินที่มีปูมหลังเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมล้านนา รวมถึงความเชื่อ ความคิด และตัวตนที่ถูกกลืนหายไปกับกาลเวลา หรืออาจมองได้ว่าความทรงจำที่กลืนหายไปกับวัฒนธรรมรวมศูนย์ของรัฐไทย

สิ่งแรกที่สะดุดตาเมื่อก้าวขาเข้าประตูนิทรรศการ คือโถแก้วที่บรรจุวัตถุคล้ายทรายสีทองล้อไปกับกระดาษสี่แผ่น รวมถึงเสียงเพลงพื้นเมืองดังมาจากด้านหลังของฉากกั้น

เป็นความโชคดีที่มีโอกาสได้ฟังศิลปินเล่าเรื่องราวที่มาที่ไปของผลงานแต่ละชิ้น เริ่มด้วยโถแก้วที่ตั้งวางอยู่ตรงกลาง ปรากฏว่าฝุ่นผงภายในนั้นไม่ใช่ทราย แต่เป็นฝุ่นผงของขี้เลื่อยไม้สักทองที่มาจากจังหวัดเชียงใหม่ โดยศิลปินตั้งใจแยกองค์ประกอบของปิ่นไทเขิน (ปิ่นหน่อ) ที่ทำจากทองเหลืองและนำมาจัดวางใหม่บนขี้เลื่อยไม้สักทองให้มีลักษณะคล้ายกับนาฬิกาแดด เพื่อสื่อถึงความทรงจำและการย้อนเวลากลับไปในสมัยที่วัฒนธรรมล้านนายังไม่ถูกกลืนโดยอาณานิคมสยาม

กระดาษทั้งสี่แผ่นที่ติดไว้บนกำแพงคือหนังสือประกาศจากพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ให้ราษฎรรับทราบและกราบทูลถึงกษัตริย์สยาม อ้างถึงเทวดาอารักษ์ที่ดูแลบ้านเมืองล้านนาว่าไม่พอใจการปกครองของสยาม ที่เข้ามาแทรกแซงการปกครองเดิมของล้านนา ทั้งนี้ ยังมีบทความ “ล้านนา-ความแรงของมรดกลัทธิกึ่งเมืองขึ้น” โดย อาจารย์ธเนศวร์ เจริญเมือง ที่เขียนขึ้นเพื่อนิทรรศการนี้โดยเฉพาะให้กับผู้ชมได้เข้าใจถึงประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งที่ล้านนาถูกผนวกรวมกับรัฐสยาม

ในบทความได้กล่าวถึงช่วงที่สยามทำสนธิสัญญาทางการค้ากับ 14 ชาติตะวันตก ทำให้เกิดสภาวะกึ่งเมืองขึ้นจนสยามเร่งสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเองโดยการรวมศูนย์อำนาจการปกครอง รวมถึงล้านนาที่ถูกลดอำนาจการปกครองทั้งจากการออกกฎหมาย ห้ามเขียนอ่านตัวอักษรล้านนา การบังคับให้โรงเรียนสอนเฉพาะภาษาสยาม และเขียน “ตำนานโยนก” ขึ้นมาเป็นหนังสือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับล้านนาเพียงเล่มเดียว จนถึงปัจจุบันที่มีระบอบการปกครองแบบควบคุมอำนาจจากศูนย์กลาง ทั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด ระบบการศึกษา ความเชื่อต่าง ๆ ที่ถูกกลืนหายไปกับรัฐไทย แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินชีวิตของผู้คนก็ยังเกี่ยวโยงกับความเป็นล้านนา และมีการรื้อฟื้นวัฒนธรรมขึ้นมาเป็นระยะ โดยเฉพาะช่วงปี 2562 - 2563 ที่มีการชุมนุมและพูดถึงปัญหาการปกครองรวมศูนย์ วัฒนธรรมแบบล้านนาก็ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงทั้งด้านศิลปะ ภาษา และประวัติศาสตร์

ทั้งสองฝั่งของนิทรรศการด้านหน้า มีโคมเพชรล้านนาขนาดใหญ่ที่มีพู่ห้อยยาวลงมากองจรดพื้น ศิลปินใช้ชื่อว่า Moondial เป็นหนึ่งในสิ่งของที่ชาวล้านนานิยมใช้ประดับบ้าน ร้านอาหาร หรือใช้ในงานเทศกาลต่าง ๆ ศิลปินตั้งใจแขวนไว้เพื่อสื่อสารถึงเวลาในอดีตอีกรูปแบบหนึ่ง คือการระลึกถึงบ้าน โคมนี้เป็นสัญลักษณ์ให้มองย้อนไปถึงอดีตของล้านนาที่ยังหลงเหลือในตัวของลูกหลานชาวล้านนา กระจัดกระจายไปอยู่ในแต่ละพื้นที่ โคมล้านนาเป็นสิ่งที่ประดับไว้ที่ใดก็รู้กันว่าเป็นคนเหนือหรือคนล้านนา เมื่อเห็นแล้วมีความอุ่นใจเหมือนได้กลับบ้านไปพบกับคนในวัฒนธรรมและได้เห็นวิถีชีวิตแบบเดิมอีกครั้ง

เมื่อพูดคุยถึงเสียงเพลงที่ดังมาจากส่วนจัดแสดงงานด้านหลัง ซึ่งเป็นการนำเสนอวิดีโอและบทสัมภาษณ์ โดยในส่วนการแสดง ศิลปินได้นำเพลงจากแผ่นเสียงขับซอพื้นเมืองของ “อุ่น เตจา” (2412 - 2486) พ่อทวดของศิลปิน ซึ่งเป็นช่างซอล้านนาที่มีชื่อเสียง (ช่างซอหมายถึงนักแสดงดนตรีที่ขับร้องเพลงสดให้เข้ากับเครื่องดนตรีปี่จุม) ตัวศิลปินเองก็ได้ฟังเรื่องราวของพ่อทวดมาตั้งแต่สมัยยังเด็ก และได้ค้นเจอรูปถ่ายของพ่อทวดในพิธีฮ้องขวัญ จึงเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ศิลปินสนใจและค้นคว้าเรื่องขวัญและเส้นผมของชาวล้านนา ซึ่งมีความเชื่อในเรื่องการไว้ผมยาวและไม่ตัดผมเพื่อรักษาขวัญบนศีรษะของตัวเอง ศิลปินใช้การตัดผมของตัวเองในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เปิดให้ผู้ชมตีความถึงการต่อต้าน หรือสยบยอม หรือกลายเป็นส่วนหนึ่งโดยไม่รู้ตัวต่ออำนาจจากศูนย์กลาง

ภายหลังการแสดงจบลง ศิลปินได้ใช้บทสัมภาษณ์ของช่างทำผมที่ย้ายถิ่นฐานจากภาคเหนือมาทำงานในกรุงเทพฯ เพื่อหารายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ในบทสัมภาษณ์กล่าวถึงวิถีชีวิตในวัยเด็ก ความอยากกลับบ้านไปอยู่ที่บ้านเกิดแม้ว่าพื้นที่และผู้คนจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว เป็นจุดเชื่อมประสานแนวคิดและความเชื่อของคนในปัจจุบัน ซึ่งวิดีโอถ่ายทอดให้เห็นถึงช่างทำผมขณะที่กำลังต่อผมให้กับลูกค้า การต่อผมเป็นนัยยะที่เชื่อมโยงกับการตัดผมในช่วงต้น LANNA ANNAL ANNEX เป็นนิทรรศการที่ต่อยอดแนวคิดในการเก็บรักษาวัฒนธรรมล้านนา และชวนให้หวนไตร่ตรองถึงประวัติศาสตร์ที่ถูกละเลยและกลืนกินโดยการรวมศูนย์ของรัฐสยาม