Skip to main content

พิพิธภัณฑ์ 2575 เป็นนิทรรศการที่จัดขึ้นที่ VS Gallery ในโอกาสที่กำลังจะครบหนึ่งศตวรรษที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย  

‘ไพลิน’ ชรินทร ราชุรัชต ศิลปินผู้สร้างสรรค์งาน เป็นช่างภาพที่และศิลปินไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล World Press Photo ปี 2022 จาก ผลงานชุด “The Will to Remember” ซึ่งเป็นการนำภาพถ่ายจากสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เธอถ่ายเอง มารวมกับภาพถ่ายบางส่วนที่เธอนำมาจากโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ก่อนดัดแปลงด้วยเทคนิคคินทสึกิ(Kintsugi) เพื่อสื่อนัยยะถึงความทรงจำที่ถูกลบเลือน

หลังจากนั้นชรินทรได้นำแนวคิดจากงาน The Will to Remember มาต่อยอดเป็นนิทรรศการ “พิพิธภัณฑ์ 2575” 

เทคนิค คินทสึกิ(Kintsugi) เป็นวิธีการซ่อมแซมสิ่งของ เช่น ถ้วยชามกระเบื้องที่ตกแตก โดยการนำชิ้นส่วนที่แตกออกมาเชื่อมกันด้วยยางรักผสมผงทอง ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น คินทสึกิยังมีนัยยะถึงความสวยงามของวัตถุที่ไม่สมบูรณ์แบบ ร่องรอยของตำนิ ความเสียหายที่ถูกเชื่อมประสานนี้ นอกจากจะเป็นการซ่อมแซมแล้วยังแสดงถึงอัตลักษณ์ของวัตถุแต่ละชิ้นอีกด้วย 

การเชื่อมประสานภาพถ่ายที่ฉีกขาดเข้าด้วยกันคือความตั้งใจของชรินทรที่จะเชื่อมโยงทรงจำที่ถูกฉีกขาดรวมถึงความทรงจำที่รัฐพยายามทำให้สูญหายเข้าด้วยกัน โดยผู้เข้าชมจะได้เห็นร่องรอยการเชื่อมประสานบนภาพที่จัดแสดงทุกๆชิ้นในงาน 

เมื่อผู้ชมเดินมาถึงที่ทางเข้างานจะพบกับภาพถ่ายพานรัฐธรรมนูญที่ชรินทรตั้งใจจัดวางให้ผู้ชมมองเห็นชัดผ่านประตูกระจกของห้องจัดแสดง เมื่อมองที่พานจะเห็นร่องรอยของการเว้าแหว่งและรอยต่อสีทองที่เชื่อมประสานภาพสองส่วนเข้าด้วยกัน

หลังเดินผ่านภาพพานรัฐธรรมนูญ ผู้ชมจะพบกับภาพถ่ายสิบภาพ ตามลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่มีรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรก 10 ธันวาคม 2475 รอยร้าวบนพานรัฐธรรมนูญในภาพน่าจะเป็นการสื่อว่าหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 การเมืองและประชาธิปไตยไทยยังต้องเผชิญกับสารพัดวิกฤตทั้งการรัฐประหารที่เกิดขึ้นแล้ว 13 ครั้ง และเหตุการณ์สังหารหมู่ผู้ชุมนุมกลางเมืองอีก 5 ครั้ง

ถัดจากภาพพานรัฐธรรมนูญ ชรินทรพาผู้ชมย้อนไปชมภาพงานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งแรก ซึ่งสะท้อนการสถาปนาหลักการอำนาจสูงสุดเป็นของของประชาชนรวม ภาพถ่ายที่ชรินทรเลือกมาคือภาพบรรยากาศของความยินดีที่มีประชาชนรวมตัวกันฉลองรัฐธรรมนูญพร้อมชูป้ายเขียนข้อความ “ได้เสมอภาค เพราะรัฐธรรมนูญ” ทว่าต่อมางานฉลองรัฐธรรมนูญก็ถูกยกเลิกไปหลังการรัฐประหารของคณะทหารในปี 2490

ถัดจากเรื่องราวของงานฉลองรัฐธรรมนูญ ชรินทรพาผู้ชมย้อนไปดูเรื่องราวของ “กบฏบวรเดช” สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในสยามเพียงหนึ่งปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 

การต่อสู้ระหว่างทหารของรัฐบาลคณะราษฎรกับทหารของคณะกู้บ้านกู้เมืองนำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชมีมูลเหตุหลักมาจากความขัดแย้งระหว่างระบอบการปกครองใหม่ที่เพิ่งถูกสถาปนากับระบอบเก่าที่เพิ่งสูญเสียอำนาจ 

ภาพที่ชรินทรเลือกมาเล่าเรื่องราวในส่วนนี้มีทั้งภาพที่บอกเล่าบรรยากาศของการสู้รบที่สถานีรถไฟหลักสี่ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการปะทะระหว่างกองกำลังของทั้งสองฝ่าย นอกจากนั้นก็มีภาพบรรยากาศของราษฎรที่ออกมารวมตัวในที่สาธารณะเพื่อแสดงความสนับสนุนรัฐบาลคณะราษฎรรวมถึงความต้องการในการพิทักษ์การปกครองระบอบใหม่ 

ในวันที่ 11 ตุลาคม 2476 ทหารคณะกู้บ้านกู้เมืองเดินทางเข้ากรุงเทพและส่งหนังสือถึงพระยาพหลฯให้ลาออกจากตำแหน่ง รัฐบาลคณะราษฎรตอบโต้การเคลื่อนกำลังของทหารคณะกู้บ้านกู้เมืองโดยประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 12 ตุลาคม ขณะที่ประชาชนในพระนครที่เชื่อมั่นในระบอบใหม่ก็ออกมาชุมนุมคัดค้านการกระทำของคณะกู้บ้านกู้เมือง รวมถึงอาสาให้ความช่วยเหลือรัฐบาลในการต่อสู้กับทหารคณะกู้บ้านกู้เมืองด้วย ท้ายที่สุดทหารฝ่ายรัฐบาลเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะขณะที่พระองค์เจ้าบวรเดชก็หนีออกนอกประเทศ

มีทหารของฝ่ายรัฐบาล 17 คน เสียชีวิตในการสู้รบครั้งครั้งนั้น พิธีศพของทหารทั้ง 17 คนถูกจัดขึ้นที่ท้องสนามหลวงซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่สนามหลวงถูกใช้จัดพิธีศพของสามัญชน สามปีหลังเหตุการณืรัฐบาลคณะราษฎรได้สร้างอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรืออนุสาวรีย์ปราบกบฎไว้ที่หลักสี่ เพื่อระลึกถึงความเสียสละของสามัญชนเหล่านั้น นอกจากนั้นก็มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์ที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยกระจายอยู่ในหลายๆพื้นที่ของประเทศ

อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญถูกรื้อถอนในคืนวันที่ 27 ธันวาคม 2561 เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นแสดงให้เห็นว่าคนบางกลุ่มมีความพยายามที่จะลบความทรงจำที่ประชาชนมีต่อคณะราษฎร์ซ้ำไปซ้ำมา เพราะนอกจากอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญแล้วก็มีสถานที่ในความทรงจำถึงคณะราษฎรหรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกหลายที่ทั่วประเทศที่ถูกรือถอนทำลาย

ถัดจากเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงการปกครองและเหตุการณ์เมื่อเกือบ 100 ปีก่อน ชรินทรพาผู้ชมนั่งไทม์กลับมาที่เหตุการณ์ร่วมสมัยคือการชุมนุมของคณะราษฎร 63 ที่มีผู้คนหลากหลายวัยรวมถึงคนหนุ่มสาวมุ่งหน้าสู่ท้องถนนพร้อมชูสัญลักษณ์สามนิ้วเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งตัวชรินทรมองว่าปรากฎการณ์ในปี 2563 คล้ายคลึงกับวันที่เยาวชนคนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาปกป้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์กบฎบวรเดชเมื่อ 88 ปีที่ก่อน 

คณะราษฎร63 ยังนำสัญลักษณ์ที่หายไปของคณะราษฎร เช่นหมุดคณะราษฎร ที่หายไปจากลานพระบรมรูปทรงม้า มาออกแบบใหม่และฝังที่สนามหลวงในวันที่ 20 กันยายน 2563 เพื่อแสดงความรำลึกถึงความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรและหลักการอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร รวมถึงเป็นการตอกย้ำถึงผู้มีอำนาจว่ายิ่งประวัติศาสตร์ ประชาชนยิ่งรับรู้ถึงการมีอยู่

ภาพสุดท้ายก่อนจบนิทรรศการ ชรินทรใช้โยบิสึงิ (Yobitsugi) หนึ่งในเทคนิคคินสึงิซึ่งเป็นการหยิบยืมชิ้นส่วนของวัตถุอื่นมาใช้ต่อเติมชิ้นส่วนที่หายไปวัตถุอีกชิ้นหนึ่ง สร้างสรรค์เป็นภาพหมุดคณะราษฎรที่ถูกฝังในปี 2475 ที่ถูกเชื่อมประสานเข้ากับหมุดคณะราษฎร63 เพื่อสื่อว่า แม้เวลาจะผ่านมาหลายสิบปี แต่เจตนารมณ์ของประชาชนยังคงดำเนินต่อไป และชรินทรยังฝากความหวังไว้ในนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ 2575 ว่าวันครบ 100 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง บาดแผลที่เคยเกิดขึ้นจะคลี่คลาย และยุคสมัยใหม่ของประชาธิปไตยจะเริ่มต้นขึ้น

เรื่องและภาพโดย วรกมล องค์วานิชย์