หากพูดถึงการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ หนังตะลุงน่าจะเป็นหนึ่งในชื่อที่คนทั่วไปคิดถึงเป็นอันดับต้นๆ ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปความบันเทิงรูปแบบใหม่ๆ เริ่มเข้ามาแทนที่หนังตะลุง ขณะเดียวกันการตามหาผู้สืบทอดศาสตร์และศิลป์แขนงนี้ก็ทวีความท้าทายขึ้นเป็นลำดับ
ที่จังหวัดพัทลุง ช่างเล็ก ช่างแกะหนังตะลุงซึ่งเป็นช่างแกะหนังรุ่นที่สี่ในครอบครัวหนังตะลุงและนายหนังโผนฟ้า ดาราทอง ร่วมกันบุกเบิกหอศิลป์หนังตะลุง เพื่อให้เด็กและเยาวชนในจังหวัดพัทลุงได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวของหนังตะลุง รวมถึงมีโอกาสทดลองแกะและเชิดหนังตะลุง
นับจากปี 2547 จนถึงปี 2566 ก็เป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว ที่ศูนย์การเรียนรู้ หอศิลป์หนังตะลุงเปิดประตูต้อนรับผู้สนใจในศาสตร์และศิลป์ของหนังตะลุงให้เข้ามาเรียนรู้ด้วยความหวังที่จะส่งต่อองค์ความรู้ของตัวเองไปสู่คนรุ่นหลังให้มากที่สุด เรื่องราวของช่างเล็กและนายหนังโผนฟ้า ดาราทองถือเป็นหนึ่งตัวอย่างของสามัญชนตัวเล็กๆ ที่ลุกขึ้นมาทำงานอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยทุนรอนของตัวเองซึ่งเชื่อว่าหากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ความสนับสนุนอย่างเป็นระบบหอศิลป์แห่งนี้ก็จะมีความเข้มแข็งและสามารถทำงานต่อเนื่องได้ในระยะยาว
เดินทัวร์หอศิลป์หนังตะลุง แหล่งเรียนรู้บ้านๆ ที่รุ่มรวยด้วยเรื่องราว
ศูนย์การเรียนรู้ หอศิลป์หนังตะลุง ตั้งอยู่บนถนนเพชรเกษมตรงข้ามกับศาลหลักเมือง ห่างจากศาลากลางจังหวัดพัทลุงประมาณ 4 กิโลเมตร พื้นที่จัดแสดงแรกที่ผู้ชมจะได้พบเห็นเมื่อเข้ามาถึงถือโรงแสดงหนังตะลุงซึ่งเป็นเพิงมุงหลังคาเปิดโล่งขนาดใหญ่ ภายในมีจอหนังขนาดใหญ่ขึงไว้พร้อมเครื่องเสียง ขณะที่ด้านข้างอาคารทั้งสองด้านมีนิทรรศการถาวรเป็นป้ายไวนิลจัดแสดงไว้ ผนังด้านซ้ายมือ (หันหน้าเข้าจอ) จัดแสดงเรื่องราวและรูปภาพของตัวหนังตะลุงพร้อมประวัติย่นย่อ ขณะที่นิทรรศการด้านขวามือบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของศิลปะการเล่าเงาซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมในหลายๆ พื้นที่ของทวีปเอเชีย รวมถึงความเป็นมาของหนังตะลุงในพื้นที่ภาคใต้ สำหรับโรงหนังตะลุงนี้จะเปิดใช้งานเต็มรูปแบบเฉพาะเวลามีกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมเป็นหมู่คณะจำนวนมากเท่านั้น แต่ผู้เข้าชมสามารถเดินเข้ามาชมนิทรรศการที่อยู่ในโรงฉายหนังได้ตลอด
"จริงๆ แล้วการแสดงลักษณะเดียวกับหนังตะลุงมันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภาคใต้นะ ภาคกลางก็มี ภาคอีสานก็มี คือไอ้การแสดงที่เล่นกับแสงและเงาเนี่ยมันเป็นวัฒนธรรมร่วมของเอเชีย อย่างในไทยนี่ภาคใต้มีหนังตะลุง ภาคกลางก็มีการแสดงคล้ายๆ กันที่เขาเอาละครรามเกียรติ์มาเล่น ส่วนในภาคอีสานก็มีการแสดงที่เรียกว่า หนังบักตื้อหรือหนังประโมทัยที่เล่นคล้ายๆ หนังตะลุง แต่ต่างกันตรงที่ดนตรีที่เล่นประกอบจะเป็นดนตรีของทางอีสาน สำหรับหนังตะลุงของภาคใต้สิ่งที่เป็นจุดเด่นคือมันเป็นการละเล่นที่นำวรรณคดีโบราณมาปรับแต่งและบอกเล่าด้วยภาษาหรือมุกตลกร่วมสมัย อาจจะเรียกได้ว่าหนังตะลุงของภาคใต้มันไม่ใช่แค่การละเล่นแต่เป็นเหมือนสื่อท้องถิ่นที่ดัดแปลงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นร่วมสมัยมาสื่อสารเป็นมุกตลกหรือส่วนหนึ่งของการแสดงเรื่องราวในวรรณคดีด้วย"
ช่างเล็กเริ่มเล่าถึงความเป็นมาเป็นไปของหนังตะลุงขณะที่เดินมาต้อนรับทีมงานของพิพิธภัณฑ์สามัญชนที่โรงแสดงหนังตะลุง ก่อนจะเล่าข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังตะลุงต่อไปว่า
"โดยทั่วไปคณะหนังตะลุงแต่ละคณะจะมีช่างแกะหนัง นายหนังและนักดนตรี สมัยก่อนนักดนตรีที่เล่นในคณะหนังตะลุงจะใช้เครื่องดนตรีไทยกับเครื่องดนตรีพื้นเมืองเป็นหลัก แต่มาในยุคหลังก็เริ่มมีการนำเครื่องดนตรีสากลพวกกีตาร์ กลอง หรือคีย์บอร์ดมาเล่นประกอบด้วย สำหรับนายหนัง แต่ละคณะจะมีนายหนังแค่คนเดียว ในแต่ละฉากจะมีตัวละครออกฉากพร้อมกันไม่เกินสามถึงสี่ตัว นายหนังจะเชิดตัวละครแค่ครั้งละตัวและต้องพากย์เสียงให้ตรงกับบุคลิกลักษณะท่าทางของตัวละครแต่ละตัวด้วย ไม่ว่าจะเสียงผู้หญิงผู้ชาย เสียงทุ้ม เสียงแหลม" ช่างเล็กยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ในคณะหนังตะลุงแต่ละคณะ อาจจะมีตัวละครที่เป็นเหมือนตัวเอกประจำคณะซึ่งมักเป็นตัวตลกที่คาแรคเตอร์ใกล้เคียงกับนายหนังหรือเป็นตัวละครตลกที่นายหนังสามารถสื่ออารมณ์ในการพากย์ออกมาได้สมบูรณ์ที่สุด ขณะเดียวกันตัวละครบางตัวเมื่อทางคณะเปลี่ยนนายหนังก็อาจไม่ถูกหยิบมาใช้งานอีกหากนายหนังไม่สามารถสื่ออารมณ์ของตัวละครออกมาได้
เมื่อเดินออกจากโรงฉายหนัง หากผู้เยี่ยมชมมองไปที่ฝั่งตรงข้ามก็จะพบกับเรือนไม้ยกสูงหลังหนึ่ง เรือนไม้นี้คือเรือนบูรพาจารย์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงครูหนังตะลุงในอดีตที่ได้สร้างคุณูปการแและวางรากฐานให้กับหนังตะลุงในจังหวัดพัทลุง บนศาลานอกจากจะมีแท่นบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วยังมีภาพเขียนของบุคคลที่มีความสำคัญต่อแวดวงหนังตะลุงของจังหวัดพัทลุงสองท่านด้วย ภาพเขียนฝั่งซ้ายมือเป็นรูปชายชราสวมแว่นไม่สวมเสื้อคือภาพวาดของช่างลาพ สอนวงศ์ ช่างทำหนังตะลุงซึ่งเป็นพ่อของช่างเล็ก โดยช่างลาพนับเป็นช่างแกะหนังรุ่นที่สามในตระกูล ส่วนภาพเขียนด้านขวามือที่เป็นภาพชายไว้หนวดสวมเสื้อสีขาว คือภาพวาดของ "หนังพร้อมน้อย ตะลุงสากล" ครูของนายหนังหลายๆ คนในจังหวัดพัทลุง ผู้เยี่ยมชมที่ขึ้นไปบนเรือนบูรพาจารย์สามารถหยอดเงินเพื่อสนับสนุนการทำงานของทางหอศิลป์ฯบนไหรับเงินบริจาคที่อยู่บนศาลาได้
ถัดจากศาลาบูรพาจารย์ผู้เข้าชมจะพบบอร์ดจัดแสดงตัวหนังตะลุงที่ตั้งเรียงรายเป็นแนวยาว ตัวหนังตะลุงเหล่านี้เป็นตัวหนังตะลุงเก่าที่ช่างเล็กรวบรวมมาจากหลายๆ แหล่ง ทั้งตัวหนังตะลุงที่แกะสลักโดยช่างในภาคใต้ เช่น ช่างของพัทลุง นครศรีธรรมราช สงขลา และช่างจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากตัวหนังตะลุงที่ทำโดยช่างทำหนังในพื้นที่ภาคใต้ ช่างเล็กยังรวบรวมตัวหนังตะลุงจากพื้นที่อื่น เช่น ราชบุรีมาจัดแสดงไว้บนบอร์ดนี้ด้วย
ถัดจากส่วนจัดแสดงตัวอย่างหนังตะลุงจะเป็นศาลาสาธิตที่ผู้เยี่ยมชมสามารถทดลองทำหนังตะลุงและทดลองเชิดหนังตะลุงได้ จุดนี้ยังมีนายหนังโผนฟ้า ดาราทอง นายหนังประจำหอศิลป์ฯ แห่งนี้คอยต้อนรับและทดลองเชิดหนังตะลุงให้ผู้เยี่ยมชมได้ดูด้วย และไม่ว่าผู้เยี่ยมชมจะมาคณะเล็กหรือคณะใหญ่แค่ไหนทั้งช่างเล็กและนายหนังต่างพร้อมอธิบายและสาธิตการแสดงหนังให้ดูแบบจัดเต็ม หนึ่งในไฮไลท์ของพื้นที่จัดแสดงส่วนนี้นอกจากจะอยู่ที่การสาธิตฉายหนังตะลุงแล้ว ยังเป็นพื้นที่นักเรียนหรือผู้เยี่ยมชมใช้ในการทดลองแกะตัวหนังตะลุงด้วย ผลงานของนักเรียนบางส่วนยังถูกนำมาวางจำหน่ายเป็นของที่ระลึกเพื่อระดมทุนการทำงานของทางหอศิลป์ฯ ด้วย
แม้ดูจากรูปลักษณ์ภายนอก หอศิลป์หนังตะลุงแห่งนี้จะไม่ได้ดูหรูหรา ไม่มีตึกอาคารปลูกสร้างถาวร ไม่มีห้องติดแอร์ แต่สถานที่แห่งนี้ก็รุ่มรวยด้วยเรื่องราวและคุณค่าทางวัฒนธรรม ช่างเล็กและนายหนังโผนฟ้า ดาราทองคือห้องสมุดมีชีวิตที่พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวและศาสตร์แห่งหนังตะลุงให้ผู้มาเยี่ยมชมอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย โดยช่างเล็กยังได้วาดลายเส้นตัวละครหนังตะลุงบางส่วนพร้อมคำอธิบายติดตามต้นเสาของทั้งที่ศาลาสาธิตและที่ส่วนจัดแสดงตัวหนังตะลุงโบราณ ที่สำคัญหอศิลป์ฯ แห่งนี้ยังรวบรวมตัวหนังตะลุงโบราณหาชมยากจากหลายพื้นที่มาจัดแสดงไว้ในที่เดียวกันด้วย
แสงเงาที่หลังฉาก: กว่าจะเป็นหอศิลป์หนังตะลุง
หนังตะลุงเป็นการแสดงแสงเงาที่ต้องอาศัยศาสตร์และศิลป์หลายแขนง ทั้งงานช่างที่รังสรรค์ตัวละครขึ้นมาจากแผ่นหนัง ดนตรีที่คอยให้จังหวะประกอบการแสดง รวมถึงวาทะศิลป์และไหวพริบของนายหนังที่ต้องร่ายบทเจรจาให้กับตัวละครในฉาก เสียงหัวเราะ เสียงฮือฮา และความสนุกสนานที่เกิดขึ้นที่หน้าจอจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อศาสตร์และศิลป์ข้างต้นผสานกันอย่างลงตัว สิ่งที่ผู้เยี่ยมชมหอศิลป์หนังตะลุงในขวบปีที่ 20 ได้เห็นก็เป็นเสมือนการแสดงหนังตะลุงที่องค์ประกอบทุกอย่างผสมกลมกลืนกันอย่างลงตัวแล้ว ทั้งในแง่ของสิ่งปลูกสร้าง นิทรรศการและเนื้อหาที่จัดแสดง รวมถึงกิจกรรมที่เปิดให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วม ทว่าสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นก็ไม่เกิดขึ้นมาแบบฉับพลันทันใด ด้วยงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ช่างเล็กต้องค่อยๆ ก่อร่างสร้างหอศิลป์หนังตะลุงทีละส่วน เริ่มรับคนที่สนใจเข้ามาเรียนศาสตร์หนังตะลุงจากกลุ่มเล็กๆ จนกระทั่งหอศิลป์ฯ กลายเป็นที่รู้จักและมีคนแวะเวียนมาเยี่ยมชมเรียนรู้ในทุกๆ วัน เหมือนกับที่ช่างแกะหนังตะลุง นักดนตรี และนายหนังต้องค่อยๆ เคี่ยวกรำฝึกฝนตัวเองจนกระทั่งสร้างสรรค์งานชั้นครูออกมาได้
"ครอบครัวของผมเป็นครอบครัวช่างแกะหนังตะลุง ตัวผมเองถือเป็นรุ่นที่สี่ที่ทำงานตรงนี้ ผมเริ่มแกะหนังตะลุงมาตั้งแต่เด็ก น่าจะประมาณสิบขวบได้ ถ้านับมาถึงวันนี้ผมก็เป็นช่างทำหนังตะลุงมาได้ประมาณ 50 ปีแล้ว ส่วนหอศิลป์หนังตะลุงนี่ผมเริ่มมาเปิดในปี 2547"
"จุดเริ่มต้นมันมาจากที่ก่อนหน้านั้นมีเด็กนักเรียนแวะเวียนมาหาผมเพื่อขอข้อมูลไปทำรายงานอยู่เป็นระยะ ประกอบกับตัวผมเองก็มีที่ดินอยู่ตรงนี้อยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าไหนๆ ถ้าจะมีเด็กแวะเวียนมาขอข้อมูลเราอยู่แล้วก็สร้างที่นี่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ไปเลย ตอนแรกก็เริ่มจากมีนักเรียนเข้ามาหัดทำหนังตะลุงแบบมาเองช่วงปิดเทอมครั้งละสี่ถึงห้าคนและก็ไปบอกกันแบบปากต่อปาก พอที่นี่เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นก็เริ่มมีโรงเรียนติดต่อว่าจะพาคณะนักเรียนเข้ามาเรียนรู้ มาฝึกทำหนังตะลุงเป็นคณะ จนตอนนี้เดือนๆ หนึ่งผมน่าจะต้องรับคณะนักเรียนประมาณไม่ต่ำกว่า 30 คณะ"
เมื่อถามว่าตอนที่ตั้งใจจะสร้างแหล่งเรียนรู้แห่งนี้ครั้งแรก ช่างเล็กได้ไปพูดคุยขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ หรือไม่ คำตอบที่ได้คือ
"เริ่มจากศูนย์ ทุกอย่างที่เห็นที่นี่เราลงเงินลงทรัพยากรเองทุกอย่าง มันก็เลยไม่ได้เป็นการสร้างแบบครั้งเดียวเสร็จ แต่ค่อยๆ สร้าง ค่อยๆ ขยาย ตามแต่ทรัพยากรที่เรามี หลายอย่างเราก็ได้แต่อาศัยภาคเอกชนหรือเพื่อนฝูงช่วยสนับสนุน อย่างจอฉายหนังที่โรงแสดงหนังตะลุงใหญ่ก็มีร้านค้าในเมืองพัทลุงที่บริจาคให้ หรืออย่างไวนิลนิทรรศการตัวหนังตะลุงที่อยู่ในโรงหนังตะลุงก็ได้ร้านค้าในเมืองที่เป็นพรรคพวกกันช่วยทำให้" หากผู้เยี่ยมชมเดินเข้าไปดูใกล้ๆ ก็เห็นรายชื่อของผู้สนับสนุนไวนิลนิทรรศการ รวมทั้งร้านข้าวมันไก่เจ้าดังประจำเมืองพัทลุง
"เอาจริงๆ เมื่อก่อนผมเปิดฟรีเลยนะ อย่างเวลามีเด็กอยากมาเรียน มาหัดทำหนังตะลุง ทางเราแบกค่าใช้จ่ายเกือบทั้งหมด ทั้งค่าอุปกรณ์ ค่าอาหารกลางวัน แต่ตอนหลังเวลาทางโรงเรียนติดต่อว่าจะพานักเรียนมาเรียนรู้ มาหัดทำหนังตะลุง ผมเริ่มขอให้โรงเรียนสนับสนุนค่าใช้จ่ายบ้างแล้ว เพราะทางโรงเรียนเองก็มีงบประมาณสำหรับกิจกรรมนักเรียนในส่วนนี้ และทางผมเองก็แบกรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ไหวแล้ว ที่สำคัญ ค่าใช้จ่ายที่เราคิดก็ไม่แพงอะไร หลักๆ ก็เพื่อมาสมทบค่าอุปกรณ์สำหรับทดลองทำตัวหนังตะลุงของนักเรียนที่ทางโรงเรียนพามาเท่านั้น"
ทำไมหนังตะลุงไม่เล่นงานแต่ง! เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยว่าด้วยหนังตะลุง
ตลอดเวลาที่ทีมงานของพิพิธภัณฑ์สามัญชนเดินชมหอศิลป์หนังตะลุง ช่างเล็กคอยอธิบายเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับหนังตะลุง รวมไปถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต่างๆ เช่น ความแตกต่างระหว่างตัวหนังตะลุงในหลายมิติๆ โดยเรื่องที่ทำให้ทีมงานพิพิธภัณฑ์อึ้งที่สุดน่าจะเป็นเหตุผลเบื้องหลังว่าทำไมหนังตะลุงถึงมักไม่ถูกนำไปฉายระหว่างงานแต่งงานที่นายหนังโผนฟ้า ดาราทองเป็นผู้บอกเล่า
เกร็ดแรกที่ช่างเล็กเล่าให้ฟังระหว่างที่พาพิพิธภัณฑ์สามัญชนเดินชมบอร์ดแสดงตัวหนังตะลุงคือความแตกต่างในรายละเอียดของตัวหนังตะลุงตัวเดียวกันของช่างต่างสกุล
"หนังตะลุงเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดเยอะ อย่างถ้าดูที่บอร์ดนี้เราจะเห็นได้ว่าแม้แต่ตัวละครตัวเดียวกันแต่แกะโดยช่างต่างสกุลกันก็จะมีความแตกต่างกันในรายละเอียด อย่างตัวหนังตะลุงของช่างสงขลาจะมีลักษณะหัวใหญ่เพราะนายหนังที่สงขลาจะเชิดโดยทาบส่วนตั้งแต่แค่ลำคอของตัวหนังขึ้นไปติดจอ ขณะที่ตัวหนังของพัทลุงลำตัวส่วนบนจะยาวกว่าส่วนล่างเพราะนายหนังในพัทลุงจะทาบตัวหนังตั้งแต่ส่วนเอวขึ้นไปติดกับจอ"
"ผมเองก็ดีใจที่มีเด็กๆ สนใจมาเรียนรู้เรื่องหนังตะลุงจากที่นี่ แต่เท่าที่ผมดูเวลาที่น้องๆ เขาแกะตัวหนังตะลุงผมก็พบว่าเขามักจะละเลยรายละเอียดของตัวหนัง อย่างบางทีก็ไปแกะตัวหนังด้วยรูปแบบตัวละครของสงขลาหรือตัวละครของนคร ทำให้พอนายหนังในพัทลุงเอาไปเชิดด้วยวิธีแบบพัทลุงแล้วแสงเงามันก็จะเพี้ยนไป"
นอกจากความแตกต่างในรายละเอียดของตัวละครเดียวกันแต่ต่างสกุลช่าง ครูเล็กยังเล่าถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการเชิดหนังตะลุงด้วยว่า แม้หนังตะลุงจะมีตัวละครหลากหลาย แต่ก็อาจแบ่งได้เป็นสี่ประเภทหลักๆ คือตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ และตัวตลก ซึ่งตัวละครสามประเภทแรกจะมีต้นแบบการเชิดมาจากตัวละครสามตัว ตัวละครพระมีต้นแบบการเชิดมาจากการเชิดตัวฤาษี โดยตัวฤาษีนี้มักถูกเชิดเป็นตัวแรกก่อนเริ่มการแสดงจริงในลักษณะเชิดเบิกโรงขับไล่สิ่งชั่วร้ายก่อนการแสดงจริง ตัวนางจะมีต้นแบบมาจากการเชิดตัวพระนารายณ์ ส่วนตัวยักษ์จะอิงรูปแบบการเชิดมาจากตัวพระศิวะ ระหว่างที่ช่างเล็กเล่าเกร็ดในส่วนนี้ นายหนังโผนฟ้า ดาราทองก็แสดงการเชิดตัวหนังเปรียบเทียบให้คณะของพิพิธภัณฑ์สามัญชนดู ทั้งการเชิดตัวฤาษีกับตัวพระ ตัวพระนารายณ์กับตัวนาง และตัวพระศิวะกับตัวยักษ์
ระหว่างที่นายหนังโผนฟ้า ดาราทองทดลองเชิดหนังตะลุงให้คณะของพิพิธภัณฑ์สามัญชนชม เขายังเล่าเกร็ดให้ฟังด้วยว่า ในอดีต การแสดงหนังตะลุงไม่เพียงเป็นการแสดงฝีมือการเชิดของนายหนังเท่านั้น หากแต่ยังมีการวัดไหวพริบในการต่อบทเวลาที่มีการฉายหนังสองคณะประชันในงานเดียวกันด้วย แต่ปัจจุบันการแสดงแบบประชันจอเป็นสิ่งที่หาดูได้ยากแล้ว ขณะที่ช่างเล็กก็กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า ในอดีตเคยมีคณะหนังตะลุงสองคณะที่มีตัวละครเฉพาะและลีลาการพากย์ออกแนวสองแง่สองง่าม คณะหนึ่งเล่าเรื่องในมุมของผู้ชาย อีกคณะเล่าเรื่องในมุมของผู้หญิง เมื่อใดก็ตามที่ทั้งสองคณะได้แสดงในพื้นที่ใกล้เคียงกันและมีโอกาสต่อบทประชันกันก็จะเรียกเสียงฮือฮาจากผู้ชมได้ตลอด อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าสนใจและเป็นคำตอบที่หักมุมที่สุดตลอดบทสนทนาและการเยี่ยมชมน่าจะเป็นคำถามที่ว่าเหตุใดหนังตะลุงจึงมักไม่เป็นที่นิยมในงานมงคลย่างงานแต่งงาน ครั้งแรกที่ช่างเล็กเปรยให้ฟังว่าหนังตะลุงไม่เป็นที่นิยมในงานมงคล เราคิดว่าเหตุผลน่าจะเป็นความเชื่อเรื่องโชคลาง ทว่าเรื่องเล่าจากนายหนังโผนฟ้า ดาราทองก็ไขความกระจ่างอย่างได้ใจความ
"มันไม่ใช่เรื่องอาถรรพ์อะไรหรอก มันเป็นเรื่องที่ครูหนังสมัยก่อนๆ เขาถือกันว่า หนังตะลุงมันเป็นหนังแห้ง มันสู้ "การแสดงสด" ไม่ได้ นายหนังหัวเราะหลังพูดจบก่อนเล่าต่อไปว่า "ถ้าไม่ใช่ว่าติดเหมรย (ติดบน) ในงานแต่งเขาจะไม่เอาหนังตะลุงมาแสดงกัน ส่วนถ้าเป็นกรณีติดเหมรย ระหว่างที่หนังตะลุงเล่นไม่เจ้าบ่าวก็เจ้าสาวคนใดคนหนึ่งต้องมาอยู่ในโรงหนังตะลุง จนกว่าจะเลิกโรงคู่บ่าวสาวถึงค่อยไปอยู่ด้วยกันได้"
ความท้าทายที่รอคนช่วยตอบสนอง
ก่อนจากลา ทีมงานพิพิธภัณฑ์สามัญชนถามคำถามที่ดูจะเป็นคำถาม "ไฟต์บังคับ" ว่า ตอนนี้ช่างเล็กก็มีอายุมากแล้ว มีความกังวลเรื่องผู้สืบทอดหรือผู้สานต่อศาสตร์แห่งเมืองพัทลุง รวมถึงสานต่องานของหอศิลป์แห่งนี้หรือไม่ แม้คำถามที่ถูกถามออกไปดูจะเป็นเหมือนคำถาม "หาทางลง" ให้กับบทสนทนาที่เต็มไปด้วยอรรถรสประมาณชั่วโมงเศษตลอดการเยี่ยมชม ทว่าคำตอบจากปากของช่างเล็กและแววตาที่แม้จะโรยราไปตามวัยแต่ยังคงเปล่งประกายด้วยพลังของนายหนังโผนฟ้า ดาราทองก็ทำให้ทางพิพิธภัณฑ์สามัญชนรู้สึกถึงความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องถ่ายทอดคำตอบและความกังวลของครูเล็กต่อทั้งสาธารณชนและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องถึงความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องครุ่นคิดถึงสิ่งที่ติดอยู่ในใจของนายช่างหนังเมืองลุง
"ศาสตร์ของหนังตะลุงมันเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง ต้องใช้วิธีถ่ายทอดแบบใจเย็น สอนแบบเห็นหน้ากัน พูดคุยกัน ลำพังแค่เขียนติดนิทรรศการหรืออัดคลิปบนยูทูปมันถ่ายทอดอะไรไม่ได้มากนัก อย่างถ้าจะเล่าเรื่องตัวละคร ในนิทรรศการเราอาจจะเล่าเรื่องนายเท่งได้ว่าเขาเป็นใครมาจากไหน แต่การจะทำให้คนที่มาฝึกแกะตัวละครหรือเชิดตัวละครนายเท่งโดยสื่ออารมณ์ออกมาได้มากที่สุดมันมาจากการค่อยๆ ฝึกค่อยๆ เรียนรู้"
เล่าถึงตรงนี้ช่างเล็กเปรยขึ้นมาว่าเขาเคยคิดที่จะเขียนตำราเพื่อถ่ายทอดศาสตร์และศิลป์ของหนังตะลุงทั้งหมดที่เขามี เพื่อให้องค์ความรู้ที่อยู่ในเลือดเนื้อและจิตวิญญาณของเขาลงไปอยู่บนหน้ากระดาษซึ่งจะทำให้สามารถถ่ายทอดไปถึงผู้เรียนได้กว้างขึ้นทว่าช่างเล็กก็ต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านงบประมาณ
"ก่อนนี้ผมเคยคิดที่จะเอาความรู้หนังตะลุงของตัวเองมาพิมพ์เป็นหนังสือเหมือนกันนะ แต่ต้นทุนการพิมพ์มันไม่น้อยเลย อย่างก่อนหน้านี้ผมเคยพิมพ์หนังสือเรื่องการแกะตัวหนังตะลุง หมดค่าพิมพ์ไปสามสี่หมื่น ได้หนังสือมาแค่สิบเล่ม แถมพอเห็นชิ้นงานผมก็ยังคิดว่ามันพิมพ์ออกมาไม่สุดเหมือนที่ตัวเองตั้งใจไว้ ก็เลยยังไม่คิดไม่ฝันเรื่องพิมพ์หนังสือ"
"ถามว่าเคยขอความช่วยเหลือไปที่หน่วยงานราชการไหม ก็ยังไม่เคยได้ขออะไรเป็นจริงเป็นจังเพราะผมเข้าใจปัญหาของระบบราชการอยู่บ้าง ที่ผ่านมาก็เลยพยายามทำอะไรด้วยตัวเองมาทั้งหมด รวมถึงการหารายได้หรือเงินทุนมาบำรุงกิจกรรมของหอศิลป์ฯ"
ระหว่างการสนทนาครูเล็กยังนำกระดาษวาดแบบหนังตะลุงที่สร้างสรรค์โดยช่างลาภ ศรวงศ์ พ่อของเขาซึ่งเป็นช่างเกาะหนังตะลุงรุ่นที่สามในตระกูลมาให้พิพิธภัณฑ์สามัญชนดูด้วย ผลงานการวาดแบบของช่างลาภ ศรวงศ์นับว่าเป็นผลงานระดับครูช่าง ทว่าเมื่อปราศจากการสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณและองค์ความรู้ แบบหนังตะลุงผลงานของช่างลาพบางส่วนก็เสียหายและสูญสลายไปตามกาลเวลา และหากไม่มีการดำเนินการเพื่ออนุรักษ์แบบแปลนรวมถึงการจดบันทึกองค์ความรู้เกี่ยวกับหนังตะลุงจากปากคำของครูเล็กอย่างเร่งด่วน องค์ความรู้เกี่ยวกับหนังตะลุงเมืองพัทลุงก็ไม่พ้นที่จะตกอยู่ในความสุ่มเสี่ยงที่จะเลือนหายไปกับกาลเวลา
เรื่องและภาพโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์