Skip to main content

Beyond The Headline: การศึกษาสื่อที่มีมากกว่าเรื่องสาร

Beyond The Headline เป็นนิทรรศการที่จัดแสดงภาพถ่าย ที่รวบรวมจากสื่อมวลชนและนักข่าวภาคสนามที่ทำงานในพื้นที่การชุมนุม โดยนิทรรศการนี้จัดแสดงภาพถ่ายในหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่ช่วงสลายการชุมนุมหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 17 พฤษภาคม 2535 (พฤษภาทมิฬ) จนถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมครั้งในปี 2564 ซึ่งแต่ละช่วงตอนก็เกิดสถานการณ์ปะทะระหว่างมวลชนกับเจ้าหน้าที่ ทำให้นักข่าวภาคสนามและช่างภาพรับบทแนวหน้าที่ใกล้ชิดกับความรุนแรงเช่นกันกับผู้ชุมนุม ซึ่งหลายครั้งที่ป้าย Press ก็ไม่สามารถป้องกันความรุนแรงจากการปะทะได้

จุดมุ่งหมายหลักของนิทรรศนี้ตั้งใจนำเสนอประเด็นความรุนแรง ที่สื่อภาคสนามได้รับผลกระทบในช่วงที่ลงพื้นที่การชุมนุมตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ในหลายครั้งความวุ่นวายในพื้นที่ทำให้นักข่าวภาคสนามได้รับบาดเจ็บไปจนถึงเสียชีวิต โดยในนิทรรศการได้ยกตัวอย่างการเสียชีวิตของนักข่าวภาคสนามในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ทั้งฮิโระยูกิ ช่างภาพชาวญี่ปุ่นจากสำนักข่าวรอยเตอร์ และ ฟาบิโอ โปเลงกิ ช่างภาพอิสระชาวอิตาลี ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ตัดสินว่าไม่ทราบผู้กระทำและไม่ทราบว่าวิถีกระสุนมาจากทิศทางใด ทั้งนี้ในการรายงานข่าวการชุมนุมในช่วงปี 2563 - 2565 ก็ยังคงมีผู้ปฏิบัติงานสื่อได้รับบาดเจ็บจากการทำงานในพื้นที่ชุมนุมอยู่ แม้เวลาจะผ่านมาเกินสิบปีแล้วก็ตาม

ไม่เพียงแค่การสลายการชุมนุมสองครั้งที่มีสื่อได้รับผลกระทบจากความรุนแรง นิทรรศการยังแสดงให้เห็นถึงจำนวนผู้ได้รับผลกระทบทั้งจากกระสุน พลุ ระเบิด ทำร้ายร่างกาย การจับกุมและการข่มขู่คุกคามในรูปแบบต่างๆเป็นจำนวนมาก โดยนิทรรศการจะแสดงเป็นแผ่นป้ายไล่เรียงไทม์ไลน์ของแต่ละการชุมนุม 

นอกจากการทำร้ายร่างกายในพื้นที่ปะทะ หลายครั้งนักข่าวไม่สามารถรายงานสิ่งที่เห็นได้ด้วยเหตุผลเชิงปัจเจก เชิงสังคม และเหตุผลจากการถูกคุกคามโดยอำนาจรัฐ รวมถึงการเซนเซอร์ของสำนักข่าว 

 

“ณ วันที่กำแพงสูงจนไม่อาจเห็นแสงเทียน มีแค่คนที่อยู่หลังกล้องเท่านั้นที่จะเก็บแสงได้”

นอกจากสิ่งพิมพ์จากสำนักข่าวและข้อมูลแล้ว ในนิทรรศการมีภาพจัดแสดงหลายภาพที่คิวเรเตอร์ของนิทรรศการติดต่อกับผู้ถ่ายโดยตรงเพื่อให้ส่งคำบรรยายและความรู้สึกที่มีในขณะที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ ซึ่งคำตอบที่ได้รับก็มีความหลากหลาย เปลี่ยนแปลงไปตามความรุนแรงของสถานการณ์และเอกลักษณ์ของช่างภาพแต่ละคน ประโยค “ณ วันที่กำแพงสูงจนไม่อาจเห็นแสงเทียน มีแค่คนที่อยู่หลังกล้องเท่านั้นที่จะเก็บแสงได้” ก็เป็นส่วนหนึ่งในข้อความที่ช่างภาพได้ฝากไว้ 
 

การเรียกร้องสิทธิของผู้เก็บหลักฐานยังมีทางไปต่อ

นิทรรศการยังฝากคำถามถึงผู้เข้าชมด้วยว่าจะมีวิธีใดบ้างที่สามารถหยุดความรุนแรงและผลกระทบ ที่เกิดกับสื่อมวลชนภาคสนามโดยที่ยังสามารถนำเสนอและสื่อสารความจริงในพื้นที่ชุมนุมไปพร้อมกัน โดยในนิทรรศการจะมีส่วนจัดแสดงแบบสำรวจว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานที่สื่อควรได้รับทั้งในระดับปัจเจก ระดับองค์กร ไปจนถึงระดับสังคมโดยเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าชมได้แสดงความคิดเห็นว่า “มาตรการใดควรเกิดขึ้นบ้างเพื่อรักษาความปลอดภัยของคนทำงานสื่อ” เช่น จัดการอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้สื่อมวลชน ให้สวัสดิการเพื่อเยียวยาด้านจิตใจจากการปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าว ปรับทรรศนคติเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อสื่อมวลชน ไปจนถึงการแก้ปัญหาตั้งต่วิธีการสลายการชุมนุมแบบไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายต่อทั้งสื่อมวลชนและประชาชน และในนิทรรศการยังจำลองแท่นพิมพ์ดีด ซึ่งเปรียบเหมือนภาพแทนของสื่อ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็นผ่านตัวอักษรได้อีกด้วย



นิทรรศการ Beyond The Headline ไม่ใช่นิทรรศการแรกที่นำเสนอประเด็นความรุนแรงในมุมมองของสื่อมวลชน แต่ยังมีนิทรรศการก่อนหน้า ที่ส่องสื่อและจับตาการใช้ความรุนแรงต่อสื่อมวลชน ผ่านภาพยนต์สารคดี Watchdog ที่บอกเล่าอุปสรรคของกองบรรณาธิการข่าวนิสิตนักศึกษา ปัญหาเสรีภาพสื่อ และความฝันของคนรุ่นใหม่ที่ส่งต่อตั้งแต่คนตุลา16มาจนถึงราษฎร64

ทั้งสองนิทรรศการนี้เป็นส่วนต่อยอดมาจากงานวิจัย “การรายงานข่าวการประท้วง: บทบาทของสื่อมวลชนไทยในการชุมนุมและความรุนแรงทางการเมือง” โดยผศ.ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งตั้งใจนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับสิทธิการสื่อสารและเสรีภาพสื่อ โดยเน้นบทบาทของสื่อมวลชนที่รายงานข่าว การชุมนุม และความรุนแรงทางการเมืองอีกด้วย